“ระเด่นลันได” ศึกแย่งชิงสตรีมีพันธะ วรรณกรรมล้อขุนนาง-การเมืองสมัยรัชกาลที่ 3

ปกหนังสือ ระเด่นลันได
ภาพปกหนังสือระเด่นลันได จาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ในบรรดาวรรณกรรมล้อเลียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดเห็นจะไม่มีเรื่องใดเกินเรื่อง ระเด่นลันได อันเป็นที่ทราบกันว่าเป็นเรื่องราวของแขกขอทานผู้หนึ่ง ซึ่งผู้แต่งพระมหามนตรี (ทรัพย์) นํามาเขียนล้อเลียนอย่างสนุกสนาน

ระเด่นลันได มีความเด่นอย่างมากด้านสาระอารมณ์ขันที่เกิดจากภาษาและพฤติกรรมตัวละคร และความเด่นซึ่งเป็นนวลักษณ์นี้เป็นจุดเพ่งความสนใจของผู้อ่านทั่วไป จนกระทั่งทําให้ไม่เฉลียวใจที่จะค้นหาความหมายและจุดประสงค์ที่อาจแฝงเร้นอยู่อย่างแนบเนียนลึกซึ้ง เนื่องจากวรรณกรรมเรื่อง ระเด่นลันได มีกระบวนการสร้างที่ซับซ้อนผิดจากกระบวนการสร้างสรรค์วรรณกรรมไทยทั่วไป ทําให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่คาดคิดว่า วรรณกรรมเรื่องนี้จะมีเป้าหมายการล้อเลียนซึ่งมิได้เป็นไปอย่างผิวเผินตามที่เข้าใจกันมาเป็นเวลาช้านาน

จากการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมล้อเลียนเรื่องระเด่นลันใด ผู้เขียนได้พบว่ายังมีแนวคิดอื่นที่เป็นไปได้เกี่ยวกับเป้าหมายที่แท้จริงในการล้อเลียนของผู้แต่ง นั่นคือแนวคิดที่ว่าแท้จริงแล้วแขกลันไดหรือแม้แต่อิเหนาทั้งคู่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการล้อเลียนเท่านั้น หาใช่เป้าหมายที่แท้จริงในการล้อเลียนครั้งนี้ไม่

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เรื่องระเด่นลันไดมีที่มาจากเหตุการณ์เรื่องแขกลันไดวิวาทกับแขกประดู่ อันเป็นที่โจษขานกันแพร่หลายในขณะนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวถูกระบุอย่างชัดเจนตามที่สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในคํานําเรื่องว่า

“เล่ากันมาว่าครั้งนั้นมีแขกคนหนึ่งชื่อลันได ทํานองจะเป็นพวกฮินดู ชาวอินเดีย ซัดเซพเนจรเข้ามาอาศัยอยู่ที่ใกล้โบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ เทียวสีซอขอทานเขาเลี้ยงชีพเป็นนิจ พูดภาษาไทยมิใคร่ได้ หัดร้องเพลงขอทานได้เพียงว่า ‘สุวรรณหงส์ถูกหอกอย่าบอกใคร บอกใครก็บอกใคร’ ร้องทวนอยู่แต่เท่านี้ แขกลันไดเที่ยวขอทานจนคนรู้จักกันโดยมาก ในครั้งนั้นมีแขกอีกคน 1 เรียกกันว่าแขกประดู่ ทํานองจะเป็นคนอินเดียเหมือนกัน ตั้งคอกเลี้ยงวัวนมอยู่ที่หัวป้อม (อยู่ราวที่สนามหน้าศาลสถิตยุติธรรมทุกวันนี้) มีภรรยาเป็นหญิงแขกมลายู ชื่อประแดะ อยู่มาแขกลันไดกับแขกประดู่เกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งหญิงมลายูนั้น โดยทํานองที่กล่าวถึงในเรื่องละคร คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขันก็โจษกันแพร่หลาย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ทราบเรื่อง จึงคิดแต่งเป็นบทละครขึ้น”

ข้อมูลดังกล่าวนําไปสู่ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและจุดประสงค์ในการแต่ง ด้วยเหตุนี้จึงทรงสรุปไว้ว่า “หนังสือเรื่องระเด่นลันไดนี้ที่แท้เป็นจดหมายเหตุ หากผู้แต่งประสงค์จะจุดให้ขบขันสมกับเรื่องที่จริง จึงแกล้งแต่งเป็นบทละครสําหรับอ่านกันเล่น หาได้ตั้งใจจะให้ใช้เป็นบทละครเล่นไม่”

ทั้งนี้หากจะว่าโดยเหตุผลที่ว่าเรื่องระเด่นลันไดมีที่มาจากเหตุการณ์จริง บุคคลจริง และสถานที่จริงดังกล่าวก็ควรนับได้ว่าเรื่องระเด่นลันไดเป็นจดหมายเหตุ แต่การที่ผู้แต่งได้นําเรื่องราวมาแต่งในรูปแบบบทละคร โดยพยายามดําเนินตามลักษณะสัญนิยมอย่างเรื่องอินเหนาซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในขณะนั้น ทั้งยังเรียกชื่อตัวเอกว่าระเด่นลันไดเป็นการล้อเลียนเรื่องอิเหนาอย่างเปิดเผย

ละเมื่อศึกษาวิเคราะห์เรื่องระเด่นลันใดโดยละเอียด ก็พบว่าการล้อเลียนนี้ไม่เพียงล้อถ้อยคําภาษาเท่านั้น หากยังล้อลึกลงไปถึงเนื้อหาอีกด้วย ทําให้กล่าวได้ว่าเรื่องระเด่นลันไดเป็นวรรณกรรมพาโรดี ซึ่งเป็นวรรณกรรมล้อเลียนวรรณกรรมตัวแบบอย่างมีจุดมุ่งหมาย นอกจากนี้ในตัวบทก็ยังปรากฏพบร่องรอยของการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ทําให้น่าเพ่งเล็งไปถึงการล้อเลียนเชิงเสียดสีวิจารณ์บุคคลอันเป็นแนวถนัดของผู้แต่ง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้แต่งคือ เพลงยาว แต่งว่าพระยามหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เพลงยาวนี้เล่ากันว่ามีผู้ลอบแต่งนํามาปิดไว้ที่ทิมดาบตํารวจในพระมหาราชวัง ผู้ที่ได้อ่านก็ทราบว่าเป็นฝีปากของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งเป็นกวีที่สามารถในการแต่งกลอนจนหาใครเปรียบได้ยาก ในครั้งนั้นไม่เป็นความ เพราะมีผู้คัดลอกและทําลายต้นฉบับซึ่งเป็นหลักฐานประกอบ กับมีผู้เกลียดชังจมื่นราชามาตย์นั้นไม่น้อย

จากเรื่องราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้นี้ แสดงให้เห็นว่า พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีความชังพฤติกรรมของจมื่นราชามาตย์เป็นอย่างยิ่ง และไม่อดกลั้นต่อความ ปรารถนาที่จะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว

อันจมื่นราชามาตย์ (ทองปาน) นี้เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ พฤติกรรมของท่านผู้นี้ตามที่บรรยายในเพลงยาวก็ดูหนักหนาไม่น้อย และในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากร วงศมหาโกษาธิบดี ก็บันทึกเรื่องราวของท่านผู้นี้ไว้ในหัวข้อว่า ความอัศจรรย์ของพระยามหาเทพ (ปาน) [ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นผู้เดียวกันกับที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) ได้แต่งเพลงยาวว่าไว้] ว่าเป็นผู้มีบารมีมาก ผู้คนเกรงกลัวกันทั้งเมือง มีการ “ทํายศอย่างในหลวง” และมีการประกวดประชันบารมีแข่งกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย

ไม่ว่าจะจัดงานใด เช่น การทอดผ้าป่า การทําศพพี่สาวและธิดาก็ล้วนเอิกเกริกเป็นอย่างใหญ่ทั้งสิ้น พงศาวดารบันทึกว่า “แต่ผู้เอาผ้าและของไปช่วยขุนนางดูเหมือนจะหมดทั้งแผ่นดิน เจ๊สัว เจ้าภาษี นายอากรจุ่นจู้ และราษฎรชาวแพแทบจะหมด ผ้าขาวใช้ในการศพทําบุญให้ทานก็ไม่หมด แต่เหลืออยู่ก็หลายพันพับ”

ธิดาของพระยามหาเทพตามที่กล่าวน่าจะเป็นเจ้าจอมอิ่มในรัชกาลที่ 3 ซึ่งต้องพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต เนื่องจากกระทําผิดกฎมนเทียรบาล ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่มเดียวกันนี้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น (พ.ศ. 2381) ไว้ว่า

“ครั้นมาถึงเดือน 8 อ้ายพลายอีทรัพย์ ทาสพระสุริยภักดี บุตรพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี ทําเรื่องราวมายื่นต่อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ว่า พระสุริยภักดีรักใคร่กับเจ้าจอมอิ่ม บุตรพระมหาเทพ (ปาน) พระสุริยภักดีให้อีทรัพย์กับอีหนูทาสคน 1

เข้าไปพูดจาแพะโลมเจ้าจอมอิ่ม ๆ ก็ยอมว่าจะไม่ทําราชการแล้ว จะคิดเดินออกไปอยู่กับบิดาเสียก่อน แล้ว จึ่งให้ไปสู่ขอต่อภายหลัง

เจ้าจอมอิ่มกับพระสุริยภักดีก็รักใคร่ให้ข้าวของกัน พระสําราญราชหฤทัยอาวนั้นรู้เห็นเป็นใจด้วยจะช่วยสู่ขอต่อพระมหาเทพให้

ครั้นความกราบทูลทราบแล้วโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศรเป็นตุลาการชําระ พิจารณาก็ได้ความจริง ว่าเป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของเท่านั้น หญิงกับชายไม่ได้พบพูดจากันที่ใดตําบลใด จึงโปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษ

ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาปรึกษาโทษว่า

ชายใดบังอาจสมัครรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง พระสําราญราชหฤทัยอาวเป็นพนักงานกรมวัง การทั้งนี้ก็เป็นในพระราชฐานรู้แล้วก็นิ่งเสีย กลับเข้าด้วยคนผิด ต้องประหารชีวิตเสียด้วย ยายน้อยของอิ่มคน 1 กับอีหนูทาสพระสุริยภักดีคน 1 เป็นคนชักสื่อ นายฟักนายอ่อนพี่เลี้ยงพระสุริยภักดีรู้ความแล้วก็นิ่งเสียมิได้ห้ามปราม เห็นชอบไปตามกัน หมอยังเป็นหมอดูและหมอเสน่ห์โกหกเที่ยวหากิน มาดูพระสุริยภักดีว่าคงได้การสําเร็จความปรารถนาก็มีความผิด ขอให้เอาคนทั้ง 8 ไปประหารชีวิตเสีย แล้วริบราชบาทว์เป็นหลวงให้สิน อย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่างต่อไป ก็โปรดให้เอาตามคําลูกขุนปรึกษา

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ก็เอาคนโทษไปประหารชีวิตเสียที่สําเหร่”

พระสุริยภักดีที่กล่าวถึงนี้เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ขณะนั้นดํารงตําแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์) ในเรื่องโครงกระดูกในตู้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงเหตุการณ์เรื่องนี้ตามที่ได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า

“…พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดีเข้าไปเฝ้าฯ แล้วมีพระราชดํารัสว่า คุณสุริยภักดีนั้นยังเป็นหนุ่มคะนองย่อมจะทําอะไรผิดพลาดไปโดยไม่รู้ผิดรู้ชอบ ตุลาการก็ได้กราบบังคมทูลฯ ขึ้นมาแล้วว่าคุณสุริยภักดี มิได้พบปะกับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาจะยกโทษให้

แต่เมื่อเรื่องราวอื้อฉาวมีโจทก์ฟ้องขึ้นมาเช่นนี้ จะทรงพระกรุณานิ่งเสียก็มิได้ จึงทรงพระราชดําริเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยควรจะขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และทําทัณฑ์บนไว้ให้แก่คุณสุริยภักดี ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้

แต่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยท่านกราบบังคมทูลว่าท่านเองเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านเองทําผิดบทพระอัยการร้ายแรงถึงเพียงนั้น หากไม่ลงพระราชอาญาไปตามโทษานุโทษแล้วก็จะเสียหายแก่แผ่นดินยิ่งนัก เหมือนกับว่าถ้าเป็นบุตรท่านย่อมจะทําอะไรทําได้ไม่เป็นผิด จึงขอพระราชทานให้ลงพระราชอาญาตามแต่ลูกขุนจะปรึกษาโทษเถิด

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล…

การที่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยมิได้ยอมรับพระมหากรุณา ถึงแม้ว่าผู้ผิดจะเป็นบุตรคนใหญ่ของท่านเองซึ่งเกิดแต่ท่านผู้หญิงจึงเป็นการกระทําเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เป็นเยี่ยงอย่างอันดีแก่คนในแผ่นดิน และเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลของท่านสืบมา…”

เหตุการณ์เรื่องการกระทําผิดกฎมนเทียรบาลดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นเหตุการณ์สําคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่งเรื่อง ระเด่นลันได ขึ้น เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนเสียดสีการกระทําของบุคคลดังกล่าว

เพราะเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นการกระทําจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผู้มีส่วนสําคัญก็คือธิดาของพระมหาเทพนั่นเอง แต่โดยที่ผู้แต่งมิอาจกระทําการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเปิดเผยเช่นครั้งก่อนเนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องพาดพิงถึงบุคคลสําคัญ ผู้แต่งจึงยกเรื่องแขกลันไดวิวาทกับแขกประดู่เรื่องนางประแดะเกิดขึ้นมาบังหน้า แล้วทําทีเป็นล้อเลียนเรื่องอิเหนาอย่างขบขัน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องทั้ง 3 มีประเด็นร่วมที่ทําให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ และเป็นประเด็นชัดเจนสําหรับการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะหยิบยกเรื่องหนึ่งเรื่องใดมากล่าวถึงก็ตาม คือเรื่องการแย่งชิงสตรีมีพันธะ

ฉะนั้นถ้าหากเรื่องระเด่นลันไดจะถูกใช้เป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม เรื่องอิเหนาก็นับว่ามิได้พ้นข่ายการถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย

จากการศึกษาเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจ และที่มาของเรื่องระเด่นลันไดที่ช่วยให้เกิดแนวทางความเข้าใจจุดประสงค์ในการแต่งเรื่องระเด่นลันได ทําให้มองเห็นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนสํานึกทางการเมืองและทางจริยธรรมของผู้แต่งผ่านวรรณกรรณในยุคสมัย หรือระบอบการเมืองที่ไม่เอื้อสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชนชั้นปกครองอย่างตรงไปตรงมา ผู้แต่งมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตน จึงไม่ยอมให้สิ่งใดเป็นอุปสรรคทําลายความตั้งใจนั้น

แต่การแสดงความคิดเห็นของผู้แต่งไม่เพียงมีผลกระทบถึงขุนนางสําคัญในสมัยนั้น หากยังพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ได้แก่รัชกาลที่ 2 ผู้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา และรัชกาลที่ 3 ผู้ทรงถูกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ในฐานะที่ทรงเป็นพระสวามี และฐานะที่ทรงเป็นผู้ปกครองในยุคสมัยที่มีเหตุการณ์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เกิดขึ้น

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนับว่าเป็นการกระทําที่บังอาจ อุกฤษฎ์ ผู้แต่งจึงเลือกใช้รูปแบบวรรณกรรมอันมีข้อได้เปรียบในการซ่อนเร้น จุดประสงค์แท้จริงของตน

อย่างไรก็ตามผู้คนในสมัยนั้นซึ่งทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คงเข้าใจสารของผู้แต่งเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ผู้แต่งจึงมิได้เผยแพร่เรื่องนี้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคํานําเรื่องระเด่นลันไดว่า พระมหามนตรี (ทรัพย์) “มามีชื่อเสียงโด่งดังในการแต่งกลอนต่อเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ไม่ใคร่พอใจแต่งโดยเปิดเผยที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) มีชื่อเสียงสืบต่อมาจนรัชกาลหลัง ๆ เพราะแต่งหนังสือ 2 เรื่อง คือเพลงยาวแต่งว่าพระยามหาเทพ (ปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์เรื่อง 1 กับบทละครเรื่องระเด่นลันไดนี้เรื่อง 1”

อนึ่งการไม่เผยแพร่เรื่องระเด่นลันไดขณะผู้แต่งยังมีชีวิตอยู่อาจมีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้วก็คือ ผู้แต่งต้องการยุติเรื่องราวมิให้ผลงานของท่านยั่วยุความสนใจโจษขานเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นสืบไป เนื่องจากขณะที่ผู้แต่งหยิบยกเรื่องราวมาแต่งนั้นน่าจะเป็นช่วงที่เหตุการณ์ยังดําเนินอยู่ โดยยังไม่มีการฟ้องร้องและตัดสินโทษ

ต่อมาเมื่อเกิดเป็นคดีความ จนกระทั่งเรื่องราวจบลงด้วยการที่บุคคลเป้าหมายในการล้อเลียนต้องพระราชอาญาแล้ว ธรรมเนียมชาวพุทธถือว่าผู้วายชนม์ย่อมได้รับการอโหสิกรรม ผู้แต่งจึงเก็บผลงานไว้ เพราะการเผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ย่อมหมายถึงการรื้อฟื้นนําเรื่องราวโศกนาฏกรรมถึงแก่ชีวิตของผู้อื่นมาเสียดสีล้อเลียนให้ขบขัน นับว่าเป็นการกระทําที่ผิดหลักจริยธรรม นอกจากนี้อาจเป็นได้ว่า ผู้แต่งเห็นแก่บิดาของพระสุริยภักดีผู้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรมน่านับถือ จึงยุติเรื่องราวดังกล่าว

ผู้วิจัยเข้าใจว่าผู้แต่งแต่งเรื่องระเด่นลันไดก่อนมีการฟ้องร้องหรือก่อนการตัดสินโทษ ซึ่งรวมเป็นระยะ เวลาไม่นาน ถ้าจะกล่าวถึงในส่วนที่เกิดเป็นคดีจนถึงตัดสินโทษ จากหลักฐานในพงศาวดารทราบว่า ใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน สําหรับเรื่องของพระสุริยภักดี จะดําเนินมาก่อนหน้านี้เท่าใดไม่ทราบ (และอาจเป็นไปได้ว่าเรื่องระเด่นลันไดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อชี้เบาะแส)

ทว่าผู้แต่งมาสบโอกาสแต่งก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์เรื่องแขกลันได ซึ่งคงจะเกิดขึ้นใกล้เคียงกับเวลาที่มีการฟ้องร้องนั้น ฉะนั้นเรื่องระเด่นลันใดจึงเป็นเรื่องขนาดสั้น เพราะผู้แต่งกําหนดความคิดไว้ในกรอบเหตุการณ์แคบ ๆ และช่วงเวลาของการแต่งก็ยังมีไม่มากนักอีกด้วย

พระมหามนตรี (ทรัพย์) ไม่เคยได้รับการตําหนิติโทษหรือภัยใด ๆ จากผลงานล้อเลียนเสียดสีอันล่อ แหลมของท่าน ไม่ว่าในขณะมีชีวิตอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้อาจมิใช่เป็นเพราะท่านอยู่ในเงากําบังของรูปแบบวรรณกรรมที่เอื้อเฟื้อ หากแต่เป็นเพราะท่านอยู่ภายใต้ร่มเงาพระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างขวางเปี่ยมล้นด้วยพรหมวิหารธรรม

ผลงานของท่านจึงได้รับการยกย่องเชิดชูสมดังคุณค่าตลอดมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2562