ปากคำหลุยส์ ลูกแหม่มแอนนา ว่าด้วยราชสำนักในร.4 เล่าต่างจากแม่ “พวกเขาดีต่อเรามาก”

หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกชาย แอนนา เลียวโนเวนส์
หลุยส์ ทีโอ เลียวโนเวนส์ (ภาพจากหนังสือ "ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์")

ชื่อเสียงของ “แหม่มแอนนา” กระจายไปทั่วถึงแม้เธอจะเสียชีวิตมานับร้อยปีแล้วก็ตาม ภายหลังจากไป หนังสือของเธอก็แพร่หลายเรื่อยมา แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่นึกถึงคือชีวิตและความผูกพันในช่วงเวลาที่เธออาศัยในสยามราว 5 ปีพร้อมกับ “หลุยส์ เลียวโนเวนส์” บุตรชายนั้น ก็ถูกสะท้อนผ่านหลักฐานจากทายาทของหล่อนเช่นกัน

แหม่มแอนนา เดินทางเข้าสยามเมื่อ พ.ศ. 2405 พร้อมกับบุตรชายชื่อ หลุยส์ โทมัส กุนนิส หรือ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ขณะที่เอวิส แอนนี่ ครอว์เฟิร์ด คอนนี่แบร์ส ธิดาคนโตของเธอถูกส่งกลับไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ ขณะที่เดินทางมาสยามเพื่อทำงานเป็นครูภาษาอังกฤษให้พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลุยส์ มีอายุประมาณ 6-7 ขวบ

หลักฐานเกี่ยวกับมุมมองและประสบการณ์ของหลุยส์ ในช่วงที่พำนักในสยามพร้อมมารดานั้นมีไม่มากนัก แต่ยังปรากฏบ้างในเอกสารเช่นจดหมายที่ส่งถึงเอริส เรื่องราวที่สอดแทรกระหว่างบรรทัดเหล่านี้อาจเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่พอจะเสริมเติมไปกับข้อมูลอีกส่วนที่แหม่มแอนนาบอกเล่าในหนังสือ 2 เล่ม คือ “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem”

หนังสือทั้งสองเล่มนี้เองทำให้เกิดความสนใจมากมายตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2488 มีผู้หยิบเรื่องราวมาเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือ หลังจากนั้นเรื่องราวก็เป็นที่สนใจต่อทั้งนักประวัติศาสตร์และคนทั่วไป ในบรรดาคนที่พยายามศึกษาหาข้อเท็จจริงในเรื่องที่แอนนาบอกเล่าผ่านงานเขียน มีนักเขียนนามว่า W.S. Bristowe ซึ่งเดินทางมาไทยเมื่อ พ.ศ. 2473 เขาก็เป็นเช่นเดียวกับผู้สนใจรายอื่นที่ต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับข่าวลือต่างๆ นานาที่เล่าขานกันสืบเนื่องมา

แม้ว่าเวลาจะล่วงเวลามาเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องนายหลุยส์ บุตรของแหม่มแอนนาที่เดินทางกลับสยามอีกครั้งในวัยหนุ่ม จนแปรสถานะจากชายมือเปล่ากลายมาเป็นผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักในช่วงเวลาหนึ่ง

(ซ้าย) แอนนา เลียวโนเวนส์ (ขวา) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานเขียนของ W.S. Bristowe เคยถูกแปลและเรียบเรียงโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา โดยใช้ชื่อว่า “ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์” เนื้อหาส่วนหนึ่งของ W.S. Bristowe บรรยายการศึกษาเนื้อหาในจดหมายโต้ตอบกันระหว่างแม่ลูกที่พำนักในสยาม กับลูกสาวในอังกฤษ ซึ่งเนื้อความบางส่วนเอ่ยถึงความรู้สึก ประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงสัมผัสกับราชสำนักสยาม

จดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงเอวิส มีเนื้อหาที่บอกเล่าความรู้สึกของหลุยส์ ที่เล่าหลังได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ ว่า “ผมชอบคิงมงกุฎมาก แผ่นทองคำเปลวที่แนบมานี้เป็นของที่ผมเพิ่งได้รับพระราชทานมา” ขณะที่อีกฉบับหนึ่งก็บอกว่า “ได้รับพระราชทานปืนและดาบ กับเรือลำงามพร้อมพายหนึ่งเล่ม ซึ่งผมมีหน้าที่พายให้แม่ไปเข้าวังทุกวัน”

หากอ่านตามเนื้อความในจดหมายนี้ อาจทำให้นึกภาพบรรยากาศสบายๆ ที่ช่างแตกต่างจากโทนเนื้อหาในบันทึกของแอนนาที่ดูเหมือนจะมีแต่เหตุการณ์ตึงเครียดไปเสียหมด แต่ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นมุมมองของเยาวชนที่ได้รับพระเมตตาเอ็นดูจากเจ้านายก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้เนื้อหาในจดหมายถึงเอวิสเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2406 ว่า “พวกเขาดีต่อเรามาก…” ในฉบับเมื่อ พ.ศ. 2408 ก็มีข้อความว่า “ผมมีความสุขมาก ทุกคนรักเอ็นดูผมกับแม่…” และยังบอกเล่าว่ามีเพื่อนเล่นเป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อยหลายพระองค์

นอกเหนือจากบันทึกในจดหมาย ยังมีเนื้อความในหนังสือพิมพ์บางกอกกาลันเดอร์ เมื่อครั้งรายงานข่าวการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำกงสุลอเมริกันคนใหม่ว่า

“บุคคลที่ร่วมโต๊ะเสวยมีเพียงไม่กี่คน คือกงสุลกับคณะและบุตรชายของมิสซิสลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักฝ่ายใน พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดปรานเด็กชายท่าทางฉลาดหลักแหลมคนนี้ ราวกับจะทรงถือเป็นพระโอรสบุญธรรม…”

W.S. Bristowe ยังเล่าว่า ความน่ารักน่าเอ็นดูนั้นยังทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังออกปากกับหมอแคมป์เบลล์ ว่าจะรับเด็กฝรั่งไว้เป็นบุตรบุญธรรม หากแหม่มแอนนาที่กำลังป่วยหนักมีอันเป็นไป โดยแอนนา ป่วยหนักและต้องเดินทางไปอังกฤษในพ.ศ. 2410 หลังจากนั้น หลุยส์ ได้เข้าโรงเรียนที่ไอร์แลนด์ ช่วงเวลาเล่าเรียนนี้อาจเป็นช่วงที่ไม่น่าปลาบปลื้มสำหรับหลุยส์ เนื่องจากเนื้อความในจดหมายถึงแอนนาก็มีลักษณะบอกเล่าว่าอยากให้ถึงวันหยุดเร็วๆ

ปีต่อมา หลุยส์เขียนจดหมายเล่าถึงแม่ของเขาว่า เขาได้เป็นกัปตันหอพัก ได้ดูแลเพื่อนสิบคน ทุกคนก็เชื่อฟังเขาอย่างดี และเขายังเป็นที่รับรู้ว่าเป็นนักกีฬาคริกเก็ตที่ดีอีกด้วย แต่หลังจากนั้นก็มีรายงานพฤติกรรมจากโรงเรียนเรื่องที่เขาเป็นตัวการทำกระจกหน้าต่างรถม้าของสาธุคุณแตก แต่หลุยส์ก็เขียนจดหมายโต้แย้งไปถึงแอนนา และตามมาด้วยกรณีแข็งข้อที่นักเรียนแสดงความเป็นอริกับครู ถึงขนาดนักเรียนยกกำลังยึดหอพัก ไม่ฟังคำสั่งใดๆ ภายหลังโรงเรียนแห่งนี้ก็ถูกยุบ

หลังจากเข้าโรงเรียนอีกแห่ง หลุยส์ถึงเริ่มใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่ราบรื่น เขาเปลี่ยนงานหลายครั้งจนแอนนาที่ยุ่งวุ่นกับการเดินสายบรรยายประสบการณ์ของเธอช่วงพำนักในแดนสยามเป็นกังวลถึงชีวิตลูกชาย

บันทึกของ W.S. Bristowe บรรยายชะตาของหลุยส์ใน พ.ศ. 2416 ว่า เขาเร่ร่อนไปถึงรัฐอาร์คันซอส์ จนได้ทำงานกับบริษัทสร้างรางรถไฟ และย้ายไปทำบริษัทเดินเรือกลไฟในฟิลาเดเฟีย ทำได้ไม่นานก็ย้ายไปออสเตรเลีย ก่อนที่จะไปออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็ทำงานกับเหมืองทองพาล์มเมอร์ จนได้รับตำแหน่งตำรวจเหมือง

ไม่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดหลุยส์ถึงทำงานได้ถึง 4 ปี แต่สุดท้ายก็ย้ายไปทำงานที่คลังสินค้าของสถานีรถไฟทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลกลใดมิอาจบ่งชี้ได้อย่างแน่ชัด หลุยส์ ที่เดิมทีแจ้งแอนนาว่าจะเดินทางไปหาที่อเมริกา แต่แอนนามาได้ยินข่าวอีกที หลุยส์ ก็เดินทางไปสยามแล้ว

ช่วงที่หลุยส์เดินทางมาถึงสยาม เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปีแล้ว หลุยส์ มีโอกาสเข้ารับราชการ โดยจดหมายจากแหม่มแอนนาถึงเพื่อนมีข้อความเกี่ยวกับการงานของหลุยส์ว่า “เขาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้า มีอัตราค่าจ้าง 800 ปอนด์ พร้อมที่พักใกล้พระราชวัง ติดๆ กับบ้านที่เราเคยอยู่นั่นเอง”

W.S. Bristowe บรรยายว่า หลุยส์ ปฏิบัติหน้าที่หลายประการ ตั้งแต่ไปซื้อม้าพันธุ์ใหญ่ที่นิวเซาธ์เวลส์ เขาเดินทางกลับออสเตรเลียเพื่อหาซื้อม้าที่เป็นตัวหลุยส์ นั่นแหละที่เสนอต่อกองทัพสยามว่าควรซื้อม้า และเคยร่วมปราบกบฏอั้งยี่ กระทั่ง พ.ศ. 2426 เป็นช่วงที่ราชบัลลังก์มั่นคงแล้ว งบประมาณจึงถูกใช้ในการพัฒนาบ้านเมืองมากกว่าการทหาร หลุยส์ ตัดสินใจกราบบังคมลาออกจากราชการ แต่ถูกระงับ และได้รับมอบหมายงานให้ขึ้นเหนือไปกับกองทัพปราบฮ่อ เพื่อสำรวจเขตแดนเตรียมทำแผนที่สากล จนปีต่อมา หลุยส์ กราบบังคมลาออกจากราชการ ไปเป็นเอเยนต์สัมปทานป่าไม้สักภาคเหนือของบริษัทบอร์เนียว

การผจญภัยในชีวิตของหลุยส์ ใต้ปากกาของ W.S. Bristowe ยังมีเหตุการณ์น่าสนใจที่จะนำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไปได้ แต่โดยสรุปแล้ว ชีวิตของหลุยส์ กับสยามก็ถือว่ามีความผูกพันกันมาก แต่น่าเสียดายที่มหาสงครามในช่วง พ.ศ. 2457-2461 เป็นเสมือนขวากหนามกั้นความสัมพันธ์ของเขากับสยาม

เมื่อถึงช่วงโรคระบาดใหญ่ในยุโรป หลุยส์ เลียวโนเวนส์ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2462 โดยเรต้า ภรรยาของเขาแบ่งมรดกส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สยาม โดยบริจาคให้หลายแห่งทั้งกองทุนสร้างตึกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โอนให้นิคมโรคเรื้อนที่เชียงใหม่ และบริจาคให้สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าสยาม สภาอุณาโลมสยาม (กาชาด)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต. สุภัตรา ภูมิประพาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ แปล. อ่านสยามตามแอนนา การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562

จิระนันต์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย. 2552

W. S. Bristowe. Louis and the King of Siam. Chatto & Windus, 1976


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2562