กฎหมายโบราณของไทย ว่าด้วย “การวิวาทด่าตีกัน” ระบุโทษอย่างไรบ้าง

กฎหมายตราสามดวง กฎหมายโบราณ
กฎหมายตราสามดวง (ภาพจาก "พระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน" จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)

“กฎหมายโบราณ” ของไทยที่เกี่ยวข้องกับ ทะเลาะวิวาท การให้ร้ายด้วยวาจา และการทำร้ายร่างกาย มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในหัวข้อ “พระไอยการลักษณวิวาทด่าตีกัน” ประกอบด้วย 46 มาตราใน กฎหมายตราสามดวง หรือ “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” อันเป็นประมวลกฎหมายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

“พระไอยการลักษณวิวาทด่าตีกัน” นั้นมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ร้ายด้วยวาจา การหมิ่นประมาท และการทำร้ายร่างกายกัน โดยตามมาตรา 1 กล่าวถึงกับการนับโทษแต่ละกระทงหรือความผิดตามระบบศักดินา ซึ่งแต่ละชนชั้นจะเรียกค่าสินไหม (เงินชดใช้ค่าเสียหาย) แตกต่างกันไป มีเนื้อความ ดังนี้

Advertisement

“๑ มาตราหนึ่ง วิวาทด่าตีกัน โทษ ๙-๑๐ กทง มิให้เรียกกทงไหม โทษสิ่งใดหนักให้เอาสิ่งนั้นตั้งไหม ต่ำนา ๔๐๐ ลงมาให้เอาบันดาศักดิผู้เจ็บ-ได้ตั้งไหม แต่นา ๔๐๐ ขึ้นไปให้เอาบันดาศักดิผู้สูงนาฝ่ายเดียวตั้งไหมให้แก่ผู้ชนะ ถอ้ยที ถอ้ยด่าดีกัน ให้ไหมกลบลบกัน เหลือนั้นเปนสีนไหม-พิไนยกึ่ง”

จะเห็นว่าคู่ขัดแย้งที่มีศักดินาต่ำจะเรียกค่าสินไหมโดยอิงจากผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่คู่ขัดแย้งที่ศักดินาสูงตั้งแต่ 400 ขึ้นไป (กลุ่มชนชั้นสูง ได้แก่ ขุนนาง พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ รวมถึงพระเจ้าแผ่นดิน) จะนับสินไหมของคู่กรณีที่ยศสูงกว่าเป็นที่ตั้ง โดยหักล้างกันในกรณีเกิดการตอบโต้ทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนมาตรา 2 กล่าวถึงเหตุวิวาทที่เกิดเป็นหมู่ ความว่า “๒ มาตราหนึ่ง ๑๐ คนตีคนเดียวบาทเจบก็ดี คนเดียวตี ๑๐ คนบาทเจบก็ดี ใช่มันจตีแต่ทีเดียวหามิได้ มันย่อมตีคนละที ให้ไหมมันผู้เดียวให้แก่เขาจงทุกคนโดยยศถาศักดิ ๑๐ คนตีมันคนเดียวมีบาทเจบนั้น ท่านให้ไหม ๑๐ คนให้แก่มันผู้เดียว ถ้ามัน ๑๐ คนตีมันคนเดียวแตกช้ำบาทเจบหลายแห่ง ให้ไหมมันผู้บันดานโกรธเปนต้นเหตุนั้นไว้แห่งแตกแลบาทเจบทังนั้นให้ไหมรายตัวผู้ตี ถ้าบาทเจบแต่แห่งหนึ่ง ๒ แห่ง ให้เอาคนทังนั้นเปนแต่พวกมิได้ลงมือ ถ้ามันคนเดียวตี ๑๐ คนบาทเจบหลายแห่ง ให้ไหมผู้เดียวให้แก่เขาจงทุกคนตามบาท-แผลมากแลน้อย”

จะเห็นว่าการ “ทะเลาะวิวาท” เป็นหมู่ ไม่ว่าเป็นกรณีคนหมู่มากรุมกระทำ หรือคนหมู่น้อยกระทำต่อคนหมู่มาก จะคิดสินไหมของผู้กระทำมอบแก่ผู้ถูกกระทำอย่างครบถ้วน พร้อมคำนวนตำแหน่งบาดแผลหรือจุดที่ถูกกระทำประกอบการจ่ายสินไหม

มาตรา 3 กล่าวถึงกรณีมีการกล่าวโทษแบบหลายกระทงและการหักล้างค่าสินไหมกันและกันของคู่ขัดแย้ง ความว่า “๓ มาตราหนึ่ง โจทหาว่าจำเลยตีด่า-ฟันแทงตนเจบปวด เปนโทษถึง ๙-๑๐ กทงก็ดี ฝ่ายจำเลยให้การเกี้ยวแก้กล่าวโทษโจทว่า โจทตีด่าฟันแทงมีบาทเจบถึง ๙-๑๐ กทงก็ดี ท่านว่าโทษอันใดใหญ่-หนัก ให้เอาแต่สิ่งนั้นตั้งไหมกลบลบกัน เหลือนั้นเปนสีนไหม-พิไนยกึ่ง”

เหล่านี้คือวิธีการคำนวน หักล้าง ค่าสินไหมที่คู่ขัดแย้งต้องจัดสรรแก่คู่กรณีตามแต่โทษที่ตนกระทำ ขอยกตัวอย่างกรณี “การวิวาทด่าตี” ด้วยการหมิ่นประมาทในมาตรา 37 ของพระอัยการตามประมวลกฎหมายนี้ อันเป็นเรื่องการใส่ความเรื่อง “ชู้” การประพฤติผิดในกาม และการด่าโดยเปรียบเทียบกับสัตว์ ดังนี้

“๓๗ มาตราหนึ่ง ด่าสบประมาทท่านให้ได้ความอาย ว่ามึงทำชู้ด้วยแม่มึง ๆ ทำชู้ด้วยพ่อมึง ๆ ทำชู้ด้วยหลานมึง ถ้าเปนสัจดั่งมันด่า อย่าให้มีโทษแก่ผู้ด่านั้นเลย ให้ลงโทษแก่มันผู้กระทำการลามกนั้นโดยบทพระอายการ ถ้าพิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้อาย ให้ไหมกึ่งค่าตัวตามกระเศียรอายุศม์ผู้ต้องด่า

อนึ่งด่าท่านว่ามึงเปนชู้กูก่อนมึงเปนข้ากูก่อนก็ดี พิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้ความอายอดสูดั่งนั้น เปนสบประมาทให้ไหมกึ่งค่า ถ้าจริ่งดุจมันด่าไซร้ให้ไหมกึ่งนั้นลงมาเล่า ถ้าด่าสิ่งอื่นเปรียบเทียบท่าน พิจารณาเป็นสัจท่านว่ามันด่าหมูประทามันด่าหมาประเทียบ ให้ไหมโดยเบี้ยค่าตัวเอาแต่กึ่งหนึ่ง…”

จะเห็นว่าการหมิ่นประมาทแบบใส่ความเรื่องชู้สาวระหว่างเครือญาตินั้น หากเป็นความจริงจะถือเป็น “การเปิดโปง” ความผิด ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับโทษ ขณะที่ผู้กล่าวหาจะต้องจ่ายสินไหมเมื่อเรื่องที่ใส่ความถูกพิสูจน์ว่าเป็นความเท็จ ส่วนการใส่ความหรือด่าทอเรื่องอื่น ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ผู้กล่าวหาก็ต้องจ่ายสินไหมในอัตราที่ต่าง ๆ อยู่ดี

กรณีมีการทำร้ายร่างกายกัน หรือบุคคล 2 คนทะเลาะวิวาทกัน กฎหมายโบราณ ของไทย ตามมาตรา 38 – 39 จะถือผู้ล่วงล้ำหรือเริ่มกระทำรุนแรงก่อนเป็นผู้ “รุก” และต้องชดใช้สินไหมให้แก่คู่กรณี

“๓๘ มาตราหนึ่ง รุกไปด่าตีท่านก็ดี สองรุกด่าตีกันก็ดี ให้พิจารณาจงรู้ทางบกน้ำห้วยบาง ทางลุ่มดอนขี่ขอนไม้ ขี่เรือขี่แพขี่ช้าง ผู้อยู่หัวมาท้าย ๆ มาหัว อยู่เรือขึ้นบก อยู่บกลงมาเรือ อยู่เรือลำหนึ่งค่ามไปเรือลำหนึ่งก็ดี ข้ามฟากคลองที่แดนตนไปถึงที่แดนบ้านเรือนท่าก็ดี แลอยู่เรือนทับทึมแลบนต้นไม้ก็ดี ผู้อยู่ใต้ต้นไปขึ้นไปถึงบน ผู้อยู่บนลงมาถึงล่างก็ดี ปักกันปันแดนไว้ล่วงเข้าไปก็ดี อยู่เหนือน้ำลงมาไต้ก็ อยู่ไต้น้ำขึ้นไปเหนือน้ำก็ดี ท่านว่าให้เอาเปนรุก”

“๓๙ มาตราหนึ่ง วิวาทร้องด่าเถียงกัน ผู้ใดออกไปจากที่แดนตน รุกเข้าไปถึงที่แดนท่านด่าตีกันไซ้ ท่านว่าผู้นั้นรุก ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา”

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดการรับฟ้องในคดีการวิวาทตาม “พระไอยการลักษณรับฟ้อง” สำหรับผู้ถูกกระทำหรือคู่ขัดแย้งสามารถฟ้องร้องเอาความภายใน 15 วันหลังเกิดเหตุ ดังนี้

“มาตราหนึ่ง ทวยราษฎรทังหลายวิวาทด่าตี กันด้วยประการใด ๆ ก็ดี ถ้าจะให้ร้องฟ้องพิพากษากล่าวหากันให้มาร้องฟ้องแต่ใน ๑๕ วัน พ้นกว่านั้นอย่าให้รับฟ้องไว้บังคับบันชาเปนอันขาดทีเดียว”

นอกจากนี้ กฎหมายโบราณ อย่าง “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” ยังมี “กฎมณเทียรบาล” ว่าด้วยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทะเลาะวิวาทภายในเขตพระราชฐานด้วย ซึ่งเหตุลักษณะนี้จะถือเป็นการผิดต่ออาญาแผ่นดิน มีบทลงโทษที่รุนแรงก่อนการไต่สวน โดยบทลงโทษนั้นมีตั้งแต่การเฆี่ยนตี ใส่ขื่อจองจำ ไปจนถึงการถอดเล็บเลยทีเดียว

“อนึ่ง ผู้ใดเถียงกันในวัง เลมิดพระราชอาญา ให้ตีด้วยไม้หวาย ๕๐ ที ถ้าด่ากัน ให้ตีด้วยไม้หวาย ๑๐๐ ที แล้วจึ่งให้ถามความเชเลาะนั้น แลให้ไหมตามกระบิลเมืองท่าน…”

“อนึ่งวิวาทเถียงกันในพระราชวัง ให้จำใส่ขื่นไว้ 3 วัน ถ้าด่ากันในพระราชวัง ให้ตีด้วยไม้หวาย ๕๐ ที ถ้าชกตีกันให้ปอกเลบมือข้างผู้ตีนั้นเสีย ๕ นิ้ว ถ้าจับมีดพร้าอาวุธฟันแทงกันมีบาดเจบไซ้ ให้ปอกเลบมือเสียทั้ง ๑๐ นิ้วแล้วจึ่งว่าเนื้อความซึ่งวิวาทนั้น แลให้ไหมโดยความเมืองท่าน”

เนื้อความตามประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 ระบุปีที่ตรากฎหมายคือ “มหาศักราช 1369” (พ.ศ. 1992) ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถูกยกเลิกหลังเปลี่ยนมาใช้ “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” ในปี พ.ศ. 2451 ที่มีความทันสมัยกว่า ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่า “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” หรือกฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นประมวลกฎหมายโบราณที่ใช้กันมาอย่างยาวนานเกือบ 500 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ขุนหลวงพระไกรศรี; ขุนศรีวรโวหาร ฯลฯ. (2505). กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ขุนหลวงพระไกรศรี; ขุนศรีวรโวหาร ฯลฯ. (2505). กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ขุนหลวงพระไกรศรี; ขุนศรีวรโวหาร ฯลฯ. (2506). กฎหมายตราสามดวง เล่ม 3. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2547). 200 ปี กฎหมายตราสามดวง. (เอกสารออนไลน์).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2565