ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
ปาราชิก แปลว่า ยังผู้ต้องให้พ่าย [1], ผู้พ่ายแพ้ เป็นอาบัติของภิกษุที่มีโทษร้ายแรงที่สุดในพุทธบัญญัติ
ปาราชิกมี 4 ประการ คือ เมถุนปาราชิก-เสพเมถุน, อทินนาทานปาราชิก-การลักทรัพย์, มนุสสวิคคหปาราชิก-การฆ่ามนุษย์ และอุตตริมนุสสธรรมปาราชิก-การอวดมนุสธรรม [2]
ไม่เพียงแต่ในพุทธบัญญัติเท่านั้น ปาราชิกยังปรากฏในกฎหมายของไทยมาแต่โบราณ ทั้งนี้เพราะรัฐจำเป็นต้องมีบทบาทควบคุมสังคมและคนในสังคม ภิกษุและศาสนาในทางธรรมจึงมิอาจแยกขาดออกจากทางโลกได้
พระไอยการลักษณะผัวเมีย ในกฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 บัญญัติว่า “พระครูภิกษุสามเณรผิดเมียท่านถึงชำเราชื่อว่าปาราชิกให้สึกออกเสียแล้วปรับไหม…” [3] และ “ถ้าพระครูภิกษุสามเณรผู้อยู่ในศีลทำทุราจานผิดกิจวิไนยทำร้ายด้วยหญิงบทผัวมิได้ ถึงชำเราเป็นสังไซ้ชื่อว่าปาราชิก ให้สึกออกลงโทษทวนด้วยลวดหนัง 25 ถึง 50 ที ส่งตัวลงหญ้าช้างหลวง ส่วนหญิงนั้นให้ทำโทษดุจหญิงทำชู้นอกใจผัวนักแล” [4]
นอกจากนี้ยังมีกฎกำหนดให้คณะสงฆ์ต้องคอยกวดขันมิให้ภิกษุกระทำอาบัติปาราชิก หากพบว่าปาราชิกแต่ปกปิดแล้วยังให้เข้าร่วมปฏิบัติกิจสงฆ์ จนเป็นมณฑิลแก่พระศาสนา ต้องถูกลงพระราชอาญาอีกด้วย
จากกฎหมายในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีภิกษุบางรูปพระพฤติตัวไม่สมควร กระทำอาบัติปาราชิกโดยเฉพาะเมถุนปาราชิก หรือการเสพสังวาสกับผู้อื่น ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ยังมีให้พบเห็นอยู่ จนพระองค์ต้องออกประกาศว่าด้วยเรื่องฟ้องหาปาราชิก เมื่อ พ.ศ. 2396 ความว่า
“ด้วยพระสงฆ์ทุกวันนี้ดูเหมือนจะไม่มีศรัทธาที่จะให้เป็นประโยชน์ชั่วนี้ชั่วหน้า บวชในพระศาสนาแล้วตั้งใจจะหาแต่ลาภสักการ แล้วกระทำอุลามกต่าง ๆ เป็นต้นว่าไปคบหาผู้หญิงพูดจากันในที่ลับแต่สองต่อสองจนถึงชำเรากันดังนี้เห็นจะมีอยู่โดยมาก แต่หากว่าไม่มีผู้ใดจะฟ้องร้องว่ากล่าว เหมือนเรื่องอ้ายเสนไปคบหากันกับอีหนู ไปมาหากันจนถึงชำเรากันทั้งพระแล้วมีคนไปฟ้องหาในกรมพระธรรมการ
กรมพระธรรมการแลตุลาการชำระอ้ายเสนหาเป็นสัจไม่ด้วยเห็นแก่อ้ายเสน ครั้นมาภายหลังอ้ายเสนกับอีหนูกลับมาเป็นผัวเมียกันเข้า ครั้นเอาตัวอีหนูมาถามกลับรับเป็นสัจ แต่ตัวอ้ายเสนนั้นหนีไปยังไม่ได้ตัว แลพระสงฆ์อื่น ๆ ก็เห็นจะเป็นเหมือนอ้ายเสนจะมีอยู่มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่าแต่นี้สืบไป ถ้าผู้ใดรู้เห็นว่าพระสงฆ์รูปใดวัดใดเป็นเช่นอ้ายเสนนี้แล้ว ให้เห็นแก่พระศาสนาอย่าได้ปิดบังอำพรางไว้ ให้มาฟ้องร้องว่ากล่าวในกรมพระธรรมการตามกระทรวง…” [5]
รัชกาลที่ 4 ทรงต้องการให้ราษฎรช่วยกันสอดส่อง หากพบกรณีดังกล่าวก็ให้มาฟ้องร้องในกรมพระธรรมการตามกระทรวง แต่หากตุลากรผู้ไต่สวนเอนเอียงเห็นแก่ฝ่ายจำเลย ทำการผัดผ่อนจนเนิ่นนาน ก็ให้โจทก์ทำเรื่องถวายฎีกา แล้วพระองค์จะทรงแต่งตั้งคนไปตัดสินความ หากชำระความว่าเป็นจริง คือ ภิกษุปาราชิกด้วยเหตุเสพเมถุน โจทก์ก็จะได้รับพระราชทานรางวัลตามสมควรอีกด้วย
นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุด้วยว่า หากราษฎรหรือผู้ใดที่มีบ้านใกล้เรือนเคียง รู้เห็นการกระทำผิดแล้วปิดบังไม่ยอมมาฟ้องร้องกับทางราชการจะต้องถูกปรับ (ให้เข้าเดือน) ถ้าคนที่เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจหรือช่วยเป็นพ่อสื่อแม่ชักระหว่างภิกษุกับผู้หญิง หากชำระความว่าเป็นจริงจะต้องถูกปรับเช่นกัน (ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง คือ หาหญ้าให้ช้างกิน)
รายละเอียดของ ปาราชิก มี 4 ประการ ดังนี้
“สิกขาบทที่ 1 ว่า ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและธรรมเนียมเลี้ยงชีพร่วมกันของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่กล่าวคืนสิกขา ไม่ได้ทำให้แจ้ง ความเป็นผู้ถอยกำลัง [คือความท้อแท้] จะพึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนี้เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส [คือธรรมเป็นเหตุอยู่ร่วมกับภิกษุอื่น]” [6]
กล่าวคือ ห้ามมิให้เสพเมถุนธรรม…คือ ให้องคชาติเข้าไปในทวารทั้ง 3 คือ ทวารหนัก 1 ทวารเบา 1 ปาก 1 ของมนุษย์และอมนุษย์ คือ เทวดา ยักษ์ เปรต ผี ปีศาจ และสัตว์เดรัจฉาน ทั้งหญิงชาย ตัวผู้ตัวเมีย เป็น 3 จำพวกด้วยกัน แม้ว่าภิกษุเสพเมถุนในซากศพที่มีทวารทั้ง 3 นั้น อันสัตว์กัดกินเสียยังไม่ครึ่งหนึ่งก็ดี ภิกษุให้ผู้อื่นใส่องคชาติเข้าไปในทวารหนักและปากของตนก็ดี ภิกษุหลังอ่อนก้มลงอมองคชาติของตนเองก็ดี ภิกษุที่มีองคชาติยาวจับองคชาติแหย่แยงเข้าไปในทวารหนักของตนเองก็ดี อาการเหล่านี้ชื่อว่าเสพเมถุนทั้งสิ้น [7]
“สิกขาบทที่ 2 ว่า อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เป็นส่วนแห่งโจรกรรม จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาจับโจรได้แล้วฆ่าเสียบ้าง จำขังไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยปรับโทษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมยดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้” [8]
กล่าวคือ ห้ามมิให้ลักทรัพย์สิ่งของที่เจ้าของหวงแหน มิได้อนุญาตยอมให้ภิกษุมีไถยจิต (จิตคิดลักขโมย) คิดจะขโมย ล้วง ลัก เบียดบัง ฉ้อ ตระบัด ปล้นสะดม ข่มเหง แย่งซื้อ ลอบ ริบถือเอาพัสดุสิ่งของที่เจ้าของหวงแหน ควรแก่ราคา 5 มาสก ที่เรียกว่าหนึ่งบาทของชาวมคธขึ้นไป คิดเป็นราคาทองหนัก 20 เมล็ดข้าวเปลือกทอนลงเป็นเงินสองสลึงเฟื้องกับห้ากล่ำในสยามประเทศนี้ ลักเองก็ดีให้ผู้อื่นลักก็ดี ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก… [9]
“สิกขาบทที่ 3 ว่า อนึ่ง ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะนำ [ชีวิต] เสีย ให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย มีประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันชั่วนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตมีใจ มีจิตดำริอย่างนี้ พรรณนาคุณแห่งความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้” [10]
กล่าวคือ ห้ามมิให้ฆ่ามนุษย์ในครรภ์ นอกครรภ์ ภิกษุรูปใดรู้ว่ามนุษย์มีชีวิตคิดแกล้งจะฆ่าให้ตายด้วยอุบายต่าง ๆ จำเดิมแต่ประกอบยาให้หญิงมีครรภ์กิน ให้ครรภ์คือสัตว์ที่เกิดในท้องมารดาตั้งแต่แรกตั้งปฐมวิญญาณให้ตกไป ฆ่าด้วยมือตนก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี หรือวางศัสตราวุธไว้ใกล้เพื่อจะให้เขาฆ่ากัน ตายก็ดีหรือแกล้งพรรณนาคุณความตายให้เขาเกลียดหน่ายร่ายกาย ไม่เสียดายชีวิต ฆ่าตัวตายเสียก็ดี หรือชักชวนให้ถือเอาถ้อยคำของตนว่า ท่านอยู่ทนทุกข์ลำบากไปต้องการอะไร ตายเสียดีกว่าอยู่ดังนี้ ถ้าเขาฆ่าตัวตายตามคำก็ดี หรือแกล้งหลอกหลอนให้เขาตกใจตายก็ดี เมื่อคิดจะให้มนุษย์ตายแกล้งประกอบอุบายต่าง ๆ สมตามความคิดของตนได้แล้ว ชื่อว่าเป็นอันฆ่ามนุษย์ตายทั้งสิ้น ภิกษุแกล้งให้มนุษย์ตายด้วยอุบายต่าง ๆ ดังว่ามานี้ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก [11]
“สิกขาบทที่ 4 ว่า อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ [คือไม่รู้จริง ๆ] กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม [คือเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม แต่ในบทภาชนีย์คัมภีร์วิภังค์ แก้ความว่า ถูกซักถามก็ตาม ไม่ถูกซักถามก็ตาม] ก็เป็นต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด [คือพ้นโทษ] จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อย ๆ เป็นเท็จเปล่า ๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้” [12]
กล่าวคือ ห้ามมิให้อ้างอวดอุตตริมนุสธรรม (คืออวดธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ ฌาณวิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ธรรมวิเศษหรือคุณวิเศษ) ที่ไม่มีในตน ภิกษุรูปใดไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ไม่ถึง ไม่ได้ตรัสรู้ แต่เป็นคนใจบาป อยากจะได้ลาภสักการะ จะให้มีผู้สรรเสริญเลื่องลือชื่อคุณ กล่าวอวดซึ่งธรรมของมนุษย์…อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนให้มนุษย์เชื่อถือ แม้จะใช้เล่ห์อุบายเปรียบปรายแสดงกายวิการเป็นเลศกระหยิบตา พยักหน้าเป็นต้น ให้สังเกตสำคัญว่า ตนได้คุณวิเศษดังว่ามานี้ก็ดี เมื่อมนุษย์เชื่อถือตามความคิดของตนในขณะนั้นแล้ว ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก [13]
อ่านเพิ่มเติม :
- สาวสมัยพุทธกาลเข้าใจผิด คิดว่าช่วยคลายกำหนัดให้พระแล้วจะได้บุญ
- “พระสงฆ์” ไทย กับคิ้วที่หายไป พระสงฆ์ (ไทย) เริ่มโกนคิ้วตั้งแต่เมื่อไหร่?
อ้างอิง :
[1] [6] [8] [10] [12] วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. (2512). วินัยมุข เล่ม 1 หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี. พิมพ์ครั้งที่ 28. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
[2] [7] [9] [11] [13] ปฏิบัติบูชา. (2544). อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ พระภิกษุหลวง สุมงฺคโล นักธรรมโท ณ ฌาปนสถานวัดดอนแจง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี วันอาทิตย์ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2544. ม.ป.พ.
[5] กรมศิลปากร. (2528). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.
[3] [4] พิชศาล พันธุ์วัฒนา. (พฤษภาคม-สิงหาคม, 2559). บทลงโทษของพระภิกษุที่ปาราชิกสิกขาบท 1. วารสารวิชาการแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์. ปีที่ 3 : ฉบับที่ 2.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564