ชีวิตรักของนางงามยุคคณะราษฎร จากเวที สู่ภริยาทูต-คุณนายเหล่าทัพ-ร่วมเชื้อพระวงศ์

เรียม เพศยนาวิน ภาพขวาสุดคือวันเสกสมรสกับรายารัฐเปอร์ลิศ (ภาพจากหนังสือ "ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต 13 นางสาวไทย, 2533")

“การประกวดนางงาม” นอกจากจะเป็นใบเบิกทางเข้าสู่วงการบันเทิงแล้ว ยังเป็นการเลื่อนสถานะทางสังคมรูปแบบหนึ่งให้เหล่าบรรดาสาวงามทั้งหลายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และในขณะเดียวกันการประกวดดังกล่าวยังทำให้ “นางงาม” ได้เปิดโอกาสพบกับ “คู่ครอง” ในชีวิตรักอีกด้วย

เหมือนที่โบราณได้กล่าวไว้ว่าการที่จะครอบครองจิตใจของ “หญิงงาม” มาเป็นภรรยาได้นั้น บุรุษผู้นั้นต้องเต็มไปด้วย “รูปสมบัติ” และ “คุณสมบัติ” ดังนั้นจะเห็นได้ว่านางงามประจำชาติไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิก “นางสาวสยาม” จนมาถึงยุค “นางสาวไทย” ที่ถูกจัดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของรัฐบาลคณะราษฎร (พ.ศ.2477 – 2497)  ล้วนแล้วแต่มีผู้ชายโปร์ไฟล์ดีมาหมายปองขอเป็นคู่ชีวิตทั้งสิ้น  ซึ่งบรรดาชายหนุ่มเหล่านั้นล้วนมาจากตระกูลดี การศึกษาดี แถมเพียบพร้อมไปด้วยหน้าที่การงานที่ดีและมีเกียรติ

หากนางงามของชาติท่านใดได้แต่งงานไปด้วยแล้ว ก็ย่อมได้รับเรียกขานจากสังคมว่า “คุณนาย” ตามฐานานุรูปผู้เป็นสามีอีกด้วย และที่ผ่านมาก็พบว่าเหล่าบรรดานางงามไทยยุคคณะราษฎรก็ได้สมรสกับบุรุษผู้มีเกียรติทั้งในแวดวงราชการ นักการเมือง ไปจนถึงเชื้อพระวงศ์อีกด้วย

จาก “นางงาม” สู่ “ภริยาทูต”

เริ่มต้นที่ “กันยา  เทียนสว่าง”  ผู้เปิดตำนานนางสาวสยามคนแรกในปี พ.ศ. 2477  หลังรับตำแหน่งนางงามมา 9 ปี กันยาได้สมรสกับ ดร.สุจิต  หิรัญพฤกษ์ ด็อกเตอร์หนุ่มจากเยอรมัน ผู้เป็นหัวหน้ากองบรรณสาร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมี ดร.ดิเรก  ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และภริยา เป็นประธานในการรดน้ำสังข์

ในปีถัดมาสามีของเธอได้เข้ารับตำแหน่งเลขานุการเอกของ หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้ติดตามสามีไปอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย โดยมีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 5 คน จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สามีของเธอจึงได้ลาออกจากราชการ  และหันเหลงเล่นการเมืองจนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประทุมธานี ในปี พ.ศ.2489

นอกจากนี้ยังมีนางสาวสยามในปี พ.ศ. 2481 คือ “พิสมัย  โชติวุฒิ” ที่ได้ติดตามสามีไปรับราชการเป็นทูตในต่างประเทศ เพราะหลังจากได้มงกุฎนางงามมา 1 ปี พิสมัยได้สมรสกับคุณเล็ก ตันเต็มทรัพย์ ทนายหนุ่มผู้เป็นลูกชายของคหบดีเชื้อสายจีนจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ภายหลังเขาได้เข้าไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นทูตและเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เป็นต้น

ภรรยา “นายแพทย์”

ไม่ใช่เพียงแต่ในแวดวงนักการทูตที่ได้สมรสกับนางงามของชาติเท่านั้น ในวงการสาธารณสุขก็พบว่ามีนายแพทย์ 2 คน ที่สามารถครองใจนางงามไทยมาได้เช่นเดียวกัน นางงามท่านแรก คือ “วณี เลาหเกียรติ” นางสาวสยาม พ.ศ. 2478 ได้สมรมกับ นพ.มานิตย์  สมประสงค์ แพทย์หนุ่มจากโรงพยาบาลศิริราช ณ วังปารุสกวัน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในเวลาต่อมาเธอมีบุตรธิดารวมทั้งสิ้นทั้งหมด 3 คน

วณี เลาหเกียรติ์ นางสาวสยามคนที่ 2 (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพนางงาม 2488 ห้องสมุด พ.อ.สมชาย หอมจิตร)

ในส่วนของ “อนงค์  อัชชวัฒนา” นางสาวไทย พ.ศ. 2496 ก็ได้สมรสกับ นพ.ไพฑูรย์  นาคะเกศ นายแพทย์หนุ่มวัย 25 ปี บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง นพ.ไพฑูรย์ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง “ไชยแพทย์คลินิก” คลินิกเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้บุตรของพวกเขาทั้งสองคน คือ อภัย และ อาทิตย์ ยังได้ประกอบอาชีพเป็นนายแพทย์เหมือนกับบิดาของตนอีกด้วย

คุณนายแห่ง “เหล่าทัพ”

ขณะเดียวกันสุภาพบุรุษชายชาติทหารจากกองทัพบกก็สามารถคว้านางสาวสยามในปี พ.ศ. 2480 “มยุรี  วิชัยวัฒนะ” มาเป็นคู่ชีวิต ซึ่งเขาก็คือ ..อาจ  เจริญศิลป์(ยศในขณะนั้น) อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาทหารในประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับกระบี่พิเศษจากรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นอีกด้วย ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการของเขา คือ “พลตรี” โดยทั้งคู่มีบุตรธิดารวมกัน 5 คน

ทางฝั่งของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ไม่น้อยหน้า เนื่องจาก ร.ต.ต.วิสิษฐ์ พัฒนานันท์(ยศในขณะนั้น) นายตำรวจหนุ่มจากสถานีตำรวจภูธรเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้สมรสกับ“อัมพร  บุรารักษ์” นางสาวไทย พ.ศ. 2493 หลังจากเธอเป็นนางงามมาได้ 2 ปี ซึ่งสามีของเธอรับราชการสูงสุดในตำแหน่ง “พันตำรวจเอก”

ในส่วนของลูกทัพฟ้าก็คว้า “สว่างจิตต์ คฤหานนท์” นางสาวไทย พ.ศ. 2483 หลังจากได้มงกุฎมา 2 ปีเช่นเดียวกัน  เธอได้สมรสกับ เรืออากาศเอกหะริน หงสกุล(ยศในขณะนั้น) ผู้ช่วยทูตทหารอากาศประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และภริยา มาเป็นประธานในพิธีรดน้ำสังข์

ซึ่งในภายหลังเขาได้รับการแต่งตั้งเป็น “พลอากาศเอก” ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ  และได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองหลังเกษียณอายุราชการ  โดยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ สมาชิกวุฒิสภา  ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ตลอดจนประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา ส่วนสว่างจิตต์ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น  “คุณหญิง” อีกด้วย

หญิงสูงศักดิ์ใน เชื้อพระวงศ์”

นางงามในยุคคณะราษฎรนอกจากจะได้เป็น “คุณหญิง” หรือไม่ก็ “คุณนาย” ของเหล่าบรรดาข้าราชการและนักการเมืองแล้ว ยังมีนางสาวไทยถึง 2 คนที่มีโอกาสได้สมรสกับเชื้อพระวงศ์ชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “เรียม  เพศยนาวิน” ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยในปี พ.ศ. 2482 อันเป็นปีแรกที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” จึงทำให้ปีนั้นการประกวดนางงามประจำชาติในงานฉลองรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “นางสาวไทย” ด้วย

สำหรับเรียมแล้ว ภายหลังที่เธอได้เป็นนางสาวไทยมา 13 ปี เธอได้เสกสมรสกับ เอช.เอช.ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย โดยเธอจะมีตำแหน่งเป็น “รานี” หรือภรรยาคนที่ 2 ในนาม “รานีตวนกูมาเรียม” และมีโอรสธิดาทั้งหมด 4 องค์

ในขณะเดียวกัน “อุษณีย์  ทองเนื้อดี” นางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2494 ก็ได้เข้าพิธีสมรสกับ ....พงษ์ดิศ  ดิศกุล (ยศในขณะนั้น) โอรสใน พล.ท.  มจ.พิศิษฐ์ดิศพงษ์  ดิศกุล กับหม่อมสวาสดิ์  ดิศกุล ณ อยุธยา  ภายหลังจากเธอได้รับตำแหน่งนางงามมาได้ 2 ปี โดยมีบุตรธิดารวมกัน 5 คน  นอกจากนี้เธอยังจะต้องติดตามสามีไปยังต่างประเทศ เนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยทูตทหารบกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และตำแหน่งสุดท้ายที่สามีเธอรับราชการในสังกัดกองทัพบก คือ  “พลโท”

เส้นทางชีวิตในการสมรสของนางงามไทยในยุคของคณะราษฎร เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติในการเลือก “คู่ครอง” ของหญิงไทยช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ท่ามกลางกระแสค่านิยมที่มองว่า “ข้าราชการ” เป็นอาชีพที่มีเกียรติและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ดังสุภาษิต “10 พ่อค้า ไม่เท่า 1 พระยาเลี้ยง” แต่ทว่าในยุคหลังมานี้ การเลือกคู่ถ้าดูแค่ “รูปสมบัติ” และ “คุณสมบัติ” อาจจะยังไม่เพียงพอ ถ้าหากบุรุษผู้นั้นคิดหมายปองเหล่าสาวงามที่มีตำแหน่งความงามการันตีและมีชายหนุ่มมากด้วยโปรไฟล์หลายคนเข้ามาหมายปอง

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว  สุภาพบุรุษยุคนี้เห็นทีจะต้องเพิ่มดีกรี “ทรัพย์สมบัติ” มาเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งประกอบการพิจารณาในศึกชิงรักครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองประกวดนางสาวไทย. สมุดภาพนางสาวไทย 2497.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หัตถ์ทิพย์. 2497.

วิศเวศ  วัฒนสุข.  กันยา  เทียนสว่าง. กรุงเทพฯ : ดิแอสไพเรอร์สกรุ๊ป. 2553.

อรสม  สุทธิสาคร.  ดอกไม้ของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์. 2533.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563