ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ร.ศ. 130 เหตุฝังพระทัย ร.6 “ไม่ตั้ง” กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเป็นเสนาบดีกลาโหม
เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม สิ้นพระชนม์ (4 กุมภาพันธ์ 2456) สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น ทั้งทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระราชมารดาเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว น่าจะทรงเป็นบุคคลแรกๆ ที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมคนต่อไป แต่การกลับไม่เป็นเช่นนั้น
การแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม 2 ครั้งต่อจากนั้นล้วน “ข้าม” สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถไปทั้งสิ้น
ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงแต่งตั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
ครั้งที่ 2 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ถึงแก่อนิจกรรมลง ทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
เรื่องทรงแต่งตั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงให้เหตุผลที่ทรงไม่แต่งตั้งสมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ ว่า “เธอหรือก็เป็นผู้มีอิศริยยศใหญ่ในทางเจ้า ซึ่งตามราโชบายของเราไม่สู้จะชอบให้รับตําแหน่งเป็นเสนาบดี”
หากจะมองว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตทั้ง 2 คน เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดเวลา แต่ในขณะที่รับราชการทหารทั้งสองท่านไม่มีบทบาทในการบริหารราชการกองทัพเท่าใดนัก และต่างก็สําเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยภายในประเทศ ซึ่งการเรียนการสอนยังคงใช้หลักสูตรการเรียนการสอนคงเป็นแบบเดิมๆ
ขณะที่สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงสําเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยประเทศรัสเซีย โรงเรียนนายร้อยชั้นแนวหน้าของยุโรปในเวลานั้น ด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยม เมื่อทรงกลับมารับราชการกองทัพ ก็ทรงเป็นเสนาธิการทหารและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก นับว่าทรงมีบทบาทสําคัญในการพัฒนากองทัพ ทรงริเริ่มให้มีการออกหนังสือยุทธโกษเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางการทหารให้แก่นักเรียนนายร้อยและนายทหาร, ทรงริเริ่มกิจการการบินภายในประเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังทรงเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาทหารภายในกองทัพ
เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตทั้งสองเองก็ไม่มีบทบาทและอํานาจที่จะทัดทานพระราโชบายต่างๆ ที่สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯทรงมีในการบริหารกิจการภายในกระทรวงกลาโหม หากจะมีหน้าที่ในราชการกระทรวงกลาโหมก็เพียงแต่การสนับสนุนพระบรมราชโองการในเรื่องต่างๆ เช่น การผ่อนผันให้ข้าราชการ, กิจการเสือป่า, การเป็นผู้แทนทหารในพระราชพิธีต่างๆ ฯลฯ
แล้วทำไมสมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จึงไม่ได้ “เป็น” เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
ปัญหาใหญ่สุดในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรง “ระแวง” สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ด้วยทหารส่วนใหญที่ก่อกบฏครั้งนั้น เป็นทหารในสังกัดของกรมทหารมหาดเล็กที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งสมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา และ ร.อ. ขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าผู้ก่อการกบฏยังเป็นแพทย์ประจําพระองค์ในสมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ
ที่สำคัญคือ สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ เป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ ที่คณะผู้ก่อการคิดที่จะทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนรัชกาลที่ 6
แม้การเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารหนุ่มดังกล่าวจะล้มเหลว และสมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯทรงมีส่วนสำคัญในการวางแผนจับกุมสมาชิกผู้ก่อการคนสําคัญ นอกจากนี้หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อยพระองค์ทรงมีหนังสือทูลเกล้าฯ กราบบังคมทูลลาออกจากราชการทหาร
แม้รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์พระราชทานแด่สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯว่า ทรงมีความไว้วางพระราชหฤทัย แต่ตำแหน่งเสนาบดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตทั้งสองข้างต้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามในเรื่องนี้หรือไม่
หากย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงปฏิรูปการปกครอง ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมล้วนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เช่น สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม, สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
เช่นนี้แล้วการที่ สมเด็จฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงไม่ได้ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อาจมีหลายปัจจัย แต่หนึ่งในนั้นคือ “ทรงระแวง”
อ่านเพิ่มเติม :
- รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130
- หลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้หักหลังคณะ ร.ศ. 130 ที่ ร.ต.เนตร ไม่รับเป็นสมาชิก?
- ชีวิตของ “พระยากำแพงราม” หลังจากหักหลังเพื่อนทหารคณะ ร.ศ. 130 ที่วางแผนปฏิวัติ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2,
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2563