วินาทีค้นพบ “หลักไชย” ตำรากฎหมายยุคกรุงศรีอยุธยา สาบสูญนับ 100 ปี แล้วเจอโดยบังเอิญ?

ภาพหนังสือ หลักไชย ฉบับสมุดไทย ของคุณกำธร เลี้ยงสัจธรรม
หลักไชย ฉบับสมุดไทย ของคุณกำธร เลี้ยงสัจธรรม

การชำระกฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2347 นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการรวบรวมบรรดาตัวบทกฎหมายที่ตกทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา และที่ประกาศใช้เพิ่มเติมในสมัยต่อมาไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน. ดังเราจะพบว่าบรรดาตัวบทกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการค้นพบและพิมพ์เผยแพร่ในภายหลัง เช่น พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ (ราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2469) และพระราชกำหนดเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา (ราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2476) เป็นต้น ก็ล้วนแต่มีอยู่ในกฎหมายตราสามดวงฉบับที่ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบันแล้วทั้งสิ้น.

แต่เอกสารทางกฎหมายอื่นๆ เช่น หนังสือสัญญา, คำฟ้อง, คำให้การ หรือคำพิพากษา เป็นต้น และตำรากฎหมายต่างๆ ที่ใช้สำหรับการศึกษากฎหมายในอดีตนั้น ได้ตกทอดมาถึงเราน้อยมาก จะมีก็แต่เพียงตำราคู่มือกฎหมายอย่างกฎหมายลิลิต ซึ่งแต่งในรัชกาลที่ 1 ก่อนการชำระกฎหมายตราสามดวงเพียงไม่กี่ปี และกรมศักดิ์สำเหร็จ ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครแต่งและแต่งขึ้นเมื่อใดเท่านั้น ที่ตกทอดมาถึงเราโดยการพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2444.

Advertisement

โชคดีที่วรรณคดีไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นบางเรื่องได้กล่าวถึงหนังสือกฎหมายในอดีตไว้หลายเล่ม ซึ่งบางเล่มมิได้รวมอยู่ในกฎหมายตราสามดวงอย่างเล่มอื่นๆ เช่น หนังสือที่ชื่อ “หลักไชย” เป็นต้น ดังปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงามว่า “…พระกำหนดกฎหมายมีหลายเล่ม เก็บไว้เต็มตู้ใหญ่ไขออกอ่าน กรมศักดิ์หลักชัยพระอัยการ มนเทียรบาลพระบัญญัติตัดสำนวน.”

หลักไชยคงเป็นหนังสือกฎหมายที่มีความสำคัญมากเล่มหนึ่งจึงได้รับการกล่าวขานอย่างนั้น แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดมากพอให้เราทราบได้ว่าหนังสือนี้มีเนื้อหาอย่างไร. นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงหนังสือหลักไชยอีกในวรรณกรรมครั้งรัชกาลที่ 5 บางเล่ม แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากเดิมเลย.

หลังจากนี้ชื่อ “หลักไชย” ก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงอีก ดูเหมือนว่าหนังสือนี้ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย แม้กระทั่งในวงการกฎหมายเองก็ตาม. ดังเช่นการพิมพ์กฎหมายเล่ม 1, 2 ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์เมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งมีความสำคัญในฐานะที่เป็นการปรับปรุงกฎหมายตราสามดวงให้ทันสมัยเป็นครั้งแรกนับแต่การชำระกฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นคู่มือสำหรับผู้พิพากษาและทนายความใช้ในโรงศาลขณะนั้น

โดยทรงตัดบทกฎหมายที่มีการยกเลิกออกเสีย, จัดให้มีเครื่องมือสำหรับค้นบทกฎหมายได้โดยสะดวกรวดเร็ว และนำเอาหนังสือกฎหมายลิลิตแลกรมศักดิ์สำเหร็จมาพิมพ์ไว้ด้วย แต่มิได้กล่าวถึงหรือนำเอาหนังสือหลักไชยมารวมพิมพ์ไว้เลย.

การสูญหายของหนังสือสำคัญอย่างหลักไชยนั้น ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เป็นไปแล้ว เพราะแม้แต่ศาสตราจารย์ ร. แลงกาต์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กฎหมายโบราณตะวันออกและผู้เขียนตำราประวัติศาสตร์กฎหมายไทยสำหรับนักศึกษาชั้นปริญญาโทแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2478-2483 อันลือชื่อ จะได้พยายามค้นคว้าหาหลักฐานทางกฎหมายในอดีต ที่มีอยู่ก่อนการชำระกฎหมายตราสามดวงในรัชกาลที่ 1 จากเอกสารต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว ก็ไม่ได้พบหรือแม้กระทั่งทราบว่ามีหนังสือนี้อยู่เลย.

มีผู้รู้หลายท่านพยายามรื้อฟื้นกล่าวถึงหนังสือหลักไชยอีกบ้าง แต่ก็เป็นการกล่าวแบบผิดๆ ถูกๆ และมักจะผิดมากกว่าถูก ที่ถูกก็กล่าวถึงแต่เพียงเล็กน้อย ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวทั้งหมดหรือกล่าวถึงรายละเอียดพอให้ทราบได้ว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาอย่างไร.

ความคลุมเครือเช่นนี้ทำให้ผู้รู้บางท่านก้าวไปไกลถึงกับจินตนาการเอาเองว่าน่าจะเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพียงแค่เห็นว่าชื่อของหนังสือคล้ายๆ กันก็มี. พฤติการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดูราวจะย้ำว่าหนังสือหลักไชยตัวจริงได้สูญหายไปอย่างถาวรแล้ว หนังสือนี้กลายเป็นเรื่องลี้ลับที่เหลือเพียงแต่ชื่อไว้ให้ชวนพิศวงเท่านั้น.

ความลี้ลับของหนังสือหลักไชยดังกล่าวดึงดูดใจข้าพเจ้าให้เกิดความอยากรู้ คิดว่าน่าจะยังมีฉบับหลงเหลืออยู่แม้จะได้สูญหายไปนานนับศตวรรษแล้วก็ตาม ซึ่งหากค้นพบและนำเสนอสู่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถไขความลี้ลับของหนังสือนี้ได้และคงจะเป็นประโยชน์แก่การศึกษาอย่างมาก.

หลังจากที่ได้พยายามสืบค้นและแสวงหาอยู่นาน ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้พบหนังสือหลักไชยตัวจริงและสมบูรณ์ฉบับหนึ่ง เป็นตำรากฎหมายว่าด้วยหลักวิธีพิจารณาความสำหรับขุนศาลตระลาการสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยได้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์.

การค้นพบหลักไชยตัวจริง

สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงามของท่านสุนทรภู่ ก็รู้แต่เพียงว่าหลักไชยเป็นชื่อหนังสือกฎหมายเล่มหนึ่งในบรรดาหนังสือกฎหมายที่พลายงามต้องอ่านเพื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระพันวษา. เมื่อได้อ่านหนังสือเล่าเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนของ “กาญจนาคพันธุ์” ก็เข้าใจว่าหลักไชยเป็นหนังสือกฎหมายที่มีลักษณะตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้.

ต่อมาได้อ่านหนังสือหลักไชยเล่ม 1 ของพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) จึงรู้ว่า “กาญจนาคพันธุ์” อ้างข้อความจากหนังสือนี้มาอธิบายคำ “หลักไชย” ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงามอีกต่อหนึ่ง ไม่ได้ค้นพบหนังสือหลักไชยด้วยตนเอง.

ครั้นได้อ่านหนังสือกฎหมายลิลิตในหนังสือกฎหมายเล่ม 1 ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็พบว่าหนังสือหลักไชยของพระยาวินัยสุนทรคล้ายกับหนังสือกฎหมายลิลิตมาก จนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน. หนังสือของพระยาวินัยสุนทรจึงเป็นเพียงหนังสือกฎหมายลิลิตที่ใช้ชื่อ “หลักไชย” เท่านั้น หาใช่หนังสือหลักไชยที่แท้จริงไม่.

เมื่อได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัย 2352-2453 ตอนที่ 1 ด้านสังคม ของนายชัย เรืองศิลป์ ก็ทราบว่ายังมีหลักไชยฉบับเขียนในสมุดข่อยที่ห้องสมุดสยามสมาคม เป็นหนังสือกฎหมายเล่มหนึ่งซึ่งมีอารัมภกถาต่างจากอารัมภกถาของหนังสือกฎหมายลิลิต แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้นำเอาเนื้อความของหลักไชยฉบับนี้มาแสดงไว้ จึงไม่อาจทราบอะไรมากไปกว่านี้.

การสืบค้นของข้าพเจ้าเริ่มต้นที่ห้องสมุดสยามสมาคมเมื่อกลางปี พ.ศ. 2527 แต่ก็ไม่พบหลักไชยฉบับเขียนในสมุดข่อยตามที่นายชัย เรืองศิลป์อ้างไว้.

ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2528 ได้ไปค้นหาที่แผนกหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ พบหลักไชยฉบับเขียนหลายเล่ม บางเล่มปนกับหนังสือกฎหมายลิลิต, บางเล่มปนกับหนังสือกฎหมายอื่น และบางเล่มเป็นหนังสือหลักไชยล้วนๆ

แต่น่าเสียดายไม่มีเล่มใดที่มีข้อความครบถ้วนสมบูรณ์เลย. ระหว่างนั้นข้าพเจ้ามีภาระบางประการทำให้ไม่อาจศึกษาเปรียบเทียบหลักไชยฉบับต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติได้ จำต้องยุติการศึกษาค้นคว้าลงชั่วคราว คิดว่าหากโอกาสอำนวยจะได้กลับมาศึกษาค้นคว้าอีกครั้งหนึ่ง.

ภายหลังข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวใน “งานนิทรรศการประกวดการอนุรักษ์พระบูชา, พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ต่างๆ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ณ ลานทอง ชั้น 5 พาต้าปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ได้พบกฎหมายฉบับเขียนในสมุดไทย 2 เล่มในแผงขายพระเครื่อง, พระบูชา และของเก่าแห่งหนึ่งที่มาออกร้านในงานนี้ และได้ซื้อมาทั้ง 2 เล่มในราคา 2,000 บาท.

สมุดไทย 2 เล่มนี้เป็นสมุดไทยขาวเล่มหนึ่งและสมุดไทยดำเล่มหนึ่ง สมุดไทยขาวเป็นหนังสือหลักไชยตัวจริงและสมบูรณ์ใช้ชื่อว่า “หลักไชย” ส่วนสมุดไทยดำเป็นบันทึกคำปรับสัตย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาบางส่วนใช้ชื่อว่า “พระไอยการบทปรับ”.

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูกที่ได้พบและได้เป็นเจ้าของหลักไชยตัวจริงและสมบูรณ์ เหมือนฝันกลายเป็นจริง จนแทบจะไม่ได้คิดว่าหนังสือพระไอยการบทปรับที่ซื้อมาพร้อมกันนั้นมีความสำคัญอย่างไร เพราะคิดเอาง่ายๆ ว่าน่าจะเป็นเรื่องที่มีอยู่ในกฎหมายตราสามดวงแล้ว ถือเป็นเพียงของแถมชิ้นหนึ่งเท่านั้น.

หลังจากตะลุยอ่านหนังสือหลักไชยที่ได้มาโดยตลอด และถอดเป็นภาษาปัจจุบันไปบางส่วน ได้หันไปสำรวจกฎหมายตราสามดวงจนจบ ไม่พบหนังสือพระไอยการบทปรับในหนังสือนั้นเลย จึงรู้ว่าหนังสือนี้เป็นหนังสือกฎหมายเล่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และได้ศึกษากับถอดเป็นภาษาปัจจุบันบางส่วนเช่นกัน. แต่การนี้ไม่อาจเดินไปโดยตลอดด้วยข้าพเจ้าไม่มีเวลาเพียงพอ งานจึงต้องสะดุดหยุดลงอีก.

ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2538 ข้าพเจ้าได้พบหลักไชยอีกฉบับหนึ่งในงานประกวดพระเครื่อง, พระบูชา และเหรียญคณาจารย์ต่างๆ ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น และได้ซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ในราคา 1,000 บาท เป็นฉบับเขียนในสมุดไทยขาว มีเรื่องอื่นๆ ปนอยู่และมีเนื้อความไม่สมบูรณ์.

หลักไชยฉบับนี้แม้มีข้อบกพร่อง แต่เป็นฉบับที่แท้จริง สามารถใช้ตรวจสอบกับฉบับอื่นๆ ในส่วนที่สงสัยได้. แต่งานของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ก้าวหน้าต่อไปอีกสักเท่าใด ด้วยอุปสรรคเดิมๆ คือไม่มีเวลานั่นเอง.

หนังสือหลักไชยสูญหายไปนานนับศตวรรษ เมื่อข้าพเจ้าค้นพบก็มีอุปสรรคขัดขวางไม่อาจพิมพ์เผยแพร่ได้ในทันที ครั้นจะรอให้ผู้อื่นค้นพบบ้าง ก็ยังไม่มีวี่แวว ภาระคงจะตกแก่ข้าพเจ้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะปลดเปลื้องได้เมื่อไร. นายสุพจน์ แจ้งเร็ว มิตรรักของข้าพเจ้า รู้เข้าก็ช่วยบอกนายสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (เมื่อปี 2547 – กองบรรณาธิการ) ว่ามีหนังสือนี้อยู่ ซึ่งท่านก็เมตตาจะรับพิมพ์ให้.

แต่ข้าพเจ้าก็ยังชักช้าอยู่ ด้วยจะถือโอกาสทำหนังสือหลักไชยและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสมบูรณ์ในคราวเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากพอควร. จนกระทั่งท่านต้องขอร้องแกมบังคับให้ข้าพเจ้าจัดทำต้นฉบับหนังสือหลักไชยเป็นการด่วนเพื่อพิมพ์เป็นบรรณาการแด่สมาชิกของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเนื่องในวันปีใหม่ พ.ศ. 2547 นี้.

ข้าพเจ้าเหลือที่จะขัดท่านได้ จึงต้องตัดตอนเอาเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยหนังสือหลักไชยมาเผยแพร่ ณ ที่นี้.

หลักไชยตัวจริงเป็นอย่างไร

หลักไชยเป็นตำรากฎหมายว่าด้วยหลักวิธีพิจารณาความของขุนศาลตระลาการในอดีต แต่เป็นหลักวิธีพิจารณาความที่มีลักษณะพิเศษคือผูกเป็น “หลักความ” หรือ “กลความ” ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการที่มีชื่อเฉพาะคล้ายกับกลศึกในตำราพิไชยสงครามของไทย กลความนี้เป็นผลจากการสังเคราะห์หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความในกฎหมายตราสามดวงขึ้นเป็นวิชากฎหมายวิชาหนึ่งของนักนิติศาสตร์ไทยในอดีต โดยอาจจะได้รับอิทธิพลจากตำราพิไชยสงครามก็เป็นได้.

อาจจะกล่าวได้ว่ากลศึกหรือตำราพิไชยสงครามคือวิชาสำคัญของฝ่ายทหาร ส่วนกลความหรือหนังสือหลักไชยก็คือวิชาสำคัญของฝ่ายพลเรือน แต่ข้าราชการไทยในอดีตไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือขุนนางมิได้มีการแยกภาระหน้าที่ระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนออกจากกันโดยเด็ดขาด จึงจำต้องรู้ทั้งกลศึกและกลความควบคู่กันไป.

ดังที่ได้ปรากฏในเพลงยาวถวายโอวาท ของท่านสุนทรภู่ว่า:

จงพากเพียรเรียนไว้จะได้ทราบ
ทั้งกลอนกาพย์การกลปรนนิบัติ
หนึ่งแข็งอ่อนผ่อนผันให้สันทัด
ตามกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงดิน
อนึ่งแยบยลกลความสงครามศึก
ย่อมเหลือลึกล้ำมหาชลาสินธุ์
เร่งฝึกฝนกลการผลาญไพริน
ให้รู้สิ้นรู้ให้มั่นกันนินทา

คำ “กลความสงครามศึก” ในกลอนข้างต้น ท่านสุนทรภู่ตั้งใจจะหมายถึงทั้งกลความและกลสงครามศึกหรือกลศึกด้วย แต่สัมผัสบังคับจึงต้องกล่าวคำรวบรัดเช่นนี้.

เนื่องจากหนังสือหลักไชยมีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นกลความ การที่จะศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองคงจะเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องอาศัยการสั่งสอนหรือชี้แนะโดยเฉพาะเจาะจงจากครูบาอาจารย์ที่มีความรู้เท่านั้น จึงจะทำความเข้าใจกลความเหล่านี้ได้.

หนังสือหลักไชยฉบับนี้ขึ้นต้นว่า “หน้าต้นกรมศักดิ์ นามชื่อว่าหลักไชยเล่ม ๑” อาจทำให้ผู้อ่านเกิดข้อสงสัยได้. ข้าพเจ้าเข้าใจว่า “กรมศักดิ์” ในที่นี้น่าจะหมายถึงหนังสือกฎหมายทั่วไป มิได้หมายถึงกฎหมายกรมศักดิ์หรือพรหมศักดิ์ที่ว่าด้วยลำดับศักดิ์ของอาวุธที่ใช้ทำร้ายและศักดินาของผู้ที่ถูกทำร้าย เพื่อใช้ในการปรับสินไหมและพิไนยโดยเฉพาะ.

ส่วน “เล่ม ๑” ชวนให้เข้าใจว่ามีเล่ม 2 ต่อมาหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีก็ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยพบ. ฉบับที่มีในหอสมุดแห่งชาติก็ไม่มีฉบับใดมีข้อความสมบูรณ์เท่าฉบับนี้ และท้ายฉบับนี้ก็ลงท้ายว่า “จบบริบูรณ์ ขอเป็นนิสัยปัจจัยแก่ ฯข้าฯ เถิด” แสดงว่าจบในเล่มนี้ไม่น่าจะมีเล่ม 2 ต่อไปอีก.

หนังสือหลักไชยเกิดขึ้นโดยอ้างว่ามีพระราชโองการจากพระมหากษัตริย์โปรดให้อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ซึ่งคงจะเป็นผู้รู้กฎหมายหรือนักนิติศาสตร์ แต่งไว้เมื่อจุลศักราช 1125 หรือพุทธศักราช 2306 ซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระที่นั่งสุริยามรินทร์) แห่งกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาเพียง 4 ปี.

หนังสือนี้น่าจะเป็นที่นิยมนับถือกันมาโดยตลอด ดังปรากฏร่องรอยในวรรณคดีไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น, สันนิษฐานว่าคงจะยุติบทบาทลงเมื่อมีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลในรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะการตั้งโรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. 2440 เพราะไม่มีการสอนและสอบไล่วิชาหลักไชยในโรงเรียนแห่งนี้ และถูกละเลยอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการพิมพ์กฎหมายเล่ม 1, 2 ของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2444 เพราะมิได้นำเอาหนังสือหลักไชยมารวมพิมพ์ไว้ด้วย.

หนังสือหลักไชยที่ข้าพเจ้าค้นพบเป็นฉบับเขียนในสมุดไทย แม้จะเขียนด้วยภาษาไทย แต่อักขรวิธีที่ใช้เขียนแตกต่างจากปัจจุบันมาก จนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอักขรวิธีโบราณอาจจะอ่านไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย.

การพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ (เมื่อปี 2547) เพื่อเป็นบรรณาการแก่สมาชิกในโอกาสครบรอบ 25 ปี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ข้าพเจ้าจึงต้องถอดหรือแปลเป็นภาษาปัจจุบัน โดยขึ้นหัวข้อ, จัดแบ่งวรรคตอนเสียใหม่เท่าที่จำเป็น,เพิ่มเติมคำหรือข้อความที่คิดว่าตก หล่นหรือทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในวงเล็บ และทำหมายเหตุไว้ในกรณีที่แปลไม่ตรงกับต้นฉบับ หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจหนังสือหลักไชยได้ง่ายขึ้น…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “หลักไชย ตำรากฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่สูญหายไปนับศตวรรษ” เขียนโดย กำธร เลี้ยงสัจธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2564