แนวทางควบคุม “นักโทษการเมือง” สมัยคณะราษฎร

เรือนจำมหันตโทษ หรือเรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2565 เสนอบทความหลักเรื่อง “นักโทษการเมืองสมัยคณะราษฎร : แนวคิด การคุมขัง และการปลดปล่อย” ซึ่งเป็นผลงานของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ที่เรียบเรียงใหม่จาก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “จากการคุมขังสู่การแก้ไขฟื้นฟู: การเปลี่ยนแปลงของการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ พ.ศ. 2433-2506” ของเขา มาให้อ่านกันแบบจุกจุก

เป็นการจุกด้วยคุณภาพ และปริมาณ ที่รับรองว่าท่านผู้อ่านจะจุใจ

ก่อนจะไปดูว่า สมัยคณะราษฎรมีแนวคิดเรื่องนักโทษการเมืองอย่างไร ก็ต้องไปดูว่าก่อนหน้า 2475 ราชการมีแนวคิดต่อเรื่องนี้อย่างไร

ภาพหมู่นักโทษการเมืองคณะ ร.ศ. 130 ที่ถูกคุมขังในคุกกองมหันตโทษ

แม้ว่าจะมีผู้ต้องโทษจำคุกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น กรณีเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร.กุหลาบ สมัยรัชกาลที่ 5, คณะ ร.ศ. 130 สมัยรัชกาลที่ 6, นรินทร์ ภาษิต สมัยรัชกาลที่ 7 แต่ทางการไม่ได้จัดพวกเขาเป็น “นักโทษการเมือง” หากเป็นผู้กระทำผิดอาญาแผ่นดิน เนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศเวลานั้น ไม่มีการแยกความผิดทางการเมืองออกจากความผิดทางอาญาอย่างชัดเจน

นั่นสะท้อนว่า ก่อน 2475 ตำรากฎหมายต่างๆ ของไทย ไม่มีบทที่ว่าด้วยความผิดในทางการเมือง

ดังนั้น เทียนวรรณที่มีความผิดฐานหมิ่นตราพระราชสีห์หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ร.ศ. 130 ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ศาลจึงพิพากษาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายลักษณะอาชญา มาตรา 97 อันเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ปลายทศวรรษ 2460 จนถึงต้นทศวรรษ 2470 ประเด็น “นักโทษการเมือง” เริ่มมีมากขึ้น จากชาวต่างชาติที่ไม่ใช่คนในบังคับสยามมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะชาวจีนคณะก๊กมินตั๋งที่ปลุกระดมคนจีนในสยามให้ต่อต้านอังกฤษและญี่ปุ่น เผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์ของซุนยัตเซ็นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์จีนและการชุมนุมของสมาคมลับ, จากกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่ชาวเวียดนามและชาวจีนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพสากลผ่านการจัดตั้งกรรมกร ชาวนา และนักเรียน แม้การเคลื่อนไหวมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองภายนอกสยาม แต่ก็มีผลต่อความสงบเรียบร้อย กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อมีการจับกุมเกิดขึ้นบทลงโทษที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเนรเทศ

หลังการปฏิวัติ 2475 ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ ในช่วง พ.ศ. 2476 ตั้งแต่พระยามโนปกรณ์ฯ ทำรัฐประหารเดือนเมษายน ฝ่ายคณะราษฎรยึดอำนาจคืนได้เดือนมิถุนายน และกบฏบวรเดชเดือนตุลาคม ฯลฯ

บรรยากาศการเมืองเช่นนี้ รัฐบาลพระยาพหลฯ จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนำเสนอผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ จนมีการประกาศใช้เป็น “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476”

นอกจากนี้ รัฐบาลคณะราษฎรยังตั้งศาลพิเศษ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีกบฏและก่อการจลาจลในเหตุการณ์กบฏครั้งสำคัญเป็นการเฉพาะ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476, กบฏนายสิบ พ.ศ. 2478 และกบฏพระยาทรงสุรเดช พ.ศ. 2481

เมื่อมีกฎหมาย และศาลพิจารณาตัดสินลงโทษ ก็ขยายไปสู่ “การควบคุม” นักโทษการเมือง

เดือนตุลาคม 2746 กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ ผู้บัญชาการเรือนจำทุกแห่งต้องนำส่งบัญชีรายชื่อนักโทษการเมือง, สำเนาคำฟ้อง และสำเนาคำพิพากษา แก่กรมราชทัณฑ์ทุกครั้งที่มีการส่งนักโทษการเมืองมาคุมขัง และแจ้งข้อมูลเมื่อพ้นจากการคุมขัง

หลวงบรรณสารประสิทธิ์ (สิทธิ โรจนวิภาต) ผู้ตรวจการเรือนจำกรมราชทัณฑ์

ขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์เองก็พิจารณาสถานะและวางแนวทางปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง หลวงบรรณสารประสิทธิ์ ผู้ตรวจการเรือนจำ ตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบข้อบังคับของราชทัณฑ์ไม่มีการแบ่งแยกนักโทษสามัญ-นักโทษการเมือง ทั้งที่นักโทษการเมืองมีลักษณะแตกต่างจากนักโทษอาญาทั่วไปชัดเจน คือ การกระทำผิดนั้นขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐบาลในขณะนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองความผิดของนักโทษการเมืองอาจได้รับอภัยโทษ การลงโทษจำคุกนักโทษการเมืองจึงควรดำเนินการเพียงจำกัดอิสรภาพแต่ไม่สร้างความทุกข์ทรมานบีบคั้น

หลวงบรรณสารประสิทธิ์เห็นว่า เนื่องจากนักโทษการเมืองยังมีจำนวนไม่มาก แนวทางปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองนั้น ยังไม่จำเป็นต้องมีเรือนจำเฉพาะ เห็นควรให้ใช้เรือนจำกองมหันตโทษ, เรือนจำกองลหุโทษ ด้วยหลักที่ว่าให้แยกขังนักโทษการเมืองกับนักโทษอื่นๆ ระมัดระวังมิให้มีการติดต่อหารือระหว่างนักโทษการเมืองด้วยกัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในเรือนจำ ไม่ควรใส่ตรวนแก่นักโทษการเมือง นอกจากกระทำผิดข้อบังคับหรือก่อความไม่เรียบร้อย

ส่วนการใช้แรงงานนั้น แม้ปกติถือว่าแรงงานนักโทษเป็นของหลวง แต่การใช้แรงงานนักโทษการเมืองทำให้มีการพบปะระหว่างนักโทษ ซึ่งหลวงบรรณสารประสิทธิ์กังวลว่า อาจทำให้เกิดการยุยงปลุกปั่นหรือเผยแพร่ลัทธิการเมืองในหมู่นักโทษทั่วไปได้ หากควรแยกนักโทษการเมืองมาทำงานที่ใช้ความรู้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการควบคุมนักโทษการเมืองของหลวงบรรณสารประสิทธิ์ถูกนำมาใช้เฉพาะภายในเรือนจำมหันตโทษ (หรือเรือนจำกลางบางขวาง) เท่านั้น เรือนจำลหุโทษ หลวงอดุลเดชจรัส รักษาการรองอธิบดีกรมตำรวจ ทำหนังสือถึงพระบริหารทัณฑนิติ ผู้บัญชาการเรือนจำกองลหุโทษ ขอให้ปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองที่ฝากขังเช่นเดียวกับสถานีตำรวจต่างๆ (เช่น ห้ามเยี่ยมนักโทษเด็ดขาด, ห้ามส่งจดหมายให้เด็ดขาด ฯลฯ)

หากหลังจากรัฐบาลคณะราษฎรสามารถปราบปรามกบฏบวรเดชลง ได้มีการจับกุมทหารและพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏจำนวนมากกว่า 300 คน ที่กระจายคุมขังตามสถานที่ต่างๆ หากยังไม่มีระเบียบข้อบังคับการควบคุมผู้ต้องขังการเมืองอย่างเป็นทางการ ผ่อนปรนหรือเคร่งครัดเพียงใดขึ้นกับผู้บัญชาการเรือนจำหรือตำรวจ

ขุนจำนงภูมิเวท (จำนง ศิวะแพทย์) ผู้บัญชาการเรือนจำบางขวาง (คนที่ 2 จากซ้าย) กับพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) นักโทษการเมืองกบฏบวรเดช (คนที่ 3 จากซ้าย) ถ่ายรูปหลังจากรับประทานอาหารร่วมกัน ในคราวที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้พระยาศราภัยฯ ออกจากเรือนจำ ไปเยี่ยมศพภรรยาและจัดการทรัพย์สินที่บ้านเป็นกรณีพิเศษเมื่อ พ.ศ. 2479

เช่น ในสมัยที่ขุนจำนงภูมิเวท (จำนง ศิวะแพทย์) เป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางในช่วง พ.ศ. 2478-80 ให้อิสระแก่นักโทษการเมืองมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมตามความสนใจ เช่น เล่นกีฬา, เล่นดนตรี, ถ่ายทอดวิชาความรู้กันระหว่างของนักโทษ (หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร สอนวิชากสิกรรม, หลุย คีรีวัต วิชาบัญชี, สอ เสถบุตร วิชาภาษาอังกฤษ, แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ วิชาโหราศาสตร์ ฯลฯ) กิจกรรมบางส่วนก็เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น ปทานุกรมอังกฤษ-ไทยของสอ เสถบุตร, ตำราเพาะปลูกของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร,  ตำราวิชาเครื่องยนต์ของหลวงสรจิตต์โยธิน เป็นต้น

ขณะที่กิจกรรมของนักโทษการเมืองอีกด้านหนึ่ง ก็ท้าทายอำนาจรัฐ ตัวอย่างเช่น การออกหนังสือพิมพ์ใต้ดินรายสัปดาห์ชื่อ “น้ำเงินแท้” ที่ สอ เสถบุตร, สุโพด พินธุโยธิน, จงกล ไกรฤกษ์, ผิว บุศย์อยู่พรหม, ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน, พระยาศราภัยพิพัฒ, หลุย คีรีวัต และพระศรีสุทัศน์ ช่วยกันเขียนบทความต่างๆ เพื่อ เผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง

ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเนื้อหาตัวอย่างโดยย่อจากที่ “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้นำเสนอ ขอท่านได้โปรดติดตามจากบทความสมบูรณ์ในนิตยสาร ที่จะให้ภาพกิจการราชทัณฑ์ไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่ความผิดและสถานะของนักโทษการเมือง ก่อน-หลัง 2475 แนวทางปฏิบัติ-การคุมขังนักโทษการเมืองสมัยคณะราษฎร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2565