เผยแพร่ |
---|
ประเพณีการโบยขุนนางที่ประพฤติไม่ชอบ หรือทำให้จักรพรรดิพิโรธถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่มีบันทึกเหตุการณ์ที่เข้มข้นในราชวงศ์หมิง การลงทัณฑ์นอกจากจะทำให้ขุนนางอับอายแล้วยังเป็นการลงโทษทางร่างกายที่สะท้อนว่าขุนนางที่จะมาทำหน้าที่ได้นอกจากกระดูกแข็งแล้ว หากพลาดพลั้งทำให้องค์จักรพรรดิพิโรธก็ต้องมี “เงิน” ด้วย
บันทึกธรรมเนียมในพระราชวังต้องห้ามของจีน สมัยราชวงศ์หมิง ขุนนางที่ประพฤติไม่ถูกไม่ควร หรือทำให้จักรพรรดิพิโรธจะถูกโบย โดยปกติผู้โบยคือองครักษ์เสื้อแพร (หน่วยพิเศษในราชวงศ์หมิง) ใช้ไม้พลองโบยตีบั้นท้ายขุนนางชั้นสูง ซึ่งทำให้เจ็บปวดบอบช้ำทั้งทางร่างกายและยังอับอายด้วย
การประกอบกิจลงโทษจะมีขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของเส้นทางเสด็จฯ นอกประตูอู่ ซึ่งเป็นประตูหลักของพระราชวังต้องห้าม ปัจจุบันยังเป็นประตูหลักของพิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณ บันทึกในหนังสือ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” อธิบายกระบวนการลงโทษว่า ขุนนางผู้ถูกลงโทษจะถูกมัดข้อมือทั้ง 2 ข้าง ขณะลงโทษจะมีกองทหาร 400 คน ถือไม้ยืนเรียงแถว
ประธานในการลงโทษที่เป็นขันทีจะร้องว่า “โบย” เมื่อโบยครบ 5 ครั้งจะเปลี่ยนผู้โบย 1 ครั้ง ระหว่างโบยจะมีผู้ร้องว่า “โบยแรงๆ” หรือ “ตั้งใจโบย” ซึ่งวลีที่ร้องระหว่างการโบยนี้จะแตกต่างกันไปตามปัจจัยเรื่องการต่อรองและสินบน!!
บันทึกระบุว่า การร้องว่า “โบยแรง ๆ” ผู้ถูกลงโทษอาจรอดชีวิตได้แม้สภาพจะไม่ปกตินัก หากร้องว่า “ตั้งใจโบย” แทบจะต้องรับโทษจนเสียชีวิต โดยทุกครั้งที่ตะโกน กองทหารจะขานตาม นั่นทำให้ขุนนางผู้ใหญ่รับโทษอย่างรุนแรงท่ามกลางเสียงตะโกนอันกึกก้อง
บันทึกเล่าว่า ครั้งจักรพรรดิอู่จง (จูโฮ่วจ้าว) ประสงค์จะเสด็จประพาสเจียงหนานเพื่อพักผ่อนพระวรกายและคัดเลือกสาวงามเมื่อรัชศกเจิ้งเต๋อปีที่ 14 บรรดาขุนนางถวายฎีกาขอให้พระองค์ยกเลิก จักรพรรดิจึงพิโรธสั่งโบยขุนนางกว่า 140 คน ครั้งนี้มีขุนนางเสียชีวิต 11 คน
รัชสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง ซึ่งสืบราชสมบัติต่อมา พระองค์ไม่ได้สืบสายโลหิตโดยตรงจากจักรพรรดิองค์ก่อน แต่ต้องการสถาปนาบิดาและมารดาให้ได้รับพระอิสริยยศเป็นหวงตี้ และหวงโฮ่ว ขุนนางเห็นว่าขัดต่อกฎหมาย จึงถวายฎีกาคัดค้าน พร้อมทั้งรวมตัวหน้าประตูจั่วซุ่นแล้วทูลคัดค้านด้วยน้ำตานองหน้า
จักรพรรดิเจียจิ้ง ทรงพิโรธอย่างมาก มีรับสั่งลงโทษโบยขุนนางระดับห้าลงไป 130 คนที่ด้านนอกประตูอู่ ของพระราชวังต้องห้าม ครั้งนี้ขุนนางเสียชีวิตคาไม้โบย 17 คน เมื่อดูข้อมูลจากบันทึกแล้วย่อมเห็นได้ว่า การเป็นขุนนางนอกจากความสามารถ ยึดหลักการโดยไม่อ่อนข้อแล้ว ยังต้องกระดูกแข็งไม่น้อยเช่นกัน
อ้างอิง:
จ้าวกว่างเชา. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม. แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
คลิกสั่งซื้อหนังสือ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ.2561