“ภาพที่หายไป” ของซาร์นิโคลาสที่ 2 หลังราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซียล่มสลาย

พระบรมสาทิสลักษณ์ซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซียหายไปจากกรอบรูปขนาดใหญ่ในห้องประชุมรัฐสภาดูมา ภาพเล็กคือรูปในสภาพเดิม (ภาพจาก L'ILLUSTRATION, 14 Avril 1917 คุณไกรฤกษ์ประมูลเอกสารหายากฉบับนี้มาจากปารีส)

เมื่อ 100 ปีมาแล้ว ราชวงศ์โรมานอฟเคยได้ปกครองจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพที่สุดในโลกมานานกว่า 300 ปี ซาร์แห่งรัสเซียทรงเป็นที่เทิดทูนบูชาดุจโอรสของพระเจ้า และเป็นเทพบุตรจากสวรรค์จุติลงมาปกครองเมืองมนุษย์ แต่การปฏิวัติ ค.ศ. 1917 ในรัสเซียกดดันให้ซาร์องค์สุดท้ายต้องสละราชสมบัติโดยไม่มีเงื่อนไข แทบไม่มีเหตุผลเพียงพอจะล้มล้างคุณูปการของราชวงศ์โรมานอฟแล้วอะไรเป็นสาเหตุทำให้พระกิตติศัพท์ของซาร์หมดไปในชั่วข้ามคืน แม้แต่พระพักตร์ก็ไม่มีใครอยากมอง!?

ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียสมัยซาร์นั้นแผ่ไพศาลครอบคลุมเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดยมีพื้นที่อยู่ในทวีปเอเชีย 43% และเป็นเจ้าของดินแดนในยุโรปอีก 42% มีพรมแดนยาวเหยียดจากทะเลบอลติกของยุโรปจดมหาสมุทรแปซิฟิกของเอเชีย[4] ทว่าก่อนตั้งจักรวรรดิหรือก่อน ค.ศ. 1700 รัสเซียยังตกอยู่ในยุคมืด และยังต้องเคลื่อนย้ายเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆ จากการรุกรานของพวกมองโกลจึงยังไม่สามารถกอบกู้สร้างความเจริญเป็นระเบียบแบบแผนได้เลย

ต่อมา ก็สามารถจัดตั้งอาณาจักรเป็นรูปธรรมอยู่ทางรัสเซียตอนใต้และสถาปนาเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเคียฟ (ค.ศ. 862) ที่เคียฟนี้เองที่ชาวรัสเซียได้ติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากประเทศโลกเก่าแถบทะเลสาบแคสเปียน ทะเลดำ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยรับเอาวัฒนธรรมและศาสนาจากอาณาจักรโรมันตะวันออก (จักรวรรดิไบแซนไทน์มีเมืองหลวงชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล – ผู้เขียน) โดยเฉพาะคริสต์ศาสนานิกายออร์โธด็อกซ์

ต่อมาอีกราว 200 ปี รัสเซียก็แตกออกเป็นอาณาจักรย่อยๆ ซึ่งอาณาจักรที่แข็งแรงและมั่นคงกว่าเพื่อนก็คือ “แคว้นมอสโคว” พระเจ้าอิวานที่ 3 กษัตริย์แห่งมอสโควตั้งให้แคว้นมอสโควเป็น “กรุงโรมแห่งที่ 3” อันเป็นเสมือนเมืองหลวงของชาวคริสเตียนบนพื้นพิภพและเป็นที่ประทับของกษัตริย์รัสเซียซึ่งมีพระอิสริยยศนำหน้าพระนามว่า “ซาร์” (Czar หรือ Tsar) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ซีซาร์” (Caesar) จักรพรรดิของชาวโรมัน

จักรวรรดิรัสเซียซึ่งเปรียบได้กับจักรวรรดิโรมันแห่งที่ 3 เปรียบเสมือนรัฐที่สืบต่อมาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ (จักรวรรดิโรมันแห่งที่ 2) อันชอบธรรมจึงได้นำสัญลักษณ์นกอินทรี 2 หัว ซึ่งเป็นตราแผ่นดินของกษัตริย์ไบแซนไทน์มาใช้เป็นตราแผ่นดิน

ของอาณาจักรมอสโควี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิรัสเซียนั่นเอง[3] ส่วน “ราชวงศ์โรมานอฟ” นั้นตั้งราชวงศ์โดยซาร์ไมเคิล (หรือมิคาอิล) เป็นกษัตริย์องค์แรก (ค.ศ. 1613-45) และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัสเซียให้เป็นปึกแผ่น โดยมีซาร์ปกครองจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้รวม 18 พระองค์ กินเวลายาวนาน 304 ปี สิ้นสุดในรัชสมัยซาร์นิโคลาสที่ 2 ใน ค.ศ. 1917

ตลอดราชวงศ์โรมานอฟนี้ ชาวรัสเซียนับถือซาร์เทียบเท่ากับพระเจ้าผู้สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์และมีอำนาจสิทธิ์ขาดเทียมเท่ากับพระผู้เป็นเจ้า นี่เองที่เป็นอนุสรณ์ทำให้รัสเซียเชื่อว่าตนคือผู้นำของโลกมาตั้งแต่ครั้งนั้น[4] “ซาร์แห่งรัสเซีย” ทุกพระองค์จึงทรงเชื่อว่าราชบัลลังก์เป็นศูนย์กลางมีอำนาจเด็ดขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ บรรพกษัตริย์ของรัสเซียล้วนเป็นพวกหัวเก่าที่นิยมลัทธิอนุรักษนิยมแบบสุดโต่ง ในการให้สถาบันกษัตริย์รักษาอำนาจการบริหารปกครองประเทศอย่างมั่นคงและปราศจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งที่เป็นดาบสองคมในโลกยุคใหม่[3] อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของซาร์จึงล่อแหลมต่อการแทรกแซงของพวกมือที่สาม หากราชวงศ์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศได้โดยเฉพาะเมื่อยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมากในชนชั้นชาวรัสเซียตลอดมา

ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วไปยังยากจนขัดสนในขณะที่เจ้าขุนมูลนายมีชีวิตอย่างสุขสบายและครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศไว้เอง อันเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของราษฎรทุกหย่อมหญ้าภายในประเทศขนาดมหึมาและรัฐบาลไม่สามารถดูแลคนได้ทั่วถึงการปฏิวัติรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.
1917 จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราชวงศ์ และพื้นฐานความเชื่อของพลเมืองเมื่อพวกเขาหมดความอดทนกับระบอบซาร์ที่ชักนำประเทศสู่สงคราม และประสบความหายนะเหมือนปล่อยทิ้งให้ประชาชนแก้ไขปัญหากันเอง โดยปราศจากความเห็นใจจากซาร์ที่พวกเขาเคยเทิดทูนบูชา[7]

ยุโรปอยู่ไม่ได้ถ้าขาดซาร์

ในมุมมองอันซ่อนเร้นก่อน ค.ศ. 1917 นั้น รัสเซียยังครองใจรัฐบาลยุโรปอยู่มาก ทำให้สถานะของราชวงศ์โรมานอฟนั้นโดดเด่นและมั่นคงถาวร หาชาติใดเทียบได้ติดในสายตาคนภายนอก ยุโรปซึ่งขัดแย้งและแก่งแย่งชิงดีกันตลอดมาพากันตั้งความหวังว่ารัสเซียจะเป็นที่พึ่งอย่างดีให้ยุโรปได้ในยามยากก่อนหน้าปี 1917 รัสเซียซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ชายแดนหลายแห่งในทวีปยุโรปถูกลากให้เข้ามาเป็นพันธมิตร หรือกรรมการตัดสินข้อพิพาทของประชาคมยุโรปด้วยกันเอง โดยทุกชาติ

มั่นใจว่ารัสเซียมีศักยภาพน่านับถือในฐานะ “พี่ใหญ่” ของยุโรป สถานะของรัสเซียในฐานะชาติมหาอำนาจที่มีความเป็นกลางถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของรัสเซียเรื่อยมา รัสเซียจึงเป็นข้อต่อรองชั้นดีและเครื่องมือทางการเมืองของมหาอำนาจยุโรปด้วยกันโดยปริยาย และหนึ่งในเพื่อนบ้านที่น่ารังเกียจของรัสเซียก็คือ “เยอรมนี” ผู้มีสมญานามว่าอันธพาลแห่งทวีปยุโรป[1]

จุดเริ่มต้นของการดึงรัสเซียมาเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ที่จริงแล้วก็เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเยอรมนีนั่นเอง และเพื่อกีดกันให้ฝรั่งเศสต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และป้องกันมิให้ฝรั่งเศสแสวงหาพันธมิตรเพื่อแก้แค้นเยอรมนี ที่ได้ทำลายเกียรติภูมิของฝรั่งเศสในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจทั้งสามในรูปของความตกลงของจักรพรรดิสามพระองค์นั้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือระหว่าง ค.ศ. 1873-78 และ ค.ศ. 1881-87 ชี้ให้เห็นถึงความปราดเปรื่องทางการทูตของบิสมาร์คและบทบาทของเยอรมนีในฐานะประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปในขณะนั้น แต่จะเป็นหลุมพรางสำหรับรัสเซียโดยไม่รู้ตัว

หลังการรวมชาติเยอรมนี ใน ค.ศ. 1871 แล้ว บิสมาร์คตระหนักดีว่าการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ณ พระราชวังแวร์ซายส์ และการยึดแคว้นอัลซาซ-ลอร์เรนจากฝรั่งเศสได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้แก่ชาวฝรั่งเศส อันอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสคิดจะล้างแค้นเยอรมนีในภายหลังได้ ดังนั้น บิสมาร์คจึงวางแผนที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศกีดกันให้ฝรั่งเศสต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันฝรั่งเศสไม่ให้ทำสงครามล้างแค้นเยอรมนี แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ดำเนินนโยบายสร้างระบบพันธมิตรใหม่ขึ้น

โดยมีเยอรมนีเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรป การสร้างระบบพันธมิตรใหม่นี้ บิสมาร์คมุ่งไปที่ออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจและมีอุดมการณ์อนุรักษนิยมเช่นเดียวกับเยอรมนี โดยประเมินว่าอังกฤษซึ่งยึดถือนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว ย่อมจะไม่ผูกพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจด้วยกัน การรวมตัวของเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซียครั้งนั้นเรียก “สันนิบาตสามจักรพรรดิ” (Dreikaiserbund) เป็นการเปิดตัวของรัสเซียยุคใหม่ที่จะเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจยุโรปโดยตรง แม้นจะมีความหมายว่ารักษาเสถียรภาพของยุโรปเอาไว้ก็ตาม แต่ก็มีนัยะสำคัญว่ายุโรปจำต้องพึ่งพารัสเซียในการเป็นผู้นำ แต่เนื่องจากรัสเซียเองก็ไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนนัก จึงสุ่มเสี่ยงต่อความพลาดพลั้งอย่างมาก[1]

สาเหตุที่มหาอำนาจยุโรปเริ่มไม่ไว้ใจกันเองเกิดจากการที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีเริ่มใช้นโยบายการเมืองโลก หรือ Weltpolitik เพื่อแข่งขันกับประเทศจักรวรรดินิยมอื่นๆ โดยเฉพาะภายหลังที่เยอรมนีประกาศใช้โครงการเทอร์พิตซ์ (Tirpitz Plan) ใน ค.ศ. 1898 เพื่อสร้างแสนยานุภาพทางทะเล ในขณะเดียวกันเยอรมนีก็มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นการใหญ่ และขยายอาณานิคมจากทวีปแอฟริกาไปสู่ดินแดนตะวันออกกลางและเอเชียอันเป็นการเทียบรัศมีเจ้าโลกอย่างอังกฤษ และต้องการเป็นผู้จัดระเบียบยุโรปแต่เพียงผู้เดียว

สถานการณ์แวดล้อมได้ผลักดันให้รัสเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจัดการประชุมขึ้นที่ไหนสักแห่งในประเทศที่เป็นกลาง เพื่อแสวงหาวิธีการระงับความขัดแย้งและลดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกด้วยกันไม่ให้บานปลายไปเป็นสงครามใหญ่

ทว่าในยุคแห่งการจับคู่และเลือกข้างนี้ยังเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนมือและเปลี่ยนตัวละครภายในบทของรัสเซียเอง เนื่องจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ผู้น่าเกรงขามเสด็จสวรรคตกะทันหัน ใน ค.ศ. 1894 ซาร์องค์ใหม่คือนิโคลาสที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรสไม่ทรงมีบุคลิกภาพของการเป็นผู้นำอย่างพระบรมราชชนก จึงเป็นการสืบทอดอำนาจแบบไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า อันเป็นพื้นฐานของความไม่มั่นคงและขาดเสถียรภาพในรัชกาลต่อมา[2]

ซาร์นิโคลาสที่ 2 ผู้ทรงเป็นตัวละครเอกในบทความนี้ทรงก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่แบบขาดความพร้อมในทุกๆ ด้าน จึงตกอยู่ในสภาพตกกระไดพลอยโจนที่ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศอันยิ่งใหญ่ที่มิใช่รัสเซียเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้นำยุโรปอันเกรียงไกรอีกด้วย รัสเซียยุคใหม่จึงขึ้นอยู่กับซาร์องค์ใหม่ผู้บอบบาง หัวอ่อน และขี้เกรงใจ ทั้งยังขาดประสบการณ์ อันเป็นบุคลิกภาพที่อันตรายต่อสถานะของชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียที่แวดล้อมอยู่ด้วยผู้ไม่หวังดีรอบด้าน[2]

ตลอด 5 ปีแรกของรัชกาลซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ต้องทรงลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจากการบอกบทโดยเสนาบดีผู้เฒ่าที่ตกทอดมาจากรัชกาลก่อน ทั้งยังทรงได้รับความบีบคั้นจากสมเด็จพระพันปีหลวงเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัวแล้วยังทรงถูกกดดันให้คล้อยตามความคิดของพระญาติฝ่ายเยอรมันผู้เป็นคู่แข่งที่ไม่เปิดเผยตัวเองอีกด้วย

แต่เวลาก็ยังเข้าข้างพระองค์อยู่บ้าง วิกฤติการณ์ที่บังเอิญเกิดขึ้นกับยุโรปในระยะนั้น มีอาทิ สงครามกรีก-ตุรกี (ค.ศ. 1897) ต่อเนื่องด้วยวิกฤติการณ์ฟาโชดาระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1898) และการสะสมอาวุธเพื่อเตรียมขยายอำนาจของเยอรมนีทำให้ผู้นำยุโรปที่มีใจเป็นคนกลางอื่นๆ วิตกกังวลต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และหันมามองรัสเซียว่าน่าจะเป็นคนกลางที่ดีในการประสานรอยร้าวของทุกฝ่าย เพราะรัสเซียไม่มีนโยบายขัดแย้งกับใคร และไม่มีใจเอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายใดมากนัก

บุคคลที่แสดงท่าทีสนับสนุนการแทรกแซงของรัสเซีย โดยมากก็จะเป็นเสาหลักของราชวงศ์สายอนุรักษ์ ที่ล้วนเป็นพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ของรัสเซีย มีอาทิ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาและพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระบรมอัยกา แม้แต่ประมุขทางศาสนา และไม่ชอบสงครามเลย คือ พระสันตะปาปาเลออนที่ 13 แห่งนครวาติกัน ก็ได้ร่วมกันขอร้องให้ซาร์ทำอะไรสักอย่างที่จะยับยั้งความขัดแย้งทั้งหลายนั้น โดยทุกพระองค์ทรงเชื่อมั่นว่ารัสเซียมีบารมีเพียงพอและอยู่ในฐานะที่ทุกคนเกรงใจดังนั้น ใน ค.ศ. 1899 ซาร์ทรงเป็นหัวเรือใหญ่จัดการประชุมสันติภาพขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้ถือว่ายิ่งใหญ่มากสำหรับยุคนั้น เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศระดับอภิมหาอำนาจและเป็นกลางอย่างรัสเซีย ตระหนักถึงความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาคมโลกรัสเซียซึ่งทนดูไม่ได้จึงลุกขึ้นมาจัดการประชุมนั้น[1]

แต่หลายฝ่ายก็ค่อนข้างผิดหวังกับผลของการประชุมใหญ่นี้ เนื่องจากผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เป็นคู่แข่งและตัวปัญหาที่ไม่ยอมเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามจึงแสร้งปั้นหน้าเข้าหากันมากกว่าจะต้องการสร้างสันติภาพที่แท้จริงบนเวทีการเมืองโลก “ระบอบซาร์” จุดเริ่มต้นของความเพลี่ยงพล้ำในรัชกาลซาร์นิโคลาสที่ 2 พระองค์ทรงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทรงปกครองจักรวรรดิที่มีเนื้อที่กว้างขวางที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของยุโรป การที่ทรงเป็นรัชทายาทของราชวงศ์ที่ทรงอำนาจ และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ค่อนข้างเป็นกลาง ไม่ยึดติดกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป ทำให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายราชวงศ์และประเทศต่างๆ ที่รักสันติภาพให้เป็นประธานของกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก ก็ด้วยความเชื่อมั่นว่าซาร์จะทรงนำพายุโรปไปสู่สันติภาพอันยั่งยืนได้

แต่รัชกาลของพระองค์ก็ดูดีแต่เพียง 5 ปีแรกของการครองราชย์เท่านั้น การขาดประสบการณ์ทางการเมือง และขาดทักษะในการบริหารนโยบายระดับมหภาค ทำให้ทรงคว้าน้ำเหลวในการบริหารกิจการยุโรปดังที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ เริ่มจากการจัดเวทีประชุมสันติภาพโลกและการลดอาวุธ ก็ทรงถูกโจมตีโดยผู้นำยุโรปที่เสียผลประโยชน์ ถึงแม้แนวความคิดของซาร์จะมีเป้าหมายและน่าเชื่อถือแต่ก็ยุ่งยากในทางปฏิบัติ ทำให้ที่ประชุมเกิด “เสียงแตก” ในหมู่ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เนื่องจากแต่ละคนก็มีวิธีคิดที่แตกต่างกันเชิงนโยบาย ทัศนคติแบบเอกเทศตามหลักการที่แท้จริงในยุโรป กลายเป็นศตวรรษที่ 20 นั้น รัสเซียจงใจถอดหน้ากากนักการทูตจำเป็นออก แล้วเปิดเผยตัวเองเป็นนักล่าเมืองขึ้นที่น่าเกรงขามไม่น้อยหน้าชาติใดในยุโรป ทว่าหนึ่งในความวิบัติของรัสเซียในรัชกาลของพระองค์ก็คือ“สงครามกับญี่ปุ่น”[2]

ประมาณตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัสเซียได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในยุโรปซาร์ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ภูมิภาคไซบีเรีย อันเป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ของรัสเซียที่ยังห่างไกลความเจริญแต่กินเนื้อที่เข้าไปถึงทวีปเอเชีย ซึ่งนอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ และเพื่อความปลอดภัยของรัสเซียเองแล้ว ไซบีเรียยังเป็นหลักประกันในการคุ้มครองผลประโยชน์และอิทธิพลทางการค้าและการเมืองของรัสเซียในเอเชียตะวันออกอีกด้วย

รัสเซียเช่นเดียวกับมหาอำนาจยุโรปชาติอื่นๆที่มองเห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแคว้นยูนนานของจีน โดยเฉพาะสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของยูนนานมีอาณาเขตติดต่อกับเอเชียกลางของรัสเซียได้โดยสะดวก ยูนนานเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญมาก เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่สามารถพัฒนาเป็นตลาดการค้าสำหรับสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมของรัสเซียได้ ซึ่งถ้ารัฐบาลรัสเซียสามารถเข้าไปครอบครองอิทธิพลในบริเวณนี้ รัสเซียก็จะเป็นผู้ควบคุมเอเชียะวันออกไกลทั้งหมด

ระหว่าง ค.ศ. 1884-86 มีข่าวว่านักสำรวจชาวอังกฤษได้เสนอการสร้างทางรถไฟจากประเทศพม่า
ผ่านภาคเหนือของประเทศสยามเข้าไปในยูนนานจึงเป็นที่วิตกกังวลของรัสเซีย เพราะหากโครงการ
นี้บรรลุเป้าหมายก็อาจทำให้อังกฤษเข้าไปสร้างฐานอำนาจในยูนนานได้สำเร็จก่อนรัสเซีย ช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นโยบายรัสเซียที่จะขยายอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปในภาคเหนือของจีนและแมนจูเรีย ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้กำลังทหารอย่างเต็มที่ รัสเซียเริ่มเสริมกลังทหารทั้งทางบกและทางเรือในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการสร้างฐานทัพเรือขนาดใหญ่ที่เมืองท่าพอร์ตอาร์เธอร์ (Port Arthur) ซึ่งรัสเซียบังคับเช่าจากจีนใน ค.ศ. 1898 ต่อมาใน ค.ศ. 1900 กองทหารรัสเซียจำนวนหนึ่งก็ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดครองแมนจูเรียทั้งหมด โดยอ้างสถานการณ์อันเกิดจากกบฏนักมวยในจีนเป็นเหตุ นับจากนี้ความทะเยอทะยานทางจักรวรรดินิยมของรัสเซียก็ได้รับการรื้อฟื้นมาอีกอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น[1]

การที่รัสเซียเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศจีน ทำให้รัสเซียต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียคือญี่ปุ่น จีนจึงเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War 1904-05) การที่รัสเซียได้เช่าท่าเรือที่เมืองพอร์ตอาร์เธอร์ของจีน ถือว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย เพราะเมืองท่าแห่งนี้สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้สะดวกกว่าเมืองท่าวลาดีวอสตอค (Vladivostok) ซึ่งใช้การไม่ได้ในช่วงหน้าหนาวเพราะมีน้ำแข็งปกคลุมรัสเซียซึ่งมีทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียพาดผ่านแมนจูเรียของจีน จำเป็นต้องมีท่าเรือขนาดใหญ่ซึ่งปลอดน้ำแข็งตลอดปี เพื่อขยายฐานอำนาจของตนเองทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ผลจากกบฏนักมวยทำให้รัสเซียส่งกองทัพเข้ามาประจำการในแมนจูเรีย เป็นการถาวร และถึงแม้การกบฏจะสิ้นสุดลงแล้ว รัสเซียก็ปฏิเสธที่จะถอนทหารออกไป

การยึดครองแมนจูเรียโดยรัสเซีย ซึ่งขยายผลเป็นการรุกรานคาบสมุทรเกาหลีอันแข็งกร้าวของรัสเซียทำให้ญี่ปุ่นไม่สบายใจ จึงได้พยายามเจรจากับรัสเซียโดยสันติวิธีตั้งแต่แรก กล่าวคือ ใน ค.ศ. 1901 ญี่ปุ่นได้ส่งผู้แทนขององค์พระจักรพรรดิมัตสุฮิโตคือมาร์ควิสอิโตะ ให้เดินทางมายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กใน ค.ศ. 1901 เพื่อเจรจาต่อรองว่า ญี่ปุ่นจะยอมให้รัสเซียได้ครอบครองแมนจูเรีย แต่รัสเซียต้องปล่อยเกาหลีให้เป็นของญี่ปุ่น ทว่ารัสเซียปฏิเสธการเจรจาทั้งยังปฏิบัติต่อราชทูตญี่ปุ่นอย่างดูถูกเหยียดหยามต่อมาใน ค.ศ. 1903 ญี่ปุ่นก็ได้พยายามเจรจาอีกครั้ง โดยส่งเอกอัครราชทูตคูริโนะ ขอเข้าเฝ้าเพื่อเจรจาโดยตรงกับซาร์ แต่ก็มิได้รับอนุญาต

ดังนั้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1904 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเรียกทูตกลับโตเกียว ต่อมาจึงได้ส่งเรือรบเข้าโจมตีเมือง
ท่าพอร์ตอาร์เธอร์รัสเซียตอบโต้ปฏิบัติการของญี่ปุ่นด้วยการประกาศสงคราม โดยที่รัสเซียเชื่อมั่นว่าถ้าจะรบกับญี่ปุ่นจริงๆ แล้วก็น่าจะชนะโดยไม่ยากนัก และสงครามก็จะเป็นเพียงการสู้รบขนาดเล็กเท่านั้น เพราะในขณะนั้นญี่ปุ่นมีกำลังพลเพียง 6 แสนคน แต่กองทัพรัสเซียมีทหารถึง 3 ล้านคน อีกทั้งเยอรมนีผู้ที่ซาร์ทรงเชื่อมั่นว่าไกเซอร์ทรงหวังดีต่อรัสเซียได้ทรงสนับสนุนให้ซาร์ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเพื่อแสดงอานุภาพของมหาอำนาจยุโรป แต่รัสเซียกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบญี่ปุ่นนับตั้งแต่นาทีแรกที่สงครามเริ่มขึ้น ญี่ปุ่นกลับได้เปรียบเพราะการลำเลียงกองทัพเป็นไปอย่างสะดวกสบายเนื่องจากอยู่ห่างสมรภูมิเพียง 200 ไมล์

ในขณะที่รัสเซียอยู่ห่างออกไปคนละทวีปถึง 5,5๐๐ ไมล์ อีกทั้งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียที่รัสเซียเตรียมการไว้ล่วงหน้านั้น บางช่วงก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ซ้ำร้ายประสิทธิภาพด้านการรบของกองทัพรัสเซียก็แสดงว่ายังต่ำกว่ามาตรฐาน โดยการรบที่เมืองมุกเดนซึ่งเป็นเมืองหลวงของแมนจูเรียนั้น รัสเซียเสียทหารมากถึง 281,200 คน ในขณะที่ญี่ปุ่นเสียทหารเพียง 57,780 คน [1] และ [2]

เมื่อซาร์ทรงตระหนักว่ารัสเซียหมดโอกาสที่จะชนะสงครามแล้ว จึงได้ทรงส่งรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียไปขอร้องให้ นายธีโอดอร์ รุสเวลท์ ประธานาธิบดีอเมริกา ช่วยหย่าศึก เกิดเป็นสนธิสัญญาเมืองพอร์ตสมัธ (Treaty of Portsmouth) มีผลทำให้ 1. รัสเซียยอมรับว่าญี่ปุ่นมีอนาจเหนือเกาหลี 2. รัสเซีย
ยอมโอนสิทธิ์การเช่าเมืองท่าพอร์ตอาร์เธอร์ให้ญี่ปุ่น และ 3. รัสเซียยอมคืนแมนจูเรียให้แก่จีน[1]

ความเพลี่ยงพล้ำของซาร์นิโคลาสที่ 2 เกิดจากการขาดประสบการณ์ในการรบโดยสิ้นเชิง ซ้ำเติมด้วย
การตัดสินพระราชหฤทัยผิดพลาดอันมีสาเหตุจาก 1. การประมาทศักยภาพด้านการรบของประเทศ
เล็กอย่างญี่ปุ่นซึ่งไม่เคยอยู่ในสายตาของรัสเซียเลยโดยที่ซาร์คาดการณ์ว่ารัสเซียมีแสนยานุภาพใหญ่กว่า
ทำให้ทรงทะนงตัวว่าจะชนะในเวลาอันรวดเร็ว จึงมิได้ใส่ใจสงครามเล็กๆ กับญี่ปุ่นมากนัก

2. ทรงถูกชักจูงจากไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมัน ผู้ทรงเป็นพระญาติและพระสหายสนิทให้จัดการญี่ปุ่นโดยไม่ลังเล ทั้งนี้เยอรมนีหวังว่าจะทำให้รัสเซียหมดความสนใจกับผลประโยชน์ในยุโรป และทำให้เยอรมนีหมดคู่แข่งสำคัญลงไปได้ซึ่งก็เป็นจริงดังคาด

3. เกิดการเปลี่ยนทฤษฎีการเมืองในยุโรปที่ชาติมหาอำนาจยุโรปไม่เคยสนับสนุนมหาอำนาจในทวีปเอเชีย แต่อังกฤษกลับหันไปเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1902 และถ่ายทอดความรู้ให้ญี่ปุ่น รวมทั้งเทคโนโลยีการรบทางเรือ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าทะเลอย่างรวดเร็วและหันไปสั่งสอนรัสเซียแทนอังกฤษ[1]

สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นสร้างความอัปยศอดสูให้รัสเซียในสายตาชาวโลกทั่วไป ซาร์ทรงตกเป็นจำเลยของสังคมจากการลดตัวไปรังแกประเทศที่เล็กกว่า ทั้งยังทรงดื้อดึงลุแก่อำนาจและเป็นผู้กระหายสงคราม นอกจากพระองค์จะนำพารัสเซียไปสู่ความหายนะด้วยการสูญเสียดินแดนและสังเวยชีวิตทหารกล้าร่วม 3 แสนคนแล้ว รัสเซียยังเสียหน้าที่ต้องหันไปพึ่งสหรัฐอเมริกาให้ช่วยยุติสงคราม บทบาทของผู้จรรโลงสันติภาพและผู้มีใจเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นนักการทูตผู้ประนีประนอมของซาร์สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง
นับจากนี้พระเกียรติยศและชื่อเสียงของซาร์แห่งรัสเซียก็กู่ไม่กลับเสียแล้ว[2]

(ซ้าย) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ซารินา พระราชโอรส และพระราชธิดา (ขวา) มกุฎราชกุมารอเล็กซิส

วันอาทิตย์นองเลือด ความบานปลายของการสูญสิ้นภาวะผู้นำ

การที่รัสเซียแพ้สงครามกับญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนภายในประเทศเกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบ
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ซาร์ทรงดำเนินนโยบายผิดพลาดติดต่อกันหลายครั้ง ยิ่งรัฐบาลหันมาไล่เบี้ย
กับการสูญเสียจากสงครามด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มประชาชนก็เริ่มเสียขวัญ จึงหันมาแก้เผ็ดรัฐบาลด้วย
การก่อจลาจลและเผาบ้านเจ้าของที่นา กระแสของการปฏิวัติคุกรุ่นทั่วไปในหมู่กรรมกรและประชาชน
ระดับล่าง มีเสียงเรียกร้องให้ซาร์พระราชทานรัฐธรรมนูญและปฏิรูประบอบการปกครอง แต่ก็ไม่มีคำตอบจากรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั่วประเทศไม่พอใจ รัฐบาลและลุกฮือขึ้นประท้วงโดยการนัดหยุดงานทั่วประเทศ บาทหลวงกาปองผู้เป็นประธานสหภาพแรงงานก็ปรากฏตัวเพื่อปราศรัยในที่ชุมชนหลายแห่งและได้วางแผนว่าจะนำกรรมกรเข้าเฝ้าถวายฎีกาต่อซาร์ โดยเขาคาดว่าซาร์จะเสด็จออกมารับฎีกาด้วยพระองค์เอง เขาได้นำฎีกาพร้อมด้วยฝูงชนเกือบ 2 แสนคน เดินเท้ามุ่งตรงไปยังพระราชวังฤดูหนาวในวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 1905 แต่ซาร์ก็มิได้เสด็จออกมา ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลส่งกำลังทหารและตำรวจจำนวน 20,000 คน เข้าควบคุมสถานการณ์

ข้อความในฎีกาฉบับนั้นมีว่า 1. ให้รัสเซียทำสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่น 2. กำหนดเวลาทำงานเพียงวันละ 8 ชั่วโมง 3. ให้รัฐบาลจัดตั้งระบบรัฐสภา 4. ให้คนงานมีสวัสดิการ 5. จัดตั้งสหภาพแรงงาน และ 6. ให้แยกศาสนาออกจากกิจการของรัฐ

วันเกิดเหตุนั้นเป็นวันที่อากาศหนาวจัด มีหิมะตกตลอดเวลา บาทหลวงกาปองได้นำกองทัพประชาชนเคลื่อนขบวนไปตามจุดต่างๆ บรรดากรรมกรทั้งหลายพากันร้องเพลงปลุกใจ ชูไม้กางเขนและป้ายรูปพระเยซู ธงของศาสนจักร ธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ของซาร์นิโคลาสที่ 2 สลับกับการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีไปตลอดทางประชาชนได้เผชิญหน้ากับกองทัพทหารม้าคอสแซค และทหารฮุสซาร์ของซาร์ซึ่งเรียงแถวสกัดกั้นอยู่ที่สี่แยกใกล้มหาวิหารกาซาน ทันใดนั้นกองทหารก็เปิดฉากยิงอย่างดุเดือดเข้าไปในฝูงชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 92 คน รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรา บาทหลวงกาปองอยู่ในกลุ่มแรกที่ล้มตัวลง แต่ก็มิได้รับบาดเจ็บ เขาหลบหนีไปได้และเคลื่อนไหวอยู่ใต้ดินในฐานะนักปฏิวัติเต็มตัว

เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งในภายหลังชื่อชีวประวัติของข้าพเจ้า อันมีเนื้อหาโจมตีราชบัลลังก์โดยประณามซาร์อย่างรุนแรงว่าเป็นฆาตกรและพญามัจจุราชผู้ปลิดชีวิตประชาชนต่อมาบาทหลวงกาปองก็ถูกจับโดยพวกตำรวจลับและถูกสังหารอย่างเลือดเย็นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1906

เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday) ได้ขยายตัวเป็นการจลาจลในวงกว้างต่อมาอีกหลายเดือน รัสเซียทั้งประเทศได้กลายเป็นอัมพาต มีการนัดหยุดงานทั่วไปทั้งในรัสเซีย โปแลนด์ จนถึงแคว้นยูรัล รถไฟหยุดเดิน โรงงานอุตสาหกรรมถูกปิด เรือใหญ่น้อยจอดนิ่งอยู่แต่ในท่า ประชาชนเก็บตัวอยู่ในบ้าน โรงเรียนและโรงพยาบาลปิดตัวลงพร้อมกับการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม เพราะไม่มีการติดต่อจากภายนอกตอนกลางวัน ฝูงชนเดินขบวนไปตามท้องถนนเพื่อขับไล่ซาร์ ตามหลังคาบ้านเรือนตกแต่งด้วยธงสีแดงของพวกปฏิวัติ ในชนบท ชาวนาชาวไร่พากันบุกรุกเข้าไปในคฤหาสน์ของเจ้าของที่ดินและเผาทำลายทรัพย์สินอย่างโกรธแค้นท่ามกลางความกดดันทุกหัวระแหง ซาร์ทรงไม่มีทางเลือกอีกต่อไปนอกจากลดพระองค์ลงมาต่อมาก็ได้ทรงถูกขอร้องแกมบังคับจากพระราชชนนีคือ พระนางมาเรีย เฟโอโดรอฟนา และแกรนด์ดยุคนิโคลัส นิโคลัยวิช ผู้เป็นพระปิตุลา ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ให้ทรงเลือกใช้วิธีอย่างหนึ่งอย่างใดระหว่างใช้กำลังปราบปรามผู้ก่อการจลาจล หรือพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงเลือกวิธีหลัง โดยการจัดตั้งสภาดูมา (Duma) ขึ้น

แต่ความพยายามทั้งหมดก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบซื้อเวลาเท่านั้น เพราะยังทรงหวงแหนการมีอำนาจสูงสุดเหนือสภาดูมา และมั่นพระราชหฤทัยว่าจะทรงแก้ไขสถานการณ์เลวร้ายให้ดีขึ้นได้[6]

แต่ผลจากการขาดความยับยั้งชั่งใจในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องละเอียดอ่อน อันเป็นผลมาจากการถูกครอบงำโดยเครือญาติและการสนับสนุนอย่างผิดๆ โดยนักการเมืองผู้ไม่หวังดี ทำให้ซาร์ทรงถลำลึกลงสู่ความหายนะของสงคราม ติดตามด้วยการจลาจลภายในประเทศ

ปัญหาของรัสเซียในยุคซาร์เกิดจากสาเหตุหลักๆ คือ ภาวะจำกัดในการใช้พระราชอำนาจ นโยบายสองมาตรฐาน และการถูกครอบงำทางการเมืองการที่ซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงขาดเอกภาพในการตัดสินพระราชหฤทัย และยังทรงถูกกดดันจากพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ แม้จะทรงดำรงฐานะประมุขสูงสุดของประเทศ ทำให้พระเกียรติคุณในฐานะความเป็นเจ้าชีวิตของชาวรัสเซียมัวหมองลงในชั่วข้ามคืน จุดยืนของพระองค์ในการจัดการโดยสันติวิธีใช้ไม่ได้ผลเฉพาะนโยบายต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังทรงสูญเสียภาวะผู้นำภายในประเทศของพระองค์เองอีกด้วย[1]

ในระหว่างที่ภาวะผู้นำถูกทดสอบนั้น กัลยาณมิตรที่เคยหวังดีต่อพระองค์ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส หรือแม้พระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ที่เคยไว้ใจได้อย่างอังกฤษและเดนมาร์ก ต่างก็ถอนตัวออกไปทีละคน ปล่อยให้ซาร์ต้องทรงแก้ไขปัญหาด้วยพระองค์เองแบบขาดความมั่นใจ ถ้าพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างเป็นธรรมและรักษาความเป็นกลางอย่างมั่นคงแล้ว ประวัติศาสตร์ก็คงจะเปลี่ยนไปและรัสเซียก็อาจจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ทันท่วงที ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าซาร์ได้ทรงก่อเรื่องทั้งหมดขึ้นมาเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรัสเซียมีวาระซ่อนเร้นของมือที่สามแทรกแซงอยู่ด้วยเสมอทำให้เจตนารมณ์อันสูงส่งของรัสเซียต้องแปรเปลี่ยนไปในที่สุด[1]

ฉากสุดท้ายของระบอบซาร์

“สภาดูมา” เป็นวิธีแก้เกมและทางออกแบบขาวสะอาดที่สุดของซาร์นิโคลาสที่ 2 โดยเลียนแบบระบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่ยังต้องพึ่งกษัตริย์เปิดสมัยประชุม ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ และทรงปิดสภาเมื่อถึงคราวคับขัน ในทางทฤษฎีแล้ว ซาร์ก็จะ “เคลียร์ตัวเอง” ได้ในทุกปัญหา แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันเป็นการ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” เท่านั้น[7]

สภาดูมาของซาร์ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ “วันอาทิตย์นองเลือด” ค.ศ. 1906 ก็เพื่อเปิดทางสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแบบแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ของรัฐบาลเผด็จการ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการซื้อเวลาของฝ่ายบริหารเท่านั้น ในขณะที่สถานะของซาร์ “ยังดูดี” ในสายตาคนภายนอกประเทศต่อไป[1]

ขอบเขตและสิทธิ์ของสภาดูมาระบุไว้ในกฎหมายพื้นฐาน ฉบับวันที่ 23 เมษายน 1906 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัสเซีย สภาดูมาใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับสภาสูงซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่งซาร์ทรงแต่งตั้งเอง และอีกครึ่งหนึ่งองค์กรต่างๆ เป็นผู้เลือก คล้ายรัฐสภาแบบอังกฤษ เพราะราชสำนักอังกฤษก็เป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่ของรัสเซีย แต่ซาร์ก็ทรงระมัดระวังอย่างยิ่งยวด มิให้เหมือนอังกฤษเสียทีเดียว และยังรับไม่ได้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและอภิสิทธิ์ของสื่อมวลชนดังเช่นที่มีอยู่ในสังคมอังกฤษ

นอกจากนี้สภาสูงซึ่งขึ้นกับซาร์โดยตรงยังมีสิทธิ์ยับยั้งร่างกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมาจากสภาดูมา โดยที่ต้องให้ซาร์ทรงลงพระนามก่อนประกาศเป็นกฎหมาย สภาดูมาไม่มีอำนาจพิจารณาร่างกฎหมายด้านกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ ไม่มีอำนาจควบคุมเรื่องรายได้ทางการเงินและนโยบาย
เศรษฐกิจของประเทศ ไม่มีอำนาจควบคุมการทำงานของเสนาบดี ไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบคณะรัฐมนตรี เพราะคณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของซาร์และรับผิดชอบต่อพระองค์โดยตรงเท่านั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ
อำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารราชการแผ่นดินยังอยู่ในพระหัตถ์ของซาร์แต่เพียงผู้เดียว

ข้อผูกมัดและพระราชอำนาจของซาร์ยังคงเหมือนเดิมในสายตานักการเมืองรัสเซีย สมาชิกสภาดูมาส่วนใหญ่จึงมีความคิดเห็นขัดแย้งกับซาร์และคณะรัฐบาลตั้งแต่ต้น เนื่องจากต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยตรงต่อสภาและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างรวดเร็วทางการเมืองและสังคม โดยในการประชุมสภาดูมาสมัยที่ 1 นั้น ข้อเรียกร้องมากมายของตัวแทนกลุ่มต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล

ในการประชุมสภาดูมาสมัยที่ 2 พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งมีเสียงข้างมากใช้เวทีสภาเรียกร้องการปฏิวัติ
และโจมตีรัฐบาล ซาร์ทรงตอบโต้ด้วยการไม่ลงพระนามในกฤษฎีกา และต่อมาก็ทรงประกาศยุบสภา
ภายหลังสภาดูมาถูกยุบแล้ว รัฐบาลไม่เพียงแต่จับกุมสมาชิกสภาที่เป็นฝ่ายซ้ายและเนรเทศไปไซบีเรีย
เท่านั้น แต่ยังฉวยโอกาสกวาดล้างและปราบปรามพวกองค์กรปฏิวัติต่างๆ จนพวกฝ่ายซ้ายแตกฉานซ่านเซ็น แล้วพากันปรับยุทธวิธีการต่อสู้ลงสู่ใต้ดินในลักษณะองค์กรลับ รอเวลาที่จะแก้แค้นฝ่ายรัฐบาล

นอกจากความคิดเห็นแบบเผด็จการรัฐสภาและการยึดติดกับพระราชอำนาจที่ทรงมีแล้ว การยึด
ติดกับความเชื่อที่ว่ารัสเซียเป็นผู้ปกป้องชาวสลาฟเพราะชาวรัสเซียก็เป็นชาวสลาฟเหมือนกัน มีชาติ
กำเนิดเดียวกัน กลายเป็นความขัดแย้งกับนโยบายต่างประเทศของรัสเซียเอง ที่ต้องการสร้างสันติภาพ
และภราดรภาพในหมู่ประเทศมหาอำนาจด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเผ่าพันธุ์เยอรมัน ซึ่งครอบครัว
ปัจจุบันของซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ผูกพันอยู่ด้วยอย่างสนิทสนมกับพระประยูรญาติฝ่ายพระมเหสี ซึ่งล้วน
แต่เป็นชาวเยอรมัน[6]

ชาวโครแอต (Croat) และชาวเซิร์บ (Serb) ซึ่งเป็นชนชาติสลาฟเข้ารับราชการในกองทัพและสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิออสเตรียได้ แต่การเข้ามามีบทบาทของรัสเซียในหมู่ชนชาติสลาฟ ก็นับเป็นภัยต่อความมั่นคงของออสเตรีย เพราะก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมและความเคลื่อนไหวในชนชาติสลาฟเพื่อจัดตั้งประเทศอิสระและปกครองตนเอง

นับแต่ทศวรรษ 1830 เป็นต้นมา รัสเซียได้เข้าไปมีอิทธิพลเหนือดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่าน(ซึ่งปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีในยุคนั้น – ผู้เขียน) มากยิ่งขึ้น และได้ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์จักรวรรดิออตโตมันซึ่งปกครองดินแดนของชาวสลาฟมากมาย มีอาทิ พวกรัสเซียน พวกยูเครเนียน พวกเบลารูเซียน 3 กลุ่ม คือชาวสลาฟตะวันออกอาศัยอยู่ในประเทศรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส

ส่วนชาวสลาฟตะวันตก ได้แก่ พวกโปลส์ พวกเช็กพวกสโลวัก และพวกเวนส์ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ
โปแลนด์ เช็กและสโลวาเกีย กลุ่มสุดท้ายคือชาวสลาฟใต้ ได้แก่ พวกเซิร์บ พวกโครแอต พวกสโลวีน
และพวกบัลแกเรียน ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเซอร์เบีย โครเอเชีย สโลวีเนีย และบัลแกเรีย ชาวสลาฟจึงเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่านและจากการที่รัสเซียมีอุดมการณ์รวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism) ยิ่งเป็นเชื้อไฟให้ชาวสลาฟทั่วไปซึ่งผูกพันอยู่กับรัสเซียทางเชื้อชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หันมาซุกปีกพญาอินทรี 2 หัว (คือรัสเซีย) ตลอดมารัสเซียเองก็ทำหน้าที่ผู้คุ้มครองพี่น้องชาวสลาฟได้ดีเยี่ยม จนบางครั้งก็มากเกินไป ชาวสลาฟทั่วบอลข่านจึงได้ใจ และลุกฮือขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ์การรวมชาติของตนเองอยู่เนืองๆ สร้างความปั่นป่วนให้ต้นสังกัดอย่างออสเตรีย ตุรกี และกรีก อันจะกลายเป็นสาเหตุหลักของการประกาศสงครามของรัสเซียต่อเผ่าพันธุ์เยอรมัน (คือเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี) ในอนาคตอันใกล้ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป

การยึดติดกับอำนาจและชาติกำเนิดของซาร์สร้างความสับสนให้สังคมทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นจุดอ่อนของราชสำนักโรมานอฟและเป็นสาเหตุหลักของการฉวยโอกาสโค่นล้มราชบัลลังก์ของมือที่สามในไม่ช้า[1]

“สภาดูมา” กลายเป็นฉากสุดท้ายของความพยายามซื้อเวลาในระบอบซาร์ และภาพลักษณ์ประชาธิปไตยของรัสเซียสมัยใหม่ที่ไปไม่ถึงดวงดาว ซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงเปิดและปิดประชุมสภา
ดูมาถึง 4 ครั้ง เมื่อทรงตระหนักว่านักการเมืองจะลิดรอนพระราชอำนาจของราชบัลลังก์ ความ
ตั้งใจดีกลับเป็นสูญเปล่าเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำฉันใดก็ฉันนั้น[7]

พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2

ซาร์นำรัสเซียเข้าสู่สงคราม ความอดทนอดกลั้นถึงจุดแตกหัก

เมื่อทรงตระหนักว่าราชวงศ์กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนอย่างหนัก ประจวบกับวาระสำคัญสำหรับราชวงศ์โรมานอฟใกล้เข้ามา ซาร์จึงได้มีพระบรมราชโองการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่เพื่อรำลึกถึงการที่ราชวงศ์โรมานอฟมีอายุครบ 300 ปี ใน ค.ศ. 1913 งานดังกล่าวมีขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้ราษฎรที่ยังมีความจงรักภักดีต่อระบอบกษัตริย์ ได้รำลึกถึงคุณูปการของบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าในอดีตทุกพระองค์ ที่มีบุญคุณต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน งานฉลองช่วยสร้างความรื่นเริงให้ราษฎรคลายความทุกข์ไปได้ชั่วขณะ แต่ก็เป็นการรณรงค์ที่มีอายุสั้น เพราะเมื่องานเลี้ยงยุติลง ความทุกข์ของราษฎรก็กลับมาพร้อมคำร่ำลือว่าราชวงศ์ได้หันหลังให้ราษฎรอย่างแน่นอนแล้ว

การจัดงานฉลองใหญ่ของราชวงศ์โรมานอฟครบ 300 ปี เป็นการสร้างภาพครั้งสุดท้ายของซาร์ด้วยการดึงเอาคุณูปการของบุรพมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์มาใช้เรียกกระแสความจงรักภักดี ปี 1913 จึงเป็นปีท้ายๆ ที่โลกได้เห็นชาวรัสเซียไชโยโห่ร้องและเชียร์ราชวงศ์อย่างเบิกบานท่ามกลางพายุใหญ่ที่กำลังเคลื่อน
เข้ามา[1]

ช่วงเวลาที่ประชาชนยังลังเลและสับสนนี้เองนักปลุกระดมชื่อ วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำกลุ่มลัทธิมาร์กซ์พลัดถิ่นได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งแยกตัวออกมาจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย เรียกชื่อใหม่ว่าพรรคบอลเชวิก (Bolsheviks) เพื่อยกฐานะชนชั้นกรรมาชีพในรัสเซีย เลนินมีนโยบายประชานิยมที่ยกระดับความเป็นอยู่ของกรรมกรและผู้ยากไร้ให้ดีขึ้น ในขณะที่ภาพลักษณ์ของซาร์ค่อยๆ เลือนหายไปจากความนึกคิดของประชาชน

บอลเชวิกเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองรุนแรง มีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างการปกครองระบอบซาร์ในรัสเซียและสถาปนาระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นแทน เลนินรับเอาทฤษฎีการเมืองของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่เขียนไว้ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ มาใช้โดยเฉพาะทฤษฎีที่ว่าด้วยสงครามระหว่างชนชั้น อันเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนินยังเชื่อในความคิดที่ว่าการปฏิวัติของชนชั้นโดยการเปลี่ยนชนชั้นปกครองจะแก้ปัญหาเรื้อรังของสังคมได้[7]

ในระยะเดียวกันนี้ปัจจัยจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะปัญหาชาตินิยมของพวกสลาฟในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งมีรัสเซียสนับสนุนและให้ท้ายกดดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีซึ่งสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีตึงเครียดขึ้นใน ค.ศ. 1913-14 ความขัดแย้งดังกล่าวจะฉุดดึงให้เยอรมนี ซึ่งเป็นพระประยูรญาติทางฝ่ายพระมเหสีของซาร์ (ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เป็นพระเชษฐาของซารีนา อเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา- ผู้เขียน) จึงเป็น “พี่เมีย” ของซาร์ และยังเป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กับซาร์ทางฝ่ายพระราชชนนีอีกด้วย (ทั้งไกเซอร์และซาร์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ – ผู้เขียน) เป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เด็ก เป็นหนุ่มด้วยกัน เติบโตมาด้วยกัน แต่ก็ต้องแตกคอกันเพราะปัญหาชาติกำเนิด ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสลาฟสงครามที่จะเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1914 จึงเป็นสงครามระหว่าง “พี่กับน้อง” แต่จะบานปลายและ
กินวงกว้างกลายเป็น “สงครามโลก” เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีข้อผูกมัดทางการทหารและพวกพ้องก็เป็น
ศัตรูของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่เยอรมนีและรัสเซียก็มิได้มีเรื่องผิดใจกัน ดังมีหลักฐานว่าไกเซอร์เยอรมันทรงขอร้องให้ซาร์สั่งระงับการระดมพล เพื่อเจรจาสงบศึกในฐานญาติสนิทที่เคารพนับถือกันและต่างก็ไม่เคย
มีความบาดหมางกันมาก่อนแต่ก็ไร้ผล

ชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นเมื่ออาร์ชดยุคฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Arch Duke Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และเจ้าหญิงโซฟี (Sophee) พระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนีย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีซึ่งต้องการปราบปรามการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เบีย (Serbia) จึงยื่นคำขาด 10 ข้อ ให้รัฐบาลเซอร์เบียซึ่งถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ตอบรับภายในเวลา 48 ชั่วโมง แต่เซอร์เบียตอบรับได้เพียง 8 ข้อ และส่งคำขาดที่ไม่สามารถตอบรับได้ให้ศาลโลกที่กรุงเฮกพิจารณา ออสเตรีย-ฮังการีซึ่งไม่พอใจในคำตอบและการกระทำของเซอร์เบียจึง
ประกาศสงครามต่อเซอร์เบียเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1914 [6]

ฐานะผู้พิทักษ์ชนเผ่าสลาฟก็ประกาศระดมพลเพื่อช่วยเหลือเซอร์เบีย การระดมพลดังกล่าวมีผลให้เยอรมนีต้องเข้าสู่สงครามเนื่องจากรัสเซียไม่ยอมหยุดระดมพลตามที่เยอรมนีต้องการ ทั้งฝรั่งเศสก็ปฏิเสธที่จะวางตนเป็นกลาง เยอรมนีจึงประกาศสงครามต่อรัสเซียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และต่อฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม แล้วส่งกองทัพบุกเบลเยียมซึ่งได้รับการประกันความเป็นกลางและการไม่ละเมิดความเป็นกลางมาตั้งแต่ ค.ศ. 1839 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เพื่อมุ่งเผด็จศึกฝรั่งเศสตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan) ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 6 สัปดาห์ อังกฤษได้ยื่นคำขาดให้เยอรมนีถอนทหารออกจากเบลเยียม แต่เมื่อเยอรมนีปฏิเสธ อังกฤษก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนีทันทีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1914 สงครามระดับท้องถิ่นระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียซึ่งสนับสนุนโดยรัสเซียจึงขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สุด

ทันทีที่เคานต์วิตต์ เสนาบดีผู้จงรักภักดีทราบเรื่องการตัดสินพระราชหฤทัยสนับสนุนเซอร์เบียในสงครามครั้งนี้ เคานต์วิตต์ซึ่งอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับรัสเซียทันที และได้ทูลต่อซาร์ให้ถอนตัวจากสงครามที่น่าอดสูใจ ซึ่งนับเป็นการเตือนสติซาร์เป็นครั้งสุดท้าย ท่านกล่าวว่า

“สงครามครั้งนี้คือความบ้าระห่ำ…รัสเซียจะสู้ไปเพื่ออะไร? เพื่อศักดิ์ศรีของเราในคาบสมุทรบอลข่านกระนั้นหรือ? หรือความชอบธรรมเพื่อช่วยชาวสลาฟร่วมเผ่าพันธุ์? มันช่างโรแมนติคสิ้นดีไม่มีใครเฉลียวใจคิดสักนิดบ้างหรือว่าชาวบอลข่านเหล่านี้เป็นลูกผสมมานานแล้ว พวกเขาอาจมีสายเลือดเติร์กมากกว่าสลาฟด้วยซ้ำไป พวกเซิร์บที่ก่อเรื่องนี้ควรได้ชดใช้กรรมด้วยตนเอง พอทีสำหรับชาติกำเนิดอันเข้มข้น หรือว่าพระองค์จะทรงคาดหวังผลประโยชน์จากสงคราม? คงได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น (ถ้ารบชนะ) โอพระเจ้า! จักรวรรดิของพระองค์ยังไม่ใหญ่เกินพออีกหรือ? เรายังเหลือไซบีเรีย เตอร์กีสถานและคอร์เคซัส ซึ่งยังไม่เคยถูกสำรวจเสียด้วยซ้ำไป! และไม่ว่าฝ่ายใดชนะก็ตาม (เยอรมนีหรือรัสเซีย) มันล้วนแต่เป็นจุดจบของประเทศร่วมชะตากรรมทั้งนั้นแล้วก็คงมีการสถาปนารัฐใหม่ๆ ทั่วภาคพื้นสงครามทั่วยุโรป นั่นหมายถึงวาระสุดท้ายของจักรวรรดิซาร์ข้าพเจ้าไม่ขอกล่าวต่อไปในกรณีที่เราแพ้…”[6]

สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในรัสเซีย (February Revolution ค.ศ. 1917) เพื่อต่อต้านสงครามและการขาดแคลนอาหารในกรุงเปโตรกราด (Petrograd = ชื่อเมืองในภาษาสลาฟ ซึ่งซาร์ตัดสินพระราชหฤทัยให้เปลี่ยนจากชื่อ St.Petersburg ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน – ผู้เขียน)

ซาร์นิโคลาสทรงมีคำสั่งให้ใช้กำลังทหารปราบปรามกลุ่มผู้เดินขบวนอย่างเด็ดขาดและให้ประกาศปิดสมัยประชุมสภาดูมาซึ่งกำลังแก้ไขสถานการณ์ แต่สภาดูมามีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกเฉยต่อคำประกาศของซาร์และให้ดำเนินการประชุมต่อไปอย่างไม่เป็นทางการจนถึงเดือนเมษายนพร้อมกับตั้งคณะกรรมการชั่วคราวแห่งสภาดูมาขึ้น ต่อมาสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดและคณะกรรมาธิการชั่วคราวแห่งสภาดูมาเห็นชอบให้ประกาศการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลซาร์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1917 และแต่งตั้งผู้แทนสภาดูมาไปทูลให้ซาร์นิโคลาสทรงสละราชสมบัติ

หลังจากทรงครุ่นคิดอยู่หลายชั่วโมง ซาร์นิโคลาสที่ 2 ก็ทรงยินยอมสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นก็มีคำสั่งให้ประกาศเรื่องการเสด็จขึ้นครองราชย์ของซาเรวิตช์อเล็กซีเป็น “His Imperial Majesty Tsar Alexei II, emperor and autocrat of all the Russias” เพื่อเผยแพร่ แต่ในช่วงเย็นซาร์นิโคลาสก็เปลี่ยนพระราชหฤทัยและทรงแก้ไขคำสั่งโดย
ประกาศมอบราชบัลลังก์ให้พระอนุชาแกรนด์ดยุคไมเคิล อเล็กซานโดรวิช (Grand Duke Michael
Alexandrovich) แทน เนื่องจากทรงทราบเงื่อนไขของรัฐบาลชั่วคราวที่จะไม่อนุญาตให้พระองค์ทรง
ดูแลพระราชโอรสอีกต่อไป และในกรณีที่พระองค์และพระราชวงศ์เสด็จฯ ไปประทับยังต่างประเทศ
ซาเรวิตช์อเล็กซีจะต้องประทับอยู่ในรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม แกรนด์ดยุคไมเคิลทรงปฏิเสธราชบัลลังก์และมอบอำนาจการปกครองให้แก่เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชั่วคราว การปฏิเสธที่จะสืบราชสมบัติของแกรนด์ดยุคไมเคิลึงทำให้ราชวงศ์โรมานอฟซึ่งปกครองรัสเซียกว่า 300 ปี ถึงกาลอวสาน รัฐบาลชั่วคราวกลายเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมโดยปริยาย[1]

การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution) ค.ศ. 1917 เป็นเหตุให้ซาร์นิโคลาสที่ 2 ต้องทรงสละราชบัลลังก์ ผู้นำทางการเมืองที่มีความโน้มเอียงไปทางเสรีนิยมได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น มีเจ้าชายลวอฟ (Lvov) เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามโลกต่อไป ทำให้ประชาชนไม่พอใจ ในที่สุดได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ในเดือนกรกฎาคม มีอเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky) เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้นพรรคบอลเชวิกได้เคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนและสนับสนุนกรรมกรตามเมืองต่างๆ ให้จัดตั้งสภาคนงานขึ้นเรียกว่า “สภาโซเวียต” เพื่อบริหารปกครองประเทศร่วมกับรัฐบาลชั่วคราวและเพื่อเตรียมการปฏิวัติ แกนนำของพรรคบอลเชวิกได้วางแผนที่จะโค่นล้มรัฐบาลชั่วคราวของเคเรนสกีและโอนอำนาจการปกครองให้แก่สภาโซเวียตในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 เลนินและผู้นำคนสำคัญของพรรคบอลเชวิกที่ลี้ภัยนอกประเทศต่างได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันให้เดินทางกลับเข้ารัสเซียโดยใช้เส้นทางรถไฟ

ทันทีที่ถึงรัสเซียเลนินและสหายได้เคลื่อนไหวมวลชนและปลุกระดมให้ประชาชนเลื่อมใสพรรคและอุดมการณ์ของพรรคบอลเชวิก เลนินชูคำขวัญว่า “อำนาจทั้งหมดกับสภาโซเวียต เพื่อสันติภาพ ที่ดิน และขนมปังให้กับทุกคนในรัสเซีย” นาทีนี้มีค่ามากกว่าพระเกียรติคุณของซาร์ทุกพระองค์รวมกันที่ได้มอบให้ชาวรัสเซีย[7]

นับจากนี้คณะปฏิวัติก็ไปรวมตัวกันที่สภาดูมาซึ่งวันก่อนยังเป็นศูนย์กลางของระบอบซาร์ภายในห้องโถงขนาดมหึมาของรัฐสภา พระบรมสาทิสลักษณ์ของซาร์บนผนังด้านหน้ามองลงมายังผู้เข้าร่วมประชุม แต่ในอีกมิติหนึ่ง บัดนี้ภาพนี้คือสัญลักษณ์ของระบอบที่ทอดทิ้งประชาชน กลายเป็นภาพน่ารังเกียจสำหรับผู้บริหารชุดใหม่ที่จ้องมองภาพอันโดดเด่นนั้นด้วยแววตาเคียดแค้น[8]

พระบรมสาทิสลักษณ์ซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซียหายไปจากกรอบรูปขนาดใหญ่ในห้องประชุมรัฐสภาดูมา ภาพเล็กคือรูปในสภาพเดิม (ภาพจาก L’ILLUSTRATION, 14 Avril 1917 คุณไกรฤกษ์ประมูลเอกสารหายากฉบับนี้มาจากปารีส)

ภาพที่หายไปของซาร์นิโคลาสที่ 2

วันสุดท้ายของระบอบซาร์อาจไม่เป็นที่จดจำของชาวรัสเซียในวันนั้นมากนัก แต่สำหรับชาวยุโรป
ด้วยกันที่ไม่เคยมีอคติต่อซาร์ก็ยังคงรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาคมยุโรปตลอดรัช
สมัยของพระองค์ เอกสารจากวันวานของซาร์นิโคลาสที่ 2 ทุกวันนี้กลับกลายเป็นของหายากและเป็นที่
แสวงหาของนักสะสมอยู่เสมอ

ข้อมูลอันระทึกใจของเหตุการณ์ในวันนั้นถูกถ่ายทอดไว้โดยสื่อมวลชนชั้นแนวหน้าของทุกประเทศจากฝีมือนักข่าวหัวเห็ดที่ประจำกันอยู่ภายในกรุงเปโตรกราด นักข่าวคนหนึ่งรายงานว่า “สถานการณ์เริ่มแย่ลงตั้งแต่เช้าวันที่ 8 มีนาคม (ค.ศ. 1917) เมื่อคนที่มาเข้าแถวรอซื้อขนมปังยาวเหยียดได้รับคำตอบว่าขนมปังหมดแล้ว! ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นแม่บ้านแสดงความไม่พอใจ และนัดหมายกับบรรดาสาวโรงงานทอผ้าหลายแห่งในกรุงเปโตรกราดออกมาเดินขบวนพร้อมกับตะโกนว่า ‘เราต้องการขนมปัง!’ และ ‘เบื่อสงครามเต็มทน!’ด้วยจุดหมายเดียวกัน

พอถึงเช้าวันที่ 9 มีกรรมกรจากโรงงานต่างๆ อีกมากเข้ามาสมทบเพิ่มขบวนใหญ่ขึ้นจนเต็มท้องถนน ดูเหมือนไม่ต่ำกว่า 2 แสนคนจากโรงงานทั้งหมดในเมืองหลวงก็ว่าได้ ณ จุดนี้เองที่ทหารม้าคอสแซค (ของซาร์) ถูกเรียกเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ทหารม้าชุดใหม่นี้เป็นพวกคนหนุ่มที่ถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการจากหัวเมือง ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ไม่มีระเบียบวินัยมากนัก เนื่องจากทหารชุดเก่าถูกส่งออกไปแนวหน้าหมดแล้ว ทหารใหม่ส่วนใหญ่กลับหลีกเลี่ยงที่จะปะทะกับประชาชน แต่พากันทิ้งดาบและเข้าร่วมกับการเดินขบวนหน้าตาเฉย จำนวนของพลเมืองที่แห่กันมาสมทบดูจะเป็นพลังอันมหาศาลเกินกว่าจะยับยั้งได้อีกต่อไป

ซาร์ซึ่งในเวลานั้นทรงบัญชาการรบอยู่ที่แนวหน้า ทรงได้รับโทรเลขรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีพระราชบัญชาให้กองทัพรักษาพระนครควบคุมสถานการณ์ให้ได้ แต่ดูเหมือนว่าจะสายไปเสียแล้วอาวุธของทหารบัดนี้กลายเป็นอาวุธของฝูงชนป้องกันตนเอง

กองทัพหรือประชาชนเรือนแสนเคลื่อนตัวไปยังพระราชวังทอรีด (Tauride Palace=เป็นที่ตั้งของสภาดูมา) และแม้นว่าซาร์ทรงยุบสภาไปแล้ว แต่สมาชิกสภาก็มารอกันพร้อมหน้าอยู่หลายวันแล้วเพื่อรอการประชุมวาระฉุกเฉิน ต่อมาคณะมนตรีความมั่นคงก็ถูกจัดตั้งขึ้นเองหลังจากที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสภาอีกต่อไปโดยเรียกตนเองใหม่ว่า ‘สภาโซเวียต’ ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล

ประธานคนใหม่เป็นนักการเมืองสายกลางชื่อเคเรนสกี ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีชุดใหม่มาจากตัวแทนคนทุกกลุ่มจากภาคประชาชน ในระหว่างนี้คณะรัฐบาลชุดเก่าของซาร์ก็ถูกจับกุมตัวในข้อหากบฏ[6]

เช้าวันที่ 13 มีนาคม คณะปฏิวัติที่ประชุมกันที่สภาดูมาอย่างเคร่งเครียดมา 3 วันตื่นขึ้นจากภวังค์ หลังจากที่พักค้างแรมกันภายในสภาแบบตามมีตามเกิด โดยพบว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ของซาร์ขนาดใหญ่บนผนังเหนือบัลลังก์ถูกถอดลงมาตั้งแต่เมื่อคืน เหลือไว้แต่กรอบรูปที่ไร้ความหมายติดอยู่เท่านั้น[5]

ภาพนั้นถูกฉีกเป็นชิ้นๆ แล้วนำออกไปเผาทิ้งที่ด้านนอกท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชน สัญลักษณ์ของราชวงศ์ที่เหลืออยู่ภายใน เช่น ตราแผ่นดินรูปนกอินทรี 2 หัวที่เคยติดเป็นสง่าอยู่ ณ โพเดียมของประธานสภาถูกงัดแกะออกมาโยนเข้ากองเพลิงเช่นกัน[9]

14 มีนาคม 1917 มติของคณะปฏิวัติก็ถูกส่งออกไปยังแนวหน้าเพื่อเรียกร้องให้ซาร์ทรงสละพระราชอำนาจและราชสมบัติในทันที[8]

15 มีนาคม 1917 ซาร์องค์สุดท้ายทรงสละราชสมบัติของพระองค์

15 มีนาคม 1917 สภาโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยคณะปฏิวัติออกแถลงการณ์แห่งชาติเรียกประชุมตัวแทนจากทั่วประเทศเพื่อตัดสินอนาคตของรัสเซียโดยไม่ให้มีระบอบซาร์อีกต่อไป

15 มีนาคม 1917 สภาดูมาที่ซาร์นิโคลาสที่ 2 ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์เพื่อการปกครองระบอบประชา
ธิปไตยแต่ไร้ผล บัดนี้กลับกลายเป็นสภาของนักปฏิวัติโดยสิ้นเชิง สถานที่แห่งเดียวกันเป็นสัญลักษณ์แห่ง
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในชั่วข้ามคืน”[7]

พระบรมสาทิสลักษณ์ของซาร์ในรัฐสภาที่เคยได้รับการเทิดทูนบูชาดุจเทพเจ้า บัดนี้กลายเป็นอดีตถูกปลดลงมาเผาทิ้งท่ามกลางความสับสนอลหม่านของฝูงชนชาวเมืองโปโตรกราดที่เมื่อ 100 ปีมาแล้วตกลงจะเขียนประวัติศาสตร์เสียใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดความหมายเสียแล้ว[5]


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “จะเกิดอะไรขึ้นกับรัสเซีย ถ้าเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้?,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์๒. สำนักพิมพ์มติชน, 2553.

[2] ______. “พงศาวดารสะเทือน! ‘แผนชิงตัวพระเจ้าซาร์’ ช่วยให้พระองค์รอดไปได้หรือ?,” ใน สยามกู้อิสรภาพตนเอง. สำนักพิมพ์มติชน, 2550.

[3] เพ็ญศรี ดุ๊ก. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A-B. ฉบับราชบัณฑิตย
สถาน, 2542.

[4] สุปราณี มุขวิชิต. ประวัติศาสตร์ยุโรป ตั้งแต่ปีค.ศ.1815-ปัจจุบัน เล่ม 1. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2540.

[5] Halliday, E. M. Russia in Revolution. Harper & Row, 1967.

[6] Massie, Robert K. Nicholas and Alexandra. Dell Publishing Co., Inc., 1967.

[7] Rappaport, Helen. Caught in The Revolution. Windmill Books, 2016.

[8] L’ILLUSTRATION, Paris, 14 Avril 1917.

[9] THE GRAPHIC, London, 14 April 1917.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 25 ตุลาคม 2562