ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“มหาศาสนเภท” เหตุขัดแย้งที่ทำให้มี “พระสันตะปาปา” หรือ “Pope” ถึง 3 พระองค์ในเวลาเดียวกัน สู่จุดเสื่อมของ “ศาสนจักร”
“พระสันตะปาปา” หรือ Pope เป็นตำแหน่งผู้นำของศาสนจักร ในช่วงยุคกลางเคยมีอำนาจอย่างมากเหนือชาติต่าง ๆ ในยุโรป กระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความเสื่อมอำนาจของพระสันตะปาปา หนึ่งในนั้นคือ “มหาศาสนเภท”
ปลายศตวรรษที่ 13 เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 14 พระสันตะปาปาโบนิเฟซที่ 8 (Pope Boniface VIII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1294-1303) ทรงขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส (Philip IV of France) เนื่องจากศาสนจักรเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในดินแดนฝรั่งเศส สามารถเก็บผลประโยชน์อย่างมหาศาลส่งไปยังกรุงโรม แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสต้องการรายได้เหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ในการทำสงครามขยายอิทธิพลและดินแดน แน่นอนว่า ศาสนจักรไม่อาจยินยอมเรื่องนี้ได้ แต่พระสันตะปาปาโบนิเฟซที่ 8 ก็ไม่อาจต้านทานอิทธิพลของฝรั่งเศสได้
กษัตริย์ฝรั่งเศสจึงพยายามแทรกแซงศาสนจักร ครั้นเมื่อพระสันตะปาปาโบนิเฟซสิ้นพระชนม์ และพระสันตะปาปาพระองค์ต่อมาคือ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 11 (Pope Benedict XI) ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาไม่ถึง 1 ปีก็สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1305 จึงได้มีการเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่คือ พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 5 (Pope Clement V) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1305-1314) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ทรงตกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสจนต้องเสด็จไปประทับที่เมืองอาวีญง บริเวณทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม เมืองอาวีญงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนฝรั่งเศส แต่เป็นของดยุคแห่งอองชู (Duke of Anjou) ซึ่งเป็น “Vassal” ที่ขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม
นับแต่นั้นสมัยของพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 5 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาอีก 6 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวฝรั่งเศสทุกคนก็ประทับอยู่ที่เมืองอาวีญง นั่นจึงเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการตกอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส ช่วงเวลานี้จึงเรียกว่า การจองจำแห่งบาบิโลเนียน (Babylonian Captivity) (หรือ Avignon Papacy)
กระทั่งถึงสมัยของพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 (Pope Gregory XI) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1370-1378) ได้เสด็จกลับไปประทับที่กรุงโรม ยุคสมัยแห่งการจองจำนี้จึงสิ้นสุดลง แต่พระคาร์ดินัลหลายคน โดยเฉพาะพระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศส ไม่พอใจกับการตัดสินใจในครั้งนี้
แม้พระสันตะปาปาจะย้ายกลับไปยังกรุงโรม แต่สถานะของพระสันตะปาปากลับยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะยังคงถูกแทรกแซงอำนาจจากฝ่ายอาณาจักร เห็นได้จากภายหลังที่พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 11 สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1378 หมู่พระคาร์ดินัลก็เกิดความแตกแยกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายพระคาร์ดินัลชาวอิตาเลียน กับฝ่ายพระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศส ที่ต้องการสนับสนุนคนเชื้อชาติตัวเองให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรปสนับสนุนอยู่ด้วย
ฝ่ายหนึ่งได้แต่งตั้ง พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 (Pope Urban VI) ชาวอิตาเลียน ประทับที่กรุงโรม อีกฝ่ายหนึ่งแต่งตั้งพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 (Antipope Clement VII) ชาวฝรั่งเศส ประทับที่เมืองอาวีญง จนนำมาสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “Great Schism” (Western Schism หรือ Papal Schism) หรือ “มหาศาสนเภท” คือการแตกแยกครั้งยิ่งใหญ่แห่งศาสนจักร
สายพระสันตะปาปาที่กรุงโรม ตามลำดับดังนี้
- พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 6 (Pope Urban VI) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1378-1389)
- พระสันตะปาปาโบนิเฟซที่ 9 (Pope Boniface IX) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1389-1404)
- พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 7 (Pope Innocent VII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1404-1406)
- พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 12 (Pope Gregory XII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1406-1415)
สายพระสันตะปาปาที่เมืองอาวีญง ตามลำดับดังนี้
- พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 (Antipope Clement VII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1378-1394)
- พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 (Antipope Benedict XIII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1394-1423)
ต่อมาพระคาร์ดินัลเล็งเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังมานาน ปัญหามหาศาสนเภทต้องยุติลงเสีย จึงได้จัดประชุมที่เมืองปิซา เมื่อ ค.ศ. 1409 ผลสรุปว่า ได้ประกาศขับพระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์ทั้งที่กรุงโรม (พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 7) และที่เมืองอาวีญง (พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13) ออกจากตำแหน่ง และได้เลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่คือ พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 5 (AntiPope Alexander V) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1409-1410) และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไม่นานจากนั้น พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 (Antipope John XXIII) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1410-1415) จึงได้ดำรงตำแหน่งสืบต่อเป็นพระสันตะปาปาที่เมืองปิซา
นับได้ว่าในระหว่าง ค.ศ. 1410-1415 เป็นช่วงเวลาที่ศาสนจักรมีพระสันตะปาปาถึง 3 พระองค์พร้อมกันในสามที่ คือกรุงโรมมีพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 12, เมืองอาวีญงมีพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 และเมืองปิซามีพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23
อย่างไรก็ตาม ภายใต้แรงกดดันจากจักรพรรดิซีกิสมุนท์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งราชวงศ์ลักเซมเบิร์ก ทรงบีบให้พระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เรียกประชุม “สภากองสตองซ์” (Council of Constance) เพื่อแก้ไขปัญหาของศาสนจักรหลาย ๆ ประการ รวมถึงกรณีพระสันตะปาปานี้ด้วย
ใน ค.ศ. 1414 สภากองสตองซ์ได้รับหมายลาออกจากตำแหน่งของพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 12 จากนั้นจึงได้ปลดพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ออกจากตำแหน่ง และยกเลิกการอ้างสิทธิ์ของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 13 และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1417 ได้เลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ คือ พระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 (Pope Martin V) (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1417-1431) ความแตกแยกนี้จึงได้ยุติลง
นับตั้งแต่การคุมขังแห่งบาบิโลเนียนจนถึงมหาศาสนเภทเป็นระยะเวลากว่าร้อยปีที่ทำให้ศาสนจักรแตกแยก ถูกแทรกแซงจากฝ่ายอาณาจักร ทำให้อำนาจของพระสันตะปาปาลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงยุคกลางก่อนหน้านั้นหลายร้อยปี เรื่องนี้ทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาต่อศาสนจักรไม่น้อย กระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 16 เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ ทำการปฏิรูปศาสนา นั่นจึงทำให้ศาสนจักรเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- “เมน็อคคิโอ” ชายชราผู้ตั้งคำถามต่อศาสนา โดนตัดสินเป็นพวกนอกรีต ถูกเผาทั้งเป็น
- “จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นโรมัน แถมไม่ใช่จักรวรรดิ!?
หมายเหตุ : สำหรับวังของพระสันตะปาปาในอาวีญงยังคงเป็นสมบัติของสันตะปาปาจนกระทั่งการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1789 จึงถูกยึดโดยพวกปฎิวัติ ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นค่ายทหารและคุกภายใต้การบริหารของจักรพรรดินโปเลียน
อ้างอิง :
Abby Sewell. (2018). Inside One of the World’s Largest Gothic Palaces, from https://www.nationalgeographic.com/travel/destinations/europe/france/Avignon/historic-center-papal-palace-world-heritage-site. Access 2 January 2020.
historyextra.com. Why did the papacy move to Avignon in the 14th century?, from https://www.historyextra.com/period/medieval/why-papacy-pope-residence-move-avignon-france-14th-century. Access 2 January 2020.
The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2019) Western Schism, from https://www.britannica.com/event/Western-Schism. Access 2 January 2020.
________. (2017). Avignon papacy. from https://www.britannica.com/event/Avignon-papacy. Access 2 January 2020.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2563