รู้จักเจ้าหญิงที่รัชกาลที่ 5-สมเด็จพระพันวัสสา-เจ้านายฝรั่ง ทรงยกย่องฝีมือทำอาหาร

(ภาพจาก "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับสิงหาคม 2541)

หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล (ท่านหญิงใหญ่ หรือท่านหญิงจง) พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเล่าถึงพระราชพิธีขึ้นเรือนต้นในพระราชวังดุสิตไว้ว่า

“…ในคราวนั้นนับว่ามีเกียรติมาก เพราะอาหารที่ทำทั้งคาวหวาน ล้วนแต่เป็นฝีพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวทรงทำ แลเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนคนล้างชามก็มีเกียรติทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงหลนปลาร้า แกงเทโพ กรมหลวงประจักษ์ศิลปากคม กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทูลกระหม่อมชายทรงทำของคาว

เสด็จพ่อ (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ทูลกระหม่อมอัษฎางค์ กรมพระสมมติอมรพุนธุ์หุงข้าว เสด็จพ่อทีแรกได้แต่ล้างชาม ภายหลังทรงหัดหุงข้าวต่างๆ เช่น ข้าวมัน ข้าวบุหรี่อย่างแขกเจ้าเซ็น นอกจานั้นช่วยล้างจานชาม เช่นพระยาสุรวงศ์…”

ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น และการที่ท่านหญิงจงได้เสด็จอยู่ในสำนักของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 จึงทำให้พระองค์ทรงมีฝีมือด้านอาหารเป็นที่ยอมรับทั้งจากเจ้านายไทยและต่างชาติ

ครั้งหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร เสวยพระกระยาหารไม่ใคร่ได้ พระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี ถวายน้ำพริก ที่ท่านหญิงจงทรงปรุง  นอกจากรัชกาลที่ 5 จะเสวยแล้วยังเจริญพระกระยาหารอย่างมาก ถึงกับทรงมีพระราชดำรัสแก่ท่านหญิงว่า “ข้ารอดตายได้เพราะกินน้ำพริกของเจ้า”

เมื่อเสด็จกลับมาอยู่กับพระบิดา ท่านจงทรงเป็น “แม่วัง” ของวังวรดิศ ความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีงานสมาคมสมัยใหม่อยู่บ่อยครั้ง จึงมีงานเลี้ยงชาวต่างชาติที่วัง ท่านหญิงจงทรงมีหน้าที่ควบคุมการทำอาหาร ซึ่งเป็นที่เลื่องลือนัก

ภายหลังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จยุโรปปี 2473  ทรงส่งลายพระหัตถ์จากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มาถึงท่านหญิงจง ความว่า

“ชื่อเสียงของเธอมาดังในประเทศเดนมาร์ก ด้วยคราวน์ปริ๊นซ์กับปริ๊นซ์แอกเซลมาเที่ยวโจษเล่าว่า ฝีมือทำกับข้าวไม่มีใครสู้ทางตะวันออก และว่าอาจทำเลี้ยงดินเนอร์แล้วทำสัปเปอร์เลี้ยงอีกในวันเดียวันถึง 200 คน เจ้านายพากันถามถึงอภินิหารของเธอ…”

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ต้องเสด็จไปประทับที่ปีนังท่านหญิงจงได้เสด็จไปอยู่ด้วยระยะหนึ่ง แล้วเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อรักษาองค์ พระบิดาถึงกับทรงมีลายพระหัตถ์ถึงว่า

“ตั้งแต่เธอไป พ่อคิดถึงอยู่เสมอหวังใจว่าจะไปรักษาตัวให่อาการดีขึ้นกว่าเมื่ออยู่ที่นี่ เธอเอาอะไรไปด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งพ่อรู้สึกขาดจริงๆ คือ รสมืออาหาร การกินเขาก็ตั้งใจทำตามเคย แต่รสมันไม่เหมือนรสมือเธอ ข้อนี้ทำให้คิดถึงจนบ่นเนืองๆ”

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เคยเสวยเครื่องซึ่งท่านหญิงจงทรงทำไปถวาย และพระราชทานลายพระหัตถ์ชมเชยคราหนึ่งว่า

“…กับเข้าของเธอทุกอย่างที่ทำมา อร่อยทุกสิ่ง สำหรับกับเข้าฉันเลียมือของทีเดียวว่าอร่อยนัก แม้แต่กะปิพล่า ซึ่งเป็นของทำอย่างง่ายที่สุด เธอก็ปรุงอร่อยกลมกล่อมดี ถูกปากฉันนัก ฉันลองทำดูบ้าง กว่าจะปรุงได้ที่เหมือนมือเธอ ชิมไปชิมมากว่าจะได้ที่ก็อิ่มพอดี แต่อย่างนั้นก็ยังไม่อร่อยเหมือนเธอทำ…”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ม.ร.ว.ถนัดศรี เผยรสชาติ-ข้อกำหนดอาหารในวัง และเหตุถูกแซวเป็น พระยาโบราณทำลายราชประเพณี


ข้อมูลจาก

พนิดา สงวนเสรีวานิช. “อาหารชาววังเบื้องหลังโต๊ะเสวย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2541


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563