“หวังอานสือ” ขุนนางยอดนักปฏิรูปจีน แต่ล้มเหลว-แพ้ “อนุรักษ์นิยม-ผู้เสียผลประโยชน์”

ในบรรดานักปฏิรูปในแดนมังกร ชื่อที่ชาวจีนรู้จักต้องมี “หวังอานสือ” ขุนนางผู้ใหญ่ที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือรวมอยู่ในนั้นด้วย ถึงจะเป็นผู้ได้รับการยกย่องในฐานะขุนนางนักปฏิรูปแห่งยุค ท้ายที่สุดก็ยังล้มเหลวและพ่ายแพ้กับอนุรักษนิยมและผู้เสียผลประโยชน์ แต่อย่างน้อยแนวทางของเขาก็ยังมีคุณูปการอย่างมาก

ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยนัก แต่สำหรับชาวจีนแล้วแทบทุกคนรู้จักชื่อนี้ หวังอานสือเป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศ ถูกจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่ง มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในสมัยจักรพรรดิซ่งเสินจง ในประวัติศาสตร์บันทึกว่าได้รับแต่งตั้งเป็นอัครเสนาบดีถึง 2 สมัย รวมเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

Advertisement

ความพยายามปฏิรูปอย่างกล้าหาญเพื่อยกระดับ และแก้ปัญหาการเมือง ไปจนถึงเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ผู้คนยุคหลังยกย่องเป็นนักปฏิรูปแห่งศตวรรษที่ 11 อย่างไรก็ตาม ดร.ชวนพิศ เทียมทัน อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เขียนบทความ “การปฏิรูปการเมืองการปกครองของหวังอานสืิอ” สรุปผลงานของหวังอานสือว่า ท้ายที่สุดความพยายามปฏิรูปของเขากลับล้มเหลวและพ่ายแพ้

รับราชการท้องถิ่น

นักปฏิรูปการเมืองผู้โด่งดังในจีนเกิดในยุคสมัยจักรพรรดิซ่งเจินจง ปีรัชศกเทียนสี่ที่ 5 (ค.ศ. 1021) ในวัยเยาว์เคยตามบิดาที่เป็นขุนนางระดับอำเภอไปรับตำแหน่งตามเมืองต่างๆ ข้อเสียคือไม่ได้อยู่กับที่ ข้อดีที่ได้คือได้เรียนรู้เปิดหูเปิดตา

ปี ค.ศ. 1037 ติดตามบิดาไปเมืองเจียงหนิง 2 ปีถัดมา บิดาเสียชีวิตขณะที่หวังอานสืออายุ 19 ปี ชีวิตพลิกผันกลายมาเป็นลำบาก เขากลับมุ่งอ่านหนังสือเพราะรู้ดีว่าหากไม่มีความรู้ในวัยชราต้องไร้ที่พึ่งพิง อ่านตำราหลากหลาย ทั้งขงจื๊อ ปรัชญาลัทธิต่างๆ ตำราการแพทย์ นวนิยาย เมื่อผนวกกับนิสัยใฝ่รู้ทำให้เขาไม่ยึดติดกับคำสอนโบราณ หรือแนวคิดของใครแค่กลุ่มเดียว เขานิยมมองต่างมุม วิเคราะห์ปัญหาจากหลายแง่มุมจนกลายเป็นเอกลักษณ์

เมื่ออายุ 22 ปีก็สามารถสอบเข้าเป็นเสนาธิการในกองบัญชาการของขุนนางท้องถิ่นเมืองหยางโจว และปี ค.ศ. 1047 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเมืองอิ๋นเซี่ยน

ปีแรกที่เป็นนายอำเภอ เขามองเห็นว่าเมืองใช้ประโยชน์จากน้ำไม่เต็มที่ เนื่องจากระบบชลประทานไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจนฤดูน้ำหลากก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ต้องปล่อยน้ำลงทะเล เมื่อฝนไม่ตกก็แห้งแล้ง หลังจากนั้นเขาระดมชาวนาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรในช่วงฤดูหนาวมาซ่อมแซมระบบชลประทาน ในช่วง 2-3 ปีเมืองเริ่มกักเก็บน้ำได้ หวังอานสือได้รับคำชื่นชมจากชาวเมืองอย่างมาก

ในช่วงเวลาที่รับราชการท้องถิ่น เขามีประสบการณ์ทำงานกับเมืองซูโจว เป็นผู้ว่าราชการเมืองฉางโจว จากนั้นปี ค.ศ. 1058 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาแห่งบูรพาประจำเมืองเจียงหนาน เล็งเห็นระบบผูกขาดใบชา ใบชาที่ราชการขายมีราคาสูงแต่คุณภาพต่ำ จึงกราบบังคลทูลรายงานจักรพรรดิซ่งเหรินจง ขอพระราชทานยกเลิกผูกขาดซื้อ-ขายใบชาทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ บริโภคใบชาคุณภาพดีในราคาถูก

จักรพรรดิซ่งเหรินจงเล็งเห็นความสามารถด้านการบริหาร มีพระบรมราชโองการให้หวังอานสือเข้าเฝ้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางกองคลัง เป็นโอกาสที่ได้ถวายตัวรับใช้ใกล้ชิดในเมืองหลวง

ขุนนางเมืองหลวง

ปีค.ศ. 1059 หวังอานสือกราบบังคลทูลฯ รายงานความเป็นอยู่ของราษฎรตามประสบการณ์ที่เขาสัมผัสจากการทำงานท้องถิ่นหลายพื้นที่รวมแล้วยาวนาน 16 ปี แสดงความคิดเห็นว่าราชวงศ์ซ่งอ่อนแอเนื่องจากนโยบาย-กฎหมายที่ใช้บริหารประเทศไม่สอดรับกับสภาพสังคม เปิดโปงความล้มเหลวในระบบขุนนางว่ามีแต่ปริมาณ ไร้ฝีมือ และคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง

หวังอานสือกลับให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคล โดยใช้ระบบ สั่งสอน เลี้ยงดู เรียกใช้ และแต่งตั้ง ให้ขุนนางสามารถปฏิบัติงานตรงตามตำแหน่งหน้าที่เป็นการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม

แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากจักรพรรดิซ่งเหรินจง แต่ยังดีที่กลายมาเป็นแนวทางสำหรับการปฏิรูปการเมืองในช่วงหลัง 10 ปีถัดมา

หลังจากนั้นมาราชวงศ์ซ่งเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านติดต่อกัน จักรพรรดิซ่งเหรินจงเสด็จสวรรคต จักรพรรดิซ่งอิงจงขึ้นครองราชย์ ไม่กี่ปีก็เสด็จสวรรคตในปี 1610 เมื่อถึงรัชสมัยของจักรพรรดิซ่งเสินจง จึงเป็นช่วงที่องค์จักรพรรดิเห็นความสามารถและแววในการบริหารของหวังอานสือจึงมีพระบรมราชโองการเรียกตัวกลับ ให้ดำรงตำแหน่งอาลักษณ์ประจำพระองค์

เสนอแนวคิดปฏิรูป

หวังอานสือแสดงวิสัยทัศน์อีกครั้ง กราบทูลฯให้คัดเลือกคนดีมีความสามารถ กำจัดข้าราชบริพานนอกรีตเหมือนกับที่ผู้นำยุคก่อนประสบความสำเร็จ และเป็นอีกครั้งที่เสนอให้เปลี่ยนกฎธรรมเนียมปฏิบัติ บัญญัตินโยบายใหม่ เนื่องจากกฎที่บัญญัติตั้งแต่ต้นราชวงศ์ไม่พอแก้ปัญหาในเวลานั้นได้แล้ว

เมื่อกระแสเรียกร้องการปฏิรูปถาโถมมากขึ้น ปี ค.ศ. 1067 จักรพรรดิซ่งเสินจง มีพระราชดำรัสแต่งตั้งหวังอานสือดำรงตำแหน่งรองอัครเสนาบดี ท่านสถาปนากรมซานซือเถียวลี่ซือ เป็นองค์กรทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ มีหวังอานสือเป็นหัวเรือใหญ่ และหลี่ว์ฮุ่ยซิงเป็นผู้ช่วย

ปี ค.ศ. 1070 หวังอานสือได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดีเพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ เน้น 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ การทหาร ระบบสอบเข้ารับราชการและการศึกษา

ด้านเศรษฐกิจถือว่าเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปประเทศ รณรงค์ให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาเป็นต้นทุนสร้างความมั่งคั่ง ปรับกฎหมายยุ้งฉางข้าว ลดปัญหาพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบเกษตรกรด้วยการเพิ่มมาตรการนำรายได้จากการขายผลผลิตการเกษตรมาแปรเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้เกษตรกรใช้เป็นต้นทุนไปซื้อต้นกล้า ส่งเสริมระบบขนส่งสินค้า

งดเว้นการเกณฑ์ทหารเมื่อค.ศ. 1070 ซึ่งทำให้ประชาชนหนีทหารจำนวนมากถึงขั้นละทิ้งบ้านเกิดนำมาสู่ปัญหาที่ดินรกร้าง โดยรัฐละเว้นการเกณฑ์ทหารสำหรับผู้ที่มีศักยภาพจ่ายรายได้เข้าราชการได้ แต่ก็มีข้อเสียที่ภาระเกณฑ์ทหารตกไปอยู่กับคนจนที่ไม่สามารถหาเงินมาทดแทนได้

หวังอานสือมีแนวคิดจัดตั้งทหารกองหนุน และประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 1070 ทำให้มีทหารกองหนุนยามศึก ลดภาระค่าใช้จ่ายกองคลัง ไม่เสียค่าเลี้ยงดูทหารในยามสงบ ค.ศ. 1076 มีทหารกองหนุนที่ได้รับการฝึกอบรมให้เข้มแข็งบ่อยครั้งรวม 60,000 นาย

ค.ศ. 1073 ก็มีจัดตั้งคลังสรรพาวุธ ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่งเสริมวิทยาการทางการสงครามให้ก้าวหน้าทั้งแง่คุณภาพและปริมาณ

ส่วนด้านสุดท้ายอย่างการปฏิรูประบบการสอบบรรจุเข้ารับราชการและระบบการศึกษา หวังอานสือเสนอยกเลิกการสอบท่องแนวคิดปรัชญาขงจื๊อและแต่งบทประพันธ์ มาสู่เน้นอรรถาธิบายและวิเคราะห์แนวคิดลัทธิปรัชญาต่างๆ พร้อมทั้งแสดงปฏิภาณไหวพริบถึงกลยุทธ์การเมืองการปกครอง

เหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูป

ดร.ชวนพิศ เทียมทัน อธิบายว่า การปฏิรูปแต่ละด้านเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านหลายครั้ง ครั้งหนึ่งหวังอานสือต้องใช้เหตุผลอธิบายชี้แจงเรื่องนโยบายต้นกล้าอ่อน หวังอานสือคิดมากจนล้มป่วย และขอพระราชทานวโรกาสพักฟื้นที่จวน พร้อมกับขอพระบรามราชานุเคราะห์ปลดจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ขณะที่ขุนนางฝ่ายปฏิรูปบางครั้งก็เสียความสามัคคี ขาดความเชื่อมั่นในนโยบาย

หวังอานสือขอลาออกหลายครั้ง และปีค.ศ. 1074 จักรพรรดิซ่งเสินจงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากตำแหน่ง

ดร.ชวนพิศ เทียมทัน อธิบายเหตุปัจจัยที่ทำให้การปฏิรูปล้มเหลวว่า เป็นเพราะขุนนางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและฝ่ายเสียประโยชน์รวมตัวกันคัดค้าน พร้อมอ้างอิงแนวคิดของเจี่ยนปั๋วจ้าน นักประวัติศาสตร์จีนที่มองว่านโยบายที่ประกาศใช้ต่างกระทบต่อผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนเจ้าของที่ดินรายใหญ่จึงล้วนโดนขัดขวาง

ขณะที่ปัญหาภายในกลุ่มผู้ปฏิรูปก็เป็นปัญหาอีกประการจากที่ไม่เข้งแข็งและสามัคคีพอ ประกอบกับขุนนางที่มีความสามารถในฝ่ายนี้ก็จำนวนไม่มากพอ เมื่อมองไปที่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีจำนวนมากกว่าและตำแหน่งสูงกว่า เมื่อกลุ่มเจอแรงปะทะเสียดทานก็สั่นคลอนและแตกแยก จักรพรรดิซ่งเสินจงก็หวั่นไหวและไม่เชื่อมั่นของแนวทางของหวังอานสือในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ และเกาไท่โฮ่ว ผู้ออกว่าราชการหลังม่านต่อจากจักรพรรดิซ่งเสินจงมีแนวคิดอนุรักษนิยม ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูป

นโยบายการปฏิรูปที่เร่งรัด ไม่สอดรับกับจังหวะที่เหมาะสมประกอบกับเหตุผลข้างต้น ทั้งปวงส่งผลให้นโยบายการปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความมองว่า การปฏิรูปยังมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนและประเทศชาติ ประหยัดค่าใช้จ่ายของคลังหลวงจำนวนมหาศาลจากการบุกเบิกให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ระบบชลประทานและการเกษตรประสบความสำเร็จ หวังอานสือนับได้ว่าเป็นผู้สร้างผลงานระบบชลประทานและการเกษตรได้โดดเด่น

การปฏิรูประบบสอบเข้ารับราชการและการศึกษาแม้จะได้ผลชั่วคราว แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่ามีแนวคิดที่ล้ำสมัยในช่วงนั้น และยังทำให้ได้ขุนนางแนวคิดก้าวหน้าได้อีกด้วย

บั้นปลายชีวิต

หลังลาออกครั้งแรก หวังอานสือยังต้องโคจรกลับมารับตำแหน่งอัครเสนาบดีอีกหน และลาออกอีกครั้งประมาณปี 1976 ในช่วงที่บุตรชายเสียชีวิตกะทันหันและเป็นช่วงที่เสียใจกับการปฏิรูปที่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมระยะเวลาการปฏิรูปประเทศตามแนวคิดหวังอานสือเป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1069-76 หลังจากนั้นจักรพรรดิซ่งเสินจงยังทรงปฏิรูปประเทศในบางส่วน กระทั่งปี ค.ศ. 1085 พระองค์เสด็จสวรรคต

จักรพรรดิเจ๋อจงครองราชย์สืบต่อ พระองค์ยังทรงพระเยาว์จึงทรงแต่งตั้งเกาไท่โฮ่ว พระมารดาว่าราชการ โดยมีซือหม่ากวง เป็นอัครมหาเสนาบดี รัชสมัยนี้ยกเลิกการปฏิรูปประเทศทั้งหมด การบริหารเกือบทุกด้านกลับมาสู่สภาพเดิม กว่าที่จักรพรรดิเจ๋อจงจะขึ้นว่าราชการเองหลังพระมารดาเสด็จสวรรคตและพยายามฟื้นฟูนโยบายปฏิรูปต่อจากพระบิดาก็ไม่ทันการแล้ว

ช่วงบั้นปลายของหวังอานสือหลังลาออกครั้งที่ 2 ได้สร้างบ้านติดสันเขากลางป่าใหญ่ ใช้ชีวิตเรียบง่ายถือสันโดษ ยามว่างขี่ม้าชมวิว แต่งกลอน เขียนบทกวีนิพนธ์คือ “กุ้ยจือเซียง รำลึกย้อนอดีตเมืองจินหลิง”

ค.ศ. 1086 หวังอานสือได้ข่าวว่าราชสำนักยกเลิกการปฏิรูปประเทศทั้งหมด หลังจากนั้นก็ล้มป่วยถึงแก่อสัญกรรม ขณะอายุ 66 ปี

 


อ้างอิง:

ชวนพิศ เทียมทัน. การปฏิรูปการเมืองการปกครองของหวังอานสือ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 5, มีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561