ผู้เขียน | ณัฐธิดา ทองเกษม |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่รู้กันว่าถึงช่วงปลายปีทีไรก็จะเข้าสู่เทศกาล “ประกวดนางงาม” ที่กำลังจัดประกวดกันอย่างคึกคักตั้งแต่ระดับตำบลจนไปถึงเวทีระดับชาติ โดยแต่ละเวทีล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป แต่ที่ทุกเวทีน้อยใหญ่มีเหมือนกันหมดนั่นก็คือการนำเสนอ “ความเป็นไทย” ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การแต่งกายชุดไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงการตอบคำถาม ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีตแล้ว ความเป็นไทยยังส่งผลต่อการเลือก “ผู้ชนะ” ในการประกวดนางงามอีกด้วย และในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนยังมีทัศนคติในการให้คำนิยามความงามของนางงามไทยที่ยังยึดติดกับคำว่า “หน้าไทย” หรือ “สวยแบบไทยๆ” ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนั้นล้วนเป็นความงามแบบไทยแท้จริงหรือ?
นางงามไทย ต้องเลือดไทยแท้ ?
การประกวดนางงามซึ่งเป็นวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้าสู่สังคมไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2470 โดยปรากฏหลักฐานพบที่ จ.ลำพูน เป็นครั้งแรก ตามมาด้วย จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบุรี และ จ.นครปฐม ตามลำดับ ซึ่งแต่เดิมการประกวดนางงามถูกจัดขึ้นใน “งานเทศกาลประจำปีของท้องถิ่น” เพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่งาน จนกระทั่งการเกิดขึ้นของการประกวด “นางสาวสยาม” เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 ในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้เริ่มมีการประกวดนางงามประจำจังหวัดทั่วทั้งประเทศ จึงทำให้การประกวดนางงามในยุคนั้นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองภายใต้การนำของของรัฐบาล “คณะราษฎร”
ทัศนคติความงามแบบไทยในยุคปัจจุบัน อาจใช้ไม่ได้กับหลักเกณฑ์การคัดเลือกนางสาวสยามในยุคนั้น เพราะการประกวดนางสาวสยามในปีแรก ผู้ชนะคือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง จาก จ.พระนคร (กรุงเทพ) กลับมีรูปลักษณ์ความงามและผิวพรรณแบบตะวันตก จึงมีชื่อเล่นว่า “ลูซิล”
“..ด้วยเหตุที่หน้าคมคาย จมูกโด่งเหมือนฝรั่ง พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า ลูซิล” อีกทั้งเธอยังมีเชื้อสายมอญจากคุณยายของเธอ คือ นางยิ่ง สังขดุลย์ ผู้เป็นภรรยาของพระพิจิตรจำนง
ในปีถัดมา (พ.ศ.2478) ผู้ชนะนางสาวสยาม คือ นางสาววณี เลาหเกียรติ จากจ.พระนคร ซึ่งเธอก็เป็นสาวไทยเชื้อสายจีน ทายาทเจ้าของห้างเคียมฮั่วเฮ็งและเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ย่านถนนคอนแวนต์ นอกจากนี้ เธอยังนับถือศาสนาคริสต์อีกด้วย หรือแม้แต่ นางสาวเรียม เพศยนาวิน ก็เป็นสาวมุสลิมคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งนางสาวไทยในปี พ.ศ. 2482
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ชีวิตและความรักของ “เรียม เพศยนาวิน” นางสาวไทยที่พบรักเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซีย
ในส่วนของต่างจังหวัดก็พบว่าผู้ชนะการประกวดในบางพื้นที่ก็เป็นสาวไทยหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ นางสาวกิมล้วน สาวไทยเชื้อสายจีนผู้ได้รับตำแหน่งนางงามประจำร้านในงานฤดูหนาว จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2476 นางสาวติ้วหลัน เตียวตระกูล นางสาวลำปางคนแรก (พ.ศ.2478) ก็มีเชื้อสายจีนเช่นเดียวกัน และนางสาวลมุน พันธุมินทร์ สาวเชียงใหม่เชื้อสายพม่าที่ได้รับตำแหน่งนางสาวเชียงใหม่ พ.ศ.2484
จะเห็นได้ว่านางงามในเวทีท้องถิ่นและระดับชาติที่หยิบยกมา ล้วนแล้วแต่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา แล้วนิยามความงามแบบไทยคืออะไร? ในเมื่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ล้วนแล้วแต่การเกิดจากการผสมผสานหลากหลายชาติพันธุ์รวมกัน
นางงามหน้าฝรั่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
นิยามความหมายของคำว่า “ลูกครึ่ง” ในสังคมไทยยุคนั้นให้น้ำหนักไปที่คนที่มีเชื้อชาติของประเทศตะวันตกผสมอยู่ เพราะหากพิจารณาจากนางงามไทยใบหน้าเอเชียก็แทบจะแยกไม่ออกว่าความงามแบบไทยแท้คืออะไร ดังนั้นจะพบว่าในปี พ.ศ. 2491 นางสาวเรณู พิบูลภานุวัฒน์ลูกเสี้ยวยุโรป ได้รองนางสาวไทย พ.ศ.2491 ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ก็มีนางงามที่เป็นลูกครึ่งคนแรก คือ นางสาวอมรา อัศวนนท์ ธิดาคนโตของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) กับมาดามยอร์เฮท (Georgette) ชาวฝรั่งเศส ได้รับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ในการประกวดนางสาวไทย และเธอยังเป็นตัวแทนสาวไทยคนแรกที่เข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) ณ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนส่วนตัว
ฉากสุดท้ายของงานฉลองรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2500 และทำการยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญ การทำรัฐประหารดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการตัดขาดอุดมการณ์ทางการเมืองกับคณะราษฎร
เมื่อยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญการประกวดนางสาวไทยก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ดีในส่วนของต่างจังหวัดก็ยังคงจัดงานโดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “งานกาชาด” หรือ “งานฤดูหนาว” แทน ในขณะเดียวกันทางสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ได้จัดงานวชิราวุธานุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานได้มีการจัดประกวดนางงามวชิราวุธในปี พ.ศ. 2504 เป็นปีแรกซึ่งนางสาวนงคราญ โกลละสุต สาวไทยลูกเสี้ยวเนเธอร์แลนด์จากจังหวัดสงขลา ได้มงกุฎในปีนั้นมาครอบครอง
ความเป็นไทยในทัศนคตินางงาม
การประกวดนางงามในยุคก่อนทศวรรษ 2500 เกณฑ์การตัดสินจะเน้นไปที่ความสวยงามของรูปร่างหน้าตา ท่วงท่าของการเดิน และยังไม่ได้มีการตอบคำถามเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นความงามในยุคนั้นจะเน้นนางงามที่สวยตามแบบธรรมชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2507 หลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาได้ 1 ปี พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อการประกวดนางงามวชิราวุธมาเป็นนางสาวไทย ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาเกียรติของหญิงไทยที่เป็นนางงาม
“…นางสาวไทยที่ได้รับการคัดเลือกแต่ต้นมา ไม่เคยทำความเสียหายด่างพร้อยแก่สตรีไทย แต่งงานเป็นหลักเป็นฐาน และทำราชการได้ดิบได้ดีทั้งนั้น แต่เมื่อมีการใช้ชื่ออื่น เช่น เทพีนั่น เทพีนี่ ก็ถูกชักจูงให้เสียหาย แม้แต่ไปเป็นเมียน้อยเขาก็มากมาย แต่ถ้าหากใช้ชื่อนางสาวไทย อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกรู้จักรักษาชื่อเสียงตัวเอง ”
ดังนั้นในปี พ.ศ.2507 จึงมีการรื้อฟื้นการประกวดนางสาวไทยขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งคือ นางสาวอาภัสรา หงสกุล ในขณะเดียวกันบริษัท Miss Universe Organization บริษัทเอกชนผู้จัดประกวดนางงามจักรวาลได้ติดต่อกองประกวดนางสาวไทยผ่านทางองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ให้ส่งนางสาวไทยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาลโดยทางบริษัทฯจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยมุ่งหวังว่าจะใช้การประกวดนางงามจักรวาลในการเผยแพร่ความเป็นไทยให้ชาวต่างชาติรู้จักผ่านการนำเสนอของสาวงามผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่านางสาวอาภัสรามักสวมชุดไทย หรือไม่ก็ชุดที่ตัดจากผ้าไทย พร้อมทั้งนำร่มบ่อสร้าง จาก จ.เชียงใหม่รวมถึงการไหว้ไปนำเสนอในระหว่างการประกวด อีกทั้งเนื้อหาของการสัมภาษณ์บนเวทีประกวดก็เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งสิ้น
“พิธีกร : ถ้าผมไปเที่ยวประเทศของคุณ คุณอยากจะนำเสนอสิ่งใดมากที่สุด?”
“อาภัสรา : พระบรมหาราชวังค่ะ”
“พิธีกร : ช่วยพูดเชิญชวนให้คนมาเที่ยวประเทศของคุณ เป็นภาษาของคุณ?”
“อาภัสรา : โปรดมาเที่ยวที่เมืองของฉัน”
ในที่สุดนางสาวอาภัสรา หงสกุล ก็เป็นผู้ชนะและเปิดหน้าประวัติศาสตร์นางงามจักรวาลคนแรกของไทย
การได้มงกุฎนางงามจักรวาลของไทยส่งผลให้เกิดปฏิรูปวงการนางงามในประเทศ โดยเฉพาะการการนำเสนอความเป็นไทยผ่านตัวนางงามก็ถูกใช้อย่างเข้มข้นในปีต่อๆมา เพราะนางสาวไทยนอกจากจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดนางงามจักรวาลแล้ว ยังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งเพิ่มรอบสัมภาษณ์เพื่อให้สอดคล้องกับการประกวดนางงามในเวทีโลก ซึ่งสาวงามที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป เช่น ถ้าได้รับตำแหน่งนางสาวไทยจะช่วยเหลือสังคมอย่างไร คุณชอบทานอาหารไทยอะไร คุณจะนำเสนอความเป็นไทยอะไรในเวทีโลก ฯลฯ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ประวัติศาสตร์ “การคัดค้าน” ผลตัดสินประกวดนางงาม “ดราม่าแรกในวงการนางงามสยาม”
ความเป็นไทยในเวทีโลก
“การประกวดชุดประจำชาติยอดเยี่ยม” สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอ “ความเป็นไทย” บนเวทีนางงามจักรวาล ซึ่งนางสาวแสงเดือน แม้นวงศ์ นางสาวไทย พ.ศ.2512 ได้สวมชุด “นางรำ” จนได้รับรางวัลชนะเลิศชุดประจำชาติยอดเยี่ยมเป็นคนแรกของไทย จนกระทั่งผ่านมาให้หลังเกือบ 20 ปี นางสาวภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทย พ.ศ.2531 สามารถคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของไทยพร้อมรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม จึงเป็นการจุดกระแสความนิยมการนำเสนอความเป็นไทยผ่านเวทีนางงามให้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นในปี พ.ศ.2535 ประเทศไทยจึงได้ขอเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามจักรวาลครั้งแรก โดยมุ่งหวังเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
ในขณะเดียวกัน การคัดเลือกตัวแทนประเทศปีนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะมีสาวสวยมากหน้าหลายตาทั่วประเทศรวมไปถึงสาวไทยจากต่างแดนต่างตบเท้าเข้ามาประกวด ซึ่งสาวงามตัวเต็งในปีนั้นเป็นสาวลูกครึ่งไทยอเมริกันนามว่า นางสาวจิดาภา ณ ลำเลียง ที่สามารถกวาดรางวัลพิเศษไปถึง 4 รางวัล โดยคณะกรรมการมองว่าเธอควรได้รับรางวัลเนื่องจากพูดภาษาอังกฤษได้และสวยทันสมัยแบบสากล แต่คณะกรรมการอีกส่วนหนึ่งมองว่าเธอยังไม่เหมาะกับการเป็นตัวแทนประเทศไทย เพราะหน้าฝรั่ง พูดไทยไม่ชัด ไม่รู้วัฒนธรรมไทย สุดท้ายคณะกรรมการจึงตัดสินให้นางสาวอรอนงค์ ปัญญาวงศ์ สาวงามจากเชียงใหม่ ผู้ที่ได้รับรางวัลความสามารถพิเศษจากการฟ้อนสาวไหมเป็นผู้ชนะ เพราะมองว่าปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ต้องเลือกคนหน้าไทยและรู้จักความเป็นไทยอย่างดี
หากย้อนดูประวัติศาสตร์ผู้ครองมงกุฎนางสาวไทยที่ผ่านมาแล้วนั้น “ผู้ชนะ” ก็ล้วนแล้วแต่มีความงามตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ที่ให้คำนิยามความงามดังกล่าวว่า “สวยแบบไทยๆ” ซึ่งอาจเป็นการปิดกั้นการให้คุณค่าความงามของหญิงไทยเชื้อชาติอื่นบนพื้นฐานความงามแบบไทยแท้ที่ไม่มีอยู่จริง
คลิกอ่านเพิ่มเติม : นางงามไทย: จากใต้อำนาจรัฐสู่การรับใช้นายทุน
อ้างอิง
นฤบาล หว่างตระกูล สัมภาษณ์, 11 ตุลาคม พ.ศ.2563.
วิศเวศ วัฒนสุข. สัมภาษณ์, 11 ตุลาคม พ.ศ.2563.
วิศเวศ วัฒนสุข. 8 ทศวรรษ ดอกเอื้องเวียงพิงค์ สายสัมพันธ์แห่งอารยธรรม. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ. 2549.
สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล. การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ.2477 – 2530). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531.
อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์. 2533.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2563