วัคซีนเข็มแรกของโลก วัคซีนเข็มแรกของไทย เกิดขึ้นเมื่อใด

เข็ม วัคซีน

ปี 2337 ขณะที่ทวีปยุโรปกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไข้ทรพิษ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก นายแพทย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) สังเกตเห็นว่า หญิงที่รีดนมวัวที่เคยติดโรคฝีดาษวัว (cowpox) แล้วจะไม่เป็นไข้ทรพิษ จึงได้เริ่มการค้นคว้าทดลองจนเป็นที่มาของ วัคซีน เข็มแรก ในโลก

นายแพทย์เจนเนอร์ จึงได้ทดลองนำหนองจากแผลฝีดาษวัวของหญิงรีดนมวัวดังกล่าวไปทดลองกับสัตว์หลายชนิดจนมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2539 จึงทดลองในคนเป็นครั้งแรกกับเด็กชายอายุ 8 ปี โดยการกรีดผิวหนังที่แขนแล้วนําหนองฝีดาษวัวใส่ลงไป จากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน นายแพทย์เจนเนอร์นําเอาหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษไปทดลองสะกิดที่ผิวหนังของเด็กชายรายเดิม ผลปรากฏว่าเด็กชายผู้นั้นไม่ติดโรคไข้ทรพิษ

หลังทําการทดสอบวิธีการดังกล่าวอีกหลายครั้ง ทั้งปรับปรุงการเตรียมหนองฝีให้มีประสิทธิภาพ จนมั่นใจว่าวิธีการดังกล่าวสามารถป้องกันไข้ทรพิษได้ จึงได้นํารายงานผลการทดลองเสนอต่อ ราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society of London)  แต่กลับถูกส่งคืนอย่างไม่สนใจ

นายแพทย์เจนเนอร์จึงตัดสินใจตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวด้วยทุนส่วนตัวออกเผยแพร่ ซึ่งยังคงถูกคัดค้านจากวงการแพทย์ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องหลอกลวง โดยมีการเชื่อมโยงกับกรณีของเลดี้ แมรี เวิร์ทเลย์ มองตากู (Lady Mary Wortley Montagu) ที่นําความรู้การปลูกฝีจากชาวจีนไปเผยแพร่ในประเทศอังกฤษเพื่อป้องกันไข้ทรพิษเมื่อปี 2264 แต่มีผู้ที่ได้รับการปลูกฝีบางรายป่วยเป็นไข้ทรพิษและเสียชีวิต

แม้ผลงานของในนายแพทย์เจนเนอร์จะถูกปฏิสเธจากวงการแพทย์ แต่กลับได้รับความนิยมจากประชาชน

ประชาชนจำนวนมากให้ความเชื่อถือวิธีการของเขาว่าสามารถป้องกันไข้ทรพิษได้จริง การยอมรับขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุด รัฐสภาอังกฤษก็รับรองผลงานของนายแพทย์เจนเนอรเมื่อปี 2343 นายแพทย์เจนเนอร์เรียกหนองฝีวัวนั้นว่า “vaccine-วัคซีน” ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า vacca แปลว่าวัว และเรียกวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวว่า vaccination ยังใช้กันอย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน

ภายหลังก็มีการพัฒนาวัคซีนเรื่อยมา เช่น หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ค้นพบวิธีการทําให้เชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่มาทําให้อ่อนฤทธิ์และใช้เป็นวัคซีนเป็นครั้งแรก, โจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ริเริ่มนำ antiseptic มาใช้ในทางการแพทย์ทําให้เกิดการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายในระยะเวลาต่อมา ฯลฯ

แล้วในประเทศไทยวัคซีนเข็มแรกเริ่มใช้เมื่อใด

วัคซีนในไทยเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2378 โดยหมอบลัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) เป็นผู้นําเข้ามาเผยแพร่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบ จึงรับสั่งให้หมอหลวงมาฝึกปลูกฝีกับหมอบลัดเลย์ และได้พระราชทานเงินรางวัลให้กับหมอบลัดเลย์และหมอหลวงที่ฝึกปลูกฝี

การฉีดวัคซีนยุคแรกๆ ของไทย (ภาพจาก “ตำราวัคซีน”)

โดยในระยะแรกต้องนำเข้าพันธุ์หนองฝีจากสหรัฐฯ ภายหลังหมอบลัดเลย์ได้ใช้การปลูกฝีด้วยวิธีการ variolation โดยการนําเอาหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษมาทําการปลูกฝี ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวจีนค้นพบ หากพบว่าการปลูกฝีด้วยวิธีดังกล่าวยังมีอันตราย จึงกลับมาใช้การนําพันธุ์หนองฝีวัวจากสหรัฐเช่นเดิม โดยคิดเงินค่าปลูกฝีคนละ 1 บาท (มีเงื่อนไขให้กลับมาติดตามตรวจดูผล หากฝีขึ้นดีจะคืนเงินให้ 50 สตางค์) โดยเงินที่ได้มาก็นําไปซื้อพันธุ์หนองฝีวัวมาใช้ต่อไป

แม้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะประสบความสําเร็จแต่ยังคงมีปัญหาว่าพันธุ์หนองฝีวัวต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ ใช้เวลาเดินทางนานถึง 9 เดือน ทำให้หนองฝีเสื่อมคุณภาพ รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริให้คิดทำหนองฝีขึ้นใช้เอง กระทรวงธรรมการจึงส่งนายแพทย์ของไทยไปศึกษาดูงานเรื่องดังกล่าวที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ พระบำบัดสรรพโรค หรือนายแพทย์แฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) และหลวงวิฆเนศน์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช)

เมื่อทั้งสองท่านกลับมาเมืองไทยก็มีการทำพันธุ์หนองฝีครั้งแรกที่สำนักงานบริเวณสี่กั๊กพระยาศรี (สี่แยกพระยาศรี) ต่อมากระทรวงธรรมการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “กอเวอนเมนต์ซีร่ำแลโบแร็ตโตรี” สำหรับผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้ปลูกป้องกันไข้ทรพิษภายในประเทศ ก่อนจะได้ย้ายสถานผลิตพันธุ์หนองฝีไปตั้งที่ตำบลห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม

ต่อมาในปี 2454 หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิสกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ถูกสุนัขบ้ากัดจนถึงสิ้นชีพิตักษัย สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ นําความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รัชกาลที่ 6 เพื่อจัดตั้งสถานที่ดําเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ในการนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเงินอดุหนุนเป็นปฐมฤกษ์ โดยให้ใช้ตึกหลวงที่ถนนบํารุงเมืองเป็นสถานที่ทําการชั่วคราวเรียกวา “ปาสตุระสภา” เปิดทำการ 26 เมษายน ปี 2456 และให้ย้ายกิจการทําพันธุ์หนองฝีและทําวัคซีนอื่นที่อยู่ทางจังหวัดนครปฐม มาดําเนินการอยู่ด้วยกัน เดือนสิงหาคม ปี 2460 เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” ตามชื่อหลุยส์ ปาสเตอร์ และโอนกิจการให้แก่สภาการชาดไทย หากยังคงใช้ที่ทำการเดิม

ต่อมา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สวรรคต ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพวันที่ 24 พฤษภาคม ปี 2463 รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศพระราชชนนี จึงทรงอุทิศที่ดิน 46 ไร่ ริมถนนพระราม 4 บริเวณใกล้ ๆ กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 258,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทย สำหรับสร้างอาคารใหญ่หลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของสถานปาสเตอร์ ขนานนามว่า “ตึกสภานายิกา”

ภายรัชกาลที่ 6 พระราชทานนามใหม่สถานที่ใหม่ว่า “สถานเสาวภา” แทนสถานปาสเตอร์ และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2465 กิจการทั้งหมดของสถานปาสเตอร์ ถนนบำรุงเมือง ย้ายมาดำเนินการที่ทำการใหม่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อุษา ทิสยากร. “ประวัติความเป็นมาของวัคซีนโดยสังเขป” , ใน ตำราวัคซีน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2554

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. “พระบำบัดสรรพโรค” ใน, หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2505 โรงพิมพ์คุรุสภาพ 2505

https://www.saovabha.com สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2564