ประวัติศาสตร์ “การคัดค้าน” ผลตัดสินประกวดนางงาม “ดราม่าแรกในวงการนางงามสยาม”

วงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวสยาม พ.ศ. 2479

“การประกวดนางงาม” ถือเป็นกิจกรรมบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจจึงเกิดเป็นกระแสข่าวอยู่เสมอ ในปัจจุบันพบว่าสังคมไทยมีเวทีการประกวดนางงามน้อยใหญ่เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ระดับตำบลจนไปถึงระดับชาติ บ้างก็เป็นนางสาวจังหวัดนั้น นางงามอำเภอนี้ หรือไม่ก็เป็นเทพีต่างๆ ตามแต่จะเรียกกัน

แต่ถึงอย่างไรเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการประกวดความงามแล้ว ก็ย่อมมีทั้งผู้สมหวังและผิดหวัง เพราะตำแหน่งสูงสุดมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สาวงามกว่าสิบกว่าร้อยคนต่างพากันแย่งชิง จึงนำไปสู่การแข่งขันที่ดุเดือด โดยสาวงามแต่ละคนจะสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อพิชิตใจคณะกรรมการให้มากที่สุด จนบางครั้งอาจนำมาซึ่งการไม่ยอมรับผลการตัดสินจากบรรดาผู้ชม หรือไม่ก็เป็นสาวงามผู้เข้าประกวดที่มองว่าการตัดสินไร้ซึ่งความยุติธรรม ถึงขนาดที่ว่ามีการออกมาแฉเบื้องหลังของกองประกวด

บางเวทีถึงกับกระชากมงกุฎขณะสวมใส่ให้กับผู้ชนะก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนเวทีประกวดนางงามระดับชาติ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นหากย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ในการประกวดนางสาวสยามก็เกิดเหตุการณ์การประท้วงผลการตัดสินจากบรรดาผู้เข้าประกวดจนเป็นข่าวโด่งดังอย่างมากในสังคมยุคนั้น อาจเรียกได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปฐมบทของ “การประท้วง” ผลการตัดสินในวงการนางงามก็ว่าได้

ประกวด “นางสาวสยาม”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “คณะราษฎร” เป็นผู้ปลุกกระแสการประกวดนางงามให้เป็นที่นิยมในสยาม อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ในระบอบประชาธิปไตยไปสู่ประชาชน จึงได้มีการริเริ่มให้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญทั่วทั้งประเทศ โดยใช้งานมหรสพและงานแสดงกิจกรรมจากส่วนราชการต่างๆ มาดึงดูดให้ประชาชนเที่ยวชมงาน เพื่อสอดแทรกความรู้ในระบอบปกครองใหม่ภายใต้กิจกรรมความบันเทิงควบคู่ไปด้วย

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการริเริ่มให้มีการประกวด “นางสาวสยาม” เกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพ ซึ่งในปีนั้นมีสาวงามผู้เป็นตัวแทนจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมการประกวดทั้งหมด 16 คน ผลการตัดสินปรากฏว่า นางสาวกันยา เทียนสว่าง ตัวแทนจากจังหวัดพระนครสามารถคว้าตำแหน่งนางสาวสยามไปครองได้สำเร็จ โดยเธอได้รับมงกุฎและถ้วยเกียรติยศ

นอกจากนี้เธอยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยชาติในด้านต่างๆ อาทิ การแสดงละครเวทีเพื่อสาธารณกุศล การออกงานเพื่อช่วยสมทบทุนหาเงินซื้ออาวุธให้กองทัพสยาม ตลอดจนการออกงานเพื่อเป็นเกียรติให้กับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน

“ดราม่าครั้งแรกในวงการนางงาม”

กิจกรรมการประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญดูเหมือนจะราบรื่นดีไม่เกิดปัญหาใดๆ อีกทั้งยังได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา แต่ทว่าในการประกวดนางสาวสยามในปี พ.ศ. 2479 เรื่องราวดราม่าก็ได้อุบัติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการนางงาม เพราะมีผู้เข้าประกวดนางงามรวม 4 คน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านผลการตัดสินโดยอ้างเหตุผลที่ว่า ผู้ชนะนางงามในปีนี้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากอายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้

ที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่การประกวดนางงามประจำภาคที่ 4 ซึ่งจะทำการคัดเลือกสาวงามเฉพาะจังหวัดพระนครที่ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย

ผลปรากฏว่า นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ ส่งเข้าประกวดโดยหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์เป็นผู้ชนะนางงามภาคที่ 4 ท่ามกลางผู้เข้าประกวดที่ผ่านมาถึงรอบสุดท้ายอีก 4 คน ประกอบด้วย นางสาวเรียม แย้มบุญชู ตัวแทนจากอำเภอปทุมวัน, นางสาวจุลินทร์ ตนุลานนท์ ตัวแทนจากอำเภอลาดกระบัง, นางสาวชูศรี ณ นคร ตัวแทนจากอำเภอปทุมวัน และนางสาวสุณี สุ่นสวัสดิ์ ตัวแทนจากสาขาสมาคมรัฐธรรมนูญพระนคร

เมื่อได้นางงามประจำภาคครบทั้ง 4 ภาคแล้วก็จะทำการตัดสินผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวสยามอีกทีในคืนวันที่ 12 ธันวาคม โดยก่อนหน้านั้น ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมเรื่อยมาจะเป็นการประกวดนางงามในแต่ละภาคทั้ง 4 ภาค (ประกอบด้วย ภาคที่ 1 ประกวดนางงามจากภาคใต้และภาคกลาง, ภาคที่ 2 ประกวดนางงามจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคที่ 3 ประกวดนางงามธนบุรี และภาคที่ 4 ประกวดนางงามพระนคร)

สำหรับผู้ชนะในแต่ละภาคประจำปีนี้ได้แก่ ภาคที่ 1 นางสาวยินดี มกติ นางสาวนครศรีธรรมราช, ภาคที่ 2 นางสาวเจริญศรี ปาศะบุตร นางสาวชัยภูมิ, ภาคที่ 3 นางสาววิชิต สุนทราณู นางสาวธนบุรี และภาคที่ 4 นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวพระนคร

นางสาววงเดือน สามารถเอาชนะนางงามในแต่ละภาคจนคว้าตำแหน่งนางสาวสยามคนที่ 3 ของประเทศมาครองได้สำเร็จ เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะจบลงด้วยดี  แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่วันเริ่มมีกระแสข่าวลือถึงนางสาวสยามคนล่าสุดมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ อันเป็นการผิดข้อบังคับของการประกวดนางงามในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดนางงามได้ถูกระบุไว้ดังนี้

  1. เป็นบุคคลมีสัญชาติไทย
  2. เป็นนางสาวและมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์
  3. มิใช่เป็นผู้ประกอบอาชีพ หรือมีความประพฤติชื่อเสียงเป็นที่รังเกียจในการสมาคมของสุภาพชน

จึงเป็นเหตุให้ในวันที่ 21 ธันวาคมปี พ.ศ. 2479  สาวงามทั้ง 4 คน ผู้เคยชิงตำแหน่งนางสาวพระนครกับนางสาววงเดือน (นางสาวเรียม แย้มบุญชู, นางสาวจุลินทร์ ตนุลานนท์, นางสาวชูศรี ณ นคร และนางสาวสุณี สุ่นสวัสดิ์) ยื่นหนังสือขอคัดค้านผลการตัดสินต่อหลวงเธียรประสิทธิ์สาร ณ สำนักงานผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของกองประกวดนางสาวสยาม และ พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ รัฐมนตรีฯ และประธานดำเนินงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ในการคัดค้านนี้มิได้มุ่งหมายต้องการแย่งชิงตำแหน่งนางสาวภาคหรือนางสาวสยามจาก นางสาววงเดือน ภูมิรัตน์เลย ผู้คัดค้านต้องการให้ผลการประกวดเป็นไปตามระเบียบที่กองประกวดนางงามวางไว้  การประกวดนางงามไม่ใช่งานที่จัดให้มีขึ้นคล้ายงานเล่นๆ เป็นงานที่เต็มไปด้วยเกียรติยศของชาติ…  

ฉะนั้นเมื่อมีข่าวปรากฏว่า นางสาวสยามเกิดมีอายุไม่สมบูรณ์ตามระเบียบที่วางไว้ ก็จำเป็นต้องขอให้กองประกวดนางงามวินิจฉัยหาความจริง และเพื่อแสดงว่าผู้คัดค้านไม่ได้มุ่งหมายที่จะชิงตำแหน่งของนางสาววงเดือน ฉะนั้นต่อไปถึงหากจะปรากฏเป็นที่แน่นอนว่า อายุของนางสาววงเดือนไม่ครบ 15 ปี และจะให้มีการประกวดกันใหม่แล้ว นางงามผู้คัดค้านทั้ง 4 คน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เข้าประกวด”

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวดังในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่หลายเดือน ซึ่งหลวงเธียรประสิทธิ์สารได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวต้องให้หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ประธานดำเนินงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับที่ท่านติดราชการสำคัญ คือการตรวจสอบการฝึกภาคสนามของทหารราบในมณฑลทหารบกที่ 3 จึงทำให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวยืดเวลาออกไป ในระหว่างนี้บรรดาหนังสือพิมพ์ก็ต่างพากันประโคมข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลและบทสัมภาษณ์จากทั้ง 2 ฝ่าย โดยใช้หลักเกณฑ์การนับอายุผู้เข้าประกวดจากวันสุดท้ายของการรับสมัคร คือ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 เป็นตัวกำหนด

ฝ่ายผู้คัดค้านได้อ้างอิงบัญชีสูติบัตรบัญชีแจ้งเกิดของเด็กหญิงกมล ชื่อเดิมของนางสาววงเดือนเมื่อคำนวณดูแล้ว เท่ากับว่านางสาววงเดือนจะมีอายุแค่ 14 กว่าปีเท่านั้น

ทางฝั่งของพระพิชัยบุริน เจ้าเมืองสมุทรสาคร ผู้เป็นบิดาของนางสาววงเดือนอ้างว่าตนมีบุตรชาย-หญิงรวมทั้งสิ้น 13 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นหญิงได้คลอดในระยะเวลาติดๆ กัน คือ ปีละคน เมื่อปี พ.ศ. 2464 คลอดนางสาววงเดือน และใช้ให้คนในบ้านไปขึ้นทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “แดง” พอปีต่อมาก็คลอดบุตรีอีกคนหนึ่งก็ลงทะเบียนชื่อ “แดง” เช่นเดียวกัน

ต่อมาจึงตั้งนามบุตรีทั้ง 2 คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน คนพี่ชื่อ กมล ส่วนคนน้องชื่อ โฉมศรี ตอนหลังมีเจ้าหน้าที่ทางอำเภอมาสำรวจรายชื่อเพื่อเป็นฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์แล้วตนบอกสลับวันเดือนปีเกิดไขว้กัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิด

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ฉบับวันที่ 26 ธันวาคม 2479

สงครามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์

ในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างตัวสาวงามผู้เข้าประกวดเท่านั้น  ซึ่งตอนนี้เรื่องดังกล่าวได้ลามไปเป็นการต่อสู้กันของบรรดาหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เนื่องด้วยนางสาววงเดือนนั้น หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ส่งเข้าประกวดจนสามารถคว้ามงกุฎอันทรงเกียรติมาได้ จึงทำให้หนังสือพิมพ์คู่แข่งมักจะเขียนข่าวเสียดสีบิดาของนางสาววงเดือน โดยเรียกร้องให้ทางครอบครัวของนางสาวสยามคืนมงกุฎและของรางวัลทั้งหมด

เรื่องราวดังกล่าวดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ ท้ายที่สุดหลวงชำนาญยุทธศิลป์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจต่างๆ ก็ได้มาสะสางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ยืนตามผลคำตัดสินของคณะกรรมการในการประกวดนางสาวสยามเช่นเดิม เนื่องจากการประกวดนางสาวสยามเป็นงานสำคัญในการสรรหาสาวงามมาเป็นเกียรติของชาติและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ

เรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความด่างพร้อยกับผู้เป็นนางงามของชาติ หากจะประกวดใหม่ก็ย่อมเกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคณะผู้จัดงานได้ สอดคล้องกับความเห็นของพระยาสุนทรพิพิธ อธิบดีกรมมหาดไทย ที่ได้ไปปาฐกถาและได้กล่าวถึงเรื่องนี้ดังที่ปรากฏในความตอนหนึ่งว่า “เกียรติของสยามนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่น  แต่ว่าอยู่ในรูปของนางสาวสยามผู้นี้แต่แห่งเดียว”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : นางงามไทย จากใต้อำนาจรัฐ สู่การรับใช้นายทุน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ประมวญวัน วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ดาวนคร วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ดาวนคร วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ดาวนคร วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2479

หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2479


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2563