ปาร์ตี้ 18 วัน ฉลองสัมพันธ์กษัตริย์อังกฤษ-ฝรั่งเศส งานอลังการยุคโบราณใช้งบเท่าไหร่?

ภาพเขียนสี เหตุการณ์ Field of Cloth of Gold งานเลี้ยง ปาร์ตี้ ระหว่าง พระเจ้าเฮนรี กษัตริย์อังกฤษ กับ กษัตริย์ฝรั่งเศส
ภาพเขียนสีเหตุการณ์ Field of Cloth of Gold ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด คาดว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 8 รับสั่งให้วาดภาพนี้ขึ้นในปลายรัชสมัยของพระองค์ ภาพจาก Royal Collection Trust (Public Domain)

ปาร์ตี้ 18 วัน งานเลี้ยง ฉลองสัมพันธ์ “พระเจ้าเฮนรีที่ 8” กษัตริย์อังกฤษ กับ “พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1” กษัตริย์ฝรั่งเศส งานอลังการยุคโบราณใช้งบเท่าไหร่?

ในศตวรรษที่ 16 ปรากฏงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ขึ้นครั้งหนึ่ง เมื่อประมุขจากสองราชวงศ์ผู้ปกครองแผ่นดินอันเป็นคู่อริยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่างอังกฤษกับฝรั่งเศส จัดงานฉลองใหญ่โต หากเป็นยุคสมัยใหม่คงเรียกกันในภาษาชาวบ้านได้ว่า “ปาร์ตี้” ก็ว่าได้ งานที่ว่านี้มีขึ้น 18 วัน เป็นกิจกรรมหรูหราที่คนยุคหลังเรียกกันในชื่อ “Field of Cloth of Gold” หรือท้องทุ่งอันเต็มไปด้วยสีสันทองอร่าม ตามบรรยากาศเครื่องภูษาต่างๆ นานา ประดับตกแต่งด้วยผ้าสีทอง

งานฉลองครั้งใหญ่ในยุโรปเกิดขึ้นที่หุบเขาระหว่าง Guînes ของอังกฤษ กับ Ardres ของฝรั่งเศส พื้นที่อยู่ใกล้กับเมืองกาเลส์ (Calais) ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 7-24 มิถุนายน ค.ศ. 1520 กินเวลายาว 18 วัน พื้นที่จัดงานในเวลานั้นยังอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ มีผู้เข้าร่วมงานราว 12,000 คน มาจากทั้งกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง คนรับใช้ และผู้เข้าร่วมชมทั่วไป

จากการประเมินของ ศาสตราจารย์ เกล็นน์ ริชาร์ดสัน (Glenn Richardson) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุคโมเดิร์นตอนต้น จากมหาวิทยาลัยเซนต์แมรี่ส์ (St Mary’s University) ใน Twickenham เชื่อว่า หากงานฉลองลักษณะนี้จัดขึ้นในยุคปัจจุบัน คาดว่าต้องใช้งบประมาณมากถึง 15 ล้านปอนด์

กิจกรรมในงานเต็มไปด้วยพิธีแสนเอิกเกริก ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเนื่องในโอกาสการสานสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กษัตริย์อังกฤษ (Henry VIII) กับพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 กษัตริย์ฝรั่งเศส (Francis I) ทั้งสองประเทศเคยเป็นคู่อริยักษ์ใหญ่ในยุโรป

ภาพพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 (ฟรานซิสที่ 1) แห่งฝรั่งเศส โดย Jean Clouet คาดว่าวาดระหว่าง ค.ศ. 1527-1530 ไฟล์ภาพจาก Wikimedia Commons (ไฟล์ Public Domain)

บรรยากาศในงานเฉลิมฉลองเต็มไปด้วยพิธีการในแง่ศาสนา เทศกาล งานเลี้ยง ไปจนถึงการแข่งกีฬา กิจกรรมโดยส่วนใหญ่จัดขึ้นในเต็นท์อันเพียบพร้อม กระโจม และพื้นที่สำหรับจัดเลี้ยง การประดับตกแต่งเต็นท์และเครื่องแต่งกายของผู้ร่วมงานก็ถูกออกแบบและกำหนดออกมาในโทนสีทอง (นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนถึงเรียกอีเวนต์ว่า Field of Cloth of Gold)

ริชาร์ดสัน ยังเล่าว่า เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมงานรวมแล้วนับหมื่นราย แค่ฝั่งอังกฤษก็บริโภคปลาราว 29,000 ตัวเข้าไปแล้ว ไข่อีก 98,000 ฟอง นกอีก 6,475 ตัว และใช้ไม้นับล้านท่อนเพื่อก่อไฟทำอาหาร ช่วงเวลานั้น ครัวของฝั่งฝรั่งเศสและอังกฤษมีลักษณะใกล้เคียงกันในทศวรรษที่ 1520s ต่างบริโภคเนื้อสัตว์เป็นส่วนมาก รองลงมาคือผัก ทั้งสองแห่งใช้เครื่องเทศและน้ำตาลในการทำอาหารค่อนข้างมาก คาดว่าส่วนผสมที่มีราคาสูงเหล่านี้นำเข้าจากเอเชียและแอฟริกา

คาดว่าวัตถุดิบในการทำอาหารที่เลี้ยงทั้งฝั่งฝรั่งเศสและอังกฤษมีที่มาจากกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่น แต่ยังมีสิ่งของบางชนิดที่ยากจะแกะรอย แต่แน่นอนว่า อาหารที่ดีที่สุดและหายากที่สุดจะนำเสิร์ฟให้หมู่ราชวงศ์และชนชั้นสูง ส่วนอาหารระดับมาตรฐานทั่วไปมี 3 คอร์ส ถูกเลือกมาจากเมนูราว 50 ชนิด เนื้อสัตว์ที่มีให้รับประทานได้มีตั้งแต่หงส์ จนถึงนกยูง

นักประวัติศาสตร์มองว่า งานนี้ใช้แรงงานกำลังคนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในแง่การเตรียมพื้นที่อันสวยงาม และจัดเตรียมสำรับอาหารสำหรับเหล่าข้าราชบริพารของทั้งสองฝ่าย แต่แน่นอนว่า ความหรูหราฟุ่มเฟือยเหล่านี้มีความหมายแฝง เจสสิกา เบรน (Jessica Brain) คอลัมนิสต์ของ Historic UK มองว่า สภาพความอลังการนี้ตอกย้ำและเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรง สืบเนื่องมาตั้งแต่ “สงครามร้อยปี” ระหว่างศตวรรษที่ 14-15

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ช่วง ค.ศ. 1491-1547 ภาพโดย Hans Holbein คาดว่าวาดเมื่อ 1540 ไฟล์จาก Wikimedia Commons (ไฟล์ Public Domain)

เบรน อธิบายว่า ผู้ที่เป็นต้นคิดไอเดียของงานคนสำคัญคือ คาร์ดินัล Thomas Wolsey ซึ่งท่านเชื่อว่าการเฉลิมฉลองลักษณะนี้เป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือป้องกันสงครามระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ งานเลี้ยง อังกฤษถือเป็นมหาอำนาจในยุโรป ขณะที่ฝรั่งเศสมีอิทธิพลไปในระดับนานาชาติ ส่วนพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ปกครองอาณาจักรซึ่งเป็นอาณาจักรที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

ย้อนกลับไปในปี 1513 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 โจมตีฝรั่งเศสและสู้รบกับกองทัพของฟรองซัวส์ด้วย เวลาต่อมา ในปี 1515 ฟรองซัวส์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส พระองค์แสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทหารของฝรั่งเศสในการรบที่ Marignano สถานการณ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องลบต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กษัตริย์อังกฤษ ซึ่งมองว่า พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เป็นอุปสรรคอยู่บนเส้นทางไปถึงเป้าหมายของพระองค์ โดยทั้งพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และฟรองซัวส์ที่ 1 ต่างเป็นกษัตริย์หนุ่มและล้วนมีความทะเยอทะยาน พระเจ้าเฮนรีที่ 8 เชื่อว่า พระองค์มีสิทธิ์ครองราชบัลลังก์ของฝรั่งเศส และหากจำเป็น พระองค์ยินยอมให้กำลังเพื่อให้ได้มาด้วย

เมื่อ ค.ศ. 1518 คาร์ดินัล Thomas Wolsey ที่ปรึกษาของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้มีอิทธิพลทางความคิดในเวลานั้น ชักจูงให้บรรดามหาอำนาจในยุโรปร่วมลงนามสงบศึก ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรโรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ แต่อุปสรรคคือ ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันมายาวนาน

เมื่อมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ช่วงเวลานั้นสมดุลทางอำนาจในยุโรปอิงอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามผู้ปกครองดินแดนมหาอำนาจคือ พระเจ้าเฮนรีที่ 8, พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 และพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่มาถึงช่วงหนึ่ง พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 เริ่มกังวลกับการแผ่อำนาจในตอนกลางยุโรปโดยพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 จึงเห็นว่าควรมีพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นพันธมิตรเพื่อคานอำนาจ

ในปี 1518 โอกาสในการวางสมดุลมาถึง เมื่อมีการเซ็นสัญญาสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of Universal Peace/Treaty of London) มีเนื้อหาว่าจะไม่รุกรานกัน และจะส่งกำลังไปช่วยหากฝ่ายใดถูกโจมตี (ช่วงเวลานั้นจักรวรรดิออตโตมันเริ่มแผ่ขยายอิทธิพล) ซึ่งตัวแทนของมหาอำนาจในยุโรปต่างร่วมลงนามเพื่อความสงบปราศจากการรบ

การจับมือกันกับอีกราชวงศ์เป็นแค่จุดเริ่มต้น ในปี 1519 ยังมีความตึงเครียดเกิดขึ้นอีกเล็กน้อย เมื่อทั้งพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ต่างอ้างสิทธิ์เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต่อจากจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 1 (Maximilian I) แต่ผลออกมาว่าทั้งคู่ล้มเหลว กลายเป็นพระเจ้าชาร์ลสที่ 5 ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน แม้ว่าในปี 1520 จะเกิดงานเฉลิมฉลองสันติระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ลึกๆ แล้วสภาพการแข่งขันเพื่อชื่อเสียงและความโดดเด่นที่เหนือกว่ากันยังปรากฏให้เห็นในงาน

แม้ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ต่างขึ้นชื่อเรื่อง (การสร้างภาพลักษณ์) ความนิยมในวัฒนธรรมแบบยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ “เรอเนซองส์” (Renaissance) แต่ด้วยความต้องการเอาชนะกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มทุนงบประมาณสำหรับงานฉลองกันแบบสุดโต่งเพื่อเอาชนะกันและกัน แต่ด้วยมาตรการทางการทูตที่ออกแบบไว้ก็ช่วยให้เกิดสถานะแบบ “เท่าเทียมกัน” มากกว่าเบ่งใส่กัน อาทิ ให้ทั้งคู่ลงแข่งในฝ่ายเดียวกันในเกมกีฬา มีระเบียบว่า กษัตริย์ทั้งสองประเทศไม่สามารถแข่งขันกันเองได้

อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของฝั่งฝรั่งเศสซึ่งเล่าลือกันมา พระเจ้าเฮนรีที่ 8 กษัตริย์อังกฤษ ซึ่งอยู่ในอาการมึนเมาท้าพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 มาแข่งมวยปล้ำ แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ซึ่งพระองค์ยอมรับผลแต่ก็มาท้าแข่งยิงธนูต่อ

อีเวนต์นี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากงานฉลองจบลง มหาอำนาจในยุโรปก็เข้าสู่สภาวะห้ำหั่นกันอีกครั้ง อังกฤษและฝรั่งเศสก็เข้าสู่ภาวะเผชิญหน้ากันในสงครามอีกครั้งหลังจากงานจบลงภายในเวลาแค่ 2 ปี หลังจากนั้นทั้งคู่ยังสลับฝั่งกันอีกครา

ในสงครามอิตาเลียนระหว่างปี 1521-1526 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับฟรองซัวส์ที่ 1 อยู่คนละฝั่ง แต่ในช่วงสภาวะตึงเครียดในภูมิภาคระหว่างปี 1526-1530 อังกฤษกับฝรั่งเศสก็กลับมาร่วมมือกันอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.smithsonianmag.com/history/five-hundred-years-ago-henry-viii-and-francis-i-spent-19-million-18-day-party-180975116/

https://www.stmarys.ac.uk/news/2020/05/field-cloth-gold

https://www.theartnewspaper.com/feature/lost-art-field-of-the-cloth-of-gold

https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofEngland/Field-of-The-Cloth-Of-Gold/


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 26 มิถุนายน 2563