ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
“จูหยวนจาง” ส่ง “ห่านพะโล้” ปลิดชีพขุนนางร่วมก่อตั้ง “ราชวงศ์หมิง”
เมื่อกล่าวถึงการลงโทษ หรือเอาผิดฝ่ายตรงข้าม ในประวัติศาสตร์ของชาติจีนนับได้ว่ามีวิธีการที่ทารุณอยู่ไม่น้อย แม้ว่าเป้าหมายคือต้องการ “ปลิดชีวิต” อีกฝ่าย แต่การให้ตายง่ายๆ อาจไม่ทำให้เจ้าทุกข์/ฝ่ายที่ชนะหายแค้น หรือสมกับความผิดที่ได้ทำลงไป ในอดีตจึงมีการลงโทษถึงตายที่แสนทรมาน เช่น ตัดหัวเสียบประจาน, ใช้รถม้า 5 คัน หรือม้า 5 ตัว ดึงแยกร่าง (2 แขน, 2 ขา, 1 ศีรษะ) จนตาย, ตัด (ที่เอว) ให้ร่างขาดสองท่อน, แล่เนื้อที่ละชิ้นจนตาย, ถลกหนัง ฯลฯ
หากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน อาหารเลิศรส เช่น “ห่านพะโล้” กลับเป็นเครื่องสังหารที่แสนเลือดเย็นของจูหยวนจาง ผู้นำที่นำกบฏขับไล่ราชงศ์หยวนของมองโกลสำเร็จ และเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนา ราชวงศ์หมิง
นักประวัติศาสตร์บางรายเล่าข้อมูลไว้ว่า เมื่อ ค.ศ. 1385 สวีต๋าป่วยเป็นโรคฝีฝักบัวที่หลังไม่สามารถเข้าราชสำนักได้เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน สวีต๋าผู้นี้เป็นเพื่อนในวัยเยาว์ของจูหยวนจาง มีความดีความชอบในการสู้รบที่โดดเด่น มีคุณธรรมและบารมีสูง อยู่ในวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยกำลังวังชา ที่ผ่านมาเขามีส่วนสำคัญในการก่อตั้งราชวงศ์หมิง แต่ภายหลังจูหยวนจางก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ เกรงว่าเขาจะเข้ามาช่วงชิงอำนาจ จึงตัดสินใจกำจัดเขา แต่ก็หาข้อบกพร่องในตัวเขาไม่ได้เลย
วันหนึ่งจูหยวนจางจึงให้ขันทีนำอาหารไปส่งให้สวีต๋าโดยเฉพาะ ขุนนางราชสำนักคนอื่นๆ ต่างก็คิดว่า จักรพรรดิเป็นห่วงเพื่อนเก่าคนนี้ มีเพียงสวีต๋าที่ตกใจ เพราะอาหารที่ส่งมาคือ ห่านพะโล้ ซึ่งเป็นอาหารที่แสลงกับโรค ที่หากกินเข้าไปจะต้องตายอย่างแน่นอน
อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจูหยวนจาง ต้องการจะให้เขาตาย สวีต๋าก็กินห่านพะโล้ ไปทั้งน้ำตา ผ่านไปไม่กี่วันเขาก็จากโลกไป ตามพระบัญชาโหด “จักรพรรดิให้ตายไม่ตายไม่ได้”
อ่านเพิ่มเติม :
- จูหยวนจาง กวาดล้างขุนนางเก่า ข้าราชการจึงสั่งเสียครอบครัวก่อนเข้าเฝ้า
- จุดอวสานธรรมเนียม “สิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม” ในราชสำนักจีน
ข้อมูลจาก :
หลี่เฉวี่ยน (เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2564