เผยแพร่ |
---|
หากพูดถึง “ตำนานรักต้องห้าม” เชื่อได้ว่าหลายคนคงต้องนึกถึงมหากาพย์รักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งยอมสละราชบัลลังก์และหน้าที่ปกครองเหล่าไพร่ฟ้า เพราะต้องการครองรักกับหม้ายสาวสามัญชนชาวอเมริกันที่ทรงรักและเชิดชูสุดหัวใจนามว่า วอลลิส วาร์ฟีลด์ ซิมพ์สัน
เอเลนอร์ เบอร์มัน (Eleanor Berman) เล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กับหม้ายสาวสามัญชน “วอลลิส วาร์ฟีลด์ ซิมพ์สัน” ไว้ในหนังสือ “นางในกษัตริย์” ว่า ในวันที่ 11 ธันวาคม 1936 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ด้วยถ้อยแถลงสุดลือลั่นว่า
“ข้าพเจ้าพบว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะแบกรับภาระความรับผิดชอบใหญ่หลวงและการงานแห่งกษัตริย์ซึ่งข้าพเจ้าปรารถนาอยากจะทำโดยปราศจากความช่วยเหลือและประคับประคองจากสตรีที่ข้าพเจ้ารัก”
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เคยเป็นที่นิยมของประชาชนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงรับราชการทหาร และปฏิบัติหน้าที่ในฝรั่งเศส แต่เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นเรื่อยๆ พระองค์เริ่มขัดแย้งกับพระราชบิดา ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของพระองค์ทรงชื่นชอบไนท์คลับการสังสรรค์เต้นรำ และเริ่มมีเรื่องครหาตามมา อาทิ ไม่ทรงตรงต่อเวลาตามหมายกำหนดการ ไม่ทรงฉลองพระองค์สมกาละเทศะ
วาลลิส เป็นชาวอเมริกันที่เคยหย่าขาดจากสามีมาแล้วถึง 2 ครั้ง เมื่อเธอพบกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี 1931 เธอกําลังมีชีวิตแต่งงานที่ดีกับนายหน้าค้าเรือรูปงามชื่อเออร์เนสต์ ซิมพ์สัน ซึ่งเป็นสามีคนที่ 2 ของเธอ
กระทั่ง 5 ปีต่อมา พระบิดาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 8 คือพระเจ้าจอร์จที่ 5 สิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายเตรียมขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ไม่นานหลังจากนั้นวาลลิสก็ยื่นฟ้องหย่าครั้งที่ 2 เพื่อมาครองรักกับพระองค์
แม้ว่าศาสนจักรจะห้ามคนที่หย่าร้างแต่งงานซ้ำตราบเท่าที่อดีตคู่แต่งงานยังมีชีวิตอยู่ แต่วาสลิส มีคู่แต่งงานถึง 2 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ในฐานะกษัตริย์ เจ้าชายถือเป็นผู้ปกครองสูงสุดของศาสนาจักรแห่งอิงแลนด์ และจำเป็นต้องยึดถือตามข้อห้ามนี้
อีกทั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้นเห็นว่า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงไม่ควรเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับวอลลิส และเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมทั้งทางสังคมและการเมือง หากพระองค์ยืนกรานจะอภิเษกสมรสกับวอลลิส ย่อมทำให้คณะรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งนำโดยแสตนลีย์ บาลด์วิน ที่ไม่เห็นชอบต้องลาออก นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อสถานะเป็นกลางทางการเมืองของสถาบัน
พระองค์ทรงถูกบีบให้เลือกระหว่างความรักกับราชบัลลังก์ ทว่าพระองค์ไม่สนใจข้อห้าม และยังคงยืนยันว่าจะสมรสกับวาลลิส หญิงคนรักของพระองค์ แม้จะต้องแลกกับราชบัลลังก์ก็ตาม
ในช่วงปี 1936 เป็นช่วงที่สถานการณ์ในยุโรปคุกรุ่น และกลุ่มฟาสซิสต์ก็เริ่มแพร่กระจายในยุโรป สาธารณชนเริ่มถกเถียงเกี่ยวกับคำถามว่าด้วยความเหมาะสมในพระราชบัลลังก์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ถึงขั้นที่หน่วย MI5 ของอังกฤษถึงกับต้องสอดแนมพระองค์หลังจากพระบิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สิ้นพระชนม์
รอรีย์ คอร์แม็ก นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหน่วยข่าวกรองให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ History Extra ระบุว่า นายกรัฐมนตรีแสตนลีย์ บาลด์วิน เป็นผู้ร้องขอให้หน่วย MI5 สอดแนมความเคลื่อนไหวของเอ็ดเวิร์ด และวอลลิส ตั้งแต่ดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ มีเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของวอลลิส สัมภาษณ์บุคคลที่สนทนากับคู่รักเพื่อหาข้อมูลความสัมพันธ์ของทั้งคู่
ขณะที่พอล เอลสตัน ผู้กำกับสารคดี “Spying on the Royals” หรือ “การสอดแนมราชวงศ์” เปิดเผยว่า แม้แต่บอดี้การ์ดของทั้งคู่ยังรายงานเรื่องการสนทนา สถานะทางอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละช่วงของทั้งคู่กลับไปที่สกอตแลนด์ยาร์ด ทั้งที่โดยมาตรฐานแล้ว บอดี้การ์ดของราชวงศ์ต้องเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลในความคุ้มครองเป็นความลับ
เมื่อสถานการณ์วิกฤต พระองค์ถือเป็นพระประมุของค์เดียวของสหราชอาณาจักรที่ทรงสละราชบัลลังก์อย่างสมัครใจ และเป็นพระประมุขที่ทรงครองราชสมบัติสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษด้วยระยะเวลา 326 วัน และมิได้ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกเลย
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกับวาลลิสไปแต่งงานกันที่ฝรั่งเศสในวันที่ 3 มิถุนายน 1937 หลังเธอหย่าร้างครั้งที่ 2 สําเร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 โดยที่ของขวัญส่วนหนึ่งซึ่งเจ้าชายทรงมอบให้วาลลิสเจ้าสาวของพระองค์คือ มงกุฏเพชรอันเป็นตัวแทนของมงกุฎแท้จริง
การกระทำของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ถูกอาร์ชบิชอป คอสโม กอร์ดอน แลง อาร์ชบิชอปที่มีชื่อเสียงอย่างมากในสหราชอาณาจักรพยายามขัดขวางและกล่าวหาโจมตีอย่างรุนแรง สื่ออังกฤษรายงานว่า เอกสารที่ถูกพบในพระราชวังแลมเบิร์ธ โดยดร. โรเบิร์ต บีเคน พระจากเอสเซ็กซ์ ระหว่างค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือเมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นจดหมายที่เชื่อว่าเขียนด้วยลายมือของอารช์บิชอป กอร์ดอน แลง มีเนื้อหาใจความแสดงความไม่พอใจ และกล่าวหาเชื้อพระวงศ์ว่าป่วยทางจิต พร้อมกับพยายามกดกันให้สละราชสมบัติ
ทั้งนี้ พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอนุชาของพระองค์ได้พระราชทานยศให้ทั้งคู่เป็นดยุค และดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (ในภายหลัง)
ทว่าราชวงศ์มักเหน็บแนมวาลลิส ไปจนวาระสุดท้าย หนำซ้ำยังไม่เคยยอมรับเธอสู่ราชตระกูล และไม่เคยอนุญาตให้ใครเรียกเธอว่าเจ้าหญิง ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดถึงกับต้องออกมายืนยันว่าจะไม่เหยียบแผ่นดินอังกฤษอีกหากภรรยาไม่ได้รับเกียรติและยศศักดิ์จากราชวงศ์ และทำให้พระองค์มีข้อพิพาทกับรัฐบาล ราชวงศ์ ไปจนถึงสาธารณชน
หลังจากดยุคและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ครองรักกันสมความปรารถนาอย่างยาวนานร่วม 36 ปี ความตายก็เข้ามาพรากความรักของคนทั้งคู่ไป เมื่อดยุกแห่งวินด์เซอร์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1972 ขณะที่ดัชเชสก็กลับมาอยู่ในสภาพย่ำแย่และมักพึ่งน้ำเมาเพื่อกล่อมอารมณ์ให้สงบต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เธอน้ำหนักลดเหลือเพียง 85 ปอนด์ในปี 1977 และเสียชีวิตลงในที่สุดเมื่อปี 1986
อ้างอิง :
สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
Eleanor Herman. นางในกษัตริย์ – Sex with King. โตมร ศุขปรีชา แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
Joseph, Claudia. “The madness of King Edward VIII: Shocking letters hidden for 76 years reveal Archbishop accused Monarch of insanity, alcoholism and persecution mania – and forced him into abdication crisis”. Daily Mail. Online. 28 April 2012. <https://www.dailymail.co.uk/news/article-2136672/The-madness-King-Edward-VIII-Shocking-letters-hidden-76-years-reveal-Archbishop-accused-Monarch-insanity-alcoholism-persecution-mania–forced-abdication-crisis.html>
“Spying on the king: when MI5 targeted Edward VIII and Wallis Simpson.” History Extra. Online. 6 April 2017. <https://www.historyextra.com/period/20th-century/spying-on-the-king-when-mi5-targeted-edward-viii-and-wallis-simpson/>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562