ต้นฉบับ House of The Dragon จากเรื่องจริงของ “มาทิลดา” รัชทายาทที่ถูกกีดกันในราชบัลลังก์

House of the Dragon เรนีร่า ทาร์เกเรียน พระนางมาทิลดา
(ใหญ่) เรนีร่า ทาร์เกเรียน และครอบครัว (เล็ก) และพระนางมาทิลดา พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 (ภาพจาก House of the Dragon Official Fanpage และ Wikimedia Commons)

ต้นฉบับ House of The Dragon จากเรื่องจริงของ “มาทิลดา” รัชทายาทที่ถูกกีดกันในราชบัลลังก์ จนบ้านเมืองเข้าสู่กลียุค

ทราบหรือไม่ว่าซีรีส์ “House of the Dragon” เรื่องราวศึกมังกรเริงระบำสงครามแย่งชิงบัลลังก์เหล็กแห่งเวสเทอรอส ระหว่าง เรนีร่า ทาร์เกเรียน รัชทายาทผู้เป็นสตรี กับ เอกอนที่ 2 พระอนุชาผู้ช่วงชิงบัลลังก์ มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์!

House of the Dragon อยู่ในจักรวาลเดียวกันกับซีรีส์ Game of Thrones ซึ่ง จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin) ผู้เขียนนวนิยายชุด The Song of Ice and Fire ต้นฉบับของซีรีส์ ได้เขียนเหตุการณ์ใน House of the Dragon โดยใช้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์อังกฤษ คือ เหตุการณ์ที่มีชื่อว่า The Anarchy 

The Anarchy หรือสงครามอณาธิปไตย เป็นสงครามแย่งชิงราชบัลลังก์อังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1138-1153 โดย พระนางมาทิลดา พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 รัชทายาทโดยชอบธรรม กับ พระเจ้าสตีเฟน ลูกพี่ลูกน้องของพระนางมาทิลดาที่แย่งชิงบัลลังก์ไป ถือเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเข้าสู่ยุคมืด เพราะบ้านเมืองต้องเผชิญกับไฟสงคราม และสภาวะไร้ขื่อแปยาวนานกว่า 15 ปี 

เมื่ออิสตรีได้สิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์

เรื่องราวของสงครามอณาธิปไตย เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์นอร์มันเมื่อปี 1100 และอภิเษกกับมาทิลดาแห่งสกอตแลนด์ พระองค์มีโอรสธิดากับมาทิลดาแห่งสกอตแลนด์ 2 พระองค์ คือ 

มาทิลดา พระธิดาองค์โต ประสูติเมื่อปี 1102 และได้อภิเษกกับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เมื่อปี 1110 พระนางมาทิลดาจึงต้องไปอาศัยอยู่ที่เยอรมนีกับพระสวามีและดำรงยศเป็นจักรพรรดินี ทำให้พระนางเหินห่างไปจากราชสำนักและเหล่าขุนนางอังกฤษ

วิลเลียม อเดลิน พระโอรสองค์สุดท้อง ประสูติเมื่อปี 1103 เนื่องจากเจ้าชายวิลเลียมเป็นโอรสเพียงองค์เดียว พระเจ้าเฮนรีที่ 1 จึงแต่งตั้งเจ้าชายวิลเลียมเป็นดยุคแห่งนอร์มังดีและรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ

แต่เมื่อมาทิลดาแห่งสกอตแลนด์สิ้นพระชนม์ในปี 1118 และเจ้าชายวิลเลียมสิ้นพระชนม์จากเหตุเรืออับปางเมื่อปี 1120 ราชบัลลังก์อังกฤษจึงเกิดวิกฤต เพราะไร้ผู้สืบทอดสายตรงที่เป็นเพศชาย 

พระเจ้าเฮนรีที่ 1 จึงสมรสใหม่อีกครั้งเพื่อหวังมีพระโอรส แต่ก็ไม่มีบุตรกับพระมเหสีใหม่ พระองค์จึงตัดสินใจทำผิดธรรมเนียมด้วยการแต่งตั้ง “พระนางมาทิลดา” พระธิดาเพียงองค์เดียวเป็นรัชทายาท และพยายามบังคับให้เหล่าขุนนางสาบานตนยอมรับให้พระนางเป็นกษัตริย์อังกฤษคนต่อไป

เมื่อจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 5 พระสวามีของพระนางมาทิลดาเสด็จสวรรคตในปี 1125 พระเจ้าเฮนรีที่ 1 จึงเรียกพระนางมาทิลดากลับอังกฤษ และให้พระนางสมรสรอบที่สองกับ จอฟฟรีย์ เคานต์แห่งอ็องฌู (Jeoffrey Count of Anjou) เพื่อสร้างพันธมิตร

Empress Matilda พระนางมาทิลดา
พระนางมาทิลดา จักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

แต่เหล่าขุนนางอังกฤษไม่ชอบใจนัก เพราะไม่อยากเห็นสตรีขึ้นเป็นกษัตริย์ อีกทั้งพระนางมาทิลดายังห่างจากแวดวงชนชั้นสูงอังกฤษไปเสียนาน และยังไปแต่งงานกับเจ้าแคว้นอ็องฌู ศัตรูสำคัญของชาวนอร์มัน ทว่าขุนนางทุกคนยังคงเกรงใจและยอมรับพระนางเป็นรัชทายาทขณะพระเจ้าเฮนรี่ที่ 1 ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่

สิทธิโดยชอบธรรมที่มาทิลดาถูกพรากไป

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 1 สวรรคตในปี 1135 เหล่าขุนนางได้ละเลยคำสาบานและหันไปเลือก สตีเฟน แห่งบลัว (Stephen of Blois) ลูกพี่ลูกน้องของพระนางมาทิลดา ขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษแทน

สตีเฟน แห่งบลัว ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าสตีเฟน โดยมีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับ เพราะมีทั้งประสบการณ์การสู้รบ ได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 และสำคัญที่สุด คือ เป็นบุรุษ

ระหว่างปี 1135-1138 พระเจ้าสตีเฟนปกครองเกาะอังกฤษโดยไร้แรงต่อต้าน แต่พระนางมาทิลดาและพระสวามีก็เริ่มทวงคืนบัลลังก์อังกฤษ ด้วยการแย่งชิงพื้นที่บางส่วนในแคว้นนอร์มังดีมาครอบครอง (ขณะนั้นแคว้นนอร์มังดีในฝรั่งเศสยังเป็นดินแดนของชาวนอร์มันที่ขึ้นกับกษัตริย์อังกฤษ)

ต่อมาในปี 1138 เมื่อ โรเบิร์ต เอิร์ลแห่งกลอสเตอร์ ประกาศไม่ยอมรับอำนาจของพระเจ้าสตีเฟน ทำให้ขุนนางท้องถิ่นในเคนต์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษลุกฮือ ขณะเดียวกันพระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ ผู้เป็นพระอนุชาของมาทิลดาแห่งสกอตแลนด์ และมีศักดิ์เป็นน้าของพระนางมาทิลดา ได้ส่งกองทัพรุกรานภาคเหนือของอังกฤษ โดยอ้างว่า ทำศึกเพื่อทวงสิทธิ์ในบัลลังก์ให้แก่หลานสาวของพระองค์

แต่พระเจ้าสตีเฟนก็สามารถปราบปรามกบฏบนเกาะอังกฤษได้ และเจรจาสันติภาพกับสกอตแลนด์โดยยอมยกดินแดนบางส่วนให้

พระเจ้าสตีเฟน Stephen of Blois
พระเจ้าสตีเฟน (ภาพจาก National Portrait Gallery)

เริ่มต้นมหาศึกชิงบัลลังก์อังกฤษ

ในปี 1139 พระนางมาทิลดารวมพลบุกเกาะอังกฤษ ยกทัพขึ้นบกทางตะวันตกเฉียงใต้ พระเจ้าสตีเฟนเคลื่อนพลเข้าปราบปราม แต่ฝ่ายพระนางมาทิลดาสามารถยันไว้ได้ พระเจ้าสตีเฟนจึงทำได้เพียงยั้งทัพเอาไว้

ถึงปี 1140 พระเจ้าสตีเฟนพยายามตีปราสาทลินคอล์นของพระนางมาทิลดา แต่ไม่สามารถตีแตก ทำได้เพียงล้อมไว้ แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน พระเจ้าสตีเฟนถูกกองทัพพันธมิตรของพระนางมาทิลดาล้อม ทำให้พระองค์ต้องร่วมรบกับพลเดินเท้าอย่างกล้าหาญ แต่ก็เพลี่ยงพล้ำถูกจับตัวเป็นเชลยในที่สุด

หลังได้รับชัยชนะ พระนางมาทิลดายาตราทัพสู่กรุงลอนดอน และสถาปนาตนเองเป็น “พระนางแห่งอังกฤษและนอร์มังดี” (Lady of England and Normandy) ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แต่ครองบัลลังก์ได้เพียงไม่กี่เดือน ชาวกรุงลอนดอนก็ก่อเหตุจลาจล ทำให้พระนางมาทิลดากับผู้สนับสนุนหนีไปเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด

อีกด้านหนึ่ง กษัตริย์และขุนนางฝรั่งเศสฉวยโอกาสโจมตีแคว้นนอร์มังดี พันธมิตรของพระนางมาทิลดาหลายคนถอนตัวเพื่อกลับไปป้องกันดินแดน ทำให้กำลังของพระนางอ่อนแอลง

พระราชินีมาทิลดาแห่งบูโลญ พระมเหสีของพระเจ้าสตีเฟน เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงรวบรวมผู้ภักดีต่อพระสวามีทำสงครามสู้รบกับพระนางมาทิลดา และได้รับชัยชนะที่สมรภูมิวินเชสเตอร์ พร้อมจับตัวโรเบิร์ต แม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายพระนางมาทิลดาไว้ได้ ทั้งสองฝ่ายจึงเจรจาแลกเปลี่ยนตัวเชลยระหว่างพระเจ้าสตีเฟนกับโรเบิร์ต 

ปี 1141-1142 พระเจ้าสตีเฟนรุกไล่ตีฐานที่มั่นฝ่ายพระนางมาทิลดาหลายแห่ง บีบให้พระนางซึ่งมีฐานที่มั่นสุดท้ายที่อ็อกซ์ฟอร์ดตัดสินใจหลบหนีออกมา โดยปลอมตัวเป็นศพและให้คนสนิทปลอมตัวเป็นสัปเหร่อหนีออกมาจากปราสาทอย่างแนบเนียน 

พระนางมาทิลดาล่าถอยกลับไปยังนอร์มังดี เลิกหวังเป็นกษัตริย์อังกฤษ และตัดสินใจสนับสนุนให้ “เจ้าชายเฮนรี” พระโอรสของพระองค์กับจอฟฟรีย์ เคานต์แห่งอ็องฌู ทวงสิทธิ์เป็นกษัตริย์แทน 

ยุคอณาธิปไตย ไร้ขื่อแป แลไร้รัฐ

ผลจากการห้ำหั่นกันระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนพระนางมาทิลดา องค์รัชทายาทโดยชอบธรรม กับฝ่ายพระเจ้าสตีเฟน ซึ่งไม่ต้องการให้บัลลังก์เป็นของสตรี ทำให้ทั้งลอร์ดและชาวนาผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบอย่างต่อเนื่อง และแม้สงครามครั้งนี้จะหยุดลงเพราะพระนางมาทิลดาวางมือไป บ้านเมืองก็ไม่ได้สงบสุขแต่อย่างใด เพราะบรรดาขุนนางต่างต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ ใครมีอำนาจก็ใช้กำลังข่มเหงคนอื่นได้ตามใจชอบ จนบ้านเมืองไร้ขื่อแป 

นี่เองจึงทำให้นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงนี้ว่า The Anarchy หรือ สงครามอณาธิปไตย

พงศาวดารแองโกลแซ็กซัน (Anglo-Saxon Chronicle) กล่าวถึงความทุกข์ทนของประชาชนทั่วไปในช่วง 19 ปีแห่งการครองราชย์ของพระเจ้าสตีเฟนไว้ว่า “สิบเก้าปีอันยาวนานที่พระเจ้าสตีเฟนเป็นกษัตริย์ ดินแดนต่างๆ ตกอยู่ในเงื้อมมือของความหายนะและความมืดมิด ผู้คนต่างพูดกันไปทั่วว่า พระคริสต์และนักบุญของพระองค์ได้หลับใหล” 

อาณาจักรที่วุ่นวายและบัลลังก์ที่ตกอยู่ในอันตราย ทำให้พระเจ้าสตีเฟนหันไปพึ่งพาศาสนจักร ร้องขอให้บาทหลวงสวมมงกุฎกษัตริย์ให้กับ “เจ้าชายอูสเตส” พระโอรสของพระองค์ แต่บาทหลวงปฏิเสธเพราะเห็นว่าผิดธรรมเนียม เพราะกษัตริย์ยังไม่สวรรคต โดยให้รอพระสันตะปาปาเห็นชอบก่อน 

พระเจ้าสตีเฟนไม่พอพระทัยจึงจับบาทหลวงขังไว้ แต่บาทหลวงก็หลบหนีออกมาได้ ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าสตีเฟนกับศาสนจักรจึงย่ำแย่ และสถานะของพระเจ้าสตีเฟนเริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง

สงครามครั้งสุดท้ายและการเจรจาสันติภาพ

ในปี 1153 เจ้าชายเฮนรี โอรสของพระนางมาทิลดา นำกำลังจากนอร์มังดีบุกเกาะอังกฤษอีกครั้ง และผนึกกำลังกับโรเบิร์ตแห่งเลสเตอร์ แต่การรบที่ยืดเยื้อยาวนานทำให้ขุนนางทั้งสองฝ่ายเบื่อหน่ายสงครามเต็มที ประกอบกับเจ้าชายอูสเตสป่วยและสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสตีเฟนและเจ้าชายเฮนรีจึงยอมสงบศึก

การเจรจาสันติภาพที่มีฝ่ายศาสนายื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลาง ได้ข้อยุติเป็น “สนธิสัญญาวินเชสเตอร์” ส่งผลให้พระเจ้าสตีเฟนยังเป็นกษัตริย์อังกฤษต่อไป และแต่งตั้งให้เจ้าชายเฮนรีเป็นรัชทายาท 

เพียงหนึ่งปีถัดมา ในปี 1154 พระเจ้าสตีเฟนก็เสด็จสวรรคต เจ้าชายเฮนรีขึ้นครองราชย์ในนาม “พระเจ้าเฮนรีที่ 2” แห่งอังกฤษ และเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์แพลนแทเจเนต 

แม้พระนางมาทิลดา พระมารดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 จะไม่ได้ขึ้นเป็นกษัตรีอย่างภาคภูมิ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพระโอรสให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สตรีชนชั้นสูงยุคกลางทำได้ พระนางมาทิลดาได้เห็นพระโอรสครองบัลลังก์กว่า 10 ปี จวบจนพระนางสิ้นพระชนม์ในปี 1167 โดยฝังร่างไว้ที่วิหารฟงเตฟรูลต์ 

สงครามอณาธิปไตย สงครามชิงราชบัลลังก์อังกฤษซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 15 ปี จบลงได้ด้วยดี เมื่อสตรีผู้เป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมอย่างพระนางมาทิลดาถอดใจและรามือไปจากบัลลังก์ เพราะไม่อาจทานทนแรงต้านจากเหล่าขุนนางและผู้คนที่ยังคงไม่ยอมรับให้สตรีได้ขึ้นเป็นใหญ่

เรื่องราวของพระนางมาทิลดากับ The Anarchy สงครามอณาธิปไตย จึงถูกถ่ายทอดในซีรีส์ House of the Dragon ผ่านตัวละคร เรนีร่า ทาร์เกเรียน และไม่ว่าพระนางมาทิลดา หรือ เรนีร่า ทาร์เกเรียน จะต้องการเป็นใหญ่เหนือบัลลังก์แค่ไหน แต่ท้ายสุดก็ต้องศิโรราบให้กับชาย เพราะบุรุษยอมสละซึ่งทุกสิ่งเพื่อไม่ให้ตนต้องสูญเสียอำนาจ โดยเฉพาะการเสียอำนาจให้กับสตรี ดังที่ เรนีส ทาร์เกเรียน ราชินีไร้บัลลังก์ กล่าวไว้ใน ซีรีส์ House of the Dragon ว่า

“บุรุษยอมเห็นแผ่นดินลุกเป็นไฟ ดีกว่าเห็นสตรีขึ้นครองบัลลังก์” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

John Allen Giles. The Anglo-Saxon Chronicle London, G. Bell and Sons, LTD, 1914. 

www.britannica.com/biography/Henry-I-king-of-England

www.britannica.com/biography/Stephen-king-of-England

www.britannica.com/biography/Matilda-daughter-of-Henry-I

www.britannica.com/biography/Henry-II-king-of-England

www.historytoday.com/archive/months-past/death-king-stephen

www.history.co.uk/articles/the-anarchy-england-s-dark-period-of-lawlessness-and-war

www.historyextra.com/period/medieval/guide-the-anarchy-what-civil-war-stephen-matilda/

www.thoughtco.com/empress-matilda-biography-3528825

www.youtube.com/watch?v=0aNJj7CRZI0&t=1145s


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2566