กำเนิดกรมราชทัณฑ์ เรือนจำกลางบางขวาง-คลองเปรม และการเลิกธรรมเนียมเก็บเงินนักโทษ

เรือนจำกลางคลองเปรม กรมราชทัณฑ์
ภาพถ่ายมุมสูงเรือนจำกลางคลองเปรม ตำบลลาดยาวในยุคบุกเบิก (ภาพจาก เว็บไซต์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์)

กำเนิด กรมราชทัณฑ์ เรือนจำกลางบางขวาง-คลองเปรม และการเลิกธรรมเนียมเก็บเงินนักโทษ มีที่มาอย่างไร?

ก่อนรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ ปี 2411-2453) การราชทัณฑ์ยังไม่มีแบบแผนเท่าใด โดยก่อนหน้านั้น มีการแบ่งเรือนจำเป็น 2 ส่วน คือ เรือนจำในกรุงเทพฯ อำนาจและหน้าที่ในการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเสนาบดี และพระมหากษัตริย์ ส่วนเรือนจำในหัวเมือง อำนาจหน้าที่เป็นของเจ้าเมือง

เรือนจำในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. คุก ที่ตั้งอยู่หน้าวัดพระเชตุพน เรียกกันทั่วไปว่า “คุกวัดโพธิ์” สังกัดกระทรวงนครบาล ใช้กุมขังนักโทษที่มีกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป 2. ตราง (ตะรางในปัจจุบัน) เป็นที่คุมขังนักโทษที่มีโทษไม่เกิน 6 เดือน สังกัดกรมและกระทรวงที่ได้บังคับบัญชานั้นๆ ทั้ง 15 กรม (ได้แก่ กรมมหาดไทย, กรมพระกลาโหม, กรมท่า, กรมเมือง, กรมวัง, กรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีการขังนักโทษตามบ้านข้าราชการชั้นสูง อีกด้วย

Advertisement

เรือนจำในหัวเมือง มีที่คุมขังเรียกว่า “ตรางประจำเมือง” เมืองใดที่มีท้องที่กว้างขวาง มีประชาชนจำนวนมากก็มีที่คุมขังย่อยๆ ขึ้นตามอำเภอ ก่อนจะส่งผู้ต้องหาให้กับเจ้าเมือง หรือกระทรวงเจ้าสังกัด ตามแต่โทษความผิดที่กระทำ

จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าเรื่องคุก ตะราง เป็นเรื่องสำคัญ สมควรจะสร้างและจัดตั้งสร้างที่และวางกฎเกณฑ์ให้มีแบบแผนที่ดี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินที่ตำบลตรอกคำเพื่อสร้างคุกแห่งใหม่ เรียกว่า กองมหันตโทษ หรือ คุกใหม่ และให้ซื้อที่ดินข้างศาลพระราชอาญาสร้างตะรางขึ้นเรียกว่า กองลหุโทษ

การก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมดนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาอภัยพลภักดี ( นาก ณ ป้อมเพ็ชร์) ดูแล และให้ไปดูงานที่สิงคโปร์ ก่อนลงมือก่อสร้างในปี 2433 ซึ่งคุกและตะรางทั้งสองแห่งนี้ รวมเรียกว่า กรมนักโทษ สังกัดกระทรวงนครบาล มีพระยาอภัยพลภักดี เป็นจางวางกำกับการ โดยคุกใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2434 ส่วนตะรางใหม่ก่อสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2434

ในปี 2434 ยังออกกฎที่เกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ใหม่ ดังนี้

1. ให้เลิกธรรมเนียมที่มีการเก็บเงินนักโทษในคุก (เดิมนักโทษต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อต้องขังและพ้นโทษรวมประมาณ 5 ตำลึง หรือ 20 บาท) และให้เจ้าพนักงานได้รับเงินเดือน

2. ยกเลิกธรรมเนียมพันธนาการจำนักโทษที่เดิมใช้พระราชอาญาจำ 3 ประการ 5 ประการ ( หนึ่งตรวนใส่ข้อเท้า, สองเท้าติดขื่อไม้, สามโซ่ล่ามคอ, สี่คาไม้ใส่คอทับโซ่, ห้ามือสองมือสอดเข้าไปในคา และไปติดกับขื่อมือทำด้วยไม้) และข้อบังคับอื่น เช่น การแบ่งประเภทนักโทษ, การคุมขัง, ค่าใช้จ่ายต่างๆ (ในการเลี้ยงดู, เครื่องนุ่งห่ม, ค่ารักษาพยาบาล) เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ฯลฯ

ส่วนงานราชทัณฑ์ในหัวเมืองนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ (ประกาศใช้ในตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2444) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินงานได้สะดวก นอกจากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งสมุหเทศาภิบาล, ปลัดเทศาภิบาล, ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเรื่อนจำในมณฑลและเมือง ยกเว้นเรือนจำประทุมธานี, ธัญญะบุรี, มีนบุรี, นนทบุรี, นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) และสมุทรปราการ ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล

สมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2453-2468) กองมหันตโทษ และกองลหุโทษ จากกระทรวงยุติธรรมไปขึ้นกับกระทรวงนครบาล ในปี 2454 เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหา ฝ่ายกระทรวงกลาโหมขอถอนทหารประจำกองลหุโทษ ทำให้กระทรวงยุติธรรมต้องจ้างผู้คุมนักโทษซึ่งขาดความน่าไว้วางใจ

นอกจากนี้ภารกิจของกระทรวงยุติธรรมในเรื่องการศาลก็มีอยู่มาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายกองมหันตโทษ และกองลหุโทษ กลับไปอยู่กระทรวงนครบาลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2454

กระทั่งปี 2458 งานราชทัณฑ์มีการรวบรวมขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกันทั่วประเทศ โดยตั้งเป็น กรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงนครบาล และวันที่ 13 ตุลาคม 2458 โปรดเกล้าให้ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรปราการ เป็นอธิบดีกรมคนแรก ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2465 ก็โอนกรมราชทัณฑ์ไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม

ถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยุบ “กรมราชทัณฑ์” เป็นแผนกหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ในปี 2469 โดยให้กองมหันตโทษ, กองลหุโทษ และเรือนจำทั่วประเทศ ขึ้นตรงต่อกรมบัญชาการ กระทรวงยุติธรรม ปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้โอนเรือนจำกระทรวงยุติธรรมเป็นแผนกหนึ่งเรียก “แผนกราชทัณฑ์” ขึ้นกับกรมลำพังค์ กระทรวงมหาดไทย และวันที่ 10 เมษายน 2471 โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของสมุหพระนครบาล

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จึงมีการจัดตั้งขึ้นเป็น กรมราชทัณฑ์อีกครั้ง และมีการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479

ที่มา “เรือนจำกลางบางขวาง” และ “เรือนจำกลางคลองเปรม” 

เรือนจำกลางบางขวาง เกิดจากรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้ย้ายเรือนจำกองมหันตโทษ (คุก) ออกไปจากพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กับ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดซื้อที่ดินฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลบางขวาง อำเภอตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี ได้เนื้อที่ 60,776 ตารางวา

แต่การก่อสร้างเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 7 แรกเริ่มนั้นเรียกว่าเรือนจำมหันตโทษ ส่วนชื่อ “เรือนจำกลางบางขวาง” นั้น เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนเรือนจำกลางคลองเปรม หรือ เรือนจำลาดยาว เกิดขึ้นเมื่อปี 2478 เรือนจำลหุโทษ (เรือนจำกลางคลองเปรมเดิม ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์และสวนรมณีนาถ) ที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศน์เทพวราราม กับถนนมหาไชย ทรุดโทรม

ขุนศรีสรากร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เห็นว่าควรย้ายและสร้างใหม่ จึงเลือกที่ดินบริเวณตำบลลาดยาว อำเภาบางเขน จังหวัดพระนคร ตรงข้ามคลองเปรม เป็นสถานที่ก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ แต่ได้งบประมาณการก่อสร้างจำนวน 86 ล้านบาทเศษ ในปี 2496  

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2513 จึงได้ยุบเรือนจำคลองเปรม ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร ไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม (แห่งใหม่) ที่ตำบลลาดยาวนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อมรา ขันอาสา. สภาพสังคมไทย :  ศึกษาจากงานการราชทัณฑ์ระหว่าง พ.ศ. 2433-2476, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2525

ประวัติเรือนจำกลางบางขวาง  เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

ประวัติเรือนจำกลางคลองเปรม เว็บไซต์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2563