เผยแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 4 และการโต้ตอบ “แหม่มแอนนา” เรื่อง “ทาส-เสรีภาพ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และ แอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ แหม่มแอนนา
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ขวา) แอนนา เลียวโนเวนส์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีจดหมายส่วนตัวไปถึง แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ซึ่งพูดคุยในเรื่องส่วนตัว และบ้างเป็นธุระในการติดต่อกับที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ เช่น เซอร์จอห์น เบาริ่ง รวมถึงพูดคุยเรื่อง “ทาส” และ “เสรีภาพ”

ในบรรดาจดหมายเหล่านี้ มีฉบับหนึ่งลงวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1864 พูดถึงเรื่องของทาสหญิงสองคน ที่นางแอนนาได้เคยทูลขอให้ปล่อยเป็นอิสระไป คำตอบและคำอธิบายของรัชกาลที่ 4 ต่อปัญหาดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้เห็นถึงทรรศนะของชนชั้นนำสยามสมัยนั้น ว่ามีความคิดอย่างไรต่อระบบทาสและปัญหาทาสในประเทศต่างๆ

ที่สำคัญอะไรคือแนวคิดและอุปสรรคในการเลิกทาสหรือไม่เลิกทาสในสยามด้วย

ต่อปัญหาการเป็นทาสในสยามนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเรื่องที่เหนืออำนาจและสิทธิขาดของกษัตริย์ ในการไปยกเลิกหรือปล่อยทาสไปเองตามพระราชประสงค์ เพราะทาสเป็นเรื่องของกฎหมายและขนบธรรมเนียมแต่ดั้งเดิมของสยาม ที่คนทั้งพระราชอาณาจักร ไม่ว่าเจ้านาย ขุนนาง ผู้มีทรัพย์และราษฎรทั่วไป ต่างต้องการและใช้สอยประโยชน์จากมันต่างๆ กัน

การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ในการยกเลิกทาส จะ “เป็นการละเมิดกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามอย่างรุนแรง” แม้การใช้อภิสิทธิ์ในการช่วยเหลือทำให้ทาสเป็นอิสระจากนาย โดยไม่ได้รับคำยินยอมจากนาย ก็ “เป็นการละเมิดอย่างสูงสุดเช่นกัน”

รัชกาลที่ 4 ทรงได้รับความเห็นและอาจเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์จากนางแอนนาในเรื่องทาสมาไม่มากก็น้อย ดังที่พระองค์กล่าวว่า ทรงจำได้ว่า แหม่มแอนนา เคยพูดว่า “ทาสจะเป็นมลทินที่ยิ่งใหญ่ของชาติสยาม” (“that slavery shall be a great blot on the Siamese nation”) ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิเสธไปในตอนแรก

การที่รัชกาลที่ 4 ไม่คิดว่าทาสในสยามเป็นสิ่งอัปลักษณ์ใหญ่โตนัก เพราะทรงมองว่าทาสในสยามนั้น มีหลายประเภท ทรงถามแหม่มแอนนาว่ามีแบบไหนที่พอจัดว่ามีมนุษยธรรมได้บ้าง

ประเภทแรกคือทาสเชลย ประเภทสองคือทาสกบฏ คือพวกคนที่คิดคดและไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ ประเภทที่สาม ทาสในเรือนเบี้ย และประเภทที่สี่ ทาสสินไถ่

บรรดาทาสในสยามดังกล่าวนี้ ไม่เหมือนบรรดาทาสในประเทศระบบอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งต้องทำงานในเหมือง ในโรงงาน ต้องใช้ชีวิตแออัดยัดเยียดในห้องพักเล็กๆ ภายในเมืองอุตสาหกรรมเช่นลอนดอน แมนเชสเตอร์ กลาสโกว เป็นต้น พวกทาสกรรมกรเหล่านั้นต่างหากที่ยากจนและแสนเข็ญ ในขณะที่ทาสสยามนั้นมีเจ้านายคอยดูแลความเป็นอยู่ ให้ที่พัก อาหาร ผ้านุ่ง กระทั่งให้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนและวัดก็ได้ หน้าเทศกาลและงานพวกทาสก็ไปเล่นในงานตามประเพณีเหมือนอย่างราษฎรทั่วๆ ไปเขาทำกัน

จากข้อมูลและสภาพการณ์ของทาสในสองระบบสองประเทศดังกล่าวนั้น พระองค์ทรงถามนางแอนนาว่าระบบไหนจะเหมาะสมหรือดีกว่ากัน

น่าคิดว่า ทรงมองว่าการให้ราษฎรเป็น คนเสรี (free people) เท่ากับเป็นการแยกพวกเขาออกจากหมู่ราษฎรทั่วไป และถูกนำเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าอุตสาหกรรมและโรงงาน ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้ราษฎรสยามมีเสรี ที่สำคัญไม่ใช่ปัจจัยการผลิต หรืออุดมการณ์อะไร หากแต่เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ต่างหาก ชีวิตที่เป็นธรรมดาของสยามจึงได้แก่สภาพการณ์ที่คนเป็นทาสก็เหมือนกับราษฎรทั่วไป มีการทำงานและเล่นเหมือนคนทั่วไปได้

ที่น่าตื่นเต้นคือรัชกาลที่ 4 ได้ทรงวิพากษ์วิจารณ์การมีทาสของประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปเช่นอังกฤษอย่างไม่ไว้หน้าเลย (แม้จะเป็นในจดหมายส่วนตัวก็ตาม)

พระองค์ทรงเปรียบเทียบบทบาทของศาสนากับระบบทาส โดยชี้ให้เห็นว่า “คำสอนในพระธรรมของเรา อันถือเป็นคัมภีร์ไบเบิลของพุทธศาสนานั้น ไม่ยอมให้มีการใช้ทาส เหมือนอย่างที่ได้อนุญาตให้ปฏิบัติกันในพระคัมภีร์เก่าของพวกยิว แม้คำสอนของพุทธศาสนามีอายุเก่ากว่าสมัยคริสตกาล เธอคงจำได้ว่า ศาสนาคริสเตียนนั้นไม่ได้ช่วยขจัดทำลายทาสลงไปเลย ชาติคริสเตียนทั้งหลายได้กำไรมหาศาลจากการค้า และแม้กระทั่งอังกฤษก็มีทาสและมีการค้าทาสทางทะเลจนเกือบเดี๋ยวนี้ เช่น สงครามในสหรัฐเป็นตัวอย่าง”

คำวิจารณ์นี้ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง และกระทั่งในปัจจุบันนักวิชาการเรื่องระบบทาสตะวันตก ก็ยังถกเถียงกันอยู่ไม่ตกฟาก ว่าจริงๆ แล้วศาสนาคริสเตียน (ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์) นั้น ช่วยค้ำจุนหรือเป็นปฏิปักษ์กับระบบทาสผิวดำกันแน่ ปรากฏการณ์และหลักฐานมีให้ได้ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อพูดให้ถึงที่สุดปัญหาเรื่องศาสนาคริสเตียนกับระบบทาสสมัยใหม่จึงเป็นปัญหาจุดยืนทางการเมืองมากกว่าปัญหาทางวิชาการหรือทางศาสนาล้วนๆ

ประเด็นสุดท้ายในจดหมายฉบับดังกล่าวนี้ คืออะไรเป็นอุปสรรคในการจะเลิกทาสในสยาม นอกจากกฎหมายและธรรมเนียมแล้ว

คำตอบที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้แก่ แหม่มแอนนา ก็คือ การที่ราษฎรทั่วไปไม่ค่อยนิยมในพระองค์และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เท่าใดนัก แต่คนเหล่านั้นกลับมีความพอใจในอีกครอบครัวหนึ่งที่ทำตัวเป็นมิตรกับพวกเขามากกว่า นี่เองที่พระองค์ทรงกล่าวในตอนจบของจดหมายว่า นางแอนนาคงจะเข้าใจได้ว่า ทำไมพระองค์ถึงต้องทำอะไรอย่างระมัดระวัง และไม่อาจทำอะไรแรงๆ ตามคำแนะนำอันดียิ่งของนักมนุษยธรรม เช่นเรื่องการเลิกทาส เป็นต้น

รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411
รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411

รัชกาลที่ 4 กับแนวความคิด เรื่องทาสกับเสรีภาพ

พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 ใช้คำภาษาอังกฤษว่า “liberty” และ “free” (ไม่มีคำว่า freedom) ในหลายที่ ในการแปลนี้เลือกใช้ศัพท์ไทยว่า “เสรีภาพ” และ “เสรี” ไม่ใช้คำว่า “อิสรภาพ” ซึ่งเป็นคำเก่าแต่ดั้งเดิมมีอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งคงเป็นคำที่คนไทยรู้จักและใช้กันอยู่สมัยนั้น โดยมีความหมายว่าผู้เป็นใหญ่ผู้มีอำนาจเหนือคนอื่นๆ เป็นต้น

ที่เลือกใช้คำแปลว่า “เสรีภาพ” นั้น ทั้งๆ ที่ศัพท์นี้ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่มีหลักฐานว่ารัชกาลที่ 4 ทรงใช้ศัพท์ว่า “เสรี” แล้วในการตั้งชื่อ กล่าวคือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานนามแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในคาถาบาลีก็มีคำว่า “เสรี” ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งหมายความว่า “ให้เป็นอิสระแก่ตน” หรือ “ให้พึ่งตนเองเป็นใหญ่” แสดงว่าทรงมีแนวคิดว่าด้วยความเป็นตัวของตัวเอง นัยคือการมีอำนาจเหนือตนเอง ไม่ใช่มีอำนาจเหนือคนอื่น

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลศัพท์ Liberty ว่า “อิสรภาพ” ทั้งนี้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมโนทัศน์เสรีภาพแบบใหม่ที่มาจากตะวันตก กับมโนทัศน์อิสรภาพแบบเก่าของสยามเอง

กว่าสยามจะคิดหรือพบศัพท์ว่า “เสรีภาพ” ก็ตกมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ระบุได้ชัดเจนเพราะสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น กล่าวกันว่ามีสำนักของเจ้านายที่แข่งขันกันในการแต่ง แปล และคิดศัพท์ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะศัพท์กฎหมายมาเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึง 5 สำนัก

สำนักแปลภาษาตะวันตกดังกล่าวนั้น ประกอบไปด้วยสำนักที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สำนักของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สำนักเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต สำนักกรมพระจันทบุรีนฤนาถ และสำนักกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นต้น

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงคิดคำว่า “เสรีภาพ” ขึ้นโดยแปลจากศัพท์ฝรั่งว่า freedom นั้น สำนักกรมพระจันทบุรีนฤนาถทรงขัดข้อง เพราะตามปทานุกรมบาลีคำว่า “เสรี” แปลว่า “อิสระ, ดื้อดึง” หรือในภาษาอังกฤษว่า self-will, independence ในสันสกฤต “เสรี” แปลว่า “อิสระตามใจชอบ” และมักใช้ในทางไม่สู้ดี คล้ายๆ กับที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า license ซึ่งนัยก็คือหมายถึงคนเสเพล คนที่ทำตามอารมณ์ตนเองเป็นใหญ่

ตามมูลศัพท์ “เสรีภาพ” แปลว่า “ตนเองเป็นใหญ่ ให้พึ่งตนเองเป็นใหญ่” ใช่ว่าจะให้เป็นคนเสเพลประการใดก็หาไม่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงสนับสนุนคำแปลไทยนี้ และเห็นว่า “เสรีภาพ” เป็นคำที่ใช้สำหรับ freedom ได้

ข้อน่าคิดก็คือจากกรณีถกเถียงเรื่องคำแปลเสรีภาพนั้น ทำให้เราได้ทราบว่ารัชกาลที่ 4 ทรงมีความคิดกระเดียดทางสมัยใหม่แล้วในเรื่องสิทธิเสรีภาพเชิงปัจเจกชน อย่างน้อยก็ในการใช้คำว่า “เสรี” ซึ่งทรงให้ความหมายว่า “เป็นอิสระแก่ตนเอง” หรือ “พึ่งตนเองเป็นใหญ่” ความคิดดังกล่าวนี้เป็นการหันเหออกไปจากแนว ความคิดเรื่องสิทธิที่มีมาแต่โบราณกาล ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นๆ ซึ่งสิทธิจะหมายถึงอภิสิทธิ์ของผู้เป็นใหญ่ หรือให้ (ผู้น้อย) พึ่งผู้ใหญ่เป็นสำคัญ การให้เอกชนคิดพึ่งตนเอง หรือให้ตนเองเป็นอิสระนั้น โดยนัยแล้วขัดแย้งกับโลกทรรศน์และระเบียบสังคมแบบไทยเดิมยิ่งนัก

แต่ความคิดแบบใหม่ดังกล่าวคงอยู่ในระดับนามธรรม เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกชนที่อยู่ในฐานะจะรับรู้เข้าถึงความรู้และความคิดแบบใหม่ๆ ได้ โดยที่ความคิดใหม่นั้นยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นความคิด “ทางสังคม” และเป็นวาทกรรมได้ ดังในกรณีข้างต้นความหมาย “ใหม่” ของคำว่า “เสรี” ก็ถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีส่วนพระองค์ ยังเป็นการนำเข้าไปผูกติดกับธรรมเนียมและศาสนาความเชื่อดั้งเดิมอยู่ ยังไม่ได้มีบริบท “ใหม่” รองรับคำใหม่อย่างสมบูรณ์

แอนนา เลียวโนเวนส์ เมื่ออายุประมาณ 29 ปี

ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม จะกล่าวว่าแนวคิดเรื่องพึ่งตนเองและให้ตนเองเป็นอิสระของรัชกาลที่ 4 ไม่มีการปฏิบัติทางสังคมเลยก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด ความจริงก็มีการปฏิบัติบ้างเหมือนกัน เพียงแต่ว่าถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องสังคมเสีย เพราะยังไม่มีผลกระทบอย่างจริงจังในตอนนั้น

กล่าวคือ การเข้าถือสิทธิเหนือที่ดินในแบบสมัยใหม่คือมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเหนือที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีอยู่ในจารีตความสัมพันธ์ระหว่างคนกับที่ดินในอาณาจักรไทยสยามและไททั้งหลายในอุษาคเนย์ แต่รัชกาลที่ 4 ก็ทรงริเริ่มธรรมเนียมใหม่ของการถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนตัว

ใน พ.ศ. 2404 มีประกาศร่างพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอของรัชกาลที่ 4 ออกมาดังนี้

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 4 ในพระบรมวงศ์ปัจจุบันนี้ ขอประกาศแก่ชนที่ควรจะรู้คำประกาศนี้ว่า ที่ท้องทุ่งริมคลองขุดใหม่ ตั้งแต่บางขวางไปออกบ้านงิ้วรายนั้น เป็นแขวงเมืองนนทบุรี นครไชยศรี เดิมรกร้างว่างเปล่าอยู่หาผู้เป็นเจ้าของไม่ ครั้นขุดคลองไปตลอดแล้ว ข้าพเจ้าได้สั่งเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี ว่าที่พระคลังผู้เป็นแม่กองขุดคลองให้จับที่ว่างเปล่านั้นเป็นที่นา อยู่แขวงเมืองนนทบุรีฝั่งเหนือ 1,620 ไร่ อยู่ในแขวงเมืองนครไชยศรีฝั่งเหนือ 9,396 ไร่ ฝั่งใต้ 5,184 ไร่ รวมเป็นที่นา 16,200 ไร่ แบ่ง 50 ส่วน ได้ส่วนละ 324 ไร่ เป็นที่นายาว 60 เส้น กว้าง 5 เส้น 8 วา ที่นาทั้งปวงนี้ เพราะไม่มีเจ้าของมาแต่เดิม เป็นที่จับจองของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอยกส่วนที่ว่านั้นให้เป็นของบุตรชายข้าพเจ้าคนละส่วนบ้างสองส่วนบ้าง ให้เป็นที่บ่าวไพร่ไปตั้งทำนา ฤาจะให้ผู้อื่นเช่าทำก็ตาม

ส่วนหนึ่งซึ่งจะมีสำคัญด้วยหนังสือพิมพ์ฉะบับนี้ ข้าพเจ้ายอมยกให้….(ชื่อพระโอรส)….ให้……..จงเอาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไปเป็นสำคัญ และขอให้พระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี นำข้าหลวงไปรังวัดแล้วทำตราแดงให้เป็นสำคัญตามอย่างธรรมเนียมแผ่นดินเมืองเถิด”

ข้อที่น่าคิดจากประกาศดังกล่าวนี้คือ การแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเสรีแบบใหม่นั้นจำเป็นต้องอาศัยหรือเกี่ยวพันกับการมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวหรือการมีทรัพย์สินส่วนตัวด้วย ดังที่เราได้อภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว

การสร้างระบบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัว โดยเริ่มจากที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ จะดำเนินต่อไปมากขึ้นเรื่อย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงดำเนินรอยตามพระบิดา โดยจัดหาที่ดินและ “ทำเป็นบ้าน” มอบให้เป็น “สิทธิ์” และ “ทรัพย์” แก่พระราชโอรสด้วยเหมือนกัน ข้อที่ต่างไปจากก่อนนี้คือ รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินเหล่านั้นจากราษฎรโดย “ให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่ให้เจ้าพนักงานจัดซื้อไว้ตามราคาซึ่งราษฎรซื้อขายกัน”

การเข้าถือครองที่ดินเหมือนดังเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวโดยเด็ดขาดนั้น มาสำเร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยนี้เช่นกันเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโฉนดที่ดินในปี พ.ศ. 2445 เป็นอันว่ารัฐไทยแบบโบราณที่วางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจอุปถัมภ์แบบศักดินา กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐไทยสมัยใหม่ที่อาศัยอำนาจและการอุปถัมภ์ที่ผ่านระบบตลาดและทรัพย์สินส่วนตัว

ข้อสังเกตอีกนิดหนึ่ง หลังจากมีกฎหมายโฉนดที่ดินแล้ว อีก 3 ปีต่อมาคือใน พ.ศ. 2448 ก็มีการประกาศกฎหมายเลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากดำเนินการลดทอนและทำให้ค่าตัวลูกทาสและทาสค่อยหมดสิ้นไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท (2417)

หมายความว่าคนที่เคยเอาตัวเองหรือลูกเมียไปเป็น “ทรัพย์สิน” (ทาส) และเป็นปัจจัยในการผลิตนั้น มาบัดนี้ไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะรัฐไทยสมัยใหม่กำลังดำเนินรอยตามอารยประเทศ ในการใช้ที่ดินและทุนเป็นทรัพย์สินและปัจจัยหลักในการผลิตต่อไป ดังที่รัฐบาลทักษิณกำลังทำทั้งประเทศอยู่ด้วยการ “ทำให้สินทรัพย์เป็นทุน” นั่นเอง

การเกิดขึ้นของคำว่า “เสรีภาพ” ในบริบทสังคมการเมืองสยามนั้น ได้แสดงออกถึงการต่อสู้ โต้แย้งระหว่างสองความหมายๆ แรกคือการหมายถึงอำนาจของเอกชนผู้เป็นใหญ่ที่มีเหนือคนอื่นๆ ทั้งหมด เป็นแนวคิดเดิมที่ให้อำนาจอันไม่มีขอบเขต (แต่มีพันธะ) แก่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่

ความหมายหลังหมายถึงอำนาจและสิทธิอำนาจ (ที่มีขอบเขต) ของคนๆ หนึ่งที่มีเหนือตนเอง ไม่ไปครอบงำลิดรอนสิทธิ์ของคนอื่น ความหมายหลังนี้เป็นการบ่อนทำลายและตรงข้ามกับความหมายอันแรก เพราะเท่ากับทำให้อำนาจของผู้เป็นใหญ่ที่ศูนย์กลางต้องถูกจำกัดลงหรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่นเอง ความหมายอันหลังของเสรีภาพและสิทธินี้เองที่ใกล้เคียงและมาจากกำเนิดของลัทธิประชาธิปไตยกระฎุมพีหรือชนชั้นกลาง ซึ่งกำลังแตกดอกออกผลเป็นการใหญ่ในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ (วิวาท) นี้

แนวคิดใหม่ของเสรีภาพและสิทธินำไปสู่การโต้แย้งและเรียนรู้ในความรู้อันใหม่นี้ ฝ่ายชนชั้นนำนั้นมีความรู้เก่าและขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อช่วยเป็นกรอบและพื้นฐาน ในการเข้าไปรับรู้และสร้างความรู้อันใหม่ขึ้นมา โดยให้สามารถประสานเข้ากับองค์ความรู้ดั้งเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนวคิดดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีแนวโน้มของการเป็นแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแบบเสรีนิยมและราดิคัล

ในอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายราษฎรสยามก็เริ่มรับเอาแนวคิดใหม่ของเสรีภาพและสิทธิมนุษย์มาช่วยพัฒนา ผลประการหนึ่งคือนำไปสู่การสร้าง “ตัวตน” ของความเป็นคน ที่ยึดถือคุณค่าของตัวเองแต่ละคนเป็นสำคัญ ไม่ใช่แบบเดิมที่ความสำคัญอยู่ที่ว่า “เป็นคนของใคร” นั่นคือกระบวนการ socialization จากราษฎรที่ไม่มีตัวตนในสังคม มาเป็น “ปัจเจกชน” ที่มีพื้นที่เฉพาะของตนเองในสังคมมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2561