ตูนิเซีย โค่นเผด็จการปกครองประเทศนาน 23 ปี ปฏิวัติสำเร็จในเวลาไม่ถึง 1 เดือนได้อย่างไร

ประชาชน ประท้วง ตูนีเซีย
เลขาธิการพรรคฝ่ายค้านตะโกนโจมตีประธานาธิบดีตูนิเซีย นายเบน อลี (Zine El Abidine Ben Ali) หน้ากระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2011 โดยมีประชาชนร่วมชุมนุมจำนวนมาก (Photo by Fethi Belaid / AFP)

การปฏิวัติที่ ตูนิเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2010 นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21 เพราะสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองประเทศมาถึง 23 ปี โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน และยังเป็นต้นทางของ “อาหรับสปริง” คลื่นปฏิวัติที่ส่งผลสะเทือนไปในประเทศใกล้เคียง อย่างอียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก เยเมน บาห์เรน จอร์แดน ฯลฯ

สถานการณ์ก่อนปฏิวัติ

ตูนิเซีย หรือ สาธารณรัฐตูนิเซีย เป็นประเทศอาหรับมุสลิมในทวีปแอฟริกาเหนือ ก่อนจะปฏิวัติเดือนธันวาคม 2010 ซีเน อัล อาบีดีน เบน อาลี (Xine El Abidine Ben Ali) อดีตรัฐมนตรี ทำการรัฐประหารรัฐบาลตนเอง แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลา 23 ปี (1987-2010) โดยพยายามสร้างภาพว่าการบริหารประเทศของเขาเป็นประชาธิปไตย ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

การเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองของเขาจาก Neo-Destour Party เป็น Democratic Constitutional Rally หรือ RCD [Rassemblement Constitutionnel Démocratique] ให้ประชาชนทุกคนสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ยกเลิกระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว ปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกกุมขัง อนุญาตให้ผู้ที่ถูกขับออกนอกประเทศกลับเข้าประเทศได้ ฯลฯ

หลังการเลือกตั้งปี 1989 เค้าลางความขัดแย้งก็เกิดขึ้น

แม้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมากกว่า 80% แต่ประธานาธิบดี เบน อาลี เริ่มกังวลว่า กลุ่มฝ่ายค้านเริ่มพลังที่จะนำไปสู่การท้าทายอำนาจของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Hizb Ennahda หรือพรรค Renaissance Party ที่ได้คะแนนเสียง 15% ซึ่งเป็นคะแนนที่มากกว่าพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดรวมกัน อันนำไปสู่การจับกุมแกนนำและนักกิจกรรมของพรรคจำนวนมากในเวลาต่อมา และยังแก้กฎหมายการเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์กับฝ่ายตนเองก่อนการเลือกตั้งปี 1999 ทำให้ นายเบน อาลี เหลือคู่แข่งขันเพียง 2 คน และได้รับชัยชนะอีกครั้ง

ด้านปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ปี 2008 ตูนิเซียได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในยุโรป ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออก อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ทั้งหมดลดลง จำนวนผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ตกงานสูงขึ้น 20% เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนในเมืองหลวงกับพื้นที่ห่างไกล

ต้นเดือนธันวาคม 2010 หนังสือพิมพ์ การ์เดียน เสนอข่าวการทุจริตคอร์รัปชันของครอบครัวประธานาธิบดี เบน อาลี โดยเฉพาะบุตรชายวัย 28 ปี ที่เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวย ทรงอิทธิพล ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ฯลฯ

การปฏิวัติที่ “ตูนิเซีย”

17 ธันวาคม 2010 นายโมฮัมเหม็ด โบอาซีซี (Mohammed Bouazizi) พ่อค้าผลไม้วัย 26 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมยึดทรัพย์คือยึดแผงผลไม้และตราชั่ง, ตบหน้าของเขา, ด่อทอบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว ฯลฯ ทำให้ได้รับความอับอาย โบอาซีซีบอกกับเพื่อนของเขาว่า โลกต้องรู้ถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ก่อนที่เขาจะตัดสินใจประท้วงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยการ “จุดไฟเผาตัวเอง” หน้าตึกเทศบาลเมืองซีดี บูซิด

การตายของพ่อค้าผลไม้คือประกายไฟแห่งการปฏิวัติ ผู้คนในเมืองจำนวนมากมายออกมาร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล  

20 ธันวาคม 2010 รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐบาลเดินทางมาพื้นที่เกิดเหตุ และประกาศว่าจะมอบเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานในประเทศ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะประชาชนชนเบื่อหน่ายกับสัญญาที่ไม่เคยเป็นจริงของรัฐบาล ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2010 นายฮูซิน ฟัลฮี (Houcine Falhi) ฆ่าตัวตายอีกคนเพื่อประท้วง โดยใช้ไฟฟ้าช็อตตัวเอง

การประท้วงในระดับท้องถิ่นกลายเป็นระดับภูมิภาคและแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ประธานาธิบดี เบน อาลี ออกประกาศตำหนิและข่มขู่การลงโทษผู้ประท้วง มีการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง สถานการณ์การประท้วงจากปัญหาเรื่องการว่างงาน กลายเป็นการประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดี โดยมีกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมมากขึ้น

7 มกราคม 2011 กองกำลังของรัฐบาลเข้าปราบปรามจับกุมผู้สื่อข่าว นักกิจกรรมเคลื่อนไหว ศิลปินเพลงแร็ป นักแต่งเพลง ที่วิจารณ์ประธานาธิบดี เบน อาลี

11 มกราคม 2011 ภาพข่าวตำรวจและกองกำลังความมั่นคงใช้แก๊สน้ำตา ทุบตี จับกุม และกราดยิงผู้ชุมนุมด้วยสันติ ถูกเผยแพร่จากผู้ประท้วงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

พรรค PDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการจับกุมผู้ประท้วง และเร่งจัดหางานให้พวกเขา ประธานาธิบดี เบน อาลี จึงออกมาประกาศมีใจความหลัก คือ จะไม่ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกหลังหมดวาระปี 2014 จะให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น จะปฏิรูปเศรษฐกิจ จะสืบสวนข้อเท็จจริงการสังหารผู้ประท้วง และประกาศลดราคาสินค้าบริโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ยังสั่งปลดรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในการปราบปรามการชุมนุม แต่ประธานาธิบดี เบน อาลีก็ปฏิเสธว่าตำรวจไม่ได้ยิงผู้ชุมนุม

แต่ทั้งหมดกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม การชุมนุมกลับใหญ่ขึ้น

14 มกราคม 2011 ประธานาธิบดี เบน อาลี ให้สัญญาใหม่ว่าจะจัดการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในอีก 6 เดือน พร้อมกับประกาศใช้ความรุนแรง เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามการรวมกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปพื้นที่สาธารณะ ประกาศเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนทั่วเมืองหลวง ที่สำคัญคือสั่งให้ทหารใช้ปืนยิงผู้ชุมนุมที่ขัดคำสั่ง แต่ทหารปฏิเสธ

และในวันนั้น เบน อาลี และภรรยา หลบหนีออกนอกประเทศทางเครื่องบินไปที่ประเทศมอลตา และฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงจอด และถูกจับกุมในเวลาต่อมา พร้อมคำพิพากษาความผิดจำคุก 35 ปี

ผู้นำเผด็จการไม่อยู่ แต่ระบอบเผด็จการยังอยู่

เมื่อประธานาธิบดี เบน อาลี จะพ้นจากหน้าที่ ศาลธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายฟูอัด เมบัซซา (Fouad Mebazza) ประธานรัฐสภา ดำรงตำแหน่งรักษาประธานาธิบดี เขาจัดตั้งรัฐบาลโดยยึดผู้ที่เคยอยู่ในระบอบเก่า และภักดีกับอดีตประธานาธิบดี เบน อาลี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ

เมื่อรายชื่อคณะรัฐมนตรีประกาศออกมาก็เกิดความไม่พอใจอย่างมาก ฝ่ายค้านลาออกจากรัฐสภา เยาวชนหนุ่มสาวออกมาประท้วงอีกครั้ง (18 มกราคม 2011) จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ิ

ในที่สุด ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดนี้ ก็ต้องลาออก

การจัดตั้งคณะรัฐบาลรักษาการเกิดขึ้นอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีรักษาการคนใหม่ นายอัล-บาจิ คาอิด เอสเซบซี (AI-Baji Caed Essebsi) สั่งการให้จับกุม สอบสวน และดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่พรรค RCD ของรัฐบาลเบน อาลี ครอบครัวและญาติของอดีตประธานาธิบดี เบน อาลี การยุบพรรค RCD และยึดทรัพย์สินของพรรค (9 มีนาคม 2011) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ประกาศปล่อยนักโทษการเมือง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปีนั้นเอง

การปฏิวัติตูนิเซียเกิดขึ้นโดยปราศจากผู้นำ และไม่ได้มาจากประเด็นทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของการว่างงาน หนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษการยกย่องนายโมฮัมเหม็ด โบอาซีซี ผู้จุดประกายไฟแห่งการปฏิวัติ เป็น “บุคคลแห่งปี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศิวัช ศรีโภคางกุล. การปฏิวัติดอกมะลิ: บทวิเคราะห์ว่าด้วยการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งต้นศตวรรษที่ 21, ใน การประชุมวิชาการแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 10 วันที่ 6-7 ธันวาคม 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2563