บันทึกเรื่อง “สร้อยคอ-เครื่องเพชรนิลจินดา” ในราชวงศ์และสังคมชั้นสูงอันหรูหราที่รัสเซีย

เครื่องราชกกุธภัณฑ์และสมบัติของราชวงศ์โรมานอฟ ณ กองทุนเพชรแห่งชาติ กรุงมอสโก ถูกนำมาออกแสดงให้ต่างชาติเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1923 (ภาพจากหนังสือ Feberge Masterpieces)

ราชวงศ์โรมานอฟเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองรัสเซีย ก่อนหน้าจุดสุดท้ายของราชวงศ์ เรื่องราวเกี่ยวกับสถานะความร่ำรวยของราชวงศ์นี้มีปรากฏในบันทึก หรือแม้แต่ปราสาทราชวังอันอลังการที่ปรากฏในปัจจุบันยังเป็นกระจกสะท้อนความมั่งคั่งของราชวงศ์โรมานอฟด้วย หากมองภาพย่อลงมากว่านั้นอีกระดับ ความมั่งคั่งหรูหราของราชวงศ์โรมานอฟไปจนถึงสังคมชนชั้นสูงของรัสเซียที่ปรากฏในบันทึกส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากการประดับตกแต่งที่คนกลุ่มนี้สวมใส่ในสังคม

ประเด็นเรื่อง “ความเป็นไป” ในระบอบซาร์แห่งรัสเซียนั้น ไกรฤกษ์ นานา ได้หยิบยกบันทึกที่บอกเล่าบรรยากาศการใช้ชีวิต “แบบหรูหราฟุ่มเฟือยเกินฐานะของคนมีระดับในรัสเซีย” เอาไว้ในบทความ “สมบัติที่หายไปของราชวงศ์โรมานอฟ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยอ้างอิงบันทึกโดย “ผู้สันทัดกรณี” เนื้อหามีว่า (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 1894 ยังเป็นใจกลางแห่งความก้าวหน้า ความโก้เก๋ และความหรูหรานอกหน้า เช่น มหาอุปรากร คณะบาเลต์ วงดุริยางค์ซิมโฟนีและเชมเบอร์ มิวซิก เล่นเพลงของกนิกา, ริมสกี-กอราซ็อฟ, โบโรดิน, มุสซ็อกสกี และ ไชก็อฟสกี สังคมผู้ดีพูดภาษาฝรั่งเศส หาพูดภาษารุสเซียไม่ อาภรณ์และเครื่องแต่งบ้านที่ว่าดีที่สุดนั้น สั่งมาจากปารีส

ขุนนางรุสเซียไปตากอากาศกันที่เมืองบิอาริดส์ อิตาลีหรือริเวียรา ไม่ได้ไปพักที่เขตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งทรัพย์สําหรับพวกขุนนางเหล่านั้นนํามาใช้หาความเพลิดเพลิน พวกผู้ชายไปเล่นม้าหรือเล่นพนันกันที่สโมสร ส่วนพวกผู้หญิงนั้นกว่าจะตื่นนอนก็เที่ยง ตื่นแล้วก็ให้ช่างแต่งผมเข้าไปแต่งเกศา แล้วก็ออกนั่งรถเที่ยวเล่นไปตามเกาะในเมือง เรื่องชู้สาวมีดกดื่น คํานินทากระซิบกระซาบอันเอร็ดอร่อยเซ็งแซ่ไปทั้งเมือง

ทุกคืนชาวสังคมพากันไปชมอิมพีเรียลบัลเล่ต์ ที่โรงละครมาร์ยินสกีอันโอ่อ่าตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน และสีทอง มิฉะนั้นก็ไปที่โรงละครฝรั่งเศสเทอาตร์ ฟรังแซ ที่นั่นสาวๆ สวมเสื้ออกลึกทันสมัย ปิดทรวงของเธอด้วยสร้อยสนิมพิมพาภรณ์ ครั้นละครเลิกคุณผู้หญิงและเพื่อนชายก็ห่อตัวด้วยผ้าขนสัตว์ นั่งรถเลื่อนสีแดงเข้ม ขับเลื่อนไปโดยปราศจากเสียงบนแผ่นน้ำแข็งไปยังโภชนาคารคิวบา เพื่อซัปเปอร์และลีลาศ ไม่มีใครคิดจะกลับบ้านก่อนตีสาม ส่วนพวกนายทหารนั้นอยู่กันจนตีห้า…เมื่อท้องฟ้าเริ่มทอแสง

เทศกาลในกรุงปีเตอร์สเบิร์ก เริ่มแต่งวันเถลิงศกไปสิ้นสุดเอาในวันศารทเลนท์ ตลอดสัปดาห์แห่งเหมันตกาลนี้ พวกเหล่าผู้ลากมากดีในนครหลวง มีงานสนุกกันท่วมหัว มีการแสดงดนตรี การสโมสร สันนิบาต ลีลาศ บัลเล่ต์ อุปรากร การปาร์ตี และซัปเปอร์เที่ยงคืน ซึ่งจัดเป็นงานรโหฐาน งานเลี้ยงกันเป็นรายๆ นี้ สับเปลี่ยนกันไป พวกผู้ที่จัดงานปาร์ตีกันทุกคน และทุกคนก็ไปร่วมตามคําเชิญ ยังมีงานรับรองซึ่งนายทหารแต่งเครื่องแบบสีแดงมีเหรียญตราแวววาวเต็มอก

ส่วนท่านหญิงชราที่ห่อตัวด้วยผ้าต่วนขาวพองทูมทามเดินวนเวียนกันในห้องรับแขกเพดานสูง หยิบแก้วแชมเปญที่คนรับใช้ใส่ถาดเดินเที่ยวแจก แล้วตักปลาสเตอร์จันแช่น้ำแข็ง เนื้อไก่อาบครีม ไข่ยัดไส้ ไข่ปลาคาเวียร์สามรสใส่จานของตน สาวรุ่นยังไม่วิวาห์ สวมพัสตราภรณ์ขาวบริสุทธิ์ เต้นควอดริลเยกับนายทหารหนุ่ม มีนางพี่เลี้ยงซึ่งนั่งตรงบนเก้าอี้ทองคอยจ้องตาดูเขม็ง นายทหารแต่งเครื่องแบบเขียวกางเกงแดงเต้นหมุนเหวี่ยงกับคู่ซึ่งแต่งเครื่องเพชรแพรวพราย

ในระยะที่มีงานชุกที่สุดนั้น พวกท่านหญิงแต่งเครื่องเพชรไปโบสถ์ตอนเช้า แล้วไปร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ตอนบ่ายนั่งรถกินอากาศ แล้วกลับบ้านแต่งตัวไปในงานลีลาศต่อไป โดยประเพณีงานลีลาศหรูหราที่สุดก็คืองานลีลาศพระราชทานที่พระราชวังฤดูหนาว ซึ่งจะหาพระราชวังใดในทวีปยุโรปหรูหราโอ่อ่าอย่างนี้ไม่มีแล้ว พระราชวังฤดูหนาวนั้นมีระเบียงศิลป์อันมหึมาฝาระเบียงนั้นกว้างและสูงเสมอวิหารมีเสาหินอ่อน หินโมราและหินมาลาไซด์ สีไข่นกพิราบ…เพดานทาทอง ซึ่งแขวนพวงประทีปแก้วประดับทอง เป็นระย้าใหญ่

ส่วนภายนอกตึกใหญ่สามแถวของพระราชวังนั้นก็ตามประทีปสว่างไสวมีรถมาส่งท่านผู้ลากมากดีไม่ขาดสาย ท่านเหล่านั้นเปลื้องเสื้อคลุมส่งให้ที่นายประตู แล้วก้าวขึ้นบันไดหินอ่อนสีขาวกว้างใหญ่ ซึ่งลาดพรมกํามะหยี่หนา ตามผนังทางบันได รายไปตามกระจกเงาบานเขื่อง ซึ่งพวกแขกเหรื่อนับสิบๆ จะได้ส่องชมโฉมตัวเอง มีทหารม้าแห่งกองทหารม้าเชวาลิเอร์ ยูนิฟอร์มขาว เกราะอกเงิน และสวมหมวกเหล็กยอดนกอินทรียืนระวังตรงนิ่งสนิทยืนเรียงรายเป็นระยะ

แขกสามพันคนรวมทั้งข้าราชการในราชสํานัก ซึ่งแต่งดํา แถบทอง นายพลซึ่งอกประดับเหรียญ ตราอันได้จากสงครามตุรกีเต็มอก แล้วมีนายทหารม้า ฮุสซาร์ หนุ่มๆ ซึ่งสวมกางเกงหนังกวางรัดเปรี้ยะเวลาสวมต้องใช้บ่าวทหารสองคนช่วยดึง ในงานลีลาศหลวงอันใหญ่ยิ่ง หญิงรุสเซียซึ่งหลงใหลเพชรนิลจินดาเป็นหนักหนา ต่างก็อวดเครื่องเพชรที่ศีรษะ คอ หู ข้อมือ นิ้ว และสะเอวของเธอ

ลีลาศหลวง เริ่มเวลา 20.30 น. ตรง สมุหพระราชพิธีถือไม้เท้ายาวมีรูปนกอินทรีสองหัวทําด้วยทองคําประดับยอด เป็นเครื่องหมายของซาร์ กระทุ้ง พื้นแรงๆ สามครั้ง บัดดลสุ้มเสียงในท้องพระโรงสงบสงัดลงทันที พระทวารบาลมหึมาทําด้วยไม้มะฮอกกะนี ประดับทองคําก็เผยออก สมุหพระราชพิธี ร้องประกาศว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิ” เสียงซูช่าของพัสตราภรณ์นับร้อยๆ ก็ดังขึ้น ขณะที่ชาววังและเจ้าขุนนางมูลนายน้อมกายลงถอนสายบัวอย่างต่ำลึก ถวายบังคม”[1]

สำหรับในหมู่ราชวงศ์แล้ว ไกรฤกษ์ นานา บรรยายไว้ว่า สมบัติอันเก่าแก่และมีค่าที่สุดคือ “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งบ่งบอกถึงสถานะของซาร์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดพระราชอํานาจจากรุ่นสู่รุ่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเก่าแก่ของรัสเซีย

เครื่องราชกกุธภัณฑ์อันโดดเด่นของซาร์คือ “พระมหามงกุฎ” ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่รัชสมัยของพระนางคุธในมหาราชินี ในพิธีบรมราชาภิเษก ซาร์ทุกพระองค์จะทรงสวมพระมหามงกุฎนี้ เป็นสิ่งที่แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพ โดยซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงรับช่วงสืบมาจนถึง ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พระมหามงกุฎถูกนํามาใช้ก่อนการโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ

ในบันทึกของนักประวัติศาสตร์ มีบอกเล่าเกี่ยวกับพระมหามงกุฏเอาไว้ รายละเอียดในบันทึกยังปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องเพชรนิลจินดาในสังคมชั้นสูงของรัสเซียท่ามกลางบรรยากาศห้วงวาระสำคัญ ดังที่นายโรเบิร์ต มาสซี่ นักประวัติศาสตร์เขียนไว้ว่า (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“ตามราชประเพณีนั้น ซาร์จะรับพระมหามงกุฎจากมหาสังฆราชมาทรงสวมโดยพระองค์เอง ซาร์นิโคลาสมีพระประสงค์จะใช้มงกุฏองค์เก่าที่เรียกว่า แค็บ ออฟ โมโนมัคห์ ซึ่งเป็นพระมาลาเก่า 800 ปี เป็นมาลาประดับทองคําหนักเพียงสองปอนด์ แต่โดยราชประเพณีอันเคร่งครัดเปลี่ยนมิได้ ซาร์นิโคลาส จําต้องทรงพระมหามงกุฎหนักถึงเจ็ดปอนด์ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1762 สําหรับแคทรีนมหาราชินี พระมหามงกุฏนี้มียอดเป็นรูปกางเขนประดับเพชรลูก ยอดกางเขนติดทับทิมเม็ดใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้เจียระไน ถัดกางเขนลงมามีเพชรลูก 42 เม็ด เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม แต่ละเม็ดมีขนาดกว้างหนึ่งนิ้ว แล้วยังเพชรเม็ดเล็กประดับรายรอบเพชรลูกทั้ง 42 เม็ดนั้น แถบรอบพระมหามงกุฎประดับด้วยไข่มุกสีกุหลาบ 38 เม็ด ซาร์นิโคลาสทรงยกพระมหามงกุฎ อันประดับอัญมณี ประมาณค่ามิได้นิ้วางบนพระเศียรครู่หนึ่ง แล้วทรงยกขึ้นจากพระเศียร ค่อยบรรจงวางบนพระเศียรพระนางอเล็กซานดรา จากนั้นสองกษัตริย์จึงเปลี่ยนเอาพระมหามงกุฎอันเล็กมาทรงซาร์นิโคลาส ทรงจุมพิตหัตถ์พระอัครชายา แล้วทรงจูงพระหัตถ์ มาประทับ ณ เพชรอาสน์ สมเด็จพระนางมารี และพระบรมวงศานุวงศ์

ครั้นถึงยามราตรีก็มีงานสโมสรสันนิบาต ภายในพระราชวังอันเรืองรอง และเจื้อยแจ้วด้วยแสงประทีปและวงดุริยางค์ เสื้อที่สตรีรุสเซียสวมใส่ใน ราตรีนั้นเปิดไหล่มาก จนสตรีชาวต่างประเทศเห็นแล้วรู้สึกเสียวไส้ เครื่องเพชรนิลจินดา จากกะบังหน้า สร้อยคอ สร้อยมือแลต่างหูก็แพรวพราววาววาม เพชรบางเม็ดโตเท่าไข่นกพิราบ

แกรนด์ดัชเชสซีเนียซึ่งเป็นกนิษฐภคินีแห่งซาร์นิโคลาสกับแกรนด์ดัชเชส อลิซเบธ พระน้องสะใภ้นั้นแต่งเครื่องมรกตเสียเพียบองค์ ส่วนสตรีอื่นต่างก็บรรทุกทับทิมเพทายจนล้นตัว พระนางอเล็กซานดราทรงปั้นเหน่งเพชร ซาร์นิโคลาสทรงคอลาร์ผืนใหญ่ติดเพชรลูกเป็นช่อกระจายเต็มพระทรวง แม้ผู้ที่เคยพบเห็นสมบัติจักรพรรดิมาแล้ว เมื่อได้มายลเครื่องเพชรนิลจินดาในราตรีนี้ก็ต้องอ้าปากค้างตะลึงตะไล

ในการที่ได้ทรงเป็นซาร์นั้น พระเจ้านิโคลาส ก็ทรงเป็นประมุขแห่งราชวงศ์โรมานอฟโดยอนุโลม และต้องทรงจัดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่ง มีอย่างกว้างขวางมากมาย รายได้ส่วนพระองค์นั้น ปีหนึ่งๆ เป็นเงินถึง 24 ล้านเหรียญรูเบิลทองคํา (ค่าสมัยนั้น) ที่ทางอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ประมาณค่า 50 ล้านเหรียญ เครื่องอัญมณีที่เล่าลือกันนักนั้น ตีราคาประมาณ 80 ล้านเหรียญ มีเพชรโอล็อฟหนัก 194.5 กะรัตเพชร ชื่อ มูน ออฟ เดอ เมาเทน หนัก 120 กะรัต ทับทิมชื่อ โพลาร์ สตาร์ หนัก 40 กะรัต

แม้จะทรงมีทรัพย์สินล้นเหลือดังนี้ แต่เงินพระคลังข้างที่มักจะแห้งบ่อยๆ เพราะมีทางที่จะต้องจ่ายมาก เช่น การรักษาพระราชวัง 8 แห่ง มีพระราชวัง ฤดูหนาว พระราชวังอนิชค็อฟ พระราชวังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระราชวังอเล็กซานเดอร์ และพระราชวังแคทรีนที่ชาร์ซโกเซโล พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ และพระราชวังแคตซึนา กับห้องที่ประทับในเครมลิน และวังลิวาเดียที่ไครเมีย

พระราชวังเหล่านี้ต้องมีคนเฝ้าดูแลหมื่นห้าพันคน ต้องทรงจ่ายเงินเดือนค่าเครื่องแบบและอาหาร ตลอดจนจ่ายเงินรางวัลสําหรับให้ไปพักผ่อน นอกจากนั้น ยังมีรถไฟส่วนพระองค์ เรือยอชต์ โรงละคร สามแห่งในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สองแห่งในกรุงมอสโก ยังมีราชสถาบันแห่งศิลป์ กับบัลเล่ต์หลวง ซึ่งมีศิลปินหญิง 135 คน ชาย 73 คน ใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ทั้งสิ้น นักเรียนละครตัวจิ๋วๆ ก็ใช้จ่ายงบฯ หลวงทั้งสิ้น”[2]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ภาพที่หายไปของซาร์นิโคลาสที่ 2 หลังราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียล่มสลาย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระนางอเล็กซานดร้า กับพระสหายแอนนา วิรูโบวา พบรัสปูติน สู่จุดจบราชวงศ์โรมานอฟ


เชิงอรรถ

[1] นายตํารา ณ เมืองใต้. ราชบัลลังก์รุสเซีย, หจก. รวมสาส์น, 2518.

[2] Massie, Robert. K. Nicholas and Alexandra. Dell Publishing Co., Inc, New York, 1968.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564