“พจน์ สารสิน” นายกฯ ขัดตาทัพ และรมว.กระทรวงการคลังขัดตาทัพ ดำรงตำแหน่งเพียง 3 วัน

พจน์ สารสิน
พจน์ สารสิน

หลังการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” คือ พจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศไทย

นายกขัดตาทัพ

บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร มีชื่อเสนอมาทั้งหมด 6 ชื่อ ได้แก่ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา), พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล), ควง อภัยวงศ์, หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช, นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) และพจน์ สารสิน

สองบุคคลแรกเป็นขุนนางชั้นสูง เป็นที่เคารพนับถือ แต่มีข้อเสียเปรียบที่วัยและภูมิหลังด้านสังคมและการเมือง ส่วนควงและหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม และเป็นกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามกับจอมพล ป. แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อยในรัฐสภาชุดก่อน ขณะที่นายวรการบัญชา อยู่ในพรรคเสรีมนังคศิลา มีความสนิทสนมกับจอมพล สฤษดิ์ มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่กลับมีเสียงเรียกร้องให้หาผู้นำที่มีความเป็นกลาง ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ไม่มีการแสวงหาผลประโยช์ส่วนตัวของฝ่ายรัฐประหาร

ดังนั้น จึงได้เลือก พจน์ สารสิน ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นทนายความ เป็นนักกฎหมายที่ยกย่องนับถือ เพิ่งกลับมาจากการเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน เพื่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.-SEATO) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มั่งคั่ง กว้างขวาง ไม่มีปัญหาในการฉ้อราษฎร์บังหลวง และเป็นที่รู้จักดีในระดับนานาชาติ

พจน์ สารสิน จึงได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่มีหน้าที่จะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากรัฐบาลต่างประเทศทั้งหลาย สร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ และมีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

(แถวหน้าคนที่ 3 ) นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ถ่ายภาพกับคระรัฐมนตรี (ภาพจาก wwwwikiwand.com)

เบื้องหลัง

พจน์ สารสิน บอกเล่าถึงการตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” ความตอนหนึ่งว่า

“หลังปฏิวัติ จอมพล สฤษดิ์ ก็ให้ พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ มาตามผมไปพบ เมื่อไปถึงท่านก็เริ่มเล่าถึงเรื่องการปฏิวัติ บอกว่า ประชาชนไม่พอใจการเลือกตั้ง แต่เมื่อตนเองเป็นผู้ปฏิวัติแล้ว จะมาสวมตำแหน่งแทนที่ผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ จึงอยากจะเอาคนนอกมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล…

ผมคิดดูแล้วก็รู้สึกว่าอยู่ในฐานะที่จำเป็นจะต้องรับ และเรียนท่านว่า รัฐบาลเพิ่งตั้งผมเป็นเลขาธิการองค์การซีโต้ (สปอ.) จะทิ้งงานไปเสียเฉย ๆ ก็ไม่สมควร ผมยินดีที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมจำเป็นต้องกลับไปปฏิบัติงานเลขาธิการองค์การซีโต้ตามเดิม”

ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารสไตล์ พจน์ สารสิน ยังได้เล่าอีกว่า

“ผมเป็นนายกฯ ก็จังหวะชีวิตอีกนั่นเอง ผมไม่รู้จักจอมพล สฤษดิ์ เท่าไหร่ รู้จักนิดหน่อย เวลาไปอเมริกาก็ให้ผมไปเจรจาเรื่อง อาวุธยุทโธปกรณ์ กลับมาไม่ถึง 10 วัน ก็ปฏิวัติแล้ว… วันปฏิวัติ ลูกของผม (เบี้ยก) กำลังจะบินกลับอเมริกา ผมยังต้องขับรถหลบขบวนทหารแอบข้างทางเลย พอกลับมาถึงบ้าน พลตรีเฉลิมชัย จารุวัสตร์ มาบอกว่า จอมพล สฤษดิ์ผู้รักษาพระนคร เชิญให้ไปพบ…

ท่านบอกกับผมว่า การปฏิวัติไม่ต้องการทำหรอก แต่เลือกตั้งไม่ดี ประชาชนเขาเรียกร้อง ถ้าปฏิวัติแล้วมาเป็นนายกฯ แทนเสียเอง ประชาชนจะหาว่าทะเยอทะยาน ปฏิวัติเพื่อแย่งตำแหน่งหน้าที่ อยากหาคนที่กลาง ๆ ไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นนายกฯ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง…

ผมปฏิเสธไม่ได้ จึงขอสัญญาจากท่าน 2 ข้อ คือ ข้อแรก เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ขอกลับไปอยู่ชีโต้ เพราะรัฐบาลนานาประเทศเขาเลือกผมมา ผมไม่ได้สมัคร ข้อที่สอง ผมเห็นมามากแล้ว เวลาปฏิวัติครั้งใดความพยาบาทอาฆาตแค้นยิงกันฆ่ากัน อย่าทำได้ไหม ท่านตอบว่า ‘ได้’ ผมก็ตอบ ‘ตกลง’ “

พจน์ สารสิน
พจน์ สารสิน

พจน์ สารสิน

พจน์ สารสิน เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2448 ต้นตระกูลเป็นชาวจีนอพยพมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อว่า “ปั้นจู๊ลั่ว” บ้างเรียก ซินแสเทียน ฮวด บ้างเรียก ฮวด แซ่เทียน แต่งงานกับภรรยาคนไทยชื่อว่า “หนู” มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “เทียนฮี้” หรือ ฮี้ แซ่เทียน (เกิด พ.ศ. 2391) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ 5 เป็น “พระยาสารสินสวามิภักดิ์” ผู้เป็นบิดาของพจน์ สารสิน ต้นตระกูล “สารสิน”

ชีวิตในวัยเด็กของพจน์ สารสิน ได้ไปศึกษาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อบิดาเสียชีวิตจึงมาศึกษาต่อด้านกฎหมาย เป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมรุ่น พ.ศ. 2469 สามปีให้หลังสำเร็จวิชากฎหมายเป็นเนติบัณฑิตไทย แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จเนติบัณฑิตอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2474

หลังจากนั้นก็กลับประเทศไทย ทำงานเป็นทนายความในสำนักกฎหมายเทพศรีหริศ และยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายและภาษาอังกฤษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่ง พ.ศ. 2490 พจน์ สารสินเข้าสู่แวดวงการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในสมัยรัฐบาลควง เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลจอมพล ป. ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป. ให้แต่งตั้งไปเป็นตัวแทนประจำคณะกรรมการฟื้นฟู และบูรณะประเทศเกาหลี ในช่วงสงครามเกาหลียุติไม่นาน ต่อมา พ.ศ. 2494 ได้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน นานเกือบ 9 ปี ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ SEATO เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2500

รัฐมนตรีคลัง

นอกจาก พจน์ สารสินจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” แล้ว ท่านยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ขัดตาทัพ” อีกด้วย โดยดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น นับว่าดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั้นที่สุด!

ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ 23 ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี 29 ตำแหน่ง โดย พจน์ สารสิน ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง กระทั่งถึงวันที่ 26 ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ คือ เสริม วินิจฉัยกุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทน เพราะมีความเหมาะสม

เสริม วินิจฉัยกุล เขียนเล่าไว้ว่า การเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลพจน์ สารสินนั้น เป็นการดำรงตำแหน่งแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เล่าว่า ในช่วงที่เสริม วินิจฉัยกุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลจอมพล ถนอม เมื่อ พ.ศ. 2501 นั้น ท่านเกิดน้อยใจในการอภิปรายของผู้แทนราษฎรบางคนในพรรค ถึงกับจะลาออกจากตำแหน่ง “ผมได้พยายามพูดปลอบใจท่าน จึงได้อยู่มาโดยตลอด ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างดีของท่าน ช่วยบริหารราชการแผ่นดินทางการเงิน การคลังให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ทั้ง 4 สมัย”

เสริม วินิจฉัยกุล เล่าถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้ว่า

“ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล แต่ว่าเป็นตำแหน่งที่จะต้องถูกตำหนิติเตียนจากคนทั่ว ๆ ไป เพราะว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องรับผิดชอบหารายได้แก่แผ่นดินเพื่อใช้จ่ายตามงบประมาณ การหารายได้ทางหนึ่งก็ต้องเพิ่มภาษีอากร การเพิ่มภาษีคราวใดก็ต้องถูกติเตียน ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้พยายามให้เพิ่มภาษีแต่น้อย

งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คืองานงบประมาณประจำปี เมื่อรัฐบาลเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะต้องชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เมื่อรัฐสภารับหลักการแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ต้องเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเวลา นาน เสร็จแล้วก็ต้องไปเสนอและชี้แจงในสภาอีก เป็นงานเหน็ดเหนื่อยมากแต่ละปี…

งานอีกอย่างหนึ่งของรัฐมนตรี คือการประสานงานกับสมาชิกพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล งานนี้เป็นงานหนักอย่างหนึ่ง เพราะต้องเอาใจแต่ละคน คนไหนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ค่อยเบาใจหน่อย บางที่บางคนขอให้ช่วยเหลือเป็นส่วนตัว ถ้าทำให้ไม่ได้ ก็กลายเป็นปรปักษ์ไปเลยก็มี”

เสริม วินิจฉัยกุล

ภายหลังจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลาย พ.ศ. 2500 เสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลของพจน์ สารสินก็หมดหน้าที่ตามกฎหมาย รัฐบาลใหม่ของจอมพล ถนอม เข้าบริหารราชการแผ่นดินแทน แม้จอมพล สฤษดิ์ ต้องการให้พจน์ สารสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปก็ตาม แต่พจน์ สารสิน ปฏิเสธ จากนั้นนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” ก็กลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ SEATO ตามเดิม

ช่วงเวลา 3 เดือน 5 วัน ของรัฐบาลพจน์ สารสิน ไม่มีอะไรเด่นชัดนัก ผลงานหลักสำคัญสองประการคือ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดีทั้งสองประการ เป็นรัฐบาล “ขัดตาทัพ” โดยนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” โดยแท้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราชกิจจานุเบกษา. (2500). ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี. เล่มที่ 74 ตอนที่ 80 ราชกิจจานุเบกษา 24 กันยายน 2500.

ราชกิจจานุเบกษา. (2500). ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง. เล่มที่ 74 ตอนที่ 82 ราชกิจจานุเบกษา 26 กันยายน 2500.

อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. นายกราชบัณฑิตยสถาน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2528

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2548). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ฒ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

จิรวัฒน์ รจนาวรรณ. (2547). ยอดนักการเมือง. สำนักพิมพ์วรรณสาส์น.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2563