หม่อมราชวงศ์สอิ้ง ลอบได้เสียกับเสมียน ร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขา คบไพร่ทำให้เสื่อมเสีย

ข้าราชสำนัก ฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 4
ภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot

ความรัก สุดอลวน หม่อมราชวงศ์สอิ้ง ลอบได้เสีย กับ “เสมียน” รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขา “คบไพร่ทำให้เสื่อมเสีย”

ใครบางคนเชื่อว่า พลังที่ยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้คือพลังของความรัก สำหรับบางคนอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สำหรับบางคนที่มีชีวิตอยู่ในยุคหนึ่ง “ความรัก” เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา ไม่มีวัตถุใดจะมากีดกั้นพลังปรารถนาอันแรงกล้าของพวกเขาได้ แม้กระทั่งรั้วที่เป็นกรอบกั้นขวางระหว่างพวกเขากับโลกภายนอก อันนำมาสู่เรื่องราวความรักระหว่างผู้อยู่ภายในรั้วกับผู้คนในโลกภายนอก

Advertisement

สังคมไทยในอดีตเคยปรากฏเหตุการณ์เหล่านี้ดังเช่นกรณีโศกนาฏกรรมรักระหว่างบุคคลที่แตกต่างทางชนชั้นชาติตระกูล หรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสตรีในวังที่ต่อสู้เพื่อหาทางออกไปสู่โลกภายนอก ในยุคที่สถานะและสิทธิของเพศหญิงยังไม่ได้เป็นดังเช่นปัจจุบัน การกระทำของพวกเธอจึงเป็น “ความผิด” ที่ฝ่ายสตรีต้องพยายามต่อสู้เพื่อหาหนทางและแสวงหา “ความยุติธรรม” ให้พวกเธอเอง

ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” และ “สิทธิ” ในร่างกายของตัวเองของสตรีเพศมีผู้ศึกษาเอาไว้มากมาย งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่สืบหากรณีตัวอย่างซึ่งสะท้อนสภาพหญิงชาววังและข้อพิพาทเกี่ยวกับความรักคืองานเขียนโดยภาวิณี บุนนาค ที่รวบรวมออกมาเป็นหนังสือ “รักนวลสงวนสิทธิ์” ผู้เขียนสืบค้นหลักฐานกรณีปัญหาต่างๆ และหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสะท้อนวิถีชีวิตของสตรีเพศในอดีตผ่านคดีความและการต่อสู้เพื่อสิทธิในร่างกายของตัวเองหลากหลายกรณี

หม่อมราชวงศ์สอิ้ง กับนายเลียบ

กรณีรักครั้งหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์สอิ้ง วัย 21 ปี บุตรของพระองค์เจ้าอลังการ กับนายเลียบ เสมียนในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ วัย 29 ปี จนเกิดเป็นคดีเมื่อ พ.ศ. 2445 คำให้การของนายเลียบ ตอนหนึ่งปรากฏข้อความว่า นายเลียบ มารับราชการที่มณฑล “ปาจินบุรี” (สะกดคำตามเอกสาร) เมื่อ ร.ศ. 121 ได้เขียนหนังสือแสดงความรักใคร่กับหม่อมราชวงศ์สอิ้ง

ทั้งคู่เขียนจดหมายโต้ตอบแสดงความรักผ่านจดหมายรัก เนื้อหาในจดหมายที่หม่อมราชวงศ์สอิ้งโต้ตอบกลับไปมีใจความตอนหนึ่งว่า

“…ฉันมีความรักใคร่สงสานนายเปนที่สุด เพราะที่เห็นความซื่อตรงแลความประพฤติของนาย ฉันขอฝากกายต่อนายจงเปนที่พึ่งแก่ฉันด้วย แลนายได้กล่าววาจาไว้ว่าใจจะเปนหนึ่งต่อฉันตลอดชีวิตร แลจะเปนผู้ที่อุดหนุนชุบเลี้ยงโดยทางราชการอยู่ในปกครองของเสด็จ ฉันมีความยินดีแลเชื่อแน่ได้ว่าคงจะไม่เปนสองแลกลับต้องคืนคำตามที่ได้กล่าววาจาไว้นี้โดยที่นายเปนผู้วาขาและความสัจยิ่งขึ้น เพราะฉนั้นสมควรที่ฉันจะมอบตนฝากตัวต่อไปในภายน่าและจะให้สัตยไว้ต่อนายเปนสำคัญ

ขึ้นชื่อว่าบุรุษนอกจากนายในโลกนี้แล้ว ฉันไม่ขอสามัคคีกับผู้ใด จะสู้รักษาตัวอยู่กว่าจะเปนที่สุดของการ นายใจเปนหนึ่งต่อฉันแล้ว ฉันต้องเปนหนึ่งต่อนายเหมือนกัน แม้ไม่ได้รับอนุญาตต่อท่านที่มีอำนาจแล้ว จะสู้ทนความรักอยู่ในใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ขอทำตามอำเภอใจโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ขอให้นายตั้งใจรักษากิริยาไว้ให้มั่นคง ผลของความซื่อสัตย์ของเราทั้งสองจะสมความปรารถนาจะรักใคร่อย่างไรก็ทราบซึมอยู่ด้วยกันแล้ว แต่จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ แม้ท่านไม่อนุญาตก็เปนกรรมของเราทั้งสองไม่เคยทำมาด้วยกันก็ต้องก้มหน้าทนความรักไปตามกรรมชาติหนึ่ง ฉันไม่ขอพอใจกับผู้ใดอีกต่อไปแล้ว…

ฉันมีความรักใคร่นายเปนที่สุดมีไช้ไม่รักเมื่อไร แต่ต้องขออนุญาตก่อนเมื่อท่านเมตตาแล้วเปนบุญคงสมความปรารถนาดอก เมื่อไม่เมตตาก็เปนกรรมต้องก้มหน้า แต่ฉันไม่ทิ้งความสัตยดังที่กล่าวไว้นี้ทั้งสองประการ”

ภาวิณี บุนนาค อธิบายไว้ว่า ข้อความในจดหมายโต้ตอบกันนี้สะท้อนถึงค่านิยมและสภาพสังคมในสมัยนั้น โดยหม่อมราชวงศ์สอิ้ง เข้าใจสังคมนอกวังและยอมรับค่านิยมสมัยใหม่ สืบเนื่องมาจากอิทธิพลจากการติดตามบิดาไปราชการที่ปราจีนบุรี ประกอบกับอิทธิพลของวัฒนธรรมเมืองที่ได้รับจากการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5

ขณะที่ใจความส่วนหนึ่งในจดหมายยังสะท้อนแนวคิดของหม่อมราชวงศ์สอิ้ง ที่ปรารถนาเป็นคนรักคนเดียวของเลียบ และให้อีกฝ่ายมอบคำสัตย์ว่า จะไม่ทิ้งกัน อันเป็นค่านิยมแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” แตกต่างจากระบบครอบครัวเดิมในสมัยเดียวกันที่ยังยอมรับเรื่องมีภรรยาหลายคนได้

ปรากฏบันทึกว่า นายเลียบกล่าวถึงความสัมพันธ์ต่อมาว่า “ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปหา (หม่อมราชวงศ์สอิ้ง) แลร่วมประเวณีกันอีก 5 ครั้งที่บนห้อง…บนห้องนี้ไม่ใช่เปนข้างใน ข้าพเจ้าได้เห็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าอลังการขึ้นลงอยู่เสมอ” ซึ่งภายหลังนั้นทั้งคู่ถูกจับได้ จนกลายเป็นคดีความขึ้นมา

ภาวิณี บุนนาค วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่บานปลายมาสู่คดีความ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความหละหลวมในการรักษาพื้นที่ภายในกับภายนอกวัง หม่อมราชวงศ์สอิ้ง ไม่มีผู้ติดตามตามธรรมเนียมหญิงชั้นสูง ลงไปอาบน้ำในที่สาธารณะได้ ส่วนมหาดเล็กก็เข้าออกในวังได้โดยเสรี การที่นายเลียบ เข้าหาหม่อมราชวงศ์สอิ้ง ถึงห้องก็ย่อมเป็นไปได้โดยไม่ยาก

ภาวิณี บุนนาค อธิบายเพิ่มเติมว่า คำให้การในเอกสารยังปรากฏข้อความที่มักเน้นย้ำว่า “หม่อมราชวงศ์สอิ้งเป็นคนมีบรรดาศักดิ์ไม่รักษาตระกูลของตนลอบรักสังวาศด้วยชายต่ำศักดิ์”

ในคดีนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 1 พฤษภาคม ร.ศ. 121 ถึงพระองค์เจ้าอลังการ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“…นายเลียบมีตระกูลต่ำไม่คู่ควรกับลูกของเธอ ทั้งชาติแลบรรดาศักดิ์ … ทำการล่วงเกินขึ้นไปทำชู้ถึงบนเรือนเช่นนี้มีความผิดมาก…ให้กระทรวงมหาดไทยจำตรวนนายเลียบส่งเข้ามายังกระทรวงวังเพื่อจะได้พิพากษาลงโทษ”

ส่วนลูกเธอนั้นก็มีความผิดที่เป็นผู้ดีไม่รักชาติรักตระกูลไปคบค้าสมาคมกับไพร่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ให้จัดคนที่ไว้ใจได้คุมตัวเข้ามาส่ง…นางในพระบรมมหาราชวังจำขังไว้ให้เข็ดหลาบ”

หลังจากนั้น พระองค์เจ้าอลังการ บิดาของหม่อมราชวงศ์สอิ้ง กล่าวว่า “การภายน่าต่อไป…ข้าพระพุทธเจ้าจะปกครองบุตร์ภรรยามิให้มีเหตุการให้เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้”

อำแดงแจ่ม

อีกตัวอย่างหนึ่งที่พบจากเอกสารบันทึกในอดีต คือ วิถีความรักของสตรีชาววัง ซึ่งแสวงหาทางออกไปสู่โลกภายนอกรั้ววัง สืบเนื่องจากเหตุผลเรื่อง “ความรัก” โดยอาศัยการแต่งงานกับผู้ชายนอกวัง กรณีหนึ่ง คือ เรื่องราวของอำแดงแจ่ม ข้าหลวงในพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2437 อำแดงแจ่ม พบผู้ชายที่รักใคร่ตัวเธอจนนำไปสู่การเดินทางออกนอกพื้นที่วัง ลงเอยด้วยการ “ถูกจับ” คำให้การของอำแดงแจ่ม ส่วนหนึ่งมีว่า

“ข้าพเจ้าอายุ 27 ปี เป็นข้าหลวงพระเจ้าลูกเธอ อยู่มาประมาณ 10 ปี ครั้น ณ เดือนพฤศจิกายน 113 แนบพูดกับข้าพเจ้าว่านายรองพิจารณ์มีความเสน่หารักใคร่ข้าพเจ้า แลแนบได้พาข้าพเจ้าไปหานายรองพิจารณ์ที่เรือนหมื่นย่ายโรงวิเศษ 3 ครั้งทั้งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 113 ครั้นรุ่งขึ้นข้าพเจ้ากับแนบก็พากันออกทางประตูอนงคศิลา พบนายรองพิจารณ์ที่น่าประตูอนงคศิลา นายรองพิจารณ์ได้พาแจ่มไปกินอยู่หลับนอนในที่ต่างๆ หลายแห่งหลายตำบล

ครั้น ณ วันที่ 18 มกราคม 113 ข้าหลวงพระลูกเธอ จับตัวข้าพเจ้าได้ที่ริมวัดจักรวัติราชาวาศ”

ภาวิณี บุนนาค แสดงความคิดเห็นถึงกรณีตัวอย่างเหล่านี้ว่า “จากคำบอกเล่าของผู้หญิงและผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่ความทันสมัยในยุคปฏิรูปประเทศซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงชาววังและผู้หญิงราชนิกุลต้องการอิสระในการดำเนินชีวิต หากแต่ในสภาพความเป็นจริง วิถีชีวิตของพวกเธอยังคงถูกกำหนดด้วยกฎของราชสำนักที่เข้มงวด ตลอดจนขาดอิสระที่จะออกมาสู่โลกภายนอก สภาพชีวิตที่น่าเบื่อเช่นนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเธอต้องการหาทางออกมาสู่โลกภายนอกซึ่งกำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่น่าตื่นเต้นและมีอิสระมากกว่าผ่านการหลบหนีออกมาแต่งงานกับผู้ชายภายนอกวัง”

ความคิดเห็นข้างต้นนี้ ยังปรากฏเหตุการณ์ที่เป็นเช่นดังประโยค “พวกเธอต้องการหาทางออกมาสู่โลกภายนอก…ผ่านการหลบหนีออกมาแต่งงานกับผู้ชายนอกวัง” เกิดขึ้นจริง

หม่อมราชวงศ์หญิงสั้น

เหตุการณ์นั้นปรากฏในกรณีสตรีในกรอบรั้วจารีตท่านหนึ่งเคยแสดงความประสงค์ทาบทามหรือค้นหา “ผู้ชาย” โดยผ่านคนกลางเป็นผู้ติดต่อชักจูงให้ทั้งสองฝ่ายมารู้จักกัน กรณีที่เกิดขึ้น คือ หม่อมราชวงศ์หญิงสั้น ข้าหลวงในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 24449 ซึ่งปรารถนาจะมีสามี ไม่ต้องการอยู่ในวังจึงติดต่ออำแดงบุญ (โขลน) ให้หาฝ่ายชายที่มีตระกูลเสมอกัน อำแดงบุญให้การกรณีนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าอำแดงบุญโขลนอายุ 50 ปี รับราชการอยู่วังสวนดุสิต ขอประทานให้ถ้อยคำว่า จะเปนวันใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ เมื่อเดือนห้าคือ (เดือนเมษายน ร.ศ. 125)… หม่อมราชวงศ์หญิงสั้นให้หนูเผื่อนมาเรียกข้าพเจ้าขึ้นไปแล้วท่านก็พูดว่า ‘แกเห็นผู้ชายที่ไหนบ้างที่รูปร่างดีๆ และเปนคนตระกูลเหมือนอย่างฉัน ขอให้หาให้สักคนหนึ่ง’

ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ‘เห็นมีอยู่สมกันก็หม่อมเจ้าประสบพูลเกษมคนเดียวเท่านั้นที่สมกัน’ เมื่อข้าพเจ้าพูดดังนี้ท่านก็ชอบใจ แล้วสั่งให้ข้าพเจ้าไปพูดกับท่านชายประสบพูลเกษม”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หจช. ร.5 ย.13.3/13 “นายเลียบทำชู้กับหม่อมราชวงศ์สอิ้ง (29 เมษายน-22 ธันวาคม 121)”.

ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2564