ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
การลงโทษผู้กระทําผิดตามกฎหมายในสมัยก่อน หรือ กฎหมายตราสามดวง ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยามาสิ้นสุดในรัชกาลที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์ นั่นเท่ากับว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับคนในสังคมเป็นเวลา 500 กว่าปี
เนื้อหาและจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีความเด็ดขาด รุนแรง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างสําหรับผู้ที่คิดร้ายต่อผู้อื่น หรือคิดร้ายต่อแผ่นดิน จนบางครั้งทําให้แปลกใจว่า ทําไมสังคมที่น่าจะสงบสุขอย่างกรุงศรีอยุธยา จึงต้องใช้กฎหมายรุนแรงถึงเพียงนั้น โดยเฉพาะบทลงโทษผู้คิดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ และต่อแผ่นดิน ซึ่งโดยปกติก็มักจะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นกับขุนนาง ข้าราชการที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์
ด้วยขุนนางที่มีไพร่พลในสังกัด ย่อมถือว่าเป็นคนที่มีอํานาจต่อรอง คัดง้าง กับสถาบันสูงสุดได้ บทลงโทษซึ่งเป็นอํานาจสิทธิ์ขาดขององค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่ใช้ป้องปรามผู้ที่คิดเหิมเกริมต่อราชบัลลังก์
กฎหมายจึงเป็นเครื่องมือของกษัตริย์ที่ใช้กําจัดขุนนางนอกแถว บทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งไม่อนุญาตให้ตายกันได้ง่ายๆ เมื่อได้เห็นบทลงโทษผู้กระทําผิดในกฎหมายอาญาหลวง และกฎหมายกบฏศึกแล้ว จะพบว่าการสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้น ถือเป็นพระกรุณาจริงๆ
กฎหมายตราสามดวง กับโทษ 8 สถาน
ในกฎหมายพระอัยการอาญาหลวง กําหนดโทษไว้สูงสุด 8 สถาน สําหรับผู้ที่ละเมิดต่อพระราชโองการ หรือพระราช บัญญัติของพระเจ้าอยู่หัว การลงโทษ 8 สถานนี้กําหนดความผิดไว้ 10 มาตรา จาก 144 มาตรา ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโทษก็จะลดหลั่นลงไป
ทั้ง 10 มาตรานี้ ส่วนใหญ่เป็นการระบุความผิดจากการกระทําที่ไม่สมควรต่อองค์พระเจ้าแผ่นดิน และล่วงละเมิดพระราชอาญา เช่น ทําตัวเทียมเจ้า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ลักพระราชทรัพย์ ทํางานตามพระประสงค์ไม่สําเร็จ คอร์รัปชัน เป็นต้น
โทษ 8 สถาน มีตั้งแต่โทษประหาร ลดลงมาจนถึงให้ภาคทัณฑ์ไว้ เช่นในมาตรา 10 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ฟันแทงกันตาย แลมิให้ทําร้ายผู้อื่นในแผ่นดินท่าน แลผู้ใดทนงศักดิ์สําหาว ทําล่วงเกินพระราชบัญญัติ ผู้นั้นต้องในระวางบังอาจ ท่าน ให้ลงโทษ 8 สถาน”
โทษทั้ง 8 สถาน ระบุไว้ดังนี้ 1. สถานหนึ่งให้ฆ่าผู้ร้ายนั้นเสีย 2. สถานหนึ่งให้ตัดตีนตัดมือแล้วประจาน 3. สถานหนึ่งให้ทวนด้วยลวดหนังไม้หวาย 50 ที 4. สถานหนึ่งให้จําไว้แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง 5. สถานหนึ่งให้ไหมจัตุระคูนแล้วเอาตัวลงเป็นไพร่ 6. สถานหนึ่งให้ไหมตรีคูน 7. สถานหนึ่งให้ไหมทวิคูน 8. สถานหนึ่งให้ไหมลาหนึ่ง
การระบุความหนักเบาของโทษ ย่อมขึ้นอยู่กับความผิดที่ได้กระทํา โดยกฎหมายกําหนดไว้ให้เลือกใช้สถานใดสถานหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดีย่อมขึ้นอยู่กับพระราชบัญชาขององค์พระมหากษัตริย์อีกด้วย
ข้อสําคัญของ “กฎหมายตราสามดวง” คือ ผู้ร่างได้มองลึกเข้าไปใน “สันดาน” ของผู้กระทําผิด โดยกําหนด “กฎเกณฑ์การลดหย่อน” ไว้ตอนท้ายของตัวบท คือ ถ้ายังเป็นทหารเลว ทหารฝึกหัด แล้วกระทําผิดครั้งแรกท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน เพราะถือว่ายังไม่ได้รู้ระเบียบราชการดีพอ ซึ่งส่วนใหญ่ทหารใหม่พวกนี้ก็คือ ชาวไร่ชาวนาที่ถูกเกณฑ์มานั่นเอง ส่วนพวกที่ได้เลื่อนยศขึ้นไปเรื่อยๆ ถือว่าพอจะรับรู้กฎระเบียบแล้ว แต่ยังกระทําผิดอีก อันนี้มีการละเว้นโทษต่างกัน
“ถ้าเป็นไพร่มาเป็นหมื่นพันจ่าเสมียรแม้นผิด ท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ครั้งหนึ่งสองครั้ง ถ้าขุนหมื่นพันจ่าเสมียร มาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผิดในราชการมิให้ภาคทัณฑ์เลย ถ้าเป็นไพร่ครั้นบุญให้ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่เดียว แม้นผิดด้วยราชการท่านให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน”
นี่เป็นความยุติธรรมในกฎหมาย ที่ให้โอกาสผู้น้อยที่กระทําผิดเพราะไม่รู้กฎระเบียบ ได้รับการตักเตือนก่อน แต่สําหรับขุนนางผู้ใหญ่ ถือว่ารับราชการมาพอสมควรแล้ว ควรจะรู้ผิดชอบชั่วดี อันนี้ท่านไม่ยอมให้ภาคทัณฑ์
โอกาสเช่นนี้น่าเสียดายที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “ขุนไกร” พ่อของขุนแผน ซึ่งแต่เดิมก็เป็นชาวมอญเมืองกาญจนบุรี ถือเป็น “นักเลง” ท้องถิ่นมีพรรคพวกเป็นจํานวนมาก ที่ทางการไม่มีปัญญาควบคุม จึงสนับสนุนให้รับราชการ แต่ความผิดครั้งแรก ขุนไกรก็ถูกตัดหัวทันที ไม่ทันได้สั่งเสียลูกเมีย นี่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายบางทีก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบท แต่ขึ้นอยู่กับ “พระอารมณ์” ได้เหมือนกัน เพราะพระมหากษัตริย์คือกฎหมายนั่นเอง
โทษกบฏศึก 32 ประการ
โทษนี้ไม่ได้กําหนดไว้สําหรับผู้ทํารัฐประหารอย่างเดียว แต่หมายรวมไปถึงผู้ที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยในแผ่นดินด้วย ใน “กฎหมายตราสามดวง” เรียกกฎหมายลักษณะนี้ว่า “พระไอยการกระบดศึก” โดยรวมแล้วจะระบุเอาโทษกับผู้ที่คิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน ปล้นเผาพระนคร ฆ่าพระ เผาโบสถ์วิหาร ปล้นฆ่า ทารุณเด็ก ทั้งหมดนี้เป็นความผิดที่สร้างความไม่สงบในแผ่นดินทั้งสิ้น
กรณีเช่นนี้ท่านระบุโทษไว้ 21 ประการ
เมื่อเอาโทษ 21 ประการไปเปรียบเทียบกับโทษ 8 สถาน สามารถเรียกได้ว่า โทษ 8 สถานนั้นเป็นเรื่อง “เด็กๆ” เลยทีเดียว
โทษ 21 ประการคงไม่ต้องบรรยายความโหด เพราะภาษาที่ปรากฏในตัวบท ทําให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ภาษากฎหมายนี้ไม่จัดว่ายากเกินกว่าจะเข้าใจ เพียงแต่แตกต่างกันที่ตัวสะกด และศัพท์บางคําเท่านั้น โทษ 21 ประการมีดังนี้
- ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย แล้วเอาคีมคีบก้อนเหลก (เหล็ก) แดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพลุ่งฟูขึ้น ดังม่อเคี่ยวน้ำส้มพะอูม
- ให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้า (คือแถบด้านหน้า) ถึง ไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกําหนด ถึงหมวกหูทังสองข้าง เป็นกําหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเปนกําหนด แล้วเทมุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้าละคนโยกถอน คลอนสัน เพิกหนังทังผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบ ขัดกระบานศีศะชําระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์ (โทษนี้คือ ถลกหนังหัวนั่นเอง)
- ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วตามประทีบไว้ในปาก (จุดไฟไว้ในปาก) (หรือ) ไนยหนึ่งเอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะฝาปาก จนหมวกหูทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก
- เอาผ้าชุ่มน้ำมันพันให้ทั่วกายแล้วเอาเพลิงจุด
- ให้เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว แล้วเอาเพลิงจุด
- เชือดเนื้อให้เปนแร่ง เปนริ้ว อย่าให้ขาด ให้เนื่องด้วย หนังตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วเอาเชือกผูกจําให้เดิร เหยียบย้ำริ้วเนื้อ ริ้วหนัง แห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจําให้เดิรไปจนกว่าจะตาย
- เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเปนแร่ง เปนริ้ว ลงมาถึง ข้อเท้า กระทําเนื้อเบื้องบนนั้นให้เปนริ้วตกปกคลุมลงมาเหมือน นุ่งผ้าคากรอง
- เอาห่วงเหลกสวมข้อสอกทั้งสองข้าง ข้อเฃ่า (ข้อเข่า) ทั้งสองข้าง ให้หมั้น (ให้มั่น) แล้วเอาหลักเหลกสอดลงในวงเหลกแย่งขึ้นตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวกว่าจะตาย
- เอาเบดใหญ่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วกาย เพิกหนังเนื้อ แลเอนน้อย เอนใหญ่ (เอ็นน้อย, ใหญ่) ให้หลุดขาดออกมากว่าจะตาย
- ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกมาจากกาย แต่ทิละตําลึงกว่าจะสิ้นมังสะ
- ให้แล่สับฟันทั่วกายแล้วเอาแปรงหวีชุบน้ำแสบ (น้ำเกลือ) กรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอนน้อย เอนใหญ่ ให้ลอกออกมาให้สิ้น ให้อยู่แต่ร่างกระดูก
- ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้ว ให้เอาหลาวเหลก ตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท้าทังสองหัน เวียนไปดังบุทคลทําบังเวียน
- ทํามิให้เนื้อพังหนังขาด เอาลูกศีลาบดทุบกระดูกให้ แหลกย่อยแล้วรวบผมเข้าทังสิ้น ยกขึ้นหย่อนลง กระทําให้เนื้อ เปนกองเปนลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทังกระดูกนั้นทอดวางไว้ ทําดั่งตั่งอันทําด้วยฟางซึ่งวางไว้เชดเท้า
- เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย
- ให้กักขังสูนักขร้ายทังหลายไว้ ให้อดอาหารหลายวัน ให้เตมหยาก แล้วปล่อยออกให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่าง กระดูกเปล่า
- ให้เอาขวานผ่าอกทังเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ
- ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ กว่าจะตาย
- ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟากปกลง คลอกด้วยเพลิงภอหนังไหม้ แล้วไถด้วยไถเหลก ให้เป็นท่อนน้อย ท่อนใหญ่ เป็นริ้วน้อย ริ้วใหญ่
- ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมันเหมือนทอดขนม ให้กินเนื้อตนเอง
- ให้ตีด้วยไม้ตะบองสั้น (หรือ) ไม้ตะบองยาว เปนต้น
- ให้ทวนด้วยไม้หวายทังหนาม
ใครที่เคยเห็นภาพนรกตามวัด นี่คงจะเป็นภาพเดียวกัน ใครที่คิดว่าการสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ หรือการตัดหัว เป็นความโหดร้าย โทษ 21 สถานนี้คงทําให้ลืมความคิดนั้นได้หมด ตอนท้ายของกฎหมายยัง (เมตตา) กําหนดให้เลือกลงโทษเพียงสถานเดียว
แต่โทษ “ทวะดึงษกรรมกร 32 ประการ” ตามกฎหมายพระอัยการกบฏศึก ยังขาดอีก 11 สถาน เป็นข้อกําหนดโทษสําหรับผู้กระทําผิดพระราชอาญา เป็นโจร ลักทรัพย์ โดยสรุปคือเป็นโทษที่ทําความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวเมืองนั่นเอง ต่างจากโทษ 21 สถานที่ทําความเดือดร้อนให้แผ่นดิน
โทษ 11 สถาน มีดังนี้ 1.ให้ทวนด้วยหวาย 2. ให้ตัดนิ้ว 3. ให้ตัดเท้าทังสองข้าง 4. ตัดมือสองข้าง เท้าสองข้าง 5. ให้ตัดหูทังสองข้าง 6. ตัดจะหมูกเสีย 7. ตัดหูทังสองข้าง ตัดจะหมูก 4. ตัดปากแหวะปากเสีย 4. ให้เสียบ (ทั้ง) เป็น 10. ให้ตัดศีศะเสีย 11. ให้จําห้าประการใส่คุกไว้
นี่คือโทษทั้ง 32 สถาน ที่อ่านแล้วอาจจะนึกว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ปรากฏว่าในเอกสารต่างๆ ก็ปรากฏการทําโทษในลักษณะนี้อยู่บ้าง แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นครบ 32 สถานตามตัวบทก็ตาม ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับพระราชวินิจฉัยของพนักงานตุลาการและพระมหากษัตริย์ด้วย เนื่องจากโทษหลายสถานใน 32 ประการนี้ เป็นโทษตาย ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์สั่งให้คนตายมีได้เพียงคนเดียวคือพระเจ้าแผ่นดิน
การทําโทษอย่างทารุณ นี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่
บันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสยามระยะหนึ่ง หลายคนระบุตรงกันว่า มีการทรมานนักโทษตามกฎหมายตราสามดวงจริง แต่ที่น่าสงสัยคือ เอกสารบางฉบับระบุว่า “ไม่ได้เห็นด้วยตา” เช่น คําบอกเล่าของ ลาลูแบร์ กล่าวถึงการลงโทษแบบทารุณนี้ว่า “ข้าพเจ้ามิได้เห็นมาด้วยตาของตัวเอง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อาจสงสัย คําที่เขายืนยันต่อข้าพเจ้าได้” เช่น เดียวกับ นิโคลาส แชร์แวส์ ที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยประสบพบเห็นการพิสูจน์แบบทารุณนี้มาด้วยตาตัวเอง ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาที่จะยืนยันว่าเป็นจริง”
แต่สิ่งที่แชร์แวส์บอกว่าไม่ได้เห็นกับตา คือการลุยไฟ ดําน้ำ พิสูจน์ความผิด ซึ่งมีอยู่จริงในกฎหมายตราสามดวง เรียกว่า กฎหมาย “พิสูทดําน้ำ ลุย เพลิง” เป็นการพิสูจน์แบบจับพิรุธเสียมากกว่าที่จะหาความจริงจากการกระทําดังกล่าว การพิสูจน์นี้มีกรรมวิธีว่า ให้ขุดรางเพลิงยาว 6 ศอก กว้าง 1 ศอก ถ่านเพลิงหนา 1 คืบ แล้วให้ โจทก์และจําเลยเดินลุยเพลิงนั้น
ใครเท้าไหม้ พองเป็นแผล ก็แพ้ความ ส่วนการดําน้ำนั้นก็คล้ายกันคือ ให้โจทก์และจําเลยดําน้ำ โดยมีหลักไม่ปักอยู่ในน้ำ โครโผล่ขึ้นก่อนที่แพ้คดี
กรณีดำน้ำ ลุยเพลิง เข้าทํานองเดียวกับเครื่องจับเท็จในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่กระทําความผิด จิตใจจะไม่นิ่ง การดําน้ำก็จะดำได้น้อยกว่า หรือถ้าต้องลุยเพลิง ก็อาจกลัวความผิดยอมรับสารภาพก่อนก็เป็นได้ เพราะก่อนเข้าพิธีนี้จะมีการสาบาน สาปแช่ง แล้วกฎหมายยังกำหนดให้ลูกความทั้งสองฝ่ายนุ่งขาว ห่มขาว อยู่ในกรมตุลาการ 3 วัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปด่าทอฝ่ายตรงข้าม ทําให้ถือว่ามีพิรุธ จับแพ้ความทันที
ออญาวิไชยเยนทร์ (คอนแสตติน ฟอลคอน) ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ถูกจองจํา 5 ประการ (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 35 น. 503 ก้าวหน้า, 2504) แล้วยังถูกทรมาน ด้วยการเอาพระเศียรของพระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์มาผูกแขวนคอ ถูกทรมานอยู่เป็นอาทิตย์ จึงเสียชีวิต (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 81, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ทองเถา ทองแถม, 2510)
นอกจากนี้ยังมีการประหารแบบแล่เนื้อเถือหนัง ตัดเป็นสองท่อน ปรากฏอยู่ในบันทึกต่าง ๆ ทั้งของชาวต่างประเทศ และของไทยเอง
เช่นในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังปรากฏว่ามีการประหารชีวิตแบบทารุณอยู่ คือ
วันเสาร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 (พุทธศักราช 2414) ประหารชีวิตอ้ายโพ 1 อ้ายชื่น 1 ผ่าอกตัดศีรษะ ที่วัดตาเห็น บ้านปากไห่ เป็นผู้ร้ายปล้นพวกอ้ายอ่วม
วันจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 (พุทธศักราช 2414) ประหารชีวิตอ้ายใหญ่ พี่อ้ายรง น้องอ้ายมา เจ้า 3 คน ผู้ร้ายปล้นพวกอ้ายโพ อ้ายอ่วม อ้ายอ่วม 1 อ้ายคง 1 ตัดท่อน กลางตัว อ้าย 9 คน ฟันคอ (จดหมายเหตุโหร, ประชุม พงศาวดารภาคที่ 8, คุรุสภา, 2507)
นี่คือสิ่งที่ยืนยันถึงระหว่างความเป็นจริงกับตัวบทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ นั่นหมายถึงว่านักโทษจะถูกประหาร “ทั้งเป็น”
อ่านเพิ่มเติม :
- กฎหมายโบราณของไทย ว่าด้วย “การวิวาทด่าตีกัน” ระบุโทษอย่างไรบ้าง
- ย้อนคดีผัวเมีย ปมเริ่มต้นสู่กำเนิดกฎหมายตราสามดวง ประมวลกฎหมายแรกแห่งรัตนโกสินทร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562