
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2537 |
---|---|
ผู้เขียน | ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ |
เผยแพร่ |
ในบริเวณเมืองเสียมราฐ มีภูเขาที่สําคัญอยู่สามแห่งคือ พนมบาแค็ง พนมกรม และพนมบก
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงเลือกสรรเขาพนมบาแค็ง ซึ่งเป็นเขาที่เตี้ยที่สุดในสามแห่งให้เป็นศูนย์กลางของราชธานี โดยทรงก่อสร้างศาสนสถานเหนือเขาแห่งนี้
ส่วนเขาพนมกรมและพนมบกนั้น ศาสนสถานเหนือยอดเขาก็มีแผนผังในลักษณะเดียวกัน โดยก่อสร้างปราสาทด้วยศิลาทรายสามหลังถวายเทพเจ้าที่สำคัญสามองค์อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ
พระเจ้ายโศวรมันทรงพัฒนาสภาพชีวิตทางศาสนาเช่นเดียวกับสภาพภูมิปัญญาของราชอาณาจักร ด้วยการสร้างศาสนสถานที่สัมพันธ์กับสามศาสนาที่สำคัญซึ่งได้แก่ ศาสนาฮินดูลัทธิไศวะนิกาย ศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย และพุทธศาสนา ศาสนสถานเหล่านี้มิเพียงแต่จะมีพระสงฆ์เท่านั้น หากมีนักจาริกแสวงบุญและนักศึกษาผู้ต้องการศึกษาทางด้านปรัชญาอย่างลึกซึ้ง
พระเจ้ายโศวรมันยังทรงพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในอาณาบริเวณเมืองพระนครอีกด้วย ทางทิศตะวันออกของเมืองพระนครได้โปรดให้ขุดสระบารายตะวันออก (ยโศธรตฏากะ) ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมาด้วย มีความยาว 7 กิโลเมตร และกว้าง 1.8 กิโลเมตรตามลําดับ
เพื่อที่จะเชื่อมโยงราชธานีใหม่กับราชธานีเก่าเข้าด้วยกัน พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 จึงทรงก่อสร้างถนนจากประตูทิศตะวันออกของเมืองยโศธรปุระไปยังมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบารายแห่งเมืองหริหราลัย

ราชอาณาจักรเขมรได้พัฒนากว้างใหญ่ยิ่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ายโศวรมัน พระเจ้ายโศวรมันทรงแผ่ขยายอาณาเขตโดยสันติวิธีไปทางทิศตะวันตก โดยการพัฒนาสภาพของพื้นที่ในบริเวณนั้น
การสงครามเพียงครั้งเดียวที่เราทราบในรัชกาลของพระองค์คือ การมีชัยชนะทางเรือเหนือชาวมาเลย์หรือชาวจาม
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 สิ้นพระชนม์ราวปี พ.ศ. 1143 ในรัชกาลของพระองค์นี้ตลอดระยะเวลา 11 ปี เป็นสมัยที่เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงได้รับพระนามภายหลังที่สิ้นพระชนม์แล้วว่า “บรมศิวโลก”
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ทรงมีโอรสสององค์ ซึ่งได้ครองราชย์สืบต่อลงมาคือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 ในปี พ.ศ. 1443 เมื่อพระราชบิดาได้สิ้นพระชนม์ลงนั้น พระเจ้าหรรษวรมันคงยังทรงพระเยาว์อยู่มาก กับทั้งยังไม่มีประสบการณ์ในการปกครองมากนัก ด้วยเหตุนั้นตลอดระยะเวลายี่สิบปีแรกในรัชกาลของพระองค์จึงมิได้ปรากฏราชกิจที่สำคัญแต่ประการใด
ในปี พ.ศ. 1464 พระมาตุลาของพระเจ้าหรรษวรมัน ผู้ซึ่งเป็นเชษฐาของมเหสีแห่งพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ซึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ได้ยึดอำนาจจากพระนัดดา พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ได้เสด็จจากเมืองยโศธรปุระไปทรงสร้างราชธานีแห่งใหม่ ณ เกาะแกร์ สองปีต่อมาภายหลังที่พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 สิ้นพระชนม์

แต่ทว่า ยังคงแบ่งแยกระหว่างกษัตริย์ 2 พระองค์ กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ตามนิตินัยคือ พระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 ประทับที่เมืองพระนคร และกษัตริย์ที่แย่งราชสมบัติคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่ประทับที่เกาะแกร์
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 1471 ในปีดังกล่าวพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 ได้สิ้นพระชนม์ลง จึงทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ทรงกลายเป็นรัชทายาทของพระองค์
ถึงแม้ว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ที่ทรงพระเยาว์และสิ้นพระชนม์ในวัยฉกรรจ์ก็ตาม รวมทั้งมีการแย่งอำนาจโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ก็ตาม แต่ราชอาณาจักรเขมรก็ยังมีความมั่นคงเป็นอย่างดี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2563