ปัญหาลักลอบรักใคร่ได้เสียของ “สาวชาววัง” จนเป็นคดี และกรณีข้อยกเว้น

ภาพประกอบเนื้อหา - สาวชาววังที่พระราชวังดุสิต (บุคคลในภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทความ)

เรื่องรักใคร่ระหว่างชาย-หญิงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์โลก แต่เมื่อบรรดาสาวๆ เหล่านั้นอยู่ในวัง เรื่องความรักของพวกเธอจึงมีข้อจำกัดและความยุ่งยากเพิ่มขึ้น แล้วหลายครั้งก็กลายเป็นข้อพิพาทเรื่องชู้สาวที่มีการฟ้องร้องกัน ดังหลายๆ ตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีอำแดงแจ่ม ข้าหลวงในพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ที่เกิดขึ้นใน ปี 2437 อำแดงแจ่มหลบหนีออกจากวังไปอยู่กับชายคนรัก เธอให้การว่า

“ข้าพเจ้าอายุ 27 ปี เป็นข้าหลวงพระเจ้าลูกเธอ อยู่มาประมาณ 10 ปี ครั้น เดือนพฤศจิกายน 113 แนบพูดกับข้าพเจ้าว่านายรองพิจารณ์มีความเสน่หารักใคร่ข้าพเจ้าแลแนบได้พาข้าพเจ้าไปหานายรองพิจารณ์ที่เรือนหมื่นย่ายโรงวิเศษ 3 ครั้ง ทั้งเมื่อวันที่ 29 พฤศจายน 113 ครั้นรุ่งขึ้นข้าพเจ้ากับแนบก็พากันออกทางประตูอนงคศิลา พบนายรองพิจารณ์ที่น่าประตูอนงคศิลา นายรองพิจารณ์ได้พาแจ่มไปกินอยู่กินอยู่หลับนอนในที่ต่างๆ หลายแห่งหลายตำบล ครั้น ณ  วันที่ 18 มกราคม 113 ข้าหลวงพระลูกเธอ จับตัวข้าพเจ้าได้ที่ริมวัดจักรวัติราชาวาศ”

กรณีของหม่อมราชวงศ์สั้น ข้าหลวงในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2449 หม่อมราชวงศ์หญิงสั้นติดต่ออำแดงบุญ ซึ่งเป็นโขลนวังสวนดุสิต ให้ช่วยหาผู้ชายที่มีฐานชาติตระกูลเสมอกัน อำแดงบุญให้การว่า

“…หม่อมราชวงศ์หญิงสั้นให้หนูเผื่อนมาเรียกข้าพเจ้าขึ้นไปแล้วท่านพูดว่า แกเห็นผู้ชายที่ไหนบ้างที่รูปร่างดีๆ แลเปนคนตระกูลเหมือนอย่างฉัน ขอให้หาให้สักคนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ตอบว่า เห็นมีสมอยู่ก็แต่หม่อมเจ้าประสบพูลเกษมคนเดียวเท่านั้นที่สมกัน เมื่อข้าพจ้าพูดดังนี้ท่านก็ชอบใจ แล้วสั่งให้ข้าพเจ้าไปพูดกับท่านชายประสบพูลเกษม”

กรณีหม่อมราชวงศ์สอิ้ง วัย 21 ปี (ธิดาพระองค์เจ้าอลังการ) กับ นายเลียบ วัน 29 ปี เสมียนในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในจดหมายของหม่อมราชวงศ์สอิ้งถึงนายเลียบตอนหนึ่งว่า

“ฉันมีความรักใคร่สงสารนายเปนที่สุด เพราะที่เห็นความซื่อตรงและความประพฤติของนาย…เพราะฉนั้นสมควรที่ฉันจะมอบตนฝากตัวต่อไปในภายน่าแลจะให้สัตยไว้ต่อนายเปนสำคัญ ขึ้นชื่อว่าบุรุษนอกจากนายในโลกนี้แล้ว ฉันไม่ขอสามัคคีกับผู้ใด จะสู้รักษาตัวอยู่กว่าจะเปนที่สุดของการ นายใจเปนหนึ่งต่อฉันแล้ว ฉันต้องเปนหนึ่งต่อนายเหมือนกัน แม้ไม่ได้รับอนุญาตต่อท่านที่มีอำนาจแล้วจะสู้ทนความรักอยู่ในใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

กรณีของตุ่นแก้ว ข้าหลวงอายุ 20 ปี จากตำหนักเจ้าดารารัศมี ที่หลบหนีออกจากวังไปตามคำชักชวนของอำแดงแจ่ม และอำแดงระไวย ที่บอกกับตุ่นแก้วว่ามีชายสูงศักดิ์ไปต้องการเธอไปเป็นหม่อม ปรากฏคำพูดสำคัญในคำปฤกษาโทษว่า “การซึ่งอำแดงแจ่ม ระไวย ร่วมคิดกันมาเกลี้ยกล่อมลักหาคนในพระบรมมหาราชวังไปดังนี้ อำแดงแจ่ม ระไวย มีใจกำเริบทนงองอาจเหลือเกินอยู่ ฝ่ายตุ่นแก้วนั้นก็พลอยเป็นใจไปด้วย หาได้คิดว่าตัวอยู่ในปกครองแห่งเจ้านายไม่”

กรณีตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยในขณะนั้นยังมีค่านิยมให้ผู้หญิงชาววังและผู้หญิงราชนิกุลอยู่ภายใต้อํานาจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ชาย-หญิงต้องได้รับการ “ยินยอม” จากผู้ปกครองฝ่ายหญิง มิใช่เพียงการยินยอมของผู้หญิงเท่านั้น หากชายหญิงหนีตามกันไป จะถือเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายเมื่อกลับมาขอขมาและต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง หากพ่อแม่หญิงนั้นไม่ยินยอมก็สามารถฟ้องร้องว่าชายลักพาบุตรสาวตนไปได้

ขณะที่ระบบกฎหมายสมัยใหม่นั้นให้ความสําคัญกับการยินยอมผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการประกาศพระราชบัญญัติลักพา พ.ศ. 2408 และ พ.ศ. 2411 ซึ่งมีสาระสําคัญคือ ให้ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปมีสิทธิในการเลือกคู่ของตนเอง หากแต่ผู้หญิงที่เกิดในครอบครัวชั้นสูง (บิดามารดามีศักดิ์สูงเกิน 400 ขึ้นไป) กลับยังคงไม่ได้รับสิทธินี้

คดีความลักลอบรักกัน ในกรณีของหญิงราชนิกุลกับชายสามัญนั้น บิดาของฝ่ายหญิงที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ถือเป็นหัวหน้าผู้มีอำนาจปกครองสมาชิกในครอบครัวทุกคน และเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องติดตามคดีต่อตัวหญิงสาวที่เป็นบุตร ในกรณีทำผิดยังถือเป็นการกระทำความผิดต่อราชตระกูล ซึ่งถือเป็นผู้ปกครองเหนือบรรดาเจ้าทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

ดังคำพิพากษาคดี กรณีของหม่อมราชวงศ์สอิ้ง-นายเลียบ ที่ว่า “หม่อมราชวงษ์สอิ้งเป็นคนมีบรรดาศักดิ์ไม่รักษาตระกูลของตนลอบรักสังวาศด้วยชายต่ำศักดิ์” รัชกาลที่ 5 มีพระราชกระแสรับสั่งตอนหนึ่งว่า “ส่วนลูกเธอนั้นมีความผิดที่เป็นผู้ดีไม่รักชาติรักตระกูลไปคบค้าสมาคมกับไพร่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ” พระองค์เจ้าอลังการเองก็รับสั่งว่า “การภายน่าต่อไป…ข้าพระพุทธเจ้าจะปกครองบุตรภรรยามิให้มีเหตุการให้เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่า ลอองธุลีพระบาทได้”

หรือกรณีของหม่อมราชวงศ์ไปล่ เมื่อหม่อมราชวงศ์ไปล่ลักลอบได้เสียกับนายเล็กคนขับรถ ซึ่งคําพิพากษาระบุว่าหม่อมราชวงศ์ไปล่มีความผิดฐานที่ “เป็นคนมีบรรดาศักดิ์ไม่รักษาตระกูลของตนลอบรักสังวาศด้วยชายต่ำศักดิ์”

แต่ทุกเรื่องย่อมข้อยกเว้น เรื่องนี้ก็เช่นกัน กรณีนางสาวผ่องศรี-พระศรีวิกรมาทิตย์ ในฎีกาของคุณหญิงทองคํา ไกรสี ร้องกล่าวโทษพระศรีวิกรมาทิตย์ลักพานางสาวผ่องศรีบุตรสาวตนไป คุณหญิงทองคํากล่าวอ้างในฎีกาว่า นางสาวผ่องศรีอยู่ในการปกครองของสมเด็จพระพันปีหลวงและสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า นางสาวผ่องศรีจึงอยู่ใต้กฎของราชสํานักและตัวของคุณหญิงทองคําซึ่งเป็นผู้ปกครองบุตรหลังจากสามีตาย พระศรีวิกรมาทิตย์ลักพานางสาวผ่องศรีไปจึงมีความผิด เพราะเป็นการละเมิดอํานาจของผู้ปกครอง

หากรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกระแสต่อเรื่องนี้กับคุณหญิงทองคํา ไกรสี ว่า “ปลงใจยกนางสาว ผ่องศรี เวภาระ ให้แก่พระศรีวิกรมาทิตย์ เพราะเห็นว่าทั้งสองมีความเสน่ห์หารักใคร่กันจริง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก

ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์, สำนักพิมพ์มติชน กันยายน 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2563