จูหยวนจาง กวาดล้างขุนนางเก่า ข้าราชการจึงสั่งเสียครอบครัวก่อนเข้าเฝ้า

จูหยวนจาง พระเจ้าหมิงไท่จู่
จูหยวนจาง หรือพระเจ้าหมิงไท่จู่

หลังสถาปนาราชวงศ์หมิง จูหยวนจาง หรือ พระเจ้าหมิงไท่จู่ ก็สังหารขุนนางที่เคยมีคุณูปการจำนวนมาก มีผู้ที่ถูกฆ่ามีหลายหมื่นคน ข้าราชการในเมืองหลวงต่างก็อกสั่นขวัญแขวน ถึงกับมีคำพูดว่า ก่อนที่ข้าราชสำนักจะเข้าเฝ้าจูหยวนจางแต่ละครั้ง ต้องบอกลาและสั่งเสียครอบครัวก่อนเสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสกลับบ้านในตอนเย็นหรือไม่

ทำไม จูหยวนจาง ต้องฆ่าขุนนางผู้มีคุณูปการนั้น จุดเริ่มต้นมาจาก “คดีหูเหวยยง”

หูเหวยยง เป็นชาวอำเภอยิ่งหย่วนในมณฑลอันฮุย เป็นญาติของหลี่ซ่านฉาง ใน ค.ศ. 1355 เขามาขออาศัยจูหยวนจางที่เมืองเหอโจว (อำเภอเหอของมณฑลอันฮุยในปัจจุบัน) จากตำแหน่งขุนนางเล็กๆ ก็ก้าวหน้าเรื่อยมาจนเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้ายที่อยู่เหนือคนนับหมื่น และอยู่ใต้อำนาจของคนเพียงคนเดียว หูเหวยยงจึงลืมตัว สร้างพรรคสร้างพวกและเผด็จการ บางครั้งคิดอยากฆ่า ย้าย หรืออยากลดตำแหน่งข้าราชการคนไหนก็กระทำ โดยไม่ถวายสาส์นรายงาน

ค.ศ. 1379 ทูตเวียดนามส่งของบรรณาการ หูเหวยยงไม่ยอมนำไปถวายจักรพรรดิ ต่อมามีขันทีพบเห็นทูตจึงนำเรื่องไปบอกจูหยวนจาง พระองค์ถามถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ รับสั่งจับกุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และไต่สวนอย่างเข้มงวด

หูเหวยยงรู้ว่ากำลังตกที่นั่งลำบาก จึงเริ่มติดต่อกับขุนนางคนอื่นเพื่อร่วมกันวางแผนร้ายและทำผิดกฎหมาย ภายหลังถูกขุนนางในสำนักราชเลขาธิการฟ้องร้องว่าวางแผนก่อกบฏ จูหยวนจางโกรธมาก รับสั่งประหารชีวิตหูเหวยยงและพวกในข้อหาเผด็จการ บิดเบือนกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว พร้อมทั้งลงโทษไปถึง 3 ชั่วโคตร พรรคพวกก็ต้องได้รับโทษด้วยเช่นกัน มีผู้สั่งประหารเพราะมีส่วนพัวพันที่มีมากถึง 15,000 คน

หลังกรณีของหูเหวยยง จูหยวนจางก็เกิดหวาดระแวงขุนนางผู้มีคุณูปการที่อยู่ใกล้ตัว

เริ่มจาก สวีต๋า เพื่อนในวัยเยาว์ของจูหยวนจาง มีความดีความชอบในการสู้รบที่โดดเด่น มีคุณธรรมและบารมีสูง อยู่ในวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยกำลังวังชา แต่จูหยวนจางก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ เกรงว่าจะเข้ามาช่วงชิงอำนาจ จึงตัดสินใจกำจัดเขา แต่ก็หาข้อบกพร่องในตัวเขาไม่ได้เลย

ค.ศ. 1385 สวีต๋าเป็นโรคฝีฝักบัวที่หลัง ไม่สามารถเข้าราชสำนักได้เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน จูหยวนจางให้ขันทีนำอาหารไปส่งให้เขาโดยเฉพาะ คนอื่นๆ ต่างก็คิดว่าจักรพรรดิเป็นห่วงเพื่อนเก่าคนนี้ มีแต่สวีต๋าที่ตกใจ เพราะจักรพรรดิส่งห่านพะโล้ ซึ่งเป็นอาหารที่แสลงกับโรคมาให้ หากกินเข้าไปจะต้องตายอย่างแน่นอน อันเป็นการแสดงเจตนาว่าต้องการจะให้เขาตาย และเขาก็กินไปทั้งน้ำตา ผ่านไปไม่กี่วันสวีต๋าก็จากโลกไป

ค.ศ. 1390 จูหยวนจางตัดสินประหารชีวิตขุนนางหลายคนได้แก่ หลี่ซ่านฉาง ตำแหน่งหานกว๋อกง ลู่จ้งเสี่ยง ตำแหน่งจี๋อันโหว กังเซิ่งจง ตำแหน่งเหยียนอันโหว เฟยจี้ ตำแหน่งผิงเลี่ยงโหว ฯลฯ ในข้อหาร่วมมือกับหูเหวยยงวางแผนร้ายทำผิดกฎหมาย เพียงแค่กรณีของหูเหวยยงกรณีเดียว รวมแล้วมีผู้ที่มีส่วนพัวพันถูกประหารกว่า 30,000 คน

ตามด้วยคดี หลันอวี้ กำลังสำคัญที่ต่อสู้กับศัตรูอย่างหาญกล้ามากับสวีต๋าและฉางฮวี้ชุน หลังสถาปนาราชวงศ์หมิง สวีต๋าและฉางฮวี้ชุนก็ทยอยกันลาโลกไปแล้ว เหลือเพียงหลันอวี้ที่ยังโดเด่น นำทัพลงใต้ไปปราบปรามมณฑลอวิ๋นหนาน สู้รบกับมองโกเลียที่อยู่ทางภาคเหนือ สร้างความดีความชอบในสนามรบไว้มากมาย

ภายหลังหลันอวี้เริ่มโอหัง อวดดีถือว่าตนมีความดีความชอบ ใช้อำนาจเข้ายึดครองที่นาของชาวบ้าน เมื่อมีขุนนางไปตรวจสอบก็เฆี่ยนตีขุนนาง หรือครั้งหนึ่งที่หน้าด่านสี่เฟิงกลางดึก ขุนนางที่เฝ้าด่านเปิดประตูด่านช้าก็สั่งให้ทหารพังด่านเข้าไป ในกองทัพนั้นเขาจะแต่งตั้งหรือปลดนายทหารชั้นสูงอย่างตามใจชอบ ฯลฯ ทำให้จูหยวนจางไม่พอใจพฤติกรรมเหล่านี้มาก

ค.ศ. 1393 หน่วยองครักษ์เสื้อแพร ที่รับคำสั่งโดยตรงจากจูหยวนจาง กล่าวหาว่าหลันอวี้วางแผนก่อกบฏ เมื่อจูหยวนจางได้ฟังก็จับกุมตัวเขามาตัดคอประหารชีวิตทันที และลงโทษด้วยการยึดทรัพย์ฆ่าตัดคอเช่นนี้ไปอีก 3 ชั่วโคตร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้และไปมาหาสู่กับหลันอวี้ ต่างก็ถูกยึดทรัพย์และประหารนับรวมแล้วมีผู้ที่ถูกประหารจำนวน 15,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีแม่ทัพที่เก่งกาจในการทำสงครามและข้าราชการฝ่ายพลเรือนชั้นสูงรวมอยู่ด้วย

เจ้าชายรัชทายาทจูเปียวทนดูต่อไปไม่ไหว เขาแนะนำพระราชบิดาว่าอย่าฆ่าคนเยอะขนาดนี้อีกเลย วันต่อมาจูหยวนจางจงใจทำกระบองหนามตก แล้วให้จูเปียวเก็บขึ้นมา จูเปียวไม่กล้าหยิบ จูหยวนจางจึงกล่าวว่า

“เจ้ากลัวหนามจึงไม่กล้าหยิบ ตอนนี้ข้าช่วยเอาหนามทั้งหมดออกให้เจ้าก่อนแล้ว นี่ไม่ดีหรอกหรือ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่เฉวี่ยน (เขียน), เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย (แปล). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564