หลังตรวจราชการหัวเมือง ทำไมกรมพระยาดำรงฯ ทรงเสนอเลิกปกครอง “กินเมือง”

กรมดำรง เสนาบดี มหาดไทย มัคคุเทศก์คนแรกของไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือ “กรมดำรง” เมื่อทรงเป็น เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ทรงออก “ตรวจราชการหัวเมือง” บรรดาเจ้ากรมการก็กระซิบถามกันว่า “มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น” เพราะแต่เดิมต้องมีราชการสำคัญ เช่น เกิดศึกสงคราม เสนาบดีจึงจะเดินทางลงไปในพื้นที่ และเมื่อกรมดำรงเสด็จกลับเข้าเมืองหลวงแล้วนั้น ก็ทรงให้เลิกการปกครอง “กินเมือง”

หลังจากการตรวจราชการหัวเมืองในครั้งนั้น กรมดำรง ทำรายงานกราบทูลความคิดเห็น 2 เรื่อง หนึ่งคือ การจัดตั้งมณฑลใหม่เพิ่มอีก 4 มณฑล (ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้) และอีกหนึ่งคือ การเลิกวิธีปกครองโบราณที่เรียกว่ากินเมือง ซึ่งรายละเอียดนั้น กรมดำรงบันทึกไว้ใน สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำเพื่อสะดวกในการอ่าน ] ว่า

“การปกครองตามหัวเมืองในสมัยนั้น ยังใช้วิธีซึ่งเรียกในกฎหมายเก่าว่า “กินเมือง” อันเป็นแบบเดิม ดูเหมือนจะใช้เช่นเดียวกันทุกประเทศทางตะวันออกนี้ ในเมืองจีนก็ยังเรียกว่ากินเมืองตามภาษาจีน แต่ในเมืองไทยมาถึงชั้นหลังเรียกเปลี่ยนเป็น “ว่าราชการเมือง” ถึงกระนั้นคําว่า “กินเมือง ก็ยังใช้กันในคําพูด และยังมีอยู่ในหนังสือเก่าเช่นกฎมณเฑียรบาลเป็นต้น

วิธีปกครองที่เรียกว่ากินเมืองนั้น หลักเดิมคงมาแต่ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจําทําการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยออกแรงช่วยทําการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทํามาหาได้ เช่นข้าวปลาอาหารเป็นต้น อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกํานัล ช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ ราษฎรมากด้วยกันช่วยคนละเล็กละน้อย เจ้าเมืองก็เป็นสุขสบาย

รัฐบาลในราชธานีไม่ต้องเลี้ยงดู จึงให้ค่าธรรมเนียมในการต่างๆ ที่ทําในหน้าที่เป็นตัวเงินสําหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง ก็ได้รับผลประโยชน์ทํานองเดียวกัน เป็นแต่ลดลงตามศักดิ์

ครั้นจําเนียรกาลนานมา ความเปลี่ยนแปลงในโลกวิสัยทําให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้นโดยลําดับ ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นในทางอื่น เช่นทําไร่นาค้าขายเป็นต้น ให้มีเงินพอใช้สอยกินอยู่เป็นสุขสบาย

เจ้าเมืองกรมการมีอํานาจที่จะบังคับบัญชาการต่างๆ ตามตําแหน่ง และเคยได้รับอุปการะของราษฎรเป็นประเพณีมาแล้ว ครั้นทํามาหากินก็อาศัยตําแหน่งในราชการเป็นปัจจัยให้ได้ผลประโยชน์ สะดวกดีกว่าบุคคลภายนอก

เปรียบดังเช่น “ทํานา” ก็ได้อาศัย “บอกแขก” ขอแรงราษฎรมาช่วย หรือจะค้าขายเข้าหุ้นกับผู้ใด ก็อาจสงเคราะห์ผู้เป็นหุ้นให้ซื้อง่ายขายคล่องได้กําไรมากขึ้น แม้จนเจ้าภาษีนายอากรได้รับผูกขาดไปจากกรุงเทพฯ ถ้าให้เจ้าเมืองกรมการมีส่วนได้ด้วย ก็ได้รับความสงเคราะห์ให้เก็บภาษีอากรสะดวกขึ้น

จึงเกิดประเพณีหากินด้วยอาศัยตําแหน่ง ในราชการแทบทั่วไป

เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิดก็ระวังไม่หากินด้วยเบียดเบียนผู้อื่น ต่อเป็นคนโลภจึงเอาทุกอย่างสุดแต่จะได้ ก็มักมีภัยแก่ตัว ดังเช่นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งได้เล่าไว้ในนิทานที่ 4 เรื่องห้ามเจ้ามิให้ไปเมืองสุพรรณ…

ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็น แต่ข้อแรก ว่าจะเป็นความลำบากอย่างใหญ่หลวง คือที่จะไม่มีเงินพอใช้ในการจัดหัวเมือง ข้อนี้ใครๆ ก็เห็นว่าจะต้องเลิกวิธีปกครองอย่าง “กินเมือง”

ดังเช่นพรรณนาไว้ในภาคต้น จะต้องห้ามมิให้เจ้าเมืองกรมการหากินในหน้าที่ราชการ และต่อไปจะต้องใช้แต่ผู้ซึ่งทรงคุณวุฒิสมกับตําแหน่งเป็นเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งโดยมากภูมิลําเนาเดิมอยู่ต่างถิ่นเช่นเป็นชาวกรุงเทพฯ เป็นต้น เพราะเหตุทั้ง 2 อย่างนี้

รัฐบาลจําจะต้องให้เงินเดือนข้าราชการหัวเมืองให้พอเลี้ยงชีพ มิฉะนั้นก็ไม่มีใครเป็นเจ้าเมืองกรมการ ใช่แต่เท่านั้น ยังสถานที่ว่าราชการเมืองก็ดี บ้านเรือนที่อยู่ของเจ้าเมืองกรมการก็ดี ล้วนเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าเมืองกรมการทั้งนั้นดังกล่าวมาแล้ว…”

กรมดำรง จึงเป็น “เสนาบดี” ที่มีความห่วงใยความทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างแท้จริงอีกพระองค์หนึ่ง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.“สภาพเมื่อแรกสถาปนา กระทรวงมหาดไทย” ใน,อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม 2519


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2563