ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองเปลี่ยน “คุกกลางกรุงเทพฯ” เป็น “มหาลัยลาดยาว”

คุกลาดยาว มหาลัยลาดยาว
ภายในคุกลาดยาว ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ และเพื่อผู้ต้องหาคดีการเมืองใช้เเลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาต่างเสมือนหนึ่ง "มหาลัย"

พล.ต.ต. อุทัย อัศววิไล อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวถึง คุกลาดยาว ว่า

“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในคุกลาดยาว คนที่ถูกกวาดล้างมาจากทั่วทุกสารทิศ นับวัน…สอบครั้งแรกยังพูดไม่เป็น หรืองกๆ เงิ่นๆ หลังจากช่วงเวลา 6 เดือน หรือหนึ่งปีผ่านไปแล้ว คนเหล่านี้แก่กล้าและมีลักษณะคล้ายถูกจัดตั้ง มีทฤษฎีการรับรู้ดีขึ้น คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็อ่านออกเขียนได้ คนที่รู้ภาษาเดียวก็ได้ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เพิ่มมาด้วย…เราก็มาสรุปกันว่า ถ้าอย่างนี้เหมือนกับเราได้เปิดมหาวิทยาลัยมาร์กซิสม์ปักกิ่ง กลางกรุงเทพมหานคร แล้วเจ้าหน้าที่ผู้คุมขังระดับต่างๆ ก็ไม่มีความรู้อะไรเหล่านี้ไปไล่กันได้…” [เน้นคำโดยผู้เขียน]

“คุกลาดยาว” ที่กล่าวถึงก็คือ “เรือนจำกลางคลองเปรม” ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพฯ นั้นเอง ที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ซึ่งส่วนมากเป็นปัญญาชนที่มีพื้นฐานความรู้การศึกษาดีถูกจับกุมเข้ามาก พวกเขาได้สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันผู้ต้องหาด้วยกัน ดังตัวอย่างต่อไป

นักโทษคดีกบฏ ร.ศ. 130 ที่สะสมหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษประมาณ 3,000-4,000 เล่ม แบ่งเป็นสายวิชาแพทย์, กฎหมาย, ประวัติศาสตร์ ฯลฯ จัดหนังสือแบบห้องสมุด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีผู้เชี่ยวชาญตามสาขา เช่น ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง สอนวิชากฎหมาย, อุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา กับทองคำ คล้ายโอภาส สอนวิชาภาษาอังกฤษและการแปล ฯลฯ

นักโทษคดีกบฏบวรเดช ปี 2476 ก็ได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสืออ่านทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ที่ไม่ใช่หนังสือการเมือง และมีการสอนวิชาต่างๆ เช่น สอ เศรษฐบุตร สอนเรียงความภาษาอังกฤษ, หลวงสรสิทธิษานุการ สอนภาษาญี่ปุ่น, พระภาษาศรีรันต์ สอนภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ

ผู้ต้องขังคดีกบฏสันติภาพ ปี 2495 เช่น สมัคร บุราวาศ สอนวิชาปรัชญาทั่วไปและวิชาธรณี, กุหลาบ สายประดิษฐ์ สอนวิชาการประพันธ์ หนังสือพิมพ์ และวิชาสังคมสงเคราะห์, น.ต.พร่างเพชร บุณยรัตนพันธ์ สอนภาษาอังกฤษ, ฮั้งเฮ้า แซ่โง้ว ฮะ แซ่ลิ้ม-อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉวยหมินยึเป้า และซ้ง แซ่คู ช่วยกันดูแลการสอนภาษาจีน ฯลฯ

หลังการรัฐประหาร วันที่ 20 ตุลาคม 2501 มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำการรัฐประหารในครั้งนี้ นักโทษการเมืองจำนวนมากก็ถูกส่งเข้ามากุมขังที่ลาดยาว ในไม่ช้าพวกเขาก็เริ่มจัดตั้งแผนกการศึกษาขึ้น มีเปลื้อง วรรณศรี เป็นผู้ดูแลหลักด้านวิชาการ โดยส่วนใหญ่คนก็ยังคงนิยมเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีครูสอนหลายคน ได้แก่ อุดม สีสุวรรณ, กรุณา กุศลาศัย, อิศรา อมันตกุล, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

แล้วผู้ต้องหา และนักโทษ ใช้เวลาตอนไหนเรียนกัน

ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์  2 นักโทษจากคดีกบฏ ร.ศ. 130 เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่าเดิมใช้เวลาในตอนกลางคืนเรียนและทบทวนวิชาต่าง เพราะพวกเขากว่า 20 คนนอนรวมกันในห้องเดียวกัน แต่เเมื่อพระศรีมหิทธิศักดิ์ ผู้คุมใหญ่ต้องการใช้ห้องดังกล่าว นอกจากจะต้องแยกย้ายกันไปนอนที่อื่น ยังต้องเปลี่ยนมาเป็นเวลากลางวัน โดยใช้เวลาหยุกพักตอนเที่ยง

นอกจากการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ แล้ว นักโทษการเมืองเหล่านี้ยังมีกิจกรรมสันทนาการอื่นร่วมกันเท่าที่สถานที่จะอำนวย เช่น นักโทษคดีกบฏ ร.ศ. 130 ตั้งวงดนตรีทหาร มีบ๋วย บุณยรัตนพันธุ์ เป็นครูสอนดนตรีและขับร้อง รวมถึงกีฬาประเภทต่างๆ ที่ผู้ต้องขังสร้างสถานที่เล่นและหาอุปกรณ์มาเอง ไม่ว่าจะเป็น บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล ฯลฯ จนถึงกีฬาในร่มอย่าง หมากรุก, บริดจ์, ไผ่นกกระจอก ฯลฯ

และยังมี “คิวบา” หรือโรงอาหารลาดยาว พื้นที่ใช้กิจกรรมเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ต้องคดีทางการเมือง ที่มี อิศรา อมันตกุล เป็นหัวเรือใหญ่ ในการจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าว โดยเขาเองใช้ชื่อเล่นว่า ฟิเดล คาสโตร พื้นที่นี้จึงมีชื่อล้อตามกันว่า “คิวบา” ซึ่งนอกจากอิศราแล้วผู้ที่อยู่ในคิวบาส่วนใหญ่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, กรรมกร ฯลฯ กลุ่มคิวบาจะเป็นผู้เจรจาต่อรองเรื่องสิทธิ์ของผู้ต้องขังกับทางผู้คุมและเรือนจำ, เป็นผู้คัดค้านเรื่องการห้ามไม่ให้ผู้ต้องขังอ่านหนังสือพิมพ์ (จนเรือนจำต้องผ่อนผันตาม) ฯลฯ

หาก “คุก” ก็ยังเป็น “คุก”  ยิ่งเมื่อนักโทษการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนที่ต้องเลี้ยงดูสมาชิกอื่นๆ ในบ้าน ผู้ต้องหาปัญญาชนเหล่านี้จึงต้องสร้างงานผ่านกำแพงคุก เพื่ออุดหนุนครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานเขียนประเภทต่างๆ แน่นอนทั้งหมดต้องเป็นความลับและใช้นามปากกาแทนชื่อจริง ตัวอย่างเช่น

จิตร ภูมิศักดิ์ ผลงานของเขาที่เกิดในลาดยาว ซึ่งในนามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง” ได้แก่ นวนิยายแปลเรื่องแม่ ของแม็กซิม กอร์กี้ กับเรื่องโคทาน โดย เปรมจันทร์ และผลงานชิ้นสำคัญอย่าง ความเป็นของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

อิศรา อมันตกุล เขียนนวนิยายขนาดยาว เช่น ตะวันตก-ตะวันออก, ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน, ไซ่ง่อนพิศวาส ฯลฯ หรืองานแปลอื่นๆ ที่มีประคิณ ชุมสาย ช่วยหามาให้

สุวัฒน์ วรดิลก ตั้งแต่สมัยที่เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพระนคร ชาลี อินทรวิจิตร และกระไน โชติวิทย์ ผู้ก่อตั้งคณะละครโทรทัศน์ชื่อ “อาศรมศิลปิน” ทาบทามขอให้สุวัฒน์เขียนบทละครโทรทัศน์ให้ ซึ่งเขาก็รับคำ เมื่อย้ายมาอยู่คุกลาดยาว สุวัฒน์ยังเขียนบทละครวิทยุให้ธนาคารออมสินหลายเรื่อง เช่น ผี, ก็มีหัวใจ, ภูตพิศวาส ภายหลังยังเขียนนวนิยายและภาพยนตร์ มีน้องสาว-จีรวรรณ วรดิลก ทำหน้าที่รับส่งต้นฉบับให้

กรุณา กุศลาสัย ใช้เวลาในลาดยาวแปลงผลงานขนาดยาวเล่มสำคัญอย่าง คีตาญชลี ของรพินทรนาถ ฐากูร, พบถิ่นอินเดียของยวาหระลาล เนห์รู และชีวประวัติของข้าพเจ้า ของมหาตมา คานธี ซึ่งทั้งหมดแปลจากต้นฉบับภาษาฮินดี โดยมี กรุณา กุศลาสัย ภรรยาเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้

เช่นนี้ “คุกลาดยาว” กลางกรุงเทพฯ จึงกลายเป็น “มหาวิทยาลัยลาดยาว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วิลา วิลัยทอง. “ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563