ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หากพูดถึงขุนนางคนสำคัญของจีน อันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้น “เปาบุ้นจิ้น” เพราะความซื่อตรง ยุติธรรม ไม่มีดับเบิ้ล สแตนดาร์ด แต่ในประวัติศาสตร์กว่าสองพันปีของจีน ยังมีขุนนางอีกหลายคนที่สร้างคุณูปการให้กับสังคม หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “เหยาซุ่ย” ขุนนางที่ได้ชื่อว่าไม่เกรงกลัวผู้มีอำนาจและอิทธิพล ทั้งเป็นที่ไว้วางใจของราชสำนัก
เหยาซุ่ย เป็นชาวอำเภอเสียสือ เมืองส่านโจว (ในมณฑลเหอหนานปัจจุบัน) เหยาซุ่ยดำรงตำแหน่ง “อัครเสนาบดี” ถึง 3 สมัยคือ สมัยพระนางอู่เจ๋อเทียน (บ้างเรียก พระนางบู้เช็กเทียน), สมัยพระเจ้ารุ่ยจง และสมัยพระเจ้าเสวียนจง
ขอยกตัวอย่างผลงานของเหยาซุ่ยในรัชกาลพระเจ้าเสวียนจง
จากกรณี “ตั๊กแตนระบาด” ที่ซานตง ในศักราชไคหยวนปีที่ 4 (ค.ศ. 716) วิกฤติการณ์ครั้งนี้ ทำให้พืชไร่และผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่และขุนนางท้องถิ่นต่างเชื่อว่าเป็นเรื่อง “ชะตาฟ้าลิขิต” จึงไม่กล้าฆ่าตั๊กแตน ขุนนางราชสำนักส่วนกลางก็ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ
เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงเหยาซุ่ย เขาสั่งการให้ขุนนางท้องถิ่นนำประชาชนกำจัดตั๊กแตนทันที ทั้งส่งขุนนางตำแหน่งอวี้สือไปควบคุมตรวจตราตามที่ต่างๆ
แต่มีขุนนางท้องถิ่นคนหนึ่งชื่อ “หนีรั่วสุ่ย” ปฏิเสธ ไม่ยอมให้ความร่วมมือ
เท่านั้นยังไม่พอ หนีรั่วสุ่ย ยังทำหนังสือกราบทูลพระเจ้าเสวียนจงว่า เหตุการณ์ตั๊กแตนระบาดเป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างคุณงามความดี หากพระเจ้าเสวียนจงทำสิ่งมีคุณธรรมแก่บ้านเมืองให้มาก สวรรค์เบื้องบนพึงพอใจก็เมตตาจัดการนำตั๊กแตนให้หมดไปเอง
เมื่อเหยาซุ่ยทราบเรื่องดังกล่าวเขาก็โกรธมาก จึงเขียนจดหมายถึงหนีรั่วสุ่ยทันที เนื้อหาในจดหมายว่า
“ในท้องที่ที่ท่านดูแลมีตั๊กแตนมากมายขนาดนั้น นับว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่มีคุณธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย เห็นพืชไร่ทางการเกษตรถูกกัดกิน ประชาชนอดอยากแต่กลับไม่สนใจ นี่เรียกว่าเป็นการทําบุญอย่างนั้นหรือ ท่านจะหน่วงเหนี่ยวจนเสียโอกาสไม่ได้อย่างเด็ดขาด มิฉะนั้น ท่านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
หนีรั่วสุ่ย ได้รับจดหมายจากเหยาซุ่ยก็สำนึกได้ ระดมชาวบ้านปราบตั๊กแตน ไม่กี่วันก็คุมสถานการณ์ได้ แต่ละท้องที่รายงานจำนวนตั๊กแตนที่กำจัดได้เข้ามาที่เมืองหลวง
แต่ขุนนางที่มีแนวคิดแบบหนีรั่วสุ่ย ไม่ได้มีเพียงคนเดียว
หากยังมี “หลูหวายเซิ่น” อีกคน หลูหวายเซิ่น เตือนเหยาซุ่ยว่า การกระทำของเขาเป็นการล่วงเกินสวรรค์เบื้องบน เหยาซุ่ยจึงเตือนเขาว่า “หากการกำจัดตั๊กแตนจะนำภัยพิบัติมาละก็ ข้าจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
ด้วยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของ เหยาซุ่ย มาตรการต่างๆ จึงมีการปฎิบัติใช้อย่างจริงจังและได้ผล ในที่สุด ปัญหาตั๊กแตนระบาดที่ชานตงก็สามารถแก้ไขได้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม :
- ขุนนางโดนจักรพรรดิจีนสั่งโบย รอดหรือตาย ไม่ได้ขึ้นกับกระดูกแข็งแค่อย่างเดียว
- “สิบขันที” และ “ขุนนางกังฉิน” ปฐมเหตุความเสื่อมราชสำนักจีนสู่ยุคสามก๊ก
- “หวังอานสือ” ขุนนางยอดนักปฏิรูปจีน แต่ล้มเหลว-แพ้ “อนุรักษ์นิยม-ผู้เสียผลประโยชน์”
อ้างอิง :
หสี่เฉวียน เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2563