ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก ครั้งหนึ่งญี่ปุ่น “กู้เงิน” จากไทยกว่า 1,500 ล้านบาท

กองทัพญี่ปุ่น ใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร สงครามโลกครั้งที่ 2
กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )

ญี่ปุ่นกู้เงินไทย เห็นชื่อเรื่องแล้วท่านผู้อ่านอาจคิดว่า นี่เป็นเรื่องขายขำ เพื่อให้กดไลค์ กดแชร์ แต่ต้องยืนยันว่านี้เป็นเรื่องจริง ไม่ได้โม้ “ญี่ปุ่น” หนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วระดับแนวหน้าในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งเคย กู้เงิน จากประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

แต่ได้โปรดอย่าเพิ่งด่วนดีใจหรือภาคภูมิใจ กรุณาอ่านให้จบก่อน

Advertisement

การกู้เงินดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างปี 2484-2488 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รายละเอียดการ “กู้เงิน” มีดังนี้ ระหว่างปี 2484-2485 ญี่ปุ่นกู้เงินจากไทยกว่า 23 ล้านบาท, ปี 2486 กู้เงิน 192 ล้านบาท, ปี 2487 กู้เงิน 514 ล้านบาท และปี 2488 กู้เงิน 799 ล้านบาท รวมทั้งหมดญี่ปุ่นได้กู้เงินจากไทยประมาณ 1,530 ล้านบาท

ญี่ปุ่นกู้เงินไทย จอมพล โตโจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ภาพถ่ายหมู่ จอมพล โตโจพร้อมด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมาชิกคนสำคัญทั้ง 2 ฝ่าย ในฐานะพันธมิตรและแกนนำหลักของฝ่ายญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม (ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2486 (ค.ศ. 1943))

ทำไมญี่ปุ่นกู้เงินไทย ?

คำตอบก็คือ เพราะเมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้าในประเทศไทย (8 ธันวาคม 2484) รัฐบาลไทยประกาศเป็น “พันธมิตร” กับญี่ปุ่น

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงใช้วิธีกู้เงินบาทของไทยที่เรียกว่า “เงินเยนพิเศษ” เพื่อใช้จ่ายสำหรับนายทหารจำนวน 50,000 คนในไทย แทนการพิมพ์ธนบัตรของตนเอง (invasion notes) ซึ่งเป็นวิธีปกติที่ญี่ปุ่นใช้ในดินแดนอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลานั้น ซึ่งไม่เห็นด้วยและคัดค้านเรื่องนี้ กลับถูกปลดในทันที และโยกย้ายให้ไปเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ (16 ธันวาคม 2484)

ขณะที่รัฐบาลไทยกับกองทัพญี่ปุ่น ยังเดินหน้าสานความสัมพันธ์กันต่อไป ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในกติกาสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่ทําให้ไทยต้องให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นในฐานเป็นพันธมิตรในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร

ปัญหา 2-3 ประการก็ตามมาก็คือ ปริมาณเงินบาทที่เคยสะพัดอยู่ตามปกติ เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็ว เป็นผลให้สินค้าที่ขาดแคลนในช่วงสงครามมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็ถูกปรับลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ อัตราการแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน (ก่อนสงครามโลกนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน คือ อัตราแลกเปลี่ยน 100 บาท ต่อ 150-160 เยน) ทำให้ไทยจึงต้องซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น ในราคาที่แพงกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องขายสินค้าให้ญี่ปุ่นถูกกว่าเดิมด้วย

นอกจากนี้เกิดปัญหา “ธนบัตรไม่พอใช้” ธนบัตรปกติที่รัฐบาลสั่งพิมพ์กับ บริษัท โธมัสเดอลารู ประเทศอังกฤษ ไม่สามารถจะสั่งพิมพ์เพิ่มได้ รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรเองในประเทศ แต่ด้วยคุณภาพการพิมพ์และกระดาษที่ไม่ได้มาตรฐาน ธนบัตรที่พิมพ์ออกมาจึงได้รับฉายาว่า “แบงก์กงเต๊ก”

บางครั้งการเป็น “เจ้าหนี้” ก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าดีใจ และเรื่องญี่ปุ่นกู้เงินไทย ก็เป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง”

กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )
กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาใช้สวนลุมพินีเป็นค่ายทหาร บันทึกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2485 (ภาพจาก ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ )

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564