ชีวิตและความรักของ “เรียม เพศยนาวิน” นางสาวไทยที่พบรักเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซีย

เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทย วันเสกสมรส กับ รายารัฐเปอร์ลิศ
เรียม เพศยนาวิน ภาพขวาสุดคือวันเสกสมรสกับรายารัฐเปอร์ลิศ (ภาพจากหนังสือ "ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต 13 นางสาวไทย, 2533")

ชีวิตและความรักของ “เรียม เพศยนาวิน” นางสาวไทย ที่พบรักเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซีย

ย้อนกลับไปเมื่อ 80 กว่าปีที่แล้ว การประกวดนางสาวไทยเป็นไปอย่างคึกคัก และเป็นที่สนใจจากผู้คนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ การจัดประกวดนางสาวไทยในสมัยนั้นจะจัดขึ้นในโอกาสงานฉลองรัฐธรรมนูญ คือช่วงเดือนธันวาคม

ในปี พ.ศ. 2482 ก็เป็นเหมือนทุกปีที่มีจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ และจัดประกวดนางสาวไทย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ในปีนี้ได้เปลี่ยนชื่อการประกวดเป็น “การประกวดนางสาวไทย” ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อว่า “การประกวดนางสาวสยาม”

ก่อนจะถึงเดือนธันวาคม พวกเจ้าหน้าที่ในอำเภอจะทำหน้าที่เป็นแมวมองหาคนเข้าประกวดนางสาวไทย เพราะการประกวดในสมัยนั้นทางราชการเป็นผู้จัด หนึ่งในหญิงสาวที่มีชื่อด้วยนามว่า “เรียม เพศยนาวิน” สาวน้อยวัยมัธยมเป็นที่ถูกใจแมวมองจากอำเภอ กลุ่มแมวมองจึงเข้าไปทาบทามพ่อแม่ของเรียม แต่พ่อเรียมปฏิเสธ จนร้อนถึงนายอำเภอต้องไปทาบทามด้วยตนเอง บิดาของเธอจึงอนุญาตให้เรียมเข้าประกวดได้

“เรียม เพศยานาวิน” เกิดวันที่ 23 เมษายน 2465 ที่อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ เป็นธิดาคนโต (เธอมีน้องอีก 6 คน) บิดาของเธอชื่อสุมิตร ท่านนับถืออิสลาม มารดาเป็นคนจีนที่อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาตั้งแต่เด็กๆ ชื่อว่าจำรัส

เรียมถูกทาบทามให้เข้าประกวดนางสาวไทยก่อนถึงการประกวดอย่างน้อยๆ 3 เดือน เธอได้ย้ายมาพักอาศัยที่บ้านเพื่อนสนิทของพ่อชื่อนายจิ๋ว (นิพนธ์) สิงห์สุมาลี เป็นคหบดีมีชื่อ ด้วยความที่บ้านของเธออยู่ในสวนลึก รถเข้าออกไม่ได้ การพักที่บ้านนายจิ๋วจึงสะดวกมากกว่า อีกทั้งบ้านนายจิ๋วยังมีรถที่บ้านรับส่งเวลาไปไหนมาไหน เรียมได้รับการอบรมดูแลเพื่อเตรียมตัวเข้าประกวดจากภรรยานายจิ๋วเป็นอย่างดี ตั้งแต่เดินออกกำลังกายที่สวนลุมฯ วันละหลายรอบ ทานข้าววันละ 3 – 4 คำ นอกเหนือจากนั้นให้ทานผลไม้แทน จนเรียมงามพร้อมเข้าประกวดชิงชัย

ด้วยความที่เป็นพี่คนโตของบ้าน และเป็นผู้ทำงานบ้าน โสภี วสุรัตน์ น้องสาวคนถัดมาของเรียม เล่าว่า พี่สาวของเธอเล็บกุดสั้น ไม่เคยเข้าร้านเสริมสวย เมื่อมีเวลาเตรียมตัวไม่นานนักก็ต้องเอาเล็บแช่น้ำอุ่น การบำรุงผิวสมัยนั้นก็แทบไม่พบเห็น ต้องใส่เสื้อแขนยาว แต่โชคดีที่เรียม เป็นคนผิวดีอยู่แต่เดิมแล้ว ผิวสีขาวอมชมพู ไร้ไฝฝ้าจึงถือว่าช่วยหนุนเสริมได้

การประกวดนางสาวไทยได้เริ่มขึ้นพร้อมกับงานฉลองรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 8 – 12 ธันวาคม 2482 ณ สวนอัมพร งานนี้ถือเป็นงานระดับชาติ ยิ่งใหญ่โอฬาร และถือเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมงานอย่างยิ่ง ผู้ไปเที่ยวชมงานจึงแต่งชุดอย่างสุภาพเรียบร้อย ส่วนชุดผู้เข้าประกวด แต่เดิมเป็นชุดกระโปรงยาว บางปีเป็นชุดโจงกระเบน แต่ปีนี้เป็นเสื้อกระโปงติดกันที่ทำจากผ้าไหม เสื้อเปิดหลัง กระโปรงยาวถึงเข่า ห้ามแต่งหน้าเขียนคิ้วทำได้เพียงแค่ทาแป้ง ทาปากเท่านั้น

เรียม วัดตัวตัดเสื้อที่ร้านเมไล ร้านดังในยุคนั้น (ภาพจากหนังสือ “ดอกไม้ของชาติ”)

ผลการตัดสินในคืนวันที่ 12 ธันวาคม ปรากฏว่า “เรียม เพศยนาวิน” สาวมุสลิมวัย 16 ปี ส่งเข้าประกวดโดยอำเภอยานนาวา เป็นผู้ครองมงกุฎนางสาวไทยประจำปี 2482 ทำให้เธอได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากคนดูดังกึกก้อง และได้สวมมงกุฎที่เป็นผ้ากำมะหยี่สีดำ ได้ประดับเลื่อมเพชร พร้อมสายสะพาย ถ้วยรางวัล และเงินสดอีก 2 พันบาท นอกจากนั้นยังได้รับของรางวัลจากสถานทูตญี่ปุ่นเป็นชุดกิโมโนอีกด้วย

เมื่อได้รับตำแหน่งนางสาวไทย แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ทำให้เรียม ได้ออกงานสังคมบ่อยครั้ง แถมยังได้มีงานในวงการบันเทิง เธอเล่นละครเรื่อง “เสียสละ” รับบทเป็นนางเอก นอกจากนี้ เธอยังได้ทำงานที่แผนกรับรองของสภาวัฒนธรรม ที่วังบางขุนพรม ซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกสภาวัฒนธรรม

หลังจากประสบความสำเร็จบนเวที เวลาผ่านไปกว่าทศวรรษ ในปี 2492 รายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ ประเทศมาเลเซีย เสด็จมาเที่ยวประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ท่านรายาไม่ประสงค์จะพักที่โรงแรม แต่จะพักที่บ้านชาวมุสลิม ซึ่ง ส.ส. ปักษ์ใต้ชื่อ เจ๊ะ อับดุลลา หวังปูเต๊ะ ที่เป็นผู้ประสานงานและเป็นเพื่อนสนิทของนายจิ๋ว รายาหนุ่มจึงได้เสด็จมาพักที่บ้านนายจิ๋ว ซึ่งก็เป็นบ้านที่เรียมพักอยู่เช่นกัน แต่เธอมักจะหลบหน้าทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงขบวณรถเสด็จวิ่งเข้าสู้รั้วบ้าน

นอกจากการพักแล้ว รายายังประสงค์จะได้ยลโฉมนางสาวไทยที่เป็นมุสลิม แต่ในคราแรกพระองค์ไม่ทรงทราบว่าพักอยู่ที่เดียวกับนางงามที่พระองค์ต้องการชมโฉม กระทั่งเหตุบังเอิญในวันหนึ่ง ขณะที่เรียม กำลังตีแบดมินตันกับลูกสาวนายจิ๋วอยู่จึงหลบไม่ทัน ทำให้รายาเห็นโฉมหน้าเธอแล้วถึงกับสะดุดตาในทันที คนใกล้ชิดของรายาเล่ากันว่า ท่านถามเจ้าบ้านว่า เป็นคนเดียวกับในรูปที่ตั้งในบ้านหรือไม่ และแล้วรายาหนุ่มก็รับรู้ว่าเธอเป็นคนเดียวกับที่เคยได้ยินชื่อเสียงความงามโด่งดังไปถึงมาเลเซีย

ท่านรายาได้พูดกับผู้ใหญ่ว่าชอบในตัวเรียมมาก ทั้งสองออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านด้วยกันบ่อยๆ แม้เรียมไม่สู้จะเต็มใจนัก แต่ด้วยความเกรงใจญาติผู้ใหญ่ที่สนันสนุน เมื่อถึงกำหนดรายาก็เสด็จไปลอนดอน และกลับบ้านเกิด หลังจากนั้นการติดต่อของทั้งสองก็ยังคงดำเนินต่อไป รายายังเสด็จมาไทยอีกสองสามครั้ง ทั้งสองดูใจกันมาครบหนึ่งปี เรียมจึงรับหมั้นรายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ ผู้ใหญ่ฝ่ายเรียมไม่เรียกร้องเรื่องสินสอดหมั้นขอเพียงเลี้ยงดูเรียมให้ดี อรสม ผู้เขียนหนังสือรวบรวมประวัตินางสาวไทยยุคแรกเล่าว่า ผู้ร่างการ์ดเชิญแขกมาร่วมงานนี้คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 พิธีหมั้นของทั้งคู่จัดขึ้นที่บ้านพักของเรียม ต่อมาเรียมในวัย 29 ปี ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับเอช.เอช.ซุดพัตรา ชามาลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิส ที่บ้านนายจิ๋ว เมื่อ 18 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน และวันที่ 20 กรกฎาคม รายากับเจ้าสาวได้เดินทางสู่ปีนังเพื่อฮันนีมูนด้วยกันอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจึงเดินทางสู่รัฐเปอร์ลิศ เรียมได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระเจ้าย่า พระเจ้าแม่ อำมาตย์ ข้าราชการ และประชาชน โดยเธอพักอยู่ในเรือนประทับของพระเจ้าย่า

ย้อนกลับมาที่รายละเอียดก่อนที่รายาจะเสกสมรสกับเรียม สักเล็กน้อย อรสุม สุทธิสาคร ผู้รวบรวมประวัตินางสาวไทยเล่าว่า พระองค์มีมเหสีชาวมาเลเซียอยู่แล้ว และมีโอรสธิดา 8 องค์ เรียมจึงมีตำแหน่งเป็น “รานี” หรือภรรยาคนที่สอง รานีเรียมได้รับความผาสุกอย่างสมบูรณ์ และมีโอรสธิดากับรายาทั้งหมด 4 องค์ โอรสธิดาเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าย่า พระเจ้าแม่ และรายาเป็นอย่างมาก รานีเรียมมักจะกลับเมืองไทยปีละ 3 ครั้ง โอรสธิดาของเธอพูดภาษาไทยได้ทุกคน และมีความสนิทสนมกับญาติที่ไทยอย่างมาก

เรียม เพศยนาวิน และครอบครัว (ภาพจากหนังสือ “ดอกไม้ของชาติ”)

สำหรับรายาซุดพัตรายังได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระราชาธิบดียังดีเปอตวนอากงองค์ที่ 3 ของมาเลเซีย เมื่อปี 2503 เมื่อครบวาระในปี 2508 จึงกลับมาดำรงพระยศรายาแห่งเปอร์ลิศ

เวลาแห่งความสุขผ่านไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งในวันที่ 29 กันยายน 2529 ความโศกเศร้าได้มาเยือนรัฐเปอร์ลิส เมื่อเรียม เพศยนาวิน หรือ “รานีซุดพัตรา ซามาลุลลาอิล ตวนมาเรียม” ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน แม้ว่าเธอจะมีโรคประจำตัวคือโรคถุงน้ำลมในปอดพองก็ตาม แต่น้องๆ ของเธอยืนยันว่าเธอจากไปด้วยอาการหัวใจวานกะทันหัน ขณะอายุ 65 ปี ร่างของเธอถูกฝัง ณ สุสานหลวงประจำตระกูลของสุลต่านรัฐเปอร์ลิส

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อรสม สุทธิสาคร. ดอกไม้ของชาติ จากเวทีความงามสู่เวทีชีวิต อัลบั้มชีวิต 13 นางสาวไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์, 2533.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2562