รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130

ส่วนหนึ่งของ “คณะ ร.ศ. 130” (ภาพจากปฏิวัติ ร.ศ. 130, สำนักพิมพ์มติชน,2556)

เมื่อ คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 “อิฐก้อนแรก” ของระบบประชาธิปไตยเมืองไทย ตระเตรียมการวางแผนปฏิวัติ ผู้นำและมือกฎหมายของคณะก็เตรียมการเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ควบคู่กันไป

รัฐธรรมนูญคณะ ร.ศ. 130 หน้าตาเป็นอย่างไร ดำเนินการกันอย่างไร

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ค้นคว้าเอกสารเก่าหลายสิบรายการ ก่อนจะเรียบเรียงเป็นคำตอบไว้ในบทความชื่อ “รัฐธรรมนูญของ ‘คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130’ กับ มหากวี ‘ชิต บุรทัต’” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2565

เริ่มตั้งแต่ “ปาเลียเมนต์ (Parliament)” ที่คณะ ร.ศ. 130 ต้องการให้เป็น หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของพวกเขา เช่น ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ เห็นว่า หนทางที่ควรจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาของสังคมไทยก็คือ เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งที่ประชุมปาเลียเมนต์ ให้ราษฎรมีเสียงพูดในราชการบ้านเมือง เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย จึงก่อตั้งสมาคมรวบรวมสมาชิกดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลักฐานการสอบสวนของทางการพบว่า คณะ ร.ศ. 130 มีการประชุมสมาชิกด้วยกัน 8 ครั้ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม ร.ศ. 130 ถึงวันที่ถูกจับกุม (1 มีนาคม ร.ศ. 130) ในการประชุมแต่ละครั้งมีการอภิปรายเรื่องระบอบการปกครอง โดยผู้นำ 3 คนสำคัญ คือ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ท. จือ ควกุล

ผู้นำทั้งสามจะผลัดกันอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (แอ๊บสะลูตมอนากี้ Absolute Monarchy) มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น (ลิมิเต็ดมอนากี้ Limited Monarchy) หรือการปกครองแบบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศส (รีปับลิก Republic) โดยยกกรณีศึกษาจากประเทศอื่นๆ มาประกอบการอธิบาย โดย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือหมอเหล็งและ ร.ท. จรูญ จะชี้นำไปในทางรีปับลิก ว่าการใช้ระบบนี้ พลเมืองจะมีอิสรภาพ มีอำนาจอันชอบธรรมทั่วกันหมด ส่วน ร.ท. จือ จะเป็นผู้คัดค้าน และเป็นผู้นำในข้างลิมิเต็ดมอนากี้-กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การประชุม 2 ครั้งแรก (13 มกราคม และ 20 มกราคม ร.ศ. 130) ที่บ้านหมอเหล็ง จำนวนผู้เข้าประชุมเพิ่ม 9 คน เป็น 20 คน หากยังไม่มีผลตกลงเรื่องรูปแบบการปกครอง

การประชุมครั้งที่ 3 (27 มกราคม ร.ศ. 130) มีฝ่ายวางแผนการกำหนดว่า จะลงมือกระทำการในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในเดือนเมษายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ในวัดพระแก้ว และมีข้อสรุปว่า “…การที่จะเปลี่ยนประเพณีการปกครองแผ่นดินครั้งนี้…ผลที่สุดก็ตกลงกันอย่างเด็ดขาดแล้วว่า ยังไม่เหมาะแก่กาละสมัยจะเป็นประชาธิปตัย ควรลดพระอำนาจพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้พระธรรมนูญก่อน…” กายสิทธิ์ (สมาชิกคณะ ร.ศ. 130)

หลังจากนั้น ผลสรุปของสมาชิกในที่ประชุมครั้งต่อๆ มา พบว่า “มีคนออกความเห็นเป็นฝ่ายรีปับลิก มากกว่าลิมิเต็ดมอนากี”

แต่ก็ไม่สามารถหาผลสรุปที่ชัดเจนเรื่องระบอบการปกครอง ดังที่ สมจิตต์ เทียนศิริ เขียนไว้ใน “หลังฉากการปฏิวัติ ร.ศ. 130” ว่า

…เพราะเหตุที่ว่าสมาชิกที่เข้าใหม่แต่ละคนคราวหนึ่งๆ ก็ย่อมจะต้องมีเสียงผิดแผกแยกแยะออกไปอีกเปนอันมาก ด้วยผู้สมัครคราวหนึ่งก็ย่อมเห็นไปอย่างหนึ่งๆ แตกกัน จึงเห็นสมควรเราทั้งหลายจำจะต้องปล่อยญัตตินี้ให้อยู่ก้ำกึ่ง ในระหว่างการปกครองทั้งสองระบอบตามที่เสนอมานี้ ไว้อีกวาระหนึ่ง ต่อเมื่อถึงคราวลงมือกระทำงานสำคัญแล้ว เราจึงค่อยดูงานฉะเพาะหน้าเปนเครื่องชี้ขาด ก็จะนำเหตุการณ์และเสียงของภายนอกอาศัยเปนทฤษฎีที่เราจะวินิจฉัยลงไปอย่างแน่นอนจริงจังในวันนั้นจะดีกว่า”

ขณะที่ทางการก็เริ่มตรวจตรา, บุกค้น ฯลฯ เข้มข้นขึ้น ก่อนที่รัฐบาลพบและยึดหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสำคัญในหลายพื้นที่ เช่น ที่บ้านหมอเหล็งพบ “กฎข้อบังคับของสโมสร” และ “บันทึกว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ” ที่แสดงสารัตถะแห่งการวิพากษ์ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์, การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น (Limited Monarchy) หรือการปกครองแบบสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศส

ที่สำนักงานอนุกูลคดีกิจ พบ “คำแนะนำสั่งสอนเรื่องชาติบ้านเมือง” ของ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง นอกจากนี้ยังค้นพบเอกสารที่พาดพิงถึงชนชั้นปกครอง

ส่วนที่บ้านผู้อาวุโสสูงสุดของคณะ พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) ตรวจพบสมุดรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ตัดเฉพาะเรื่องกบฏใหญ่ในประเทศจีน

“ศรีสุวรรณ” หรือ เปล่ง ดิษยบุตร

ส่วนผู้ถูกจับกุมมีจำนวนทั้งสิ้น 97 คน ประกอบด้วย นายทหารบก 89 นาย นายทหารเรือ 3 นาย พลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรม 4 คน พลเรือนสังกัดกระทรวงกลาโหม 1 คน  โดยไม่ต้องมีการสืบพยาน ใช้แต่คำให้การเป็นข้อพิจารณา ซึ่งใช้เวลาสอบปากคำเพียง 12 วัน (รายละเอียดไม่ขอกล่าวในที่นี้)

ส่วนของพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรมทั้ง 4 คน ได้แก่ นายเซี้ยง  สุวงศ์ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายน่วม ทองอินทร์ และนายเปล่ง ดิษยบุตร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายและทำหน้าที่เป็นทีมร่างรัฐธรรมนูญของคณะ ร.ศ. 130

โดยผู้ต้องหาที่เป็นพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรม 4 คน มีความเจนจัดด้านกฎหมายและรู้ลู่ทางการสอบสวน ให้การปฏิเสธไม่ยอมซัดทอดใคร และการให้การหลายๆ ครั้งก็ยังยืนยันว่า พวกเขารวมตัวกันคิดตั้งสโมสรแปลหนังสือและแต่งหนังสือออกจำหน่ายเพื่อให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้น

เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เกี่ยวกับบันทึกคำให้การของกลุ่มพลเรือนข้างต้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ของนายอุทัยกับนายเปล่ง มีความตรงกันเรื่องที่ว่าทั้งคู่เคยพบ ร.ท. จรูญ ที่ “ออฟฟิศหมอความ”

โดยนายอุทัยกล่าวว่า “ได้พูดกันถึงเรื่องพงษาวดารอังกฤษ เรื่องโมเดินฮิศตอรี่ ที่คิดว่าจะแปลออก นายเปล่งรับว่าจะเปนผู้แปล”  

ส่วนนายเปล่งที่กล่าวว่า “สักประเดี๋ยวนายร้อยโทจรูญก็มาที่ร้านจีนฮง พูดกับข้าพเจ้าว่าจะช่วยธุระสักหน่อยได้ไหม ข้าพเจ้าถามว่าธุระอะไร เขาว่าขอให้ช่วยแปลหนังสือพงษาวดารอังกฤษชื่อ Elements of English Constitutional History ให้จะได้หรือไม่ ข้าพเจ้าบอกว่าถ้ามีเวลาว่างก็จะแปลให้ได้”

หนังสือที่นายเปล่งกล่าวไว้กับทางการชื่อเล่มว่า Elements of English Constitutional History” หรือที่นายอุทัยเองก็อ้างถึงในชื่อ “เรื่องพงษาวดารอังกฤษ เรื่องโมเดินฮิศตอรี่” สันนิษฐานเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากคือหนังสือเล่มที่มีชื่อเต็มว่า The Elements of English Constitutional History : From The Earliest Times to The Present Day (แปลเป็นไทยว่า “องค์ประกอบของประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษ”)

ในระหว่างการแปลหนังสือดังกล่าว มือกฎหมาย คณะ ร.ศ. 130 จึงเลือกใช้สถานที่ที่เงียบสงบและปลอดภัยจากการทางการ ด้วยเป็นสถานที่ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิด เพราะมันคือ “กุฏิ” ของสามเณรชิต วัดบวรนิเวศ “สามเณรชิต” ผู้นี้ ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม “ชิต บุรทัต” มหากวีผู้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์ นั่นเอง

ส่วน ระหว่าง “รีปับลิก-ลิมิเต็ดมอนากี” สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 เลือกอะไร,  ทำไมการแปลและเรียบเรียงรัฐธรรมนูญของคณะ ร.ศ. 130 จึงเลือกใช้กุฏิพระเณรเป็นที่ทำการ, สามเณรชิตเกี่ยวข้องอย่างไร และเนื้อหาทั้งหมด ขอได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคมนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 13 ธันวาคม 2565