“ปฏิวัตินักศึกษา” ในฝรั่งเศส 1968 กับนัยของวาทะปธน.เดอโกล อันเป็นจุดพลิกผัน

กลุ่มนักศึกษาเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชนใกล้มหาวิทยาลัยซอร์บอร์นในปารีส วันที่ 6 พ.ค. 1968 (ภาพจาก AFP)

“สงครามกลางเมือง” จนถึงการชุมชนของกลุ่ม เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นเรื่องสะเทือนยุโรปในช่วงปลายปี 2018 อย่างต่อเนื่อง เมืองน้ำหอมที่มีเหตุการณ์ “สงครามกลางเมือง” ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์หลายครั้ง และบางครั้ง นักวิเคราะห์มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นภาพสะท้อนโลกภายใต้ชุดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างเช่นเหตุการณ์ชุมนุมของนักศึกษาเมื่อ ค.ศ. 1968

เหตุการณ์ในปี 2018 ที่เริ่มต้นจากการประท้วงการขึ้นภาษีน้ำมันจนบานปลายและมีหลายกลุ่มเข้ามาผสมด้วยนั้น นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนกระแสในยุโรปซึ่งอาจเป็นชนวนไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

Advertisement

หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปดูบทเรียนที่ฝรั่งเศสเคยประสบเมื่อปลายยุค 60s ซึ่งมีเหตุการณ์การเดินขบวนและเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ท่ามกลางชุดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก อย่างไรก็ตาม สำหรับฝรั่งเศสยังสามารถควบคุมสถานการณ์ในยุคปลาย 60s ได้

เหตุการณ์วุ่นวายในฝรั่งเศสช่วงกลางปี 1968 ถูกนักวิชาการหลายรายเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ “ปฏิวัตินักศึกษา” เกิดขึ้นในสมัยที่นายชาร์ลส เดอ โกล ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐคนแรกตามรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958

ท่ามกลางบรรยากาศสังคมและการเมืองของฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ” ของสมเกียรติ วันทะนะ อธิบายว่า ทศวรรษ 1960 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมฝรั่งเศสเติบโตรวดเร็วที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของประธานาธิบดีชาร์ลส เดอ โกล

จุดเริ่มต้น

การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้มีตัวเลขแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การขยายตัวทางเศรษฐกิจส่งผลมาถึงระบบการศึกษา จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นทั้งในระดับมัธยม และระดับมหาวิทยาลัย ผู้เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็น 540,000 คนในปี 1968 ขณะที่ตัวเลขผู้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1946 มีแค่ 129,000 คนเท่านั้น (Sowerwine, 2009)

ศักยภาพของมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสยุคนั้นที่ยังมีขีดจำกัดประกอบกับความไม่พร้อมในระบบการศึกษาและสาธารณูปโภคร่วมกับความไม่พอใจของนักศึกษาที่มีต่อกระแสสังคมด้านอื่นๆ ทั้งทุนนิยม, บริโภคนิยม, การปฏิบัติของทางการ ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักศึกษาเคลื่อนไหวก่อการ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชานเมืองของปารีส

ดาเนียล เคิห์น เบนดิท (Daniel Cohn Bendit) นักศึกษาซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มนศ. เข้ายึดตึกบริหารมหาวิทยาลัยปารีส วิทยาเขตนองแตร์ เมื่อวันที่ 22 เดือนมีนาคม ค.ศ. 1968 การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นไปเพื่อเรียกร้องการปรับปรุงระบบการศึกษา ระเบียบในระบบการเรียนการสอน และคัดค้านการดำเนินการต่อนักศึกษาบางรายของมหาวิทยาลัย

หลังจากการยึดตึกบริหารของมหาวิทยาลัยเมื่อเดือนมีนาคม นักศึกษาจากนองแตร์ ร่วมกับองค์กรอื่นในนามขบวนการปฏิบัติการมหาวิทยาลัย (University Action Movement) ยึดห้องประชุมในมหาวิทยาลัยปารีส ซอร์บอน เป็นฐานการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้น

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยในนองแตร์สั่งปิดมหาวิทยาลัย ส่งชื่อแกนนำนักศึกษาและสั่งให้แกนนำไปพบคณะกรรมการลงโทษทางวินัย ทำให้นักศึกษาในนองแตร์ และซอร์บอน รวมตัวกันประท้วงการดำเนินการจากมหาวิทยาลัย ตำรวจต้องเข้าเคลียร์พื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกับนักศึกษา จากนั้นการปะทะก็ระบาดไปนอกมหาวิทยาลัย

เหตุการณ์บานปลาย

วันที่ 6 พฤษภาคม กลุ่มสหภาพนักเรียนนักศึกษาแห่งฝรั่งเศส และสหภาพครูมหาวิทยาลัยระดมคนเดินขบวนต่อต้านการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ในซอร์บอน นักศึกษา ครู และผู้สนับสนุนมากกว่าหมื่นรายเดินขบวนไปในซอร์บอน ขณะที่กลุ่มผู้ร่วมเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อแกนนำ, ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกนอกมหาวิทยาลัย และเปิดมหาวิทยาลัยนองแตร์และซอร์บอน แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน กลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมกับนักศึกษาในการเดินขบวนครั้งใหญ่ การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 400 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม การชุมนุมและเดินขบวนยังคงดำเนินต่อไป วันที่ 13 พ.ค. มีผู้เดินขบวนในปารีสกว่า 800,000 ราย ผู้ร่วมเคลื่อนไหวเริ่มขยายตัวจากกลุ่มนักศึกษาไปสู่ผู้ใช้แรงงาน พนักงานห้างร้าน และโรงงานต่างๆ นัดกันหยุดงาน การเคลื่อนไหวแพร่ออกนอกกรุงปารีสไปถึงระดับประเทศ

วิทยานิพนธ์ของสมเกียรติ ระบุว่า เมื่อเข้าวันที่ 21 พฤษภาคม ประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นอัมพาตจากที่ “แนวร่วมประชาชน” (Popular Front) ยึดถนนและสถานที่ต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์การชุมนุมปลุกระดมคนงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

หลังจากที่ ประธานาธิบดีชาร์ลส เดอ โกล กลับมาจากการเดินทางไปโรเมเนียสักระยะจึงเริ่มหาทางคลี่คลายสถานการณ์ โดยกระบวนการครั้งนั้นมีตั้งแต่เสนอให้ลงประชามติ “ปฏิรูปมหาวิทยาลัย” และ “ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ” ขณะที่นายกรัฐมนตรี (ปอมปีดู) ประกาศว่ารัฐบาลพร้อมจะปรับค่าแรงขั้นต่ำของคนงานอีกร้อยละ 35 แต่ข้อเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกปฏิเสธ และการชุมนุมยังดำเนินต่อไป

เหตุการณ์ชุลมุนยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ด้วย

วันที่ 29 พฤษภาคม มีข่าวลือว่าเดอ โกล จะเดินทางไปที่บ้านพักในชานเมือง และอาจแถลงลาออกจากที่นั่น อย่างไรก็ตาม เฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีไม่ได้จอดในพื้นที่ ช่วงเวลาหนึ่งชาวฝรั่งเศสคิดว่าเดอ โกล หนีออกนอกประเทศไปแล้ว ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงในวันนั้นไม่มีใครรู้ว่าเดอ โกล เดินทางไปไหน (ต่อมาจึงทราบว่าไปที่ฐานทัพฝรั่งเศสในเยอรมนี)

ขณะที่ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีแผนใช้กำลังออกมาปฏิบัติการแต่อย่างใด

ปลายสุดของเหตุการณ์

ปลายสุดของสถานการณ์มาอยู่ที่การแถลงการณ์ของเดอ โกล ในวันที่ 30 พฤษภาคม เขาปฏิเสธการลาออก พร้อมประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 23 มิถุนายน และเรียกร้องให้แรงงานกลับไปทำงานดังเดิม หากไม่ปฏิบัติตามอาจพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า รัฐบาลปล่อยข่าวว่ามีกองทัพที่เตรียมพร้อมรับมืออยู่นอกปารีสแล้ว

เดอ โกล ยังระบุว่า จะต่อสู้ตามครรลองของพลเรือนเพื่อปกป้องสาธารณรัฐ วิทยานิพนธ์ของสมเกียรติ ระบุว่า สารของเดอ โกล มีนัยกึ่งว่า หากใครต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างไม่ถูกต้องตามครรลองตามรัฐธรรมนูญจะต้องทำสงครามกลางเมืองเพื่อแลกเอา

หลังแถลงการณ์ของเดอ โกล จบลง มีผู้สนับสนุนออกมาเดินขบวนโบกธงชาติปลิวไสวบนถนนชอง เอลิเซ่ (Champs-Élysées) เกือบ 800,000 ราย ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ตกลงกับการเลือกตั้ง ยุติข้อกังวลเรื่องการปฏิวัติลง อารมณ์ของผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ที่สนับสนุนนักศึกษา และแรงงาน ก็เริ่มฉุกคิดว่าสถานการณ์อาจเลยเถิดหากเดินหน้าต่อ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และคนงาน ก็ย่อมโล่งอกที่เห็นสถานการณ์คลี่คลาย

กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายที่เห็นใจปธน.ฝรั่งเศสมารวมตัวกันที่ชอง เอลิเซ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 1968 (ภาพจาก AFP)

ผลการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน พรรคการเมืองฝ่ายขวาได้รับเสียงส่วนใหญ่ถึง 354 ที่นั่ง ส่วนคะแนนเสียงของพรรคฝ่ายซ้าย อย่างพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นกลุ่มที่หนุนหลังนักศึกษา และคนงาน ได้คะแนนลดลงเหลือเพียง 124 ที่นั่ง

นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่า เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1968 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นหนึ่งในชุดปรากฏการณ์เดียวกันซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในทศวรรษที่ 1960 ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ค.ศ. 1966, การเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนาม ในกรุงวอชิงตัน มีผู้ร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 500,000 คน เมื่อค.ศ. 1967, การประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปราก ที่เช็ก ค.ศ. 1968, การเดินขบวนและยึดมหาวิทยาลัยโรม ภายหลังตำรวจก็ปะทะกับนักศึกษาเมื่อต้นมีนาคม ค.ศ. 1968 (Sowerwine, 2009)


อ้างอิง:

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

Sowerwine, Charles. France Since 1870. Second Edition. Basingstoke : Palgrave Macmillan, 2009


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2561