เผยแพร่ |
---|
ไฟเซอร์ก่อตั้งโดยผู้อพยพชาวเยอรมันสองคนคือ Charles Pfizer นักเคมี และ Charles Erhart ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกกวาด ทั้งสองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ร่วมกันก่อตั้งบริษัทในชื่อว่า “Charles Pfizer & Company” ในบรูกลิน รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1849 โดยได้เงินกู้จำนวน 2,500 ดอลลาร์ มาจากพ่อของ Charles Pfizer
Charles Pfizer เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี ค.ศ. 1824 ส่วน Charles Erhart เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี ค.ศ. 1821 ทั้งสองเกิดในเมือง Ludwigsburg ราชอาณาจักร Württemberg ในดินแดนเยอรมัน (เยอรมนีรวมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1871)
Charles Pfizer เป็นบุตรชายของ Karl Frederick Pfizer พ่อค้าขายของชำและลูกกวาด ครอบครัวของพวกเขาเป็นชนชั้นกลาง ไม่ยากจนขัดสนแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ชีวิตของ Charles Pfizer หลังจากสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วนั้น เขาได้ไปฝึกงานกับเภสัชกรและได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติในการเตรียมและผสมสารเคมี เขาศึกษาการทำธุรกิจและศึกษาทฤษฎีเคมีอยู่เสมอ ในขณะที่ Charles Erhart นั้นได้รับความรู้ความเชี่ยวชาญด้านลูกกวาดจากพ่อของ Charles Pfizer
ลูกสาวของ Charles Pfizer เล่าว่า แรงจูงใจในการอพยพไปสหรัฐอเมริกาของพ่อเธอนั้นก็เหมือนกับชายหนุ่มทั่วไปในสมัยนั้นคือ ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น การงาน การประกอบอาชีพ รวมถึงความปรารถนาที่จะอยู่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ
เธอกล่าวว่า “ถึงพ่อ…ในวัยที่อายุน้อยและมีความกระตือรือร้น เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ที่ขับเคลื่อนจิตวิญญาณของคนรุ่นเดียวกัน ไม่มีอะไรในยุโรปที่คู่ควรกับความพยายามอันยิ่งใหญ่ที่จะทำการปฏิรูป ฟื้นฟู และก่อร่างสร้างแผ่นดินมาตุภูมิ แต่อีกด้านหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกอันยิ่งใหญ่นั้นเป็นประเทศใหม่ ไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายนับไม่ถ้วน แต่ยังอ้าแขนต้อนรับทุกคนที่มาช่วยบุกเบิกดินแดนนี้…”
Charles Pfizer เตรียมพร้อมอย่างดีสำหรับการอพยพย้านถิ่น ฝึกฝนเรียนภาษาอังกฤษ ศึกษาประวัติศาสตร์และกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เขาและ Charles Erhart พร้อมผู้อพยพอีกจำนวนมากเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา จากนั้นสองลูกพี่ลูกน้องจึงเปิดบริษัทขึ้น
หลังจากได้เงินกู้ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากพ่อของ Charles Pfizer แล้ว พวกเขาจึงได้นำเงินไปลงทุนและซื้ออาคารก่ออิฐแห่งหนึ่งในบรูกลิน (จำนอง 1,000 ดอลลาร์) ใช้เป็นทั้งโรงงานผลิต ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทเป็นเวลาหลายปี
บริษัทวางจำหน่ายยา Santonin (แซนโทนิน) สำหรับรักษาพยาธิในลำไส้ (โรคพยาธิลำไส้เป็นอาการเจ็บป่วยนี้พบได้บ่อยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษ 1800) เป็นผลิตภัณฑ์แรกของบริษัท ซึ่งประสบความสำเร็จแทบจะทันทีที่ออกวางจำหน่าย เพราะได้รับความนิยมไม่น้อย เนื่องจากสารประกอบของแซนโทนินมีรสขมและต้องรับประทานสามโดสต่อวันเป็นเวลาหลายวัน ดังนั้น Charles Erhart ได้ใช้ทักษะการทำลูกกวาดของเขาเพิ่มรสชาติอัลมอนด์ทอฟฟีลงไปในตัวยาเพื่อให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์มุ่งผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ค้าส่ง-ปลีกมากกว่าการผลิตยา ในปี ค.ศ. 1855 ไฟเซอร์ได้ผลิตสารไอโอดีนและสารประกอบไอโอดีน เช่น Potassium iodide (โพแทสเซียมไอโอไดด์) จนถึงปี ค.ศ. 1860 ไฟเซอร์ผลิตเคมีภัณฑ์อีกหลายตัว เช่น Borax, (บอแรกซ์), Boric acid (กรดบอริก) และโดยเฉพาะการบูรที่มีความสำคัญต่อบริษัทมาก จนไฟเซอร์เป็นที่รู้จักในนาม “โรงงานการบูร”
จนเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1861-1865 ทำให้มีความต้องการยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด สารกันบูด รวมถึง ไอโอดีน มอร์ฟีน และคลอโรฟอร์ม มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไฟเซอร์ได้ขยายการผลิตสารกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพ กระทั่งหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ไฟเซอร์มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองเท่าในปี ค.ศ. 1868
แนวคิดของสองลูกพี่ลูกน้องนั้นไม่ได้หันหน้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงด้านเดียว พวกเขายังคงเดินทางไปยุโรปบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการติดต่อทางธุรกิจกับผู้ส่งออก รวมทั้งคอยติดตามเทคโนโลยีการผลิตสารเคมีในยุโรป รวมถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ 1800 ไฟเซอร์เริ่มผลิต Citric acid (กรดซิตริก) จากมะนาวที่นำเข้าจากอิตาลีและซิซิลี กรดซิตริกกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของไฟเซอร์ เนื่องจากการผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมของหลายบริษัทอย่าง Coca-Cola, Dr Pepper และ Pepsi-Cola ที่มีความต้องการใช้กรดซิตริกเพิ่มสูงมาก ไฟเซอร์ก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตกรดชนิดนี้ให้กับบริษัทเหล่านั้น และในไม่ช้ากรดซิตริกก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของไฟเซอร์และเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตในทศวรรษต่อ ๆ ไป
ในปี ค.ศ. 1891 Charles Erhart เสียชีวิตในวัย 70 ปี Charles Pfizer จึงเข้าควบคุมบริหารบริษัทด้วยตัวเองทั้งหมด (ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนของพวกเขาระบุว่า เมื่อหุ้นส่วนคนหนึ่งเสียชีวิต หุ้นส่วนอีกคนสามารถซื้อหุ้นของอีกฝ่ายหนึ่งได้ตามเงื่อนไข)
เข้าสู่ศตวรรษใหม่ ไฟเซอร์ยื่นหนังสือจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการในรัฐนิวเจอร์ซีย์ โดยมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็น 20,000 หุ้น หุ้นละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ
Charles Pfizer เกษียณออกจากงาน โดยเริ่มให้คนในครอบครัวอย่าง Charles Pfizer Jr. ลูกชายคนโต, Emile Pfizer ลูกชายคนเล็ก และ William Erhart ลูกชายของ Charles Erhar เข้าไปมีบทบาทในบริษัทมากขึ้น
แต่ Charles Pfizer Jr. นั้นไม่มีความสามารถในการบริหารในฐานะประธานบริษัท เนื่องจากเป็นหนุ่มรักสนุกอ ชอบล่าสัตว์ สังสรรค์ และเป็นนักเก็งกำไรที่มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จึงได้มีการปลดเขาออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้ง Emile Pfizer เป็นประธาน และ William Erhart เป็นรองประธาน แต่บทบาทการบริหารบริษัทจะตกอยู่ที่ John Anderson โดยเขาเป็นลูกจ้างของไฟเซอร์ที่ทำงานมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท (ตั้งแต่เขาอายุ 16 ปี) ก่อนจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการบริหารบริษัทช่วงก่อนที่ Charles Pfizer จะเกษียณได้ไม่นาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ก่อตั้งไฟเซอร์อย่างเต็มที่
Charles Pfizer มีชื่อเสียงในการเป็นนายจ้างที่ดี แต่เขามีจุดอ่อนตรงที่ใจอ่อนต่อผู้อพยพชาวเยอรมัน ว่ากันว่าคนอเมริกันเชื้อสายเยอรมันที่มาหาเขาพร้อมด้วยเรื่องเลวร้ายในชีวิตจะได้งานทำเสมอ นอกจากนี้ Charles Pfizer มีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับฝ่ายบริหาร โดยบริษัทได้จัดตั้งกองทุนสำรองฉุกเฉินสำหรับพนักงานและครอบครัวที่ประสบภัยอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1906 Charles Pfizer เสียชีวิตในวัย 82 ปี เขาจัดการแบ่งทรัพย์สินไว้ก่อนเสียชีวิต โดยลูก ๆ ของเขาทั้ง 5 คน (เรียงตามลำดับอาวุโส) Charles Jr., Gustave, Emile, Helen และ Alice มีเพียง Charles Jr. และ Emile เท่านั้นที่ได้ทรัพย์สินส่วนแบ่งของบริษัท ส่วนลูกคนอื่นจะได้ทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น เงินสด เนื่องจาก Gustave ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรุงปารีส, Helen แต่งงานกับเซอร์แห่งอังกฤษ และอาศัยอยู่ในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ ส่วน Alice แต่งงานกับบารอนแห่งออสเตรียและอาศัยอยู่ในกรุงเวียนนา
Emile Pfizer ลูกชายคนสุดท้องของเขาเข้ามามีบทบาทบริหารในบริษัทเรื่อยมา และได้เป็นประธานบริษัทในปี ค.ศ. 1941 แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดย Emile Pfizer เป็นสมาชิกคนสุดท้ายของตระกูล Pfizer (รวมถึงตระกูล Erhart) ที่มีบทบาทบริหารในบริษัทอย่างจริงจัง
เมื่อโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1914-1918 ส่งผลให้การผลิตกรดซิตริกในสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปได้ กระทั่งในปี ค.ศ. 1919 ไฟเซอร์จึงประสบความสำเร็จในการผลิตกรดซิตริกได้ด้วยตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก ทำให้ไฟเซอร์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเกษตรกรผู้ปลูกส้มในยุโรปอีกต่อไป
ไฟเซอร์ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตสารเคมีอย่างเดียวเท่านั้น ไฟเซอร์ยังผลิตยาโดยเฉพาะวิตามินออกจำหน่ายอีกด้วย โดยเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1930 ไฟเซอร์ขยายกำลังการผลิต และเริ่มผลิตวิตามินออกจำหน่าย เช่น วิตามิน A, B-2, B-12 และ C ฯลฯ จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 1940 ไฟเซอร์กลายเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตวิตามินชั้นนำของโลก
ไฟเซอร์เป็นบริษัทเอกชนนับตั้งแต่การก่อตั้งจนมาถึงปี ค.ศ. 1942 เมื่อมีการเสนอขายหุ้น 240,000 หุ้นต่อสาธารณชน ไฟเซอร์จึงกลายเป็นบริษัทมหาชนนับแต่นั้น
เทคโนโลยีการหมักของบริษัทนั้นได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนมีประสิทธิภาพอย่างมาก จนทำให้ไฟเซอร์เป็นบริษัทแรกที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการผลิตยา Penicillin (เพนิซิลลิน) ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย (หลังจากการค้นพบโดยอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ในปี ค.ศ. 1928) ในปริมาณมาก ๆ ได้ เพื่อนำไปใช้รักษาการบาดเจ็บของทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาตัวนี้เป็นประโยชน์ในยามสงครามอย่างมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “ยามหัศจรรย์”
ในปี ค.ศ. 1950 ไฟเซอร์ได้คิดค้นและออกวางจำหน่ายตัวยาตัวแรกที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาภายใต้ฉลากของไฟเซอร์ นั่นคือ Terramycin (เทอราไมซิน) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ ยาตัวนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเซลล์ขายยาในยุคแรก ๆ (Pfizer Pharmaceutical Sales Force) ในการแนะนำ ขาย (ผ่านทางโทรศัพท์) และจัดส่งสินค้า ให้กับผู้สนใจทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา
บริษัทเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งและได้ขยายโรงงานไปในหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ อิตาลี ตุรกี เม็กซิโก ฯลฯ จนในปี ค.ศ. 1961 ไฟเซอร์เริ่มต้นทศวรรษใหม่ด้วยการจัดตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในใจกลางแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก
ช่วงเวลาหลังจากนั้น บริษัทผลิตยาภายใต้ฉลากของไฟเซอร์ออกมามากมาย เช่น Minipress-สำหรับโรคความดันโลหิตสูง Feldene-ยาแก้อักเสบ, Glucotrol-สำหรับโรคเบาหวาน Unasyn-ยาปฏิชีวินะ, Procardia-สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและความดันโลหิตสูง, Diflucan-ยารักษาเชื้อรา, Zoloft-สำหรับโรคซึมเศร้า, Norvasc-สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและความดันโลหิตสูง และ Zithromax-ยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจและผิวหนัง เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ยาสำหรับมนุษย์เท่านั้น ไฟเซอร์ยังพัฒนาและลงทุนการผลิตยาสำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
แต่ยาที่อาจจะคุ้นหูมากที่สุดชนิดหนึ่งคือ Viagra (Sildenafil Citrate) หรือไวอากร้า-ยาต่อต้านการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1998 จากนั้นมาไวอากร้าเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคงของบริษัทมากกว่าสิบปี โดยในปี ค.ศ. 2012 แค่ยาไวอากร้าเพียงตัวเดียวสามารถทำยอดขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในศตวรรษที่ 21 ไฟเซอร์เข้าซื้อกิจการบริษัทยาอื่น ๆ มากมาย รวมถึง Warner-Lambert ในปี ค.ศ. 2000 ด้วยมูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วย Pharmacia ในปี ค.ศ. 2008 และ Wyeth ในปี ค.ศ. 2009
ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นที่สุดของไฟเซอร์ ได้แก่ Zoloft-ยากล่อมประสาทสำหรับโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล, Viagra-ยาต่อต้านการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, Xanax-ยาคลายเครียด แก้ซึมเศร้า หรือต้านความวิตกกังวล และวัคซีนที่มีชื่อว่า “Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine”
อ้างอิง :
Pfizer. (2021). Access 5 July 2021, from https://www.pfizer.com/people/history
William H. Stevenson. (2018). Charles Pfizer. Access 6 July 2021, from https://www.immigrantentrepreneurship.org/entries/charles-pfizer
BBC. (2014). Pfizer: The making of a global drugs giant. Access 5 July 2021, from https://www.bbc.com/news/business-27309851
Jeannette L. Nolen. (2021). Pfizer, Inc. Access 6 July 2021, from https://www.britannica.com/topic/Pfizer-Inc
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564