EDSA Revolution การปฏิวัติพลังประชาชน ที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์หลุดพ้นจากเผด็จการ 20 ปี

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ สมัยที่ 2ในปี 1969

ฟิลิปปินส์ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ที่ครองอำนาจยาวนานถึง 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1965 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1986 ได้ทำให้ฟิลิปปินส์เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจของฝืดเคือง ประชาชนอดอยาก พบการทุจริตเป็นจำนวนมาก หนี้สาธารณะพุ่งสูง ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

เขาได้สร้างภาพจำต่อประชาชนว่าเป็นทรราชผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเข่นฆ่าประชาชนผู้เห็นต่างโดยใช้กฎอัยการศึก และความเลวร้ายที่สุดคือ การทุจริตภายในรัฐบาล โดยพบว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลราว 5-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลของนายมาร์กอสทำให้หนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้น 10 เท่าภายในระเวลา 20 ปี ส่งผลให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย

สภาพบ้านเมืองของฟิลิปปินส์ในสมัยนั้นระส่ำระสายอย่างหนัก สถานการณ์เริ่มบานปลายเมื่อเกิดเหตุระเบิดในช่วงการปราศรัยของพรรคฝ่ายค้านที่จัตุรัสมิแรนด้าในปี ค.ศ. 1971 ด้วยเหตุนี้เองนายมาร์กอสจึงประกาศยกเลิกข้อบังคับทางวิธีพิจารณาความอาญา (Writ of Habeas Corpus) เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลของนายมาร์กอสสามารถจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองได้เป็นจำนวนมาก จนนำมาสู่การต่อต้านของชาวฟิลิปปินส์ นายมาร์กอสจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกในปี ค.ศ. 1972 เพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง รวมไปถึงใช้อำนาจในการครอบงำจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนภายในประเทศนานถึง 9 ปี

แน่นอนว่าในช่วงแรกของการประกาศใช้กฎอัยการศึก ประชาชนชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยต่างเห็นด้วย เพราะพวกเขามองว่าประเทศจะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามและฝ่านค้านได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมก็น่าจะลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลเผด็จการของนายมาร์กอสก็เริ่มก่อปัญหามากมาย เช่น การวิสามัญฆาตกรรมโดยคนในกองทัพฟิลิปปินส์มากถึง 3,257 คดี มีคนถูกซ้อมทรมานกว่า 70,000 คน และมีรายงานคนถูกบังคับให้สูญหายถึง 737 คน 

แม้การประกาศใช้กฎอัยการศึกจะอ้างว่ากระทำไปเพื่อการควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่นายมาร์กอสได้ใช้อำนาจในการครอบงำจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงแก้ไขรัฐธรรมเพื่อเอื้ออำนาจให้แก่ตนและพวกพ้อง นายมาร์กอส เครือญาติ และพรรคพวกร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ประชาชนยากจนลง ระบบพรรคพวกและระบบอุปถัมภ์ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลที่อยู่นอกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จโดยอาศัยวิธีการทางกฎหมาย

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1979 ได้เกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลเผด็จการของนายมาร์กอสเริ่มถูกโจมตีจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ก่อตัวเพิ่มมากขึ้นที่เกิดจากการกู้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างภายในประเทศที่ตามมาด้วยปัญหาการทุจริต จนทำให้นายมาร์กอสต้องประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในอีกหนึ่งปีต่อมา พร้อมกับประกาศเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1981 แต่พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธ ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง จึงทำให้นายมาร์กอสชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

ในปี ค.ศ. 1983 นายเบนิญโน่ อาคิโน่ นักการเมืองฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่สหรัฐฯ ได้เดินทางกลับมาฟิลิปปินส์เพื่อหวังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า แต่กลับถูกลอบสังหารที่สนามบิน ส่งผลให้นายมาร์กอสชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งด้วยคะแนน 53.62% ท่ามกลางข้อครหาเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นชนวนที่ทำให้ประชาชนเห็นอำนาจมืดของ “ระบอบมาร์กอส” ที่ใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งในการกำจัดบุคคลที่คัดค้านและท้าทายอำนาจในการบริหารประเทศของเขา

ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 นายมาร์กอสประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ นางคอราซอน อาคิโน่ ภรรยาของนายเบนิญโญ่ นักการเมืองฝ่ายค้านประกาศลงเลือกตั้งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นายมาร์กอสก็ยังคงชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางเสียงครหาการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส จนนำมาสู่การลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “การปฏิวัติเอ็ดซา” (EDSA Revolution) หรือ “การปฏิวัติสีเหลือง” ซึ่งเรียกชื่อตามที่ประชาชนใส่เสื้อสีเหลืองออกมาประท้วง

การประท้วงในครั้งนั้นมีประชาชนนับหมื่นรวมทั้งทหารที่แปรพักตร์มาเข้าร่วมการชุมนุมกับประชาชนที่ถนนเอ็ดซา ในกรุงมะนิลา แม้จะมีความพยายามสลายการชุมนุมหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1986 เกิดการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลและทหารที่แปรพักตร์ทำให้มีผู้เสียชีวิต ในวันเดียวกันประชาชนนับล้านสวมเสื้อสีเหลืองออกมาเดินประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ถูกจารึกไว้ว่าเป็น People Power หรือ The Philippine Revolution of 1986 ทำให้นายมาร์กอสจึงต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐฯ

ต่อมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการสอบสวนและอายัดทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของนายมาร์กอส พร้อมทั้งดำเนินคดีการทุจริตของนายมาร์กอสระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ หลังจากนั้นรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ และได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่ถนนเอ็ดซา เพื่อรำลึกถึงพลังการต่อสู้ของมวลชน และนี่คือบทสรุปของเผด็จการในฟิลิปปินส์ที่ครองอำนาจมานานกว่า 20 ปี

 


อ้างอิง

ศิรินภา นรินทร์. 2563. “ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในต่างแดนที่มวลชนได้รับชัยชนะ”. ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นวันที่ 28 มิถุนายน 2564, https://www.prachachat.net/d-life/news-559498.

“30 ธันวาคม 1965-เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ก่อนถูกปฏิวัติโดยประชาชน”. 2563. The Standard. สืบวันวันที่ 29 มิถุนายน 2564, https://thestandard.co/onthisday30121965/.

Mark John Sanchez. “The People Power Revolution, Philippines 1986”. Origins Current Events in Historical Perspective. Retrieved June  29, 2021, https://origins.osu.edu/milestones/people-power-revolution-philippines-1986

“How Filipino People Power toppled dictator Marcos”. 2016. BBC NEWS. Retrieved June  29, 2021, https://www.bbc.com/news/av/magazine-35526200


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564