ค้นตัวตนนักหมากรุกต้นฉบับ Beth Harmon ในซีรีส์ The Queen’s Gambit ที่จุดกระแสทั่วโลก

อันยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) แสดงเป็น Beth Harmon ในซีรีส์ The Queen's Gambit จาก Netflix (ภาพจาก Netflix) ฉากหลังเป็นภาพ Bobby Fischer ตำนานนักหมากรุกอเมริกัน จับมือกับ Boris Spassky เมื่อรีแมตช์ปี 1992 ภาพจาก (AFP)

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญกันถ้วนหน้า ปีนี้ยังถือเป็นปีที่แวดวงหมากรุกสากลกลับมาได้รับความนิยมแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ ค.ศ. 1972 ต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากกระแสของซีรีส์ The Queen’s Gambit ที่ฉายในสตรีมมิง Netflix ผลักดันให้ผู้ชมสนใจ “กีฬา” คลาสิกชนิดนี้อีกหน

ซีรีส์ The Queen’s Gambit เล่าเรื่องราวของตัวละครสมมติผู้เป็นนักหมากรุกสตรีนามว่า เบธ ฮาร์มอน (Beth Harmon) รับบทโดยอันยา เทย์เลอร์ จอย (Anya Taylor-Joy) ด้วยเรื่องราวอันเข้มข้นและการแสดงที่โดดเด่นของนักแสดงสาวรายนี้ทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จทั่วโลก (รวมถึงไทยด้วย) ได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกจากผู้ชมส่วนใหญ่

นอกเหนือจากอิทธิพลต่อผู้ชมในด้านความบันเทิง ซีรีส์ยอดนิยมอันดับต้นๆ ในปี 2020 เรื่องนี้ยังหนุนให้ความนิยมกีฬาหมากรุกกลับมาฮิตในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่กระแสช่วงต้นยุค 70s

รายงานข่าวจากเว็บไซต์ บลูมเบิร์ก (Bloomberg) เปิดเผยว่า ยอดวิวเว็บไซต์ chess.com มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นราวเดือนละ 1 ล้านรายนับตั้งแต่ล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมีนาคม กระทั่งมาถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เว็บไซต์มีสมาชิกเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านรายในเดือนเดียว และเดือนเดียวกันนี้ สถิติเข้าเล่นหมากรุกออนไลน์ในเว็บไซต์ Lichess มีมากถึง 78 ล้านเกมมากกว่าสถิติเดือนเดียวกันในปี 2019 หลายเท่าตัว (ซีรีส์ The Queen’s Gambit เผยแพร่ใน Netflix ช่วงปลายเดือนตุลาคม)

ไม่เพียงแค่การเล่นหมากรุกในออนไลน์ รายงานข่าวยังเผยว่า ยอดขายเซ็ตกระดานหมากรุกในร้านขายของเล่น Goliath Games พุ่งสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายนจนถึงธันวาคม รายงานข่าวอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Mary Higbe ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของกิจการที่บอกว่า ยอดขายเพิ่มขึ้น 1,100 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน

ปรากฏการณ์นี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกระแสนิยมหมากรุกในช่วงยุค 60-70s ซึ่งเวลานั้นก็ปรากฏนักหมากรุกที่มีชื่อเสียงมากนามว่า บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ (Bobby Fischer) มาโลดแล่นในวงการด้วย ส่วนซีรีส์ The Queen’s Gambit เป็นที่ทราบว่าดัดแปลงมาจากนิยายเมื่อปี 1983 โดย วอลเตอร์ เทวิส (Walter Tevis) เขาเขียนหนังสือหลังจาก “แมตช์แห่งศตวรรษ” (the match of the century) ระหว่างฟิชเชอร์ กับแชมป์โลก Boris Spassky ในปี 1972 ราว 10 ปีเศษ ชัยชนะในแมตช์นั้นตกเป็นของฟิชเชอร์ ขณะที่ผู้พ่ายแพ้ก็ลุกขึ้นปรบมือให้ผู้ชนะ เป็นภาพที่สวยงามในเกมกีฬาก็ว่าได้

นักวิจารณ์วิเคราะห์กันว่าตัวตนของฟิชเชอร์ ตำนานนักหมากรุกอเมริกัน กับฮาร์มอน ตัวละครในซีรีส์ มีรายละเอียดคล้ายคลึงกันหลายประการ อาทิ วัยเด็กของฟิชเชอร์ ไม่ได้มีบิดามาดูแล ส่วนมารดาของเขาก็เป็นคนที่มีปมซับซ้อนหลายแง่มุม ตัวอย่างหนึ่งคือมารดาของฟิชเชอร์ เคยถูกเอฟบีไอสอบสวนเนื่องจากสงสัยเรื่องความเกี่ยวข้องของเธอกับคอมมิวนิสต์

ดีแลน แม็คเคลน (Dylan Loeb McClain) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมากรุกเขียนบทความเผยแพร่ใน นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ในทิศทางเดียวกันว่า เรื่องราวของฟิชเชอร์ กับฮาร์มอน มีรายละเอียดใกล้เคียงกันหลายจุด

ตัวอย่างที่ยกมาเอ่ยถึงคือ ทั้งคู่ต่างคว้าแชมป์ยูเอส แชมเปี้ยนชิป เมื่อ 1967 เติบโตขึ้นมาโดยพึ่งลำแข้งตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้มีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ฟิชเชอร์ ไม่ได้เป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก แต่มารดาของเขาเป็นคนไร้บ้านในช่วงที่เขาถือกำเนิด เมื่อเข้าวัยเรียนก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะต้องการมุ่งในสายหมากรุก

นอกจากนี้ ฟิชเชอร์ ยังสนใจศึกษาภาษารัสเซียเพื่อศึกษาความเคลื่อนไหวของคู่แข่งจากโซเวียต เขายังพยายามทำผลงานและแสดงตัวตนแตกต่างจากนักหมากรุกอาชีพร่วมวงการด้วยการแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเล่นหมากรุกได้ เขาน่าจะชื่นชอบแฟชั่นเครื่องแต่งกาย ดังที่พบเห็นสวมใส่สูทโดยนักออกแบบเฉพาะ แม็คเคลน ยังอธิบายอีกว่า ทั้งคู่มีเทคนิคการเล่นที่ดุดันคล้ายกันด้วย

วัยเด็กของฟิชเชอร์ ต้องเล่นหมากรุกเพียงคนเดียวในนิวยอร์ก ส่วนในซีรีส์ปรากฏฉากที่เบธ จ้องเพดานจินตนาการกระดาน ขณะที่ทั้งคู่ได้แชมป์ระดับประเทศในฐานะดาวรุ่งเช่นเดียวกัน กระทั่งในปี 1960 ขณะฟิชเชอร์ อายุ 17 ปี เขาเดินทางไปอเมริกาใต้และทำผลงานจบอันดับแรกร่วมกับ Spassky ในการแข่งขันที่อาร์เจนติน่า ส่วนฮาร์มอน ก็เดินทางไปเม็กซิโกซิตี้ และเธอร่ำไห้หลังพ่ายแพ้ต่อ Vasily Borgov ตัวละครแชมป์โลกในโลกสมมติ

ในช่วงที่เบธ ต้องการเงินทุนเพื่อเดินทางไปรัสเซีย เธอยังร้องขอทุนจากรัฐบาล ขณะที่มารดาของฟิชเชอร์ เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อทำเนียบขาวให้สนับสนุนเงินทุนสำหรับทีมหมากรุกของสหรัฐฯ

บ็อบบี้ ฟิชเชอร์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่อายุ 13 ปี ด้วยการคว้าชัยชนะในแมตช์ที่เรียกกันว่า “เกมแห่งศตวรรษ” (Game of the Century) ดวลกับ Donald Byrne นักหมากรุกอเมริกันแถวหน้าในสหรัฐฯ ณ ช่วงเวลานั้น

ในวัย 14 ปี เขาเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์หมากรุกแห่งสหรัฐฯ อีกปีต่อมาก็เป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดซึ่งได้รับตำแหน่ง “แกรนด์มาสเตอร์” ตำแหน่งขั้นของนักเล่นหมากรุกในระดับสูง

หลังจากเอาชนะ Spassky ในปี 1972 ฟิชเชอร์ ถูกริบตำแหน่งแชมป์และไม่ได้ลงแข่งในเกมอย่างเป็นทางการนานถึง 20 ปี กระทั่งในปี 1992 ฟิชเชอร์ หวนคืนกลับมารีแมตช์กับ Spassky และเป็นฝ่ายย้ำชัย

ภาพ Bobby Fischer (ขวา) ตำนานนักหมากรุกอเมริกัน จับมือกับ Boris Spassky เมื่อรีแมตช์ปี 1992 ภาพจาก (AFP)

ภายหลังการรีแมตช์ ฟิชเชอร์ ค่อนข้างเก็บตัว แต่ผู้ที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับฟิชเชอร์ ล้วนทราบกันว่ามักปรากฏพฤติกรรมแปลกๆ อาทิ ปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเคยถูกกักตัวในญี่ปุ่นเนื่องจากพยายามเดินทางด้วยพาสปอร์ตที่ถูกระงับ

ฟิชเชอร์ เสียชีวิตเมื่อปี 2008 ในไอซ์แลนด์ ในวัย 64 จากภาวะไตล้มเหลวภายหลังปฏิเสธเข้ากระบวนการรักษาทางการแพทย์

ในแวดวงหมากรุกหลายทศวรรษที่ผ่านมา พอจะกล่าวได้ว่า ชัยชนะของฟิชเชอร์ ในปี 1972 สร้างกระแสให้วงการหมากรุกในระดับที่เป็นปรากฏการณ์แห่งยุค สื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างตีแผ่ชัยชนะครั้งนี้ เมื่อมาถึงปี 2020 กระแสเกมหมากรุกอันสืบเนื่องมาจากซีรีส์ The Queen’s Gambit ถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่หลายคนถึงกับบอกว่า เกมหมากรุกในปีนี้ฮิตไม่แพ้เมื่อปี 1972 ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปากคำของเทวิส เจ้าของนิยายที่เป็นต้นฉบับของซีรีส์ เขาให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์คไทมส์ เมื่อปี 1983 ก่อนหน้าจะเสียชีวิตลง 1 ปี เขาระบุว่า เขียนตัวละครฮาร์มอน จากประสบการณ์ส่วนตัว อาทิ ฉากการเล่นหมากรุก ไปจนถึงปัญหาเรื่องเสพติดยา

เทวิส มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจในวัยเด็กและต้องทานยาหลายขนานระหว่างรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่มาของปมปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาของเบธ ในซีรีส์ด้วย

โดยรวมแล้ว เทวิส มองตัวละครนักหมากรุกสตรีในนิยายของเขาในแง่การอุทิศให้กับผู้หญิงที่ชาญฉลาดทั้งหลาย เขาเอ่ยว่า “ในอดีตมีผู้หญิงจำนวนมากต้องเก็บซ่อนความชาญฉลาดของพวกเธอเอาไว้ แต่ไม่ใช่อีกแล้วในปัจจุบัน”

ไม่ว่าตัวตนต้นฉบับของตัวละครในโลกจินตนาการจะปรากฏสมมติฐานหรือทฤษฎีใดที่ล้วนมีน้ำหนักแตกต่างกัน สิ่งที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญหมากรุกว่า เป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงที่ฉายภาพรายละเอียดเกี่ยวกับเกมหมากรุกในสหรัฐฯ ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ดังจะเห็นได้ว่า ซีรีส์บอกเล่าบรรยากาศความกดดัน ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจริงในทัวร์นาเมนต์ได้ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก

ดีแลน แม็คเคลน ชี้ว่า สื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมากรุกที่ผ่านมาเคยปรากฏรายละเอียดเล็กน้อยบางจุดไม่ตรงกับความเป็นจริงอยู่ก็ตาม อาทิ วางตำแหน่งบอร์ดที่ตั้งผิด วางตำแหน่งเริ่มต้นของหมากบนกระดานไม่ตรงจุด หรือตัวละครที่หยิบหมากไม่ช่ำชอง แต่สำหรับซีรีส์ The Queen’s Gambit ผู้สร้างมีที่ปรึกษา 2 ราย คือ Garry Kasparov อดีตแชมป์โลก และ Bruce Pandolfini โค้ชหมากรุกที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์ก นักแสดงเข้าฝึกฝนการเล่นกับผู้เชี่ยวชาญจริงก่อนถ่ายทำ ขณะที่อันยา เทย์เลอร์-จอย ก็พัฒนาท่าทางการเคลื่อนไหวที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเธอเองขึ้นมาดังที่เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสำหรับคอหมากรุก

อันที่จริงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ฉายภาพไม่ตรงกับความเป็นจริง และอาจเป็นเรื่องตลกร้ายด้วยคือ การฉายภาพผู้เล่นหญิงซึ่งมีทักษะความสามารถยอดเยี่ยมในชนิดเกมการแข่งขันที่ตกอยู่ใต้ร่มเงาของผู้เล่นเพศชายมาตลอด ซึ่งดีแลน แม็คเคลน มองว่า สภาพวงการหมากรุกในปัจจุบันก็ยังคงเป็นแบบนั้นโดยไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริง

แม้แต่ตัวฟิชเชอร์ ในความเป็นจริงแล้วก็เคยแสดงกิริยาในเชิงมองข้ามผู้เล่นเพศหญิงมาก่อน เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1963 วิจารณ์การเล่นของผู้เล่นสตรีว่าย่ำแย่

อย่างไรก็ตาม แม็คเคลน แสดงความคิดเห็นว่า ในมุมมองของเทวิส ผู้เขียนนิยายที่เป็นนักเล่นมือสมัครเล่นซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับหมากรุกอย่างดี ผู้เขียนนิยายอาจเห็นแสงที่ปลายทางว่า สักวันหนึ่งอาจมีความเท่าเทียมทางเพศบนกระดานหมากรุกเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

Henderson, Jason. “The Queen’s Gambit: meet the real Beth Harmon… Bobby Fischer”. GQ. Online. Published 25 NOV 2020. Access 18 DEC 2020. <https://www.gq-magazine.co.uk/culture/article/the-queens-gambit-beth-harmon-bobby-fischer>

Park, Andrea. “‘The Queen’s Gambit’: The True Story, Explained”. Marie Claire. Online. Published 10 NOV 2020. Access 18 DEC 2020. <https://www.marieclaire.com/culture/a34483986/the-queens-gambit-true-story-beth-harmon/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2563