ขุนศึกสายอาร์ต โอดะ โนบุนากะ ร้องเพลงและเต้นขณะรู้ข่าวโดนข้าศึกบุก สภาพล่อแหลม

โอดะ โนบุนางะ โนบุนากะ Oda Nobunaga
ภาพวาด โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) โดย Kanō Motohide ช่วงศตวรรษที่ 16 (ไฟล์ Public Domain) ฉากหลังเป็นภาพเขียนการรบที่โอเกะฮาซาม่า (Okehazama) ไฟล์ Public Domain ภาพจาก Wikimedia Commons

ในยุคเซ็นโงกุ (Sengoku-jidai) หรือสงครามซามูไรในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ปรากฏขุนพลนักรบผู้มีชื่อเสียงมากมายต่างๆ ในบรรดาขุนศึกผู้นำทางการทหารคนสำคัญซึ่งมีบทบาทอย่างมากเรียกได้ว่าเกือบรวมประเทศได้สำเร็จ บุคคลผู้นี้คือ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga/1534-82) ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นบุคคลที่เริ่มต้นกระบวนการรวมแผ่นดินเข้าเป็นหนึ่งเดียว แต่ระหว่างเส้นทางนั้น เขาถูกลอบสังหารขณะพำนักในวัดแห่งหนึ่งก่อนจะบรรลุเป้าประสงค์

โอดะ โนบุนากะ ผ่านการรบร่วมกับขุนพลอันมีชื่อเสียงมาอย่างโชกโชน การรบของโอดะ โนบุนากะ ครั้งที่เป็นที่จดจำมากที่สุดย่อมเป็นการรบ “โอเกะฮาซามะ” (Okehazama) ซึ่งทัพของโนบุนากะ มีกำลังพลไม่ถึง 2,000 นาย โจมตีศัตรูฝั่งอิมากาว่า โยชิโมโต้ (Imagawa Yoshimoto/1519-60) ซึ่งเชื่อกันว่ามีกำลังพลรวมทั้งหมด 25,000 นาย และมีชัยเหนือทัพของโยชิโมโต้ได้

การรบเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวเดือนห้า ค.ศ. 1560 โยชิโมโต้ ในเวลานั้นเป็นผู้นำทางการทหารที่มีอำนาจอันดับต้นๆ ในฝั่งแปซิฟิก ต้องการขยายอำนาจมายังฝั่งตะวันตก โยชิโมโต้ รวบรวมกำลังทหารจาก 3 ภูมิภาคคือ ซุรูกะ (Suruga), โทโตมิ (Totomi) และ มิกาว่า (Mikawa) เคลื่อนพลมาฝั่งตะวันตกเพื่อเข้าถึงเกียวโต ไปยึดเมืองหลวงเดิมและศูนย์กลางทางการทหารดั้งเดิมในยุคนั้น การเคลื่อนทัพใช้เส้นทางที่ต้องผ่านโอวาริ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของโอดะ โนบุนากะ

ทัพของโยชิโมโต้ ทำลายป้อมปราการของฝั่งโนบุนากะ ได้อย่างรวดเร็ว วันที่ 19 ในเดือน 5 หรือวันที่ 2 ของการเข้าถึงอาณาเขตโอวาริ ทัพของโยชิโมโต้ ทำลายป้อมปราการไปได้ 2 ใน 5 ป้อม

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์หรือแม้แต่ในทางการทหารให้ความสนใจคือกลยุทธ์ในการรบของโอดะ โนบุนากะ ซึ่งรับมือกับผู้รุกรานที่เชื่อว่ามีกำลังพลเหนือกว่าหลายเท่าตัว และสามารถโจมตีโต้กลับเป็นผลสำเร็จจนได้รับชัยชนะ ข้อมูลส่วนหนึ่งในช่วงเหตุการณ์นี้ปรากฏในบันทึกของกิวอิชิ โอตะ (Gyūichi Ōta/1527-1610?) นักรบและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโนบุนากะ ชื่อ Shincho-ko ki หรือ “บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับลอร์ดโนบุนากะ” (The Chronicle of Lord Nobunaga ) ซึ่งผู้เขียนอ้างว่า เขียนขึ้นโดยอ้างอิงจากบันทึกที่เขาจดไว้ขณะยังปฏิบัติหน้าที่เป็นนักยิงธนู (bowman) ของโนบุนากะ

คืนที่ได้รับข่าว

ฮิโรอากิ ซาโตะ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นได้แปลเนื้อหาในบันทึกมาเป็นภาษาอังกฤษ ใจความที่จะยกมาถึงในที่นี้ จะมาจาก “บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับลอร์ดโนบุนากะ” ซึ่งแปลโดยซาโตะ เนื้อหาส่วนที่พูดถึงการรบที่โอเกะฮาซามะ เอ่ยถึงว่า เมื่อโนบุนากะ ได้รับข่าวว่าทัพของโยชิโมโต้ เข้าถึงอาณาเขตของเขาในวันที่ 18 เดือน 5 ขณะนั้นโนบุนากะ พำนักในปราสาทคิโยสุ (Kiyosu)

เนื้อหาใน Shincho-ko ki เล่าเหตุการณ์ในคืนที่โนบุนากะ รับทราบข่าวไว้ว่า บทสนทนาระหว่างโนบุนากะ กับบุคคลอื่นในคืนนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการทหาร เมื่อโนบุนากะ เห็นว่าดึกแล้วก็สั่งให้คนที่อยู่ด้วยกลับบ้าน ในบันทึกของกิวอิชิ โอตะ เล่าว่า ผู้ดูแลจัดการเรื่องในบ้านของโนบุนากะ ถึงกับเอื้อนเอ่ยภาษิตขึ้นมาด้วยความท้อแท้

ฮิโรอากิ ซาโตะ อธิบายเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้ว “บทสนทนา” ที่โนบุนากะ มีขึ้นกับคนใกล้ชิดนั้น เดิมทีเรียกกันว่า o-hanashi หรือบางทีก็เรียกว่า o-togi เป็นบทสนทนาระหว่างเจ้านายกับนายทหารผู้ช่วยหรือที่ปรึกษา แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วอาจไม่ได้ผลอันเป็นประโยชน์มากนัก แต่มักเป็นการสนทนาที่ก่อให้เกิดรากฐานของข้อมูลที่มีผลสำคัญ หรือเปิดโอกาสให้เกิดการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ ดังนั้น ค่ำคืนดังกล่าว เหล่าผู้ช่วยของโนบุนากะ หวังว่าเขาจะเปิดการสนทนาหารือวิธีรับมือการรุกรานของโยชิโมโต้ หรืออย่างน้อยก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม โนบุนากะ กลับปล่อยให้เวลาสำคัญในค่ำคืนนั้นผ่านไปโดยไม่พูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่ควรจะหารือ

เมื่อเวลาผ่านไป รายงานข่าวสารทางการทหารเริ่มทยอยเข้ามา รายงานว่า ข้าศึกเริ่มโจมตีพื้นที่ภูเขา Washizu และ Marune ระหว่างที่โนบุนากะ ได้ยินรายงานนี้ ผู้นำทางการทหารที่มีอิทธิพลในภูมิภาคก็เริ่มร่ายรำและร้องเนื้อหาท่อนหนึ่งจากบทละครชื่อ Atsumori ใจความว่า

มนุษย์มีชีวิตได้ห้าสิบปี
เทียบสวรรค์ชั้นล่างสุด (Geten)
แทบเหมือนฝัน ดังภาพลวงตา
ใครบ้างที่ได้มาหนึ่งชีวิต
ไม่ม้วยมรณา

ซาโตะ อธิบายเพิ่มเติมว่า โนบุนากะ มักร้องท่อนนี้จาก Atsumori แต่โดยทั่วไปแล้ว โนบุนากะ เป็นผู้ชื่นชอบการร้องเพลงอยู่แล้ว เขามักกระตุ้นเหล่าทหารในสังกัดให้ตามรอยเขาและร้องเพลง 3 รอบก่อนเคลื่อนทัพไปทำศึกในสนามรบ อย่างไรก็ตาม โนบุนากะ ไม่ได้สร้างผลงานไว้มากมายนัก มีเพียงบทหนึ่งสั้นๆ ที่มีชื่อเขาเป็น “ผู้แต่งบทกวี”

ผลงาน “กวี” ที่โนบุนากะ เป็นผู้แต่งอยู่ในเนื้อหาประวัติของโนบุนากะ ในชื่อผลงานว่า Shincho Ki (Biography of Nobunaga) งานเขียนโดย Oze Hoan (1564-1640) งานเขียนชิ้นนี้เหมือนเป็นงานเขียนประวัติโนบุนากะ ปรับปรุงใหม่จาก Shincho-ko ki หรือ “บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับลอร์ดโนบุนากะ” (The Chronicle of Lord Nobunaga) ของกิวอิชิ โอตะ อีกทอดหนึ่ง โดย Hoan อธิบายการปรับปรุงผลงานว่า งานของกิวอิชิ ย่อยสรุปเนื้อหา ละเลย และมองข้ามรายละเอียด ซึ่งทำให้เขากังวลว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องและถูกละเลยไปอาจเศร้าเสียใจได้

กวีดังกล่าวปรากฏใน Shincho Ki ส่วนที่เล่าถึงช่วงที่โนบุนากะ เดินทางเข้าเกียวโตในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการทหารคนแรกผู้สนับสนุนอาชิคากะ โยชิอากิ (Ashikaga Yoshiaki/1537-97) โชกุนคนสุดท้ายจากตระกูลอาชิคากะ (Ashikaga)

โนบุนากะเคลื่อนไหว

เมื่อเสร็จสิ้น โนบุนากะ ออกคำสั่งให้เป่าสัญญาณ และนำอุปกรณ์รบส่วนตัวมาให้เขา จากนั้นก็สวมใส่เสื้อเกราะ รับประทานอาหารเช้าขณะยืน สวมหมวก และออกเดินทาง

ขบวนของโนบุนากะ เดินทางราว 7 ไมล์ มาถึง Atsuta ด้านหน้าศาลเจ้า Gendayu โนบุนากะ มองไปทางทิศตะวันออกและเห็นควันพวยพุ่งขึ้นจากโซน Washizu และ Marune นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ป้อมทั้ง 2 แห่งถูกตีแตกแล้ว

โนบุนากะ เดินทางมาที่ป้อม Tange และไปต่อที่ป้อมซึ่งอยู่ที่วัด Zensho ซึ่งเหล่าทหารตั้งแคมป์ที่นี่ ตรงจุดนี้เองที่โนบุนากะ ประเมินกำลังพลของตัวเอง และทบทวนสถานการณ์ รายงานที่ได้รับมีเนื้อหาว่า

“อิมากาว่า โยชิโมโต้ ข้าศึกนำกำลังพลทั้งหมด 45,000 นาย (โยชิโมโต้ แพร่ข่าวลือว่าเขานำทัพมีกำลังพลถึง 40,000 นาย ขณะที่กิวอิชิ โอตะ ผู้บันทึกก็ขยายตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก – ฮิโรอากิ ซาโตะ) และตั้งที่มั่นพักกำลังพลอยู่ที่ภูเขาโอเกะฮาซามะ ช่วงบ่ายของวันที่ 19 เขาเรียกรวมกำลังพลและกล่าวชื่นชมความสำเร็จจากการตีป้อม 2 แห่งลงได้…

[นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ตัวเลขกำลังพลของโยชิโมโต้ ที่พอใกล้เคียงความเป็นจริงคือ 25,000 นาย-กองบก.ออนไลน์]

ปรากฏว่า มีขุนพล 2 รายคือ Sasa Hayato no Sho และ Chiaki Shiro เคลื่อนทัพเข้าใกล้โยชิโมโต้ โดยมีกำลังพลหยิบมือราว 300 นาย แต่ก็ถูกโจมตี ขุนพลทั้ง 2 พร้อมด้วยผู้ติดตาม 50 นายเสียชีวิตในการรบ โยชิโมโต้ มองเรื่องนี้เป็นเหมือนสัญญาณว่า แม้แต่อสูรจากสวรรค์ ปีศาจ หรือแม้แต่พระเจ้าก็ไม่สามารถต้านทานความประสงค์ของเขาได้ เขาสั่งให้จัดการร้องปลุกใจขณะที่เขาอยู่ในค่าย”

[กล่าวกันว่า โนบุนากะ ได้รับรายงานความเคลื่อนไหวของฝั่งโยชิโมโต้ อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งคือ โยชิโมโต้ ที่ตั้งค่ายในโอเกะฮาซามะ มีกำลังพลหลักพันราย กำลังพลที่เหลือน่าจะกระจายกันอยู่จุดอื่น]

การรบที่โอเกะฮาซามะ 

เมื่อได้ยินรายงาน โนบุนากะ ตัดสินใจเคลื่อนที่ไปนาคาจิมะ (Nakajima) คนใกล้ชิดเขารีบทักท้วงว่า ถนนบริเวณนั้นโอบล้อมด้วยทุ่งนาข้าว เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วย่อมเคลื่อนไหวได้ยาก อีกทั้งยังต้องเคลื่อนพลเป็นแถวแนวเดียว ยิ่งทำให้กำลังพลที่น้อยนิดถูกข้าศึกจับสังเกตเห็นได้โดยง่าย แต่โนบุนากะ ไม่ฟังคำค้าน และออกเดินทางไปที่นาคาจิมะ เวลานั้นคาดกันว่ากำลังพลของโนบุนากะ มีไม่ถึง 2,000 คน

เมื่อมาถึงนาคาจิมะ โนบุนากะ พยายามเคลื่อนพลไปข้างหน้าอีกครั้ง แต่คราวนี้คนใกล้ชิดสามารถเหนี่ยวรั้งการตัดสินใจของเขาไว้ได้ โนบุนากะ จึงกล่าวกับกำลังพลของเขาว่า

“พวกเราทั้งหลาย, ฟังให้ดี ข้าศึกศัตรูมาถึงที่นี่ กินอาหารในตอนเย็น และเดินทัพตลอดคืน ข้าศึกต้องเคลื่อนย้ายเสบียง…พยายามอย่างหนักที่ Washizu และ Marune และย่อมเหนื่อยล้าจากความยากลำบากที่ประสบมา ในอีกด้าน พวกเราเป็นทัพที่ยังสมบูรณ์ นอกจากนี้ พวกเรายังรู้จักคำพูดนี้กันดีไม่ใช่หรือ ‘อย่าไปกลัวข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่าเพราะกำลังพลของท่านมีไม่มาก โชคอยู่ในกำมือของสวรรค์’

ถ้าข้าศึกโจมตี เราถอย ถ้าพวกเขาถอย ให้รุกไล่ แนวคิดคือรุกไล่ข้าศึกและทำลายเขาในการรุกไล่นั้น ไม่ต้องจับกุมใครหน้าไหน ให้ปล่อยไป หากพวกเราชนะศึกนี้ ท่านทั้งหลายที่เข้าร่วมจะนำเกียรติมาสู่ตระกูลของท่าน ชื่อเสียงของท่านจะกึกก้องไปอีกหลายรุ่นในอนาคต ทำให้ดีที่สุด”

ขณะที่โนบุนากะ กำลังพูดปลุกใจอยู่ ขุนพลของเขาก็เริ่มทยอยเดินทางกลับมา แต่ละคนมีศีรษะของศัตรูที่พิชิตได้ติดมือกลับมา บางคนก็ถือมาหลายศีรษะด้วย หลังจากนั้น โนบุนากะ พากำลังพลขึ้นไปที่เนินเขา ทันใดนั้นก็เกิดฝนตกอย่างรุนแรง

เมื่อท้องฟ้าโปร่งใสแล้ว โนบุนากะ ชูหอกของตัวเองขึ้นและสั่งการให้โจมตี ขณะนั้นข้าศึกเพิ่งอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองชัยชนะแรกเริ่ม หลายคนก็ถอดเกราะเนื่องจากอยู่ในช่วงกลางวันที่ร้อนระอุ เมื่อทัพโยชิโมโต้ เห็นกำลังพลของโนบุนากะ เคลื่อนที่เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวก็ต้องถอยหนี ในขณะที่ข้าศึกถอยร่นก็ทิ้งข้าวของแม้กระทั่งพาหนะของโยชิโมโต้ เอาไว้ด้วย โนบุนากะ ยังสั่งโจมตีแคมป์ของโยชิโมโต้

บันทึกเล่าไว้ว่า เป็นช่วงเวลาราวบ่ายสองโมงที่โนบุนากะ เข้าโจมตีจากตะวันออก ตอนแรกมีม้าราว 300 ตัววนล้อมรอบโยชิโมโต้ ที่กำลังถอยร่นอยู่ แต่เมื่อปะทะกันไปหลายระลอกเข้า กำลังพลของโนบุนากะ เริ่มลดลงเรื่อยๆ กระทั่งช่วงท้ายมีม้าเหลือเพียง 50 ตัวเท่านั้น

โนบุนากะ ลงจากม้า และเคลื่อนทัพไปข้างหน้าพร้อมกับนักรบหนุ่มเลือดร้อน สถานการณ์เป็นไปอย่างดุเดือดและชุลมุน แต่บันทึกระบุว่า ถึงแม้การรบจะอยู่ในสภาพชุลมุนมาก แต่ไม่มีใครสับสนระหว่างฝ่ายมิตรกับศัตรู เนื่องจากทั้งสองฝ่ายแต่งกายด้วยชุดสีแตกต่างกันชัดเจน กำลังพลของโนบุนากะ ได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก

ระหว่างการรบพุ่งกันนั้น Hashimoto Koheita เข้าไปโจมตีโยชิโมโต้ และเป็น Mori Shinsuke ที่ตัดศีรษะของโยชิโมโต้ มาได้ เมื่อโยชิโมโต้ ถูกสังหาร ทหารที่เหลือก็ยอมแพ้หรือไม่ก็แตกพ่ายหลบหนีไป

โนบุนากะ ประกาศว่าจะทำพิธีตรวจศีรษะของศัตรูอย่างเป็นทางการที่คิโยสุ โดยทั่วไปแล้ว เขาพอใจมากแล้วที่ได้เห็นศีรษะโยชิโมโต้ และเดินทางกลับแคมป์โดยใช้เส้นทางเดิมที่เขาผ่านมาก่อนหน้านี้

การรบที่เกิดขึ้นกินเวลาไม่ถึง 20 นาที ส่งผลสำคัญต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในเวลาต่อมา เมื่อผู้มีอำนาจในทางตอนกลางของญี่ปุ่นถูกทำลายลง โนบุนากะ มีทั้งชื่อเสียงและพันธมิตรเพิ่มขึ้น จากนั้นก็เริ่มต้นเส้นทางรวมญี่ปุ่น

แต่ก่อนที่เขาจะทำสำเร็จ กลับเกิดเหตุการณ์ที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน โอดะ โนบุนากะ ถูกลอบสังหารขณะพักในวัดฮอนโนจิ โดยคนใกล้ชิดฝ่ายเดียวกัน ในช่วงกลางปี 1582 เมื่อสิ้นโนบุนากะ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขึ้นมามีบทบาทในญี่ปุ่น กระทั่งฮิเดโยชิ ถึงแก่กรรม โทกุงาวะ อิเอยาสุ หนึ่งในพันธมิตรของโนบุนากะ ก็ก้าวขึ้นมารวมแผ่นดินญี่ปุ่นจนสำเร็จ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Hiroaki Sato. Legends of the Samurai. New York: Overlook Press, 1995. p. 232-238.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2564