วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรกโดยหลุยส์ ปาสเตอร์ กับปริศนาห้วงสุดท้ายของผู้ฉีดรายแรก

ภาพวาดหลุยส์ ปาสเตอร์ โดย Albert Edelfelt เมื่อ 1885 จาก Flickr.com / Albert EDELFELT, Louis Pasteur, en 1885 (Public Domain)

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมี และนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส นอกจากจะโด่งดังจากความสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ “พาสเจอร์ไรเซชัน (Pasteurization)” แล้ว ยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จเป็นคนแรกของโลกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์

โรคพิษสุนัขบ้าเคยเป็นโรคที่ผู้คนหวาดกลัวมากที่สุดในยุคหนึ่ง เอกสารบันทึกจากหน่วยงานต่างๆ มีข้อความที่บ่งชี้สภาพการติดเชื้อในอดีตว่า เมื่อมีอาการติดเชื้อแสดงให้เห็น ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักถึงแก่ชีวิต (รายงานจากนิตยสารไทม์ ระบุว่า มีเอกสารไม่ถึง 10 ชิ้นที่บ่งบอกถึงเคสผู้รอดชีวิตภายหลังปรากฏอาการติดเชื้อแล้ว)

จนกระทั่ง วันที่ 6 กรกฎาคม 1885 โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) เด็กชายวัย 9 ขวบ ผู้มีบาดแผลจากการถูกสุนัขกัดถึง 14 รอย และกำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ใกล้ความตายเต็มทน ได้เดินทางมาพร้อมกับแม่ของเขาจากแคว้นอัลซาส ชายแดนของประเทศฝรั่งเศสมายังกรุงปารีสเพื่อพบกับหลุยส์ ปาสเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้ามาได้ระยะหนึ่ง หากแต่ยังไม่เคยทดลองใช้วัคซีนดังกล่าวกับมนุษย์

แม้หลุยส์ ปาสเตอร์จะไม่มั่นใจว่าวัคซีนดังกล่าวจะใช้ได้ผลกับคนหรือไม่ก็ตกลงใจฉีดวัคซีนให้กับเด็กชาย ด้วยความรู้สึกสงสารแม่ของเด็กชายที่ร้องไห้ด้วยความเศร้าใจที่จะต้องมองดูลูกชายของตนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา

หลังจากเสร็จสิ้นการฉีดวัคซีน ปาสเตอร์เฝ้าติดตามอาการของเด็กชายอย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลใจอยู่กว่า 3 อาทิตย์ กระทั่งเด็กชายมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายดีเป็นปกติ

ในเวลาต่อมาเมื่อสถาบันวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่ข่าวความสำเร็จในการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผู้คนนับร้อยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าก็แห่แหนกันมาขอรับวัคซีนที่ห้องทดลองของปาสเตอร์ผู้เป็นความหวังเดียวของพวกเขา

ภายหลังเจ้าหนูเมสเตร์ รอดชีวิต ช่วงเวลาหนึ่งก็มาทำงานเป็นภารโรงในสถาบันปาสเตอร์ ในห้วงที่เขาทำงานกับสถาบัน เมสเตร์ มักเล่าเรื่องราวในช่วงที่เขาเป็นคนไข้รับการรักษาให้กับแขกผู้มาเยือนสถาบันฟังว่า เขามักเห็นสีหน้าใจดีของปาสเตอร์ จับจ้องมาที่เขาเสมอ

อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสหลายชิ้นระบุว่า ภายหลังจากที่กองทัพเยอรมนีโจมตีฝรั่งเศส เรื่องราวที่กล่าวขานกันนั้นมีว่า เมสเตร์ ทำงานกับสถาบันปาสเตอร์ ในปารีสยอมปลิดชีวิตตัวเองแทนที่จะให้ทหารบุกรุกเข้ามาล่วงเกินใดๆ ถึงสุสานของผู้ช่วยชีวิตเขา เมสเตร์ ที่ขณะนั้นมีอายุได้ 64 ปีก็ฆ่าตัวตายในปี 1940 ภายหลังจากที่ได้รับการช่วยชีวิตโดยปาสเตอร์ 55 ปี

อย่างไรก็ตาม Héloïse D. Dufour และ Sean B. Carroll นักวิชาการที่สืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของตำนานที่เล่าขานกันต่อมา กล่าวโต้แย้งไว้โดยอ้างหลักฐานเป็นบันทึกไดอารี่ของยูจีน โวลล์มัน (Eugene Wollman) หัวหน้าแล็บไวรัสสลายแบคทีเรีย (bacteriophage lab) ของสถาบันปาสเตอร์ ซึ่งพวกเขาค้นพบขณะสืบค้นเกี่ยวกับนักชีววิทยา Jacques Monod ในคลังเอกสารของสถาบันปาสเตอร์

บันทึกไดอารี่ที่พบมีเนื้อหาอยู่ร่วมสมัยกับช่วงเวลาที่เรื่องเล่ากล่าวขานกันมา และมีเนื้อหาขัดแย้งกับเรื่องเล่ากล่าวขานกันถึงสาเหตุที่เมสเตร์ ฆ่าตัวตาย

ในเรื่องที่เล่ากันมา เมสเตร์ ฆ่าตัวตายในวันที่ 14 มิถุนายน หรือ 16 มิถุนายน หลังจากเยอรมนีรุกรานฝรั่งเศส แต่บันทึกของโวลล์มัน เนื้อหาที่ลงวันที่ 24 มิ.ย. มีเนื้อความส่วนหนึ่งว่า “เช้าวันนี้ เมสเตร์ ถูกพบว่าเสียชีวิต”

ขณะที่เรื่องเล่ามักบอกกันว่าเขายิงตัวเอง แต่ไดอารี่กลับเขียนว่า “เขาฆ่าตัวตายด้วยแก๊ส” บันทึกไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายดังที่เรื่องเล่ากล่าวขานกันว่าเขาทนไม่ได้ที่จะเห็นกองทัพนาซีทำเรื่องน่าเสื่อมเสียต่อหลุมศพปาสเตอร์ แต่กล่าวเพียงว่า เมสเตร์ รู้สึกหดหู่อย่างมาก

เวลานั้น ภรรยาของเมสเตร์ และลูกๆ ต่างเดินทางออกไปกันหมดแล้ว เชื่อกันว่า ในช่วงเวลาที่เยอรมนีบุกฝรั่งเศส ครอบครัวเมสเตร์ น่าจะเดินทางออกจากปารีสก่อนหน้ากองทัพจะเข้ามา

เมื่อประกอบกับการสัมภาษณ์ Marie-José Demouron หลานสาวของเมสเตร์ ทำให้นักวิชาการกลุ่มนี้ปักใจเชื่อในน้ำหนักของเนื้อหาจากบันทึกของโวลล์มัน มากกว่า พวกเขามองว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายน่าจะมาจากความหดหู่ และเขาโทษตัวเองที่ทำให้ครอบครัวของเขาสูญหายไประหว่างที่ข้าศึกทิ้งระเบิดโจมตี ซึ่งในช่วงโกลาหลขณะที่ปารีสถูกโจมตีนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับครอบครัว เมสเตร์ จึงไม่อาจทราบได้ว่า ครอบครัวของเขาปลอดภัย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : วัคซีนเข็มแรกของโลก วัคซีนเข็มแรกของไทย เกิดขึ้นเมื่อใด


หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งคัดย่อและเรียบเรียงจาก “6 กรกฎาคม 1885 หลุยส์ ปาสเตอร์ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ”

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

https://www.nature.com/news/history-great-myths-die-hard-1.13839