เจาะลึกประวัติศาสตร์ ในซีรีส์ “The Sandman” EP. 6 The Sound of Her Wings

(ซ้าย) "Hob" ชายหนุ่มผู้ได้รับพรวิเศษมีชีวิตเป็นอมตะ, (ขวา) "Dream" เทพแห่งความฝัน (ภาพจาก Netflix)

ในซีรีส์ “The Sandman” EP.6 ที่มีชื่อตอนว่า “The Sound of Her Wings” นอกจากจะเล่าเรื่องราวของ “Death” เทพแห่งความตายแล้ว ในตอนนี้ยังเล่าถึงความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 600 ปี ระหว่าง “Dream” เทพแห่งความฝัน ตัวละครเอกของซีรีส์ กับ “Hob” ชายหนุ่มผู้ได้รับพรวิเศษมีชีวิตเป็นอมตะ

Spoiler Alert! บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์

บทความนี้จะมาเจาะลึกประเด็นประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในทุกครั้งที่ Dream และ Hob มาพบกัน

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในปี 1389 Dream และ Death เดินทางมายังโรงเหล้าม้าขาว ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายในโรงเหล้า ผู้คนต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ มีทั้งเรื่องการขูดรีดภาษี สงคราม โรคระบาด ฯลฯ ดังที่ผู้หญิงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “เราเจอสงคราม โรคระบาด และพระสันตะปาปาสององค์สู้กัน โลกใกล้ถึงกาลสิ้นสุดแล้ว จำคำข้าไว้”

“สงคราม” นั้นเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง แต่สงครามในช่วงเวลานั้นที่สำคัญคือ “สงครามร้อยปี” ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ ซึ่งราชสำนักอังกฤษขูดรีดภาษีจากประชาชนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการทำสงคราม, “โรคระบาด” นี้ก็คือ “กาฬโรค” หรือ Black Death ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-15

สำหรับ “พระสันตปาปาสององค์สู้กัน” ก็คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Western Schism” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1378 อันเกิดจากความขัดแย้งในคริสตจักร จนทำให้มีการสถาปนาพระสันตะปาปาขึ้นมา 2 องค์ในช่วงเวลาเดียวกัน องค์หนึ่งประทับที่เมืองอาวีญง ในฝรั่งเศส และอีกองค์หนึ่งประทับที่กรุงโรม ในอิตาลี รายละเอียดที่มาและบทสรุปของเรื่องราวนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : มหาศาสนเภท เหตุขัดแย้งที่ทำให้มี “Pope” 3 พระองค์ในเวลาเดียวกัน สู่จุดเสื่อมศาสนจักร

นอกจากนี้ ภายในโรงเหล้ายังมีคนกล่าวถึง “Piers Plowman” ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์โดย William Langland เป็นบทกวียอดนิยมของอังกฤษในสมัยกลาง ที่ผสมผสานระหว่างเทววิทยาและการเสียดสีสังคม เกี่ยวข้องกับการแสวงหาชีวิตคริสเตียนที่แท้จริง

ภาพเขียน “The Plague at Ashdod” (โรคระบาดในเมืองแอชดอด) โดย Nicolas Poussin โยงโรคระบาดในพระคัมภีร์เก่า ให้สัมพันธ์กับ กาฬโรค มีหนูตัวเล็กๆ บนฐานเทวสถาน

ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่อื้ออึงในโรงเหล้า คำพูดประโยคหนึ่งที่ทำให้ Dream และ Death สะดุดหูมาจากชายที่มีชื่อว่า Hob หรือ Robert Gadling เขาได้พูดขึ้นว่า “ข้าเจอความตายมาแล้ว คนในหมู่บ้านข้าครึ่งหนึ่งตายเพราะกาฬโรค ข้าอยู่ในกองทัพของบังกิงแฮมในศึกที่เบอร์กันดี ใช่ว่าข้าจะไม่รู้ความตายเป็นเช่นไร ความตายน่ะโง่เง่า”

กาฬโรคเป็นโรคระบาดแห่งศตวรรษ สำหรับ Hob เขาประสบเรื่องนี้โดยตรง คนในหมู่บ้านที่เขาอาศัยก็ตายไปกว่าครึ่ง ครั้นเขาได้ไปร่วมทำสงคราม ก็ต้องพบกับการประหัตประหารฆ่าฟันระหว่างมนุษย์ด้วยกันอย่างเหี้ยมโหด สองเรื่องนี้ทำให้เขาคิดว่าเขาเข้าใกล้กับ “ความตาย” มาแล้ว เขาจึงกล่าวอย่างมั่นใจว่า “ข้าเจอความตายมาแล้ว” จึงทำให้เขาไม่กลัวและจะไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับความตาย นี่ทำให้ Dream และ Death สนใจเขา และได้มอบพรวิเศษให้มีชีวิตเป็นนิรันดร์

สำหรับสงครามที่ Hob ไปร่วมรบนี้ อาจเป็นสงครามในช่วงปี 1379-80 ซึ่งเขาคงได้เป็นทหารในกองทัพของ Thomas of Woodstock หรือ Earl of Buckingham ผู้บังคับบัญชากองทัพอังกฤษในฝรั่งเศส ซึ่งถูกส่งเข้าไปช่วยเหลือและแทรกแซงรัฐ Brittany ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส สงครามครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามร้อยปี

เมื่อ Hob ได้รับพรวิเศษให้มีชีวิตเป็นอมตะ Dream จึงนัดพบเขาที่โรงเหล้าแห่งนี้ในทุก ๆ 100 ปี และทุกครั้งที่พวกเขามาพบกัน ก็จะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์แฝงอยู่ทั้งสิ้น

ปี 1489 Hob และ Dream มาพบกันตามนัด แม้ Hob จะรู้สึกหวาดกลัวชายที่นั่งอยู่ตรงข้าม แต่เขาก็ประทับใจไม่น้อยที่ได้พรวิเศษนี้มา Dream ถามเขาว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง Hob ตอบว่า “มันเปลี่ยนไปหมด…ปล่องไฟ ไม่ต้องน้ำตาไหลตลอดเวลาเพราะโดนควัน ตอนนี้เรามีผ้าชิ้นเล็ก ๆ ไว้ปิดจมูก เมื่อก่อนเราใช้ชายแขนเสื้อ และการเล่นไพ่” Hob รู้สึกสนุกกับความเป็นอมตะที่ได้มา เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา ในแววตาของเขาก็เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ใจ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ Hob ทำอาชีพเกี่ยวกับการพิมพ์! ซึ่งปี 1489 เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่กำลังเฟื่องฟูในยุโรป โดยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้มีการปฏิวัติเทคโนโลยีการพิมพ์ โดย “Johannes Gutenberg” เขาเป็นผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมาใช้ ทำให้พิมพ์หนังสือได้จำนวนมาก ส่งผลให้ราคาถูกลง เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของการเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่ให้กระจายออกไปเป็นวงกว้าง เป็นรากฐานที่จะนำมาสู่ยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ การปฏิรูปศาสนาคริสต์ และการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในสมัยต่อมา

ปี 1589 Hob กลายเป็นชายสูงศักดิ์ผู้มั่งคั่ง มีชื่อว่า Sir Robert Gadlen เขากล่าวกับ Dream ว่า “ล่าสุดที่เราคุยกัน ข้าทำงานกับบิลลี แคกซ์ตัน ได้ทองมาพอดู เอาไปลงทุนกับอู่ต่อเรือของเฮนรี ทิวดอร์ ทำเงินได้นิดหน่อย…เมื่อเฮนรีอ้วนเล่นงานศาสนจักร ข้าก็ซื้อที่ดิน และเมื่อบริจาคทองก้อนโตให้ทางวังจึงได้ตำแหน่งอัศวิน”

Hob ทำงานกับ “บิลลี แคกซ์ตัน” ซึ่งอาจหมายถึง “William Caxton” พ่อค้านักธุรกิจชาวอังกฤษ ซึ่งธุรกิจหนึ่งที่เขาทำคือ การพิมพ์ (William Caxton เป็น 1 ใน 100 ชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากการสำรวจความคิดเห็นของ BBC) เมื่อ Hob ร่ำรวยจึงนำเงินไปลงทุนในอู่ต่อเรือของ “เฮนรี ทิวดอร์” ในที่นี้อาจหมายถึง King Henry VII หรือ King Henry VIII ก็ได้ เพราะกษัตริย์อังกฤษพ่อลูกคู่นี้ต่างก็ส่งเสริมการต่อเรือและพัฒนากิจการกองทัพเรืออังกฤษด้วยกันทั้งคู่ แต่มีแนวโน้มที่จะหมายถึง King Henry VII มากกว่า เพราะพระองค์ทรงเป็นต้นวงศ์ของราชวงศ์ทิวดอร์ จึงมักเรียก “เฮนรี ทิวดอร์” อีกทั้งในคำกล่าวต่อมาของ Hob เขาพูดถึง “เฮนรีอ้วน” ซึ่งส่วนนี้หมายถึง King Henry VIII อย่างแน่นอน

เส้นทางชีวิตของ Hob ในช่วงนี้ 100 ปีนี้จะเห็นได้ว่าเขาเริ่มจากการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการพิมพ์ เป็นอาชีพใหม่แต่กลับเป็นที่ต้องการสูงมาก อาชีพนี้คงทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ ต่อมาเมื่อได้ทำงานกับ William Caxton ก็ทำให้เขามีเงินทองพอตั้งตัวแล้วจึงนำไปลงทุนต่อยอดในกิจการอู่ต่อเรือของกษัตริย์ และนั่นก็เป็นใบเบิกทางที่ทำให้เขาใกล้ชิดกับราชสำนักอังกฤษมากขึ้น

แต่สิ่งที่ทำให้ Hob ร่ำรวยมากมาจากการซื้อที่ดินจากกษัตริย์! เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ King Henry VIII (พระราชบิดาของ Queen Elizabeth I พระราชินีของอังกฤษที่คุ้นภาพกันดีจากภาพยนตร์ Elizabeth และ Elizabeth : The Golden Age ที่รับบทโดย Cate Blanchett) ทรงต้องการหย่าร้างกับพระราชินี Catherine of Aragon เนื่องจากพระนางไม่สามารถให้กำเนิดพระราชโอรสได้ ทว่า การหย่าร้างต้องได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปา แต่คริสตจักรไม่ยินยอม King Henry VIII จึงต่อต้านศาสนจักรที่กรุงโรม และทำการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ หนึ่งในนโยบายที่ทรงทำคือ การยึดทรัพย์สมบัติและที่ดินของวัดมาเป็นของพระองค์ ซึ่งที่ดินของวัดในอังกฤษนับเป็น 1 ใน 5 ของที่ดินทั้งประเทศเลยทีเดียว

จากนั้น King Henry VIII ก็ทรงขายที่ดินให้กับพระสหายหรือบุคคลที่ใกล้ชิด ก่อให้เกิดขุนนางเจ้าที่ดินรายใหม่ ๆ และก็เป็นช่วงนี้เองที่ Hob กว้านซื้อที่ดินเอาไว้ เขาจึงกลายเป็นเจ้าที่ดินหน้าใหม่ แสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินจนทำให้เขามั่งคั่งร่ำรวย แล้วจึงนำทองไปถวายกษัตริย์ และได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็น “Sir” (อ่านเพิ่มเติม : “หย่า-ประหาร-ตาย-รอด” ชะตากรรมพระราชินี 6 พระองค์ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ)

ภาพวาดของ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 โดย Hans Holbein ปีค.ศ. 1537 ไฟล์ public domain

ท่าทีที่ Dream ได้ฟังเรื่องราวของ Hob ในตอนนี้เป็นไปในทางรับฟัง แต่ไม่ใคร่สนใจ เพราะ Hob พูดแต่เรื่องเงินทองและความร่ำรวย เป็นความโลภเป็นกิเลสที่ Dream น่าจะเห็นมามากมายนักต่อนักแล้วในตัวมนุษย์ Dream จึงหันไปให้ความสนใจไปที่ “William Shakespeare” ซึ่งกำลังพรรณาบทละครของเขาอย่างออกรสอยู่ในโรงเหล้า

Shakespeare เป็นกวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษ ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นที่สุดในวงการวรรณกรรมอังกฤษ Dream เข้าไปหาเขาแล้วพูดว่า “เจ้าอยากเขียนบทละครดี ๆ ไหม สร้างความฝันใหม่ ๆ เพื่อปลุกเร้าความคิดผู้คน” การพบกันระหว่างเจ้าแห่งความฝัน กับยอดกวีแห่งยุค คงทำให้ Shakespeare สร้างสรรค์ผลงานได้มากมาย โดยเฉพาะบทละครทั้งโศกและสุข ไม่ว่าจะเป็น เวนิสวาณิช, จูเลียส ซีซาร์ หรือผลงานชิ้นเอกอย่าง โรมิโอและจูเลียต

ปี 1689 ชีวิตของ Hob กลับตาลปัตร จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มีอำนาสวาสนา เพียบพร้อมทุกประการ กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว สูญเสียครอบครัว บ้าน ที่ดิน เงินทอง ตกอับต้องทนใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากมาเกือบร้อยปี Dream อาจคิดว่าบางทีครั้งนี้ Hob อาจจะบอกว่าเขาไม่อยากมีชีวิตเป็นอมตะอีกต่อไป แต่ผิดถนัด “การตายจะคุ้มค่าอะไร ข้ามีอะไรอีกมากมายให้อยู่ต่อ” Hob กล่าว

แม้ช่วงเวลานี้จะไม่ได้แฝงประเด็นประวัติศาสตร์จากบทสนทนาระหว่าง Dream กับ Hob แต่จากการที่ Hob อาศัยอยู่ในชุมชนเดิมมายาวนาน 40 ปี โดยที่เขาไม่แก่ตัวลงเลย ทำให้เขาถูก “ล่าแม่มด” ซึ่งการล่าแม่มดปรากฏในประวัติศาสตร์ยุโรปมาทุกสมัย เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนแนวคิดของมนุษย์ในการจัดการกับเรื่องเหนือธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถให้คำอธิบายได้ มักลงเอยด้วยการกำจัดสิ่งนั้นออกไปด้วยความรุนแรง

ปี 1789 แค่เห็นตัวเลขชุดนี้ย่อมรู้โดยทันทีว่าปีนี้คือปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีการล้มระบอบกษัตริย์มาสู่ระบอบสาธารณรัฐ ฉากเปิดด้วยคำพูดของ Hob ว่า “ข้าได้ยินเรื่องน่าขำขันเมื่ออาทิตย์ก่อน หนุ่มคนหนึ่งบอกข้าว่า ‘ถ้าชนชั้นสูงฝรั่งเล่นคริกเกตกับประชาชนของตนแบบที่เราทำ พวกนั้นคงไม่เจอปัญหานี้’ ทีแรกก็อาณานิคม ตอนนี้ก็ฝรั่งเศส ถ้าถามข้านะ ประเทศนี้ต้องมีการปฏิวัติต่อไปแน่นอน”

การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หลังเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789

จากคำพูดของ Hob นอกจากจะพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว เขายังพูดย้อนไปถึงการปฏิวัติที่ “อาณานิคม” ซึ่งหมายถึง “สิบสามอาณานิคม” (Thirteen Colonies) ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษบนแผ่นดินทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งทำสงครามประกาศอิสรภาพต่ออังกฤษเมื่อปี 1776 และภายหลังได้ก่อตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ Hob ยังเล่าถึงธุรกิจขนส่งที่เขาทำอยู่ว่า “ข้าทำธุรกิจขนส่ง มีระบบใหม่ที่นำสินค้าฝ้ายอังกฤษไปแอฟริกา ไปรับพวกนิโกรอัดมาให้แน่นเรือเหมือนปลากระป๋อง เรือลำเดียวกับที่พาพวกเขาข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากนั้นก็กลับมาที่นี่ [อังกฤษ] พร้อมฝ้ายดิบ ยาสูบ และน้ำตาล”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ อังกฤษเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ และประดิษฐ์เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมผ้า เช่น เครื่องปั่นด้าย เครื่องทอผ้า ฯลฯ ทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และระบบโรงงานที่ทำให้ระบบการผลิตมีความซับซ้อน ซึ่งเริ่มเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมแบบครัวเรือนที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก

ยุโรปจึงกลายเป็นตลาดและแหล่งผลิตสินค้าขนาดใหญ่ จึงมีความต้องการวัตถุดิบมากขึ้นเป็นเงาตามตัว นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผลักดันลัทธิ “จักรวรรดินิยม” ขยายตัวไปทั่วโลก มีการนำคนดำจากแอฟริกามาเป็นทาสใช้แรงงานในดินแดนอาณานิคม โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะเวสต์อินดีส ในทะเลแคริบเบียน เพื่อเร่งผลิตวัตถุดิบอย่างฝ้ายและน้ำตาล ก่อนที่จะนำไปขายยังตลาดในทวีปยุโรป จากนั้นก็นำสินค้าที่ผลิตในยุโรปไปขายยังดินแดนภายนอก ทำเช่นนี้เป็นวัฏจักร

นอกจากนี้ ช่วงหนึ่ง Hob ยังเล่าให้ Dream ฟังอีกด้วยว่า เขาไปชมละครเรื่อง “King Lear” มาเมื่อวานนี้ด้วย ซึ่งบทละครเรื่องนี้ก็ประพันธ์โดย Shakespeare นั่นเอง

ปี 1898 ฉากเปิดด้วยคืนที่ฝนตกปรอยปราย ท้องถนนเฉอะแฉะ ไฟริมถนนสลัว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นฉากหลังอย่างดีให้กับเรื่องราวของ “Jack the Ripper” ฆาตกรต่อเนื่องที่สร้างความสยดสยองทั่วเกาะอังกฤษ ที่ก่อเหตุตั้งแต่ปี 1888

การที่ซีรีส์เลือกให้ตัวละคร “Lou” ซึ่งเสนอขายบริการทางเพศให้กับ Dream เป็นคนกล่าวถึง Jack the Ripper ก็สอดคล้องกับเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องผู้นี้ ซึ่งก่อเหตุสังหารหญิง “โสเภณี” ในแถบ East End ของกรุงลอนดอน ซึ่งในสมัยควีนวิกตอเรียนเป็นย่านเสื่อมโทรมที่สุดของเมืองหลวง เป็นชุมชนของแรงงานในเขตท่าเรือ เป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด แต่ก็เป็นสวรรค์ของนักเที่ยวกลางคืน

(ซ้าย) “Hob” ชายหนุ่มผู้ได้รับพรวิเศษมีชีวิตเป็นอมตะ, (ขวา) “Dream” เทพแห่งความฝัน เมื่อพบกันในปี 1898 (ภาพจาก Netflix)

ปี 1989 แม้ร้อยปีก่อนหน้า Hob และ Dream จะทะเลาะกัน แต่ Hob ก็ยังมารอพบที่เดิม

“ภาษีรายหัวเฮงซวยของแทตเชอร์ ต้องมีการปฏิวัติ…” หญิงสาวคนหนึ่งกล่าวขึ้นในขณะที่ Hob กำลังนั่งรอ Dream นี่เป็นประเด็นที่สังคมอังกฤษโจษจันอย่างมากในยุคนั้น ภาษีรายหัว (Poll Tax หรือ Community Charge) เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นของรัฐบาลอังกฤษ ในสมัยนายกรัฐมนตรี “Margaret Thatcher” โดยจะจัดเก็บภาษีเป็นรายหัวเท่ากันทุกคน

มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) และสามี ที่บ้านเลขที่ 10 Downing Street ในปี 1979 (Photo by PA / AFP)

แม้ดูเหมือนว่าการจัดเก็บภาษีชนิดนี้จะเป็นลักษณะที่ “เท่าเทียม” แต่แท้จริงแล้วมันกระทบต่อชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง เนื่องจากแต่เดิมในท้องถิ่นจะมีการจัดเก็บภาษีแบบ “rates” ผู้ใดมีทรัพย์สินมากย่อมต้องจ่ายภาษีรายหัวมาก ผู้ใดมีทรัพย์สินน้อยย่อมต้องจ่ายภาษีรายหัวน้อยกว่า เป็นการจัดเก็บภาษีตามอัตราโดยประเมินจากทรัพย์สิน แต่การจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ทำให้ชนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะดีได้ประโยชน์ (จ่ายภาษีรายหัวน้อยลง) นี่จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ Thatcher อย่างหนัก

หลังจากบังคับใช้ในสกอตแลนด์ ตามมาด้วยอังกฤษและเวลส์ เกิดการประท้วงและก่อจลาจลไปทั่วเกาะอังกฤษ มีการปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีชนิดนี้ หน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการใดได้มากนัก เมื่อ Thatcher พ้นจากตำแหน่งได้ไม่นานนโยบายนี้ก็ถูกยกเลิก หลังบังคับใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพได้ไม่กี่ปี (อ่านเพิ่มเติม : “มาร์กาเร็ต แธตเชอร์” จากผู้ขโมยนมเด็ก สู่นายกหญิงเหล็กแห่งอังกฤษ)

แม้ในปีนี้ Dream และ Hob จะไม่ได้พบกัน แต่เมื่อทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้งในภายหลัง ก็ทำให้เห็นถึงสัมพันธภาพอันยาวนานกว่า 600 ปี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน จนทั้งคู่กลายมาเป็น “เพื่อน” อย่างแท้จริง

นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในช่วงเวลาตลอด 600 กว่าปีเหล่านี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ EP.6 “The Sound of Her Wings” คือ การแต่งกาย และองค์ประกอบฉาก อย่างในปี 1389 เราได้เห็น Dream และ Death สวมชุดอย่างบาทหลวง-แม่ชี ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าช่วงเวลานี้คือสมัยกลาง หรือ Middle Ages ยุคที่คริสต์ศาสนากำลังรุ่งเรืองและทรงอำนาจมากที่สุด หรือเสื้อผ้าหน้าผมของ Hob ในปี 1589 และ 1789 ก็สะท้อนภาพการแต่งกายของชายชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี

อีกประการหนึ่ง คือ เราจะได้เห็นพัฒนาการของประเทศอังกฤษ ของกรุงลอนดอน ผ่านโรงเหล้าแห่งนี้ ได้เห็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่พูดคุยกันในแต่ละยุคสมัย ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ สารพัดปัญหา การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ หรือแม้แต่ “มุกตลก” ที่ถูกส่งต่อจากปี 1389 ถึงปี 1989 ท่านผู้อ่านลองกลับไปย้อนดู ว่า Easter Egg มุกตลกนี้คือมุกอะไร

เมื่อผู้อ่านได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์จากตอนนี้แล้ว ท่านก็คงจะเข้าใจตัวละคร Hob ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นว่าเขาใช้ชีวิตตลอดช่วง 600 กว่าปีมานี้อย่างไร เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในแต่ละสมัย มีผลต่อชีวิตของเขามากน้อยเพียงใด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2565