ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อปี 2009 มีการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่ในประเทศจีน เมื่อนักโบราณคดีเชื่อว่าพวกเขาได้พบกับ สุสานโจโฉ ทรราชแห่งตำนานสามก๊กที่มีตัวตนอยู่จริงๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งทางสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติของจีน ประกาศให้การค้นพบสุสานของ “โจโฉ” ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสิบความสำเร็จทางด้านโบราณคดีครั้งสำคัญประจำปีนั้นด้วย
สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Xigaoxue เขต Anyang ในมณฑลเหอหนาน ถูกพบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 ก่อนที่ Guan Qiang ผู้อำนวยการแผนกอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ของสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติของจีนจะออกมากล่าวเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2009 ว่า
“การขุดสำรวจได้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบๆ ปีแล้ว ซึ่งเราก็น่าจะได้พบหลักฐานอะไรเพิ่มเติมอีก แต่เพียงหลักฐานที่เรามีในตอนนี้ เราสามารถบอกได้อย่างมั่นใจเลยว่าสุสานแห่งนี้เป็นของโจโฉ”
นักโบราณคดีพบซากศพ 3 ศพ ร่างหนึ่งเป็นของชายในวัยราว 60 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นร่างของ “โจโฉ” อีกร่างหนึ่งเป็นของหญิงวัยราว 50 ปี ซึ่งน่าจะเป็นชายาของโจโฉเอง ที่ถูกนำมาฝังร่วมกันในภายหลังพร้อมกับร่างของหญิงรับใช้ที่อยู่ในวัยระหว่าง 20-25 ปี
ส่วนหลักฐานสำคัญที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่านี่คือ สุสานโจโฉ ก็คือจารึกหลายชิ้นที่มีข้อความสลักเอาไว้ว่า “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย”* (Wei Wu King – King Wu of Wei) พระนามของโจโฉที่ได้รับการสถาปนาในภายหลัง โดยจารึกชิ้นแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่พบก็คือจารึกที่ยึดได้จากพวกปล้นสุสาน ซึ่งคนร้ายอ้างว่าลักลอบนำออกมาจากสุสานดังกล่าว และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การค้นพบสุสานของเจ้าหน้าที่ทางการด้วย
นอกจากนี้ ลักษณะของสุสานก็ยังตรงกับคำสั่งเสียของโจโฉที่ต้องการให้สุสานของเขาตั้งอยู่บนเนินสูง เรียบง่าย ไม่ต้องพูนดิน ไม่ต้องปลูกต้นไม้ ไม่ต้องใส่อัญมณีมีค่า ประกอบกับสถานที่ตั้งก็อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางอำนาจของแคว้นเว่ย จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อแน่ว่าสุสานแห่งนี้น่าจะเป็นของโจโฉจริง
แต่เรื่องมันก็ไม่ได้จบง่ายๆ แค่นั้น ในเดือนสิงหาคม 2010 กลุ่มนักวิชาการ 23 รายจากทั่วประเทศจีนได้ออกมากล่าวว่า สุสานดังกล่าวไม่น่าจะเป็นของโจโฉ และหลักฐานที่ใช้นำมากล่าวอ้างก็น่าจะเป็นของปลอมด้วย
และสิ่งที่นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ให้ความเชื่อถือมากที่สุด ก็คือหลักฐานสำคัญที่สุดที่นักวิชาการของภาครัฐเอาไปอ้างว่าสุสานแห่งนี้เป็นของโจโฉ นั่นก็คือจารึกที่ปรากฏคำว่า “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย” ซึ่งฝ่ายคัดค้านมองว่าการมีอยู่ของป้ายดังกล่าวเป็นเรื่องตลกและไม่เหมาะสมเอาเสียเลย
“แผ่นป้ายพวกนี้มันทำหน้าที่อย่างกับป้ายในพิพิธภัณฑ์ยังไงยังงั้น โจโฉคงไม่ต้องการป้ายพวกนี้ในหลุมศพของตัวเองแน่” หนึ่งในนักวิชาการฝ่ายคัดค้านกล่าวถึงแผ่นป้ายที่ปรากฏพระนามกษัตริย์อู่แห่งเว่ย ซึ่งปรากฏบนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หลายชิ้นมีคำระบุว่า “ของส่วนตัวที่องค์กษัตริย์อู่แห่งเว่ยใช้เป็นประจำ” ซึ่งรวมถึงหมอนหินชิ้นหนึ่งด้วย
(การที่สุสานโจโฉจะเต็มไปด้วยป้ายชื่อของตัวเองจริงๆ ก็น่าจะขัดกับเจตนาของโจโฉ ที่พยายามทำให้สุสานของตัวเองเรียบง่ายธรรมดา ไม่ต้องมีจุดสังเกต ไม่ต้องพูนดิน หรือมีการปลูกต้นไม้ ราวกับไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเป็นสุสานของตนเอง หรือถ้าจะเชื่อนิยายสามก๊กที่บอกว่ามีการทำสุสานโจโฉไว้ถึง 72 แห่ง เพื่อไม่ให้มีใครมาขุดค้นเจอ การมีป้ายชื่อของโจโฉอยู่หลายจุดในสุสานแห่งนี้ ก็อาจจะฟังดูไม่สมเหตุผลเช่นกัน-ผู้เขียน)
ส่วน Li Luping ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวอักษรและจารึก ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวอักษรที่ปรากฏบนจารึกที่ถูกนำมากล่าวอ้าง บางตัวมีลักษณะที่คล้ายกับตัวอักษรที่ใช้ในปัจจุบันมากกว่าตัวอักษรที่ใช้ในยุคเดียวกัน คำศัพท์บางตัวก็เขียนผิด หรือถูกใช้ในบริบทของปัจจุบันมากกว่า
Lin Kuicheng ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านอักษรวิจิตรและการพิมพ์ ของสหพันธ์วรรณกรรมและแวดวงศิลปะแห่งไคฟง กล่าวว่า คำว่า “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกก็ดูจะไม่สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ เพราะโจโฉเสียชีวิตตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 220 ขณะเป็นอ๋องแห่งเว่ย และถูกฝังหลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งจนถึงขณะนั้นเขาไม่เคยถูกเรียกว่า “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย” มาก่อน เมื่อโจผีขับพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากบัลลังก์ในช่วงปลายปีแล้ว จึงมีการออกนามโจโฉว่า “กษัตริย์อู่” (King Wu) เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่ใช่ “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย” (King Wu of Wei)
ด้าน Huang Zhengyun ผู้เชี่ยวชาญอีกรายจาก China University of Political Science and Law ก็บอกว่า โบราณวัตถุหลายชิ้นน่าจะถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ศิลาจารึกบางอันที่ถูกพบจริงๆ แล้วก็น่าจะถูกตัดด้วยเลื่อยไฟฟ้า
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการกลุ่มนี้จึงถึงกับกล่าวหาว่ารัฐบาลท้องถิ่นของเขต Anyang น่าจะจงใจสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อหาทางสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
แม้ข้อทักท้วงของนักวิชาการกลุ่มนี้จะน่ารับฟัง แต่ถึงขณะนี้ทางการจีนยังคงถือว่าสุสานที่ค้นพบในปี 2009 เป็นของ “โจโฉ” จริง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วสุสานแห่งนี้ก็อาจจะเป็นของโจโฉอย่างที่ทางการเชื่อก็ได้ ไม่ว่าจารึกทั้งหมดจะเป็นของปลอม หรือเป็นของที่ทำขึ้นภายหลังหรือไม่ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญคงต้องถกเถียงกันต่อไปว่าหลักฐานของฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ศึกสุดท้ายของ “เจงกิสข่าน” กับบันทึกวาระสุดท้ายและที่ตั้งสุสานอันเป็นปริศนา
- ถอดความหมายภาพสลักวัง “กษัตริย์อัสซีเรียน” ฤๅเป็นอาคมปกป้องสุสาน ?
- ตามรอยนักโบราณคดี ขุดสุสานฟาโรห์ “ทุทันคามุน” เผยวินาทีพบโลงพระศพ-สมบัติสุดอึ้ง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Tomb of Legendary Ruler Unearthed”. China Daily. <http://www.chinadaily.com.cn/china/2009-12/28/content_9234640.htm>
“Cao Cao’s Tomb: Experts Reveal That Findings and Artifacts Are Fake”. People’s Daily. <http://en.people.cn/90001/90782/90873/7114984.html>
“Experts: Cao Cao ’Tomb’ Is A Phony”. CNTV. <http://english.cntv.cn/20100825/101139.shtml>
หมายเหตุ : *ผู้เขียนใช้คำว่า “กษัตริย์อู่แห่งเว่ย” แทนคำว่า “จักรพรรดิอู่แห่งเว่ย” อย่างที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาภาษาอังกฤษที่ใช้ในการอ้างอิง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2560