“นายจิตร นายใจ” นิทานวิจารณ์เจ้านาย-ขุนนางสมัยร.5 ลุ่มหลงการละคร จนละเลยงานราชการ

คณะละครสยาม ภาพถ่ายราวปี ค.ศ. 1900 จากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring

นิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ เป็นผลงานของ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ตีพิมพ์ใน ดรุโณวาท หนังสือพิมพ์เล่มแรกโดยคนไทย นิทานเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดทรรศนะของผู้แต่งเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อาจเรียกได้ว่าเป็นนิทานเสียดสีสภาพสังคมและบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ว่าได้

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์แต่งนิทานโดยให้ นายจิตร และนายใจ พูดคุยตอบโต้กันถึงประเด็นต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนภาพหรือเสียดสีการเมืองและสังคมในสมัยนั้น เช่น เรื่องปรีวีเคาน์ซิล หรือองคมนตรีสภา ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง จนรัชกาลที่ 5 ต้องมีพระราชหัตถเลขาแสดงความในพระราชหฤทัยถึงในเชิง “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” หรือเรื่องวงการสงฆ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5

สำหรับเรื่องการวิจารณ์เจ้านายหรือขุนนางที่ลุ่มหลงการละคร [1] จนละเลยงานราชการนี้ ในนิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ เล่าว่า

“นายจิตรนั่งลงที่บันไดเก๋งกรงนกชั้นบน, แล้วถามนายใจว่า, เราได้ยินว่าสมเด็จกรมพระข้างใน [2], ทำการฉลองพระชนม์พรรษาของท่าน, ให้เป็นการเจริญพระชนม์ยืนยาวไปภายน่า มีการเล่นการเลี้ยงสนุกนิ์ใหญ่โตจริงฤา, นายใจบอกว่า ท่านทำการเลี้ยงพระเลี้ยงขุนนางมาก, เจ้านายข้าราชการทั้งข้างน่าข้างในก็มาช่วยท่านหมด แล้วมีสักกระวา มีละคอนเป็นการเล่นสนุกมาก, ละคอนของท่านเคาน์ซิล [3] โรงหนึ่ง, เขาฦๅว่าเล่นเรื่องสาก๊ก [4] สนุกนิ์นัก, ละคอนสมเด็จพระประสาท [5] ก็สู้ไม่ได้, ท่านฝึกหัดของท่านเปนชั้นเล็ก ชั้นใหญ่ เล่นดีนัก, ละคอนท่านปรีวีเคาน์ซิล [6] อีกโรงหนึ่ง ก็เล่นสู้ไม่ได้, ด้วยพึ่งหัดใหม่แต่เจ้าของหลงนัก, ท่านไม่ได้เคยดูบ้างฤาจึ่งถามเรา,

นายจิตรว่าเรายังไม่เคยดูเลย, แล้วนายจิตรว่า, ท่านพูดแก่เราแต่ก่อนนั้น, ว่าพวกท่านเคาน์ซิลเอาใจใส่ในราชการนัก, ด้วยในหลวงตั้งไว้เป็นที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน, เราเหนว่าท่านเคาน์ซิลที่มีละคอนเล่นอยู่แล้ว, เคยเอาใจใส่ในราชการก็จะมาท้อถอยไป, หาตั้งใจแขงแรงไม่, ด้วยละคอนเป็นของประโลมโลกย์ภาใจให้หลุ้มหลง, ยินดีตฤกตรองไปแต่การเล่น, จะรักษาคำสาบาลไปไม่ค่อยจะตลอดดอกกระมัง

นายใจตอบว่า, ราชการเราก็ไม่เหนว่าท่านท้อถอย, เราเหนท่านกลับแขงแรงขึ้นอีก, แต่ละครนั้นท่านจะหลงฤาไม่หลงเราไม่รู้ท่านเลย, แต่คำสาบานนั้นเราทายไม่ถูก, แต่เหนว่าถ้าผลประโยชน์ในราชการที่ท่านได้ภออยู่แล้ว ก็เหนจะรักษาบริสุทธิ์อยู่ได้, ถ้าผลประโยชน์ในราชการกะพร่องกะแพร่งอยู่แล้ว, น่ากลัวจะไม่บริสุทธิ์ไปได้

นายจิตรว่าทำไมจะไม่หลง, แต่ที่ไหนท่านจะบอกใครว่าท่านหลงเล่า, ครั้งหม่อมไกรษร, ซึ่งเป็นโทษแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น, ท่านไม่ได้ยินฤา, แต่นั้นนอกรีตหลงละคอนตัวผู้, ลืมละลูกเมียเสียสิ้น, นี้ละคอนตัวเมียทั้งนั้นแล้ว เราเหนจะหลงมากกว่าหม่อมไกรษร, ถ้าตำแหน่งเคาน์ซิลไม่เล่นละคอนแล้ว, เราเหนจะชอบด้วยราชการ, ห่วงไยที่จะขวนขวายก็น้อยเข้า, คำสาบานก็จะบริสุทธิ์อยู่ได้.

นายใจว่าถ้ากระนั้นเล่นสักกระวาก็มิเสียราชการด้วยฤๅ นายจิตรว่า, ถ้าผู้ใดหลงเล่นมัวเมา, ก็เสียราชการเหมือนกัน, นายใจว่าเราเหนเจ้าที่เป็นปรีวีเคาน์ซิล, แลตำรวจก็หลายนายที่เล่นสักกระวา, ก็ไม่ได้ยินว่าเสียราชการอะไร, นายจิตรตอบว่า, ที่เสียท่านไม่เหน ๆ แต่ได้, ท่านจึ่งว่าไม่เสียอะไร, วิไสยว่ามัวเมาอยู่ด้วยการเล่นแล้ว, ความจริงก็เสื่อมถอยไป, ใจที่เคยหมั่นคิดอ่านในราชการอยู่ก็อ่อนคลายลง, ถือว่าการเล่นสนุกนี้เสียสักวันสองวันเกิด, ครั้นเล่นเข้าแล้วก็ติดใจชอบจะเล่นอีก, แลชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงเล่นด้วย ก็ชักช้าเสียเวลาที่คิดการเปนประโยชน์ไป, คนพวกขับร้องเต้นรำแลดีดสีตีเป่า, เขาเล่นนั้นก็ชอบด้วยเขาหากินด้วยวิชาสิ่งนั้น, นี่เราเหนว่าเจ้านายแลขุนนาง, หากินด้วยผลราชการที่ตัวทำดีทำชอบทั้งนั้น จึงเหนว่าควรจะเอาใจใส่ในราชการให้มาก ๆ”

ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร [7] อธิบายว่า ลำพังการพาดพิงถึงละครที่ใช้สมโภชในงานเฉลิมพระชนมพรรษาของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรก็คงไม่เป็นเรื่องนัก หากแต่ก็พาดพิงหรือกระทบไปยังเรื่องในอดีตเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงลงพระราชอาญาสำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศ ซึ่งต่อมาถูกถอดเป็นหม่อมไกรสร ที่สำคัญคือเป็นเพราะไปหลงพวกละคร ดังที่พระราชพงศาวดาร บันทึกไว้ว่า “เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน…ด้วยพวกละครรับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย แล้วก็คงหักเอาชนะจงได้” จึงสรุปได้ว่าการที่กรมหลวงรักษรณเรศทรงประพฤติมิชอบในทางราชการนี้ เนื่องจากความลุ่มหลงในเรื่องการละครเป็นสาเหตุอย่างหนึ่ง

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้แต่งนิทานให้ นายจิตร และนายใจ ตอบโต้กันเพื่อเปรียบให้เห็นถึงแง่มุมของทั้งสองด้าน ด้านนายใจเห็นว่า แม้เจ้านายหรือขุนนางจะชื่นชอบการละคร แต่ “ราชการเราก็ไม่เหนว่าท่านท้อถอย, เราเหนท่านกลับแขงแรงขึ้นอีก” ขณะที่นายจิตรเห็นแย้งว่า “เราเหนว่าท่านเคาน์ซิลที่มีละคอนเล่นอยู่แล้ว, เคยเอาใจใส่ในราชการก็จะมาท้อถอยไป, หาตั้งใจแขงแรงไม่, ด้วยละคอนเป็นของประโลมโลกย์ภาใจให้หลุ้มหลง, ยินดีตฤกตรองไปแต่การเล่น, จะรักษาคำสาบาลไปไม่ค่อยจะตลอดดอกกระมัง”

คำสาบานที่ว่านั้นคือ คำสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งปรีวีเคาน์ซิล หรือองคมนตรีสภา เช่นว่า “แลข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ทอดทิ้งธุระในการ ซึ่งตัวข้าพระพุทธเจ้าจะมาประชุมปฤกษาราชการในปรีวีเคาน์ซิลทุก ๆ ครั้ง” และ “ข้าพเจ้าจะไม่ทำการผิดกลับเท็จเปนจริง เพราะเหนแก่อามิศสินบน แลผลประโยชน์ในตนแลเพราะเชื่อคำคนยุยง ชักนำให้เสียจากสิ่งที่ตรง” เป็นต้น

นายจิตรยังยกกรณีของกรมหลวงรักษรณเรศมาสนับสนุนแนวคิดของตน เพื่อแสดงให้เป็นประจักษ์ว่าการละครทำให้ “มัวเมา” และ “เสียราชการ” นั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้ จากคำกล่าวของนายจิตรในตอนท้ายว่า “คนพวกขับร้องเต้นรำแลดีดสีตีเป่า, เขาเล่นนั้นก็ชอบด้วยเขาหากินด้วยวิชาสิ่งนั้น, นี่เราเหนว่าเจ้านายแลขุนนาง, หากินด้วยผลราชการที่ตัวทำดีทำชอบทั้งนั้น จึงเหนว่าควรจะเอาใจใส่ในราชการให้มาก ๆ” ซึ่งเป็นคำกล่าวเน้นย้ำแนวคิดของนายจิตรให้หนักแน่นมากกว่านายใจ

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถ่ายทอดทรรศนะของของตนผ่านนายจิตร ความคิดเห็นของนายจิตรจึงสะท้อนแนวคิดของผู้แต่งนิทานเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :

[1] การละครเป็นมหรสพประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 นิยมเล่นละคร ในซึ่งเป็นของหลวง ส่วนละครนอกเป็นของสามัญชน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่โปรดการละคร ส่วนรัชกาลที่ 4 ทรงเปิดโอกาสให้พระบรมวงศ์และข้าราชการชั้นสูง มีคณะละครเป็นของตนได้ ละครได้พัฒนาการจากรูปแบบเดิมมาเป็นละครตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ก็ได้เกิดขึ้น และได้แพร่หลายไปในหมู่คนไทย ทั้งชนชั้นสูงและสามัญชน ในวาระที่เป็นมงคล จะมีการแสดงละครสมโภช

[2] สมเด็จกรมพระข้างใน หมายถึง กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงเป็นผู้อภิบาลรัชกาลที่ 5 มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2417

[3] หมายถึง ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

[4] หมายถึง เรื่องสามก๊ก

[5] อาจหมายถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

[6] ไม่ทราบแน่ชัดว่าหมายถึงละครของผู้ใด

[7] ดูเพิ่มเติมในบทความ “นิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ : นิทานเสียดสีสภาพสังคม และบ้านเมืองในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2556


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564