ชีวิตในห้วงเผด็จการของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผลงาน และอิทธิพลทางความคิดสู่นักศึกษา

จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เขียนหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย

ความฝันของคนชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนที่จะมาเป็น “นักคิด” คนสำคัญ ผู้มีผลงาน เช่น “โฉมหน้าศักดินาไทย” ที่ส่งผลต่อความคิดของคนรุ่นหลัง เดิมทีแล้ว ในวัยเด็กเขาหลงใหลเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทเขมร วรรณคดีไทยโบราณ และฝันว่าสักวันหนึ่งจะเป็นเช่นนักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงเริ่มค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ ขยายไปสู่วิชาอื่นๆ อีกมากมาย แต่บริบทหลายอย่างในสังคมไทย ทำให้ชีวิตเขาไม่อาจเป็นไปตามฝันในวัยเด็ก

จิตร ภูมิศักดิ์ กับแนวคิดชาตินิยม

จิตรก็เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดและเติบโตในทศวรรษ 2470-2480 ที่ได้รับอิทธิพลความคิดชาตินิยม ทั้งที่มาจากการปลูกฝังของรัฐชาติในสมัยนั้น ประกอบกับความประทับใจขบวนการกู้ชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่ได้อาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการโค่นล้มลัทธิล่าอาณานิคม

เมื่อจิตรต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่จังหวัดพระตะบอง ระหว่างปี 2488-2489 จิตรได้บันทึกถึงความประทับใจทางการเมืองครั้งแรกของตนว่า

“ที่นั่นได้สัมพันธ์กับเพื่อนชาวเขมรจำนวนมาก เพื่อนเหล่านี้มีความรักชาติเขมรของเขาอย่างแรงกล้า แม้ทางการไทยจะสอนให้เขารักชาติไทย ฯลฯ แต่เขาก็คงยืนหยัดความเป็น “กัมปูเจีย” (กัมพูชา) ของเขาเสมอ และมีการจัดตั้งหน่วยเขมรอิสระกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย…ประชาชนเขมรเคลื่อนไหว “เอ็ยสะระ” (อิสระ) อย่างเต็มที่

…การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ข้าพเจ้าติดตามด้วยความสนใจและเห็นอกเห็นใจ เพราะเกลียดชังฝรั่งเศสนักล่าเมืองขึ้นเป็นทุนอยู่แล้ว…แต่ความรู้สึกนี้ก็ค้างอยู่เพียงนั้น มิได้สะท้อนมาถึงเรื่องของประเทศไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับอังกฤษ… ซ้ำเกิดความรู้สึกว่าอเมริกาเป็นประเทศนักบุญที่มาช่วยโปรดเมืองไทยให้พ้นการข่มขี่ของอังกฤษ”

จากพระตะบอง จิตรต้องมาเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และที่นี่เองที่ได้ปลุกความคิดชาตินิยมของจิตรออกมาอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ภายในประเทศเกิดความไม่สงบขึ้นจากกรณี “รุมเลี้ยะพ่ะ” ที่เกิดจากชาวจีนสยามส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐไทยรังแกมาตลอด ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิของตน จนเกิดเป็นการก่อความไม่สงบขึ้น

และเมื่อจิตรได้อ่านบทความของครูจักรกฤษณ์ (สุภางค์) ชื่อ “เมื่อข้าพเจ้าเป็นซินแสโรงเรียนจีน” ได้กระตุ้นให้จิตรคิดไปว่า จีนมีนโยบายที่จะกลืนชาติไทย จิตรจึงหาทางตอบโต้ ด้วยการชักชวนเพื่อนไม่ให้ซื้อสินค้าจีน จิตรได้บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นว่า

“12 กุมภาพันธ์ พูดปลุกใจนักเรียนแอนตี้พวกเจ๊กที่มาขายของ…

ครั้งแรกฉันคิดว่าจะเขียนหนังสือเวียน แต่มามานะทีหลังว่าประชุมนักเรียนพูดดีกว่า เลยปรึกษาสมศักดิ์ เขาสนับสนุน ฉันจึงเขียนหนังสือถึงหัวหน้าชั้นต่างๆ ให้ประชุมที่หน้าโรงเรียน ให้ประดิษฐ์และสมศักดิ์นำไปให้ ตกกลางวันพอฉันจะพูด มีนักเรียนมายืนเรียงมากเกือบหมดโรงเรียน แต่ไม่ยอมมารวมกัน ฉันต้องเที่ยวต้อน มีเด็กๆ ถามว่าคนไหนนะที่เซ็นชื่อ จ.ภูมิศักดิ์ (ลายเซ็น) ฉันบอกว่าฉันนี่แหละ ต้องเสียเวลาต้อนคนเกือบ ๕ นาที จึงได้พูดปลุกใจ ให้รักชาติ เกลียดเจ๊ก ไม่ซื้อของเจ๊ก ฉันจะถามอะไรเป็นตอบรักทุกคน เช่นถามว่า “จะนั่งนิ่งดูดายให้ชาติอื่นๆ เขากลืนชาติไทยได้ไหม” “ไม่ได้ๆ” พร้อมกันทุกคน ฯลฯ”

จิตร กับมุมมองต่อชนชั้น “ศักดินา” 

แต่นั่นเป็นความคิดเมื่ออยู่ในวัยเยาว์ จิตรได้สะท้อนผ่านปัญหาคนจีนในเมืองไทยในงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ โฉมหน้าศักดินาไทย สมัยปัจจุบันว่า เขาจะไม่โจมตีคนจีน หรือคนชาติอื่นๆ ที่เป็นประชาชนสามัญ จะโจมตีก็เฉพาะแต่ศัตรูของประชาชนเท่านั้น จิตรก็เขียนไว้ว่า

“พวกศักดินามอมเมาให้คนไทยเกลียด “เจ๊ก” มาแต่โบรมโบราณเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีนไปด้วย”

ในช่วงที่จิตรกำลังนักศึกษาแสวงหาความรู้ทางวิชาการ ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น อยู่ในช่วงทศวรรษ 2490 บรรยากาศภายในมหาลัยนั้นเต็มไปด้วยระบบ SOTUS อย่างเข้มข้น โดยมีหนังสือเล่มสำคัญที่ช่วยถ่ายทอดความคิดคือ มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีที่ต้องทำทุกปี

จุดที่ทำให้ชีวิตของจิตรพลิกผันก็คือในช่วงปี 3 จากการไปเปลี่ยนแปลงหนังสือดังกล่าวจากเดิมที่มีการยกย่องรัชกาลที่ 5 และมีเนื้อหาระบบ SOTUS เขาได้ตัดให้เหลือเรื่องของรัชกาลที่ 5 ขณะที่จิตรได้เขียนบทความ พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกจรรจ์ตรงนี้” (หรือรู้จักกันอีกชื่อว่า “ผีตองเหลือง”)

เนื้อหาในบทความวิจารณ์ความเสื่อมในแวดวงพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งหากินในร่มกาสาวพัสตร์ โดยใช้กรอบแนวคิดลัทธิมาร์กซ จิตรใช้นามปากกว่า “นาครทาส”

แม้หนังสือที่จิตรปรับปรุงจะไม่ได้รับการตีพิมพ์ (แต่หนังสือยังถูก “เข็น” ออกมา โดยแก้ไขเฉพาะหน้า และเปลี่ยนเนื้อหาจำนวนมาก) แต่เรื่องนี้ก็ยังสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มนิสิต จนจิตรถูกลงโทษโดยการ “โยนบก” และสภามหาวิทยาลัยพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี ข้อหามีความคิดโน้มเอียงไปฝ่ายซ้าย นำไปสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตของจิตร

หลังจากถูกพักการเรียนในช่วง 2496 และบาดเจ็บจากการโยนบก ช่วงเวลานี้ทำให้เขามีโอกาสคิดโครงร่างวิทยานิพนธ์เรื่องคำเขมรโบราณในภาษาไทย

ขณะเดียวกัน จิตรได้รู้เบื้องลึกของอเมริกามากขึ้น ทำให้หลังจากนี้เขาเปลี่ยนตัวเองไปเป็นปัญญาชนปฏิวัติ ในช่วงที่เข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ควบคู่กับการเรียนปริญญาโทที่วิทยาลัยประสานมิตร จิตรยังเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบลับๆ จิตรเล่าว่า ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “สับสนซับซ้อน” เช่น โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครหัวก้าวหน้าใน กทม. และจังหวัดอื่น ผลักดันและเตรียมการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ประท้วงเรื่องไม่มีที่เรียน ร่วมในงานต่างๆ ของแนวร่วมสังคมนิยม

ในบรรดาผลงานมากมายของจิตร บทความประวัติศาสตร์ที่ลือลั่นย่อมเป็น “โฉมหน้าศักดินาไทย” ศึกษาสังคมไทยจากสมัยสุโขทัย จนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 แต่ประเด็นที่จิตรนำเสนอกลับมีการแสดงออกทางจุดยืนที่แตกต่างจากงานสายดำรงราชานุภาพแบบกลับหัวกลับหาง จนอีกฝ่ายต้องออกมาเขียนโต้ตอบ อาทิ หนังสือ “ฝรั่งศักดินา” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

งาน “โฉมหน้าศักดินาไทย” อาจเป็นงานที่โด่งดังที่สุด แต่ในอีกด้านก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นงานที่แข็งทื่อและตายตัว เนื่องจากนำทฤษฎีวิวัฒนาการสายเดียวของ เฮนรี่ มอร์แกน (Henry Morgan) เป็นกรอบวิเคราะห์ศักดินาไทย

เมื่อ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเมื่อ 20 ต.ค. พ.ศ. 2501 วันรุ่งขึ้น จิตรก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับตามคำสั่งจับนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ซึ่งจิตรเล่าว่า จากการสอบสวนของสันติบาลทำให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติงานทางการเมือง เอาแต่รื้อเรื่องโยนบกมาสอบสวน จิตรและเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกขังลืมกว่า 5 ปี โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งจิตรได้ยื่นฟ้องตำรวจสันติบาลข้อหากลั่นแกล้งกักขัง ภายหลังเขาจึงมีอิสรภาพในวันที่ 30 ตุลาคม 2507

ไม่นานหลังจากนั้น จิตรเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่จังหวัดสกลนคร ขณะอายุได้ 36 ปี ช่วงเวลาหนึ่ง แนวคิดของเขาถูกทำให้ลืมโดยเผด็จการ

ในช่วงที่สฤษดิ์กวาดจับนักคิดในช่วงทศวรรษ 2490 ช่วงเวลานั้น ประชาชนถูกทำให้ตัดตัวเองจากอดีต สังคมภายนอก ให้มีชีวิตกับตัวเองและปัจจุบัน ขณะที่ผู้นำคือคนรับผิดชอบเพียงผู้เดียว ยุคสมัยนี้เรียกว่า ยุคพัฒนา ยุคนี้เองที่มหาวิทยาลัยที่เคยเต็มไปด้วยนักศึกษาที่ฝักใฝ่รู้ทางการเมือง กลายเป็นยุคสมัยสายลมแสงแดด เต็มไปด้วยกิจกรรมฟุ่มเฟือย

แต่แล้วนักศึกษากลุ่มหนึ่งไม่พอใจบรรยากาศข้างต้น อันเป็นการเริ่มของ “ยุคแสวงหา” มีการแสวงภูมิปัญญา ซ้ายใหม่ ที่มาจากตะวันตก และยังค้นพบซ้ายเก่า อันมีผลงานของจิตรรวมอยู่ด้วย ยุคสมัยนี้เป็นช่วงที่ผลงานของ “จิตร ภูมิศักดิ์” กลับมาเป็นที่สนใจ ผลงานของเขาปรากฏในหนังสือนักศึกษาอีกมากมาย ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งและเรียบเรียงจากบทความ “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” เขียนโดย ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นเนื้อหาจากนิทรรศการในชื่อเดียวกัน จัดที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพฤษภาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563