“จิตร ภูมิศักดิ์” กับชีวิตในห้องขังกองปราบปทุมวัน เผยสภาพชีวิตใน “คอมมูน”

จิตร ภูมิศักดิ์
(ซ้าย) จิตร ภูมิศักดิ์ ในคุกลาดยาว (ขวา) จิตร ภูมิศักดิ์

หลังการปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลดำเนินการกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่ ด้วยข้อหาสุดคลาสสิกของยุคนั้นคือ “กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์” จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501

เวลานั้น จิตร ภูมิศักดิ์ อายุ 28 ปี สูง 175 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 57 กิโลกรัม ถูกจับเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ณ บ้านเลขที่ 337/12 ถนนศรีอยุธยา พร้อมกันนั้น ตำรวจยึดของกลางเป็นหนังสือ 21 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เช่น หนังสือเรียนและพจนานุกรมภาษาจีน, หนังสือ “ความใฝ่ฝัน” ของบรรจง บรรเจิดศิลป์, หนังสือ “พุทธศาสนากับโซเวียตรัสเซีย”, หนังสือ “บริการสาธารณสุขในโซเวียตเล่ม 1”, หนังสือ “ระเบียบข้อบังคับสหาภพแรงงานกรรมกรโรงเลื่อยแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2500” เป็นต้น

สถานที่คุมขังมีหลายที่ เช่น สโมสรตำรวจปทุมวัน, กองปราบปทุมวัน, กองปราบสามยอด, สถานีตำรวจนครบาลต่าง ๆ และเรือนจำลหุโทษ เนื่องจากมีผู้ต้องหาจำนวนมาก ผู้ต้องหาหลายคนรวมทั้งจิตรจึงถูกย้ายที่คุมขังหลายครั้ง

จิตรถูกคุมขังที่กองปราบปทุมวัน ต่อมาถูกย้ายไปกองปราบสามยอด ซึ่งมีสภาพห้องขังไม่ดีนัก มืดทึบ ผิดหลักสุขอนามัย และน่าจะคับแคบมาก ดังที่ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตร อธิบายว่า “ชนชั้นปัญญาชนคนมีความรู้เขาจับมายัดไว้ในห้องกรงแคบ ๆ อากาศร้อนราวนรก ไม่ได้ออกเดินยืดเส้นยืดสายได้เลย กินตรงนั้น นอนตรงนั้น และขี้ตรงนั้น อีกหน่อยได้เป็นง่อยตาย ยังดีที่ยังมีโอกาสได้เอาพัดลมเข้าไปใช้เปิดกันทั้งวันทั้งคืน”

ด้วยสภาพที่แออันคับแคบ ผู้ต้องหาจึงรวมตัวกันยื่นคำร้องขอย้ายกลับไปที่กองปราบปทุมวัน ซึ่งมีสภาพค่อนข้างดีกว่า เป็นห้องขังเดี่ยว ห้องน้ำรวม ต่อมา จิตรถูกย้ายมาคุมขังที่นี่ ผู้ต้องหาไม่ได้ถูกพันธนาการทางร่างกายหรือขังเดี่ยว หากแบ่งกลุ่มกันอยู่ตามห้องขังด้วยความอิสระ

จิตรถูกจับพร้อมกับ สุธีร์ คุปตารักษ์ และประวุฒิ ศรีมันตะ จิตรสนิทสนมกับสุธีร์ตั้งแต่เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนกระทั่งเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ และมักทานข้าวกลางวันด้วยกัน จิตรเคยไปค้างที่บ้านสุธีร์ เมื่อครั้งจิตรเป็นสาราณียกรจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2496 สุธีร์ได้ช่วยทำหน้าที่หาโฆษณาและช่วยจิตรตรวจต้นฉบับเอกสารที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือ

วิทย์ วิศทเวทย์ เพื่อนร่วมวิชาชีพไกด์กับจิตรแสดงความเห็นว่า สุธีร์ไม่ค่อยประสีประสาทางการเมือง เช่นเดียวกับ วิจารณ์ ศตสุข เพื่อนบ้านของจิตรที่มีความเห็นคล้ายกันว่า สุธีร์ไม่ได้มีความคิดเรื่องการเมืองรุนแรง “แต่เขาเป็นคนที่มีความศรัทธาในตัวจิตร และเวลาที่จิตรทำอะไร เขาจะไปอยู่อย่างใกล้ชิดและช่วยเหลือ” จึงอาจจะกล่าวได้ว่า สุธีร์เป็นเงาของจิตรก็ว่าได้ ส่วนประวุฒินั้น จิตรเริ่มสนิทด้วย เมื่อกลับไปเรียนในคณะอักษรศาสตร์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 และประวุฒิเป็นตัวกลางสำคัญที่เชื่อมจิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เมื่อครั้งที่จิตรถูกพักการเรียน จิตรเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ได้รู้จักกับ ทองใบ ทองเปาด์ ซึ่งทำหน้าที่พิสูจน์อักษรอยู่ที่นั่น จิตรและทองใบไปมาหาสู่กัน ทองใบไปเที่ยวบ้านจิตรที่สี่แยกสะพานเสาวนีย์บ่อยครั้ง ไปร้านหนังสือแถวสามแยกวัดไตรมิตรด้วยกัน และร่วมเดินขบวนประท้วงเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500 ด้วยกัน นอกจากนั้น จิตรยังรู้จัก ทวีป วรดิลก ซึ่งช่วยแนะนําจิตรไปรู้จักกับ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปิตุภูมิ ทำให้จิตรรู้จักนักหนังสือพิมพ์เพิ่มมากขึ้น 

การถูกคุมขังนี้เองที่ได้สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ของจิตร เอื้อต่อการเกิดสังคมใหม่ภายในห้องขังของผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ กรรมกร และชาวนา เป็นต้น อันส่งผลต่อแนวคิดของจิตรและงานเขียนของเขาในช่วงเวลาต่อมา

นอกจากเพื่อนผู้ชายแล้ว จิตรยังติดต่อกับผู้ต้องหาผู้หญิงที่รู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนถูกจับ ซึ่งได้ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นั่นคือ จินตนา กอตระกูล แห่งสำนักพิมพ์เทวเวศม์ ซึ่งจิตรรู้จักเธอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เมื่อครั้งที่จิตรยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อ พ.ศ. 2500 จิตรเสนอต้นฉบับ “ศิลปะเพื่อชีวิต” กับสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ตอบตกลงพิมพ์ทันที จากนั้นวางแผนว่าจะพิมพ์ต้นฉบับ “ครรลองชีวิต” ของจิตรอีก แต่จิตรขอนำกลับไปแก้ไข กระทั่งเกิดการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เสียก่อน จินตนาถูกจับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 และถูกคุมขังจนถึง พ.ศ. 2503 เนื่องจากจัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาก้าวหน้า เช่น “ฐานะของสตรีที่เป็นมาในประวัติศาสตร์” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์, “คอร์รัปชั่นในวงการหนังสือพิมพ์” โดย สุภา ศิริมานนท์ และ “ศิลปะเพื่อชีวิต” โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ขณะอยู่ในคุก จิตรและจินตนาได้ติดต่อถึงกันผ่านทางจดหมาย จิตรสนับสนุนให้จินตนาต่อสู้ และไม่ให้ยอมแพ้ต่อศาลทหาร

จากการถูกคุมขังในช่วงนี้จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันของผู้ต้องหาประกอบด้วยเวลา 3 ส่วน คือ

หนึ่ง เวลากลางที่ทางราชทัณฑ์กำหนด เช่น เวลาเปิด-ปิด ห้องขัง เวลาอาบน้ำ เวลากินข้าวของทางราชการ เวลาเยี่ยม เวลาเหล่านี้นับว่าเป็นเวลาทางการ เป็นเวลาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่และผู้ต้องหา ผู้ต้องหามักจะเจรจาต่อรองขอเปลี่ยนแปลงให้มีความยืดหยุ่นตามที่พวกเขาต้องการ

สอง เวลาส่วนรวมที่ทางผู้ต้องหาร่วมกันกำหนดหรือเวลาที่ทำกิจกรรมส่วนรวมร่วมกัน เป็นต้นว่า ทำอาหาร รับประทานอาหาร เล่นกีฬา เล่นดนตรี เวลานี้เองมีส่วนช่วยทำให้เกิดอัตลักษณ์และชุมชนของความเป็นผู้ต้องหาร่วมกัน และสามารถรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ในโลกคุมขังดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น ชีวิต “คอมมูน” เริ่มต้นขึ้นที่ห้องขังกองปราบปทุมวัน สาเหตุหลักมาจากคุณภาพอาหารไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับทางกรมราชทัณฑ์ให้ค่ากับข้าวผู้ต้องหาคนละ 2.50 บาทต่อวัน ผู้ต้องหาจึงเริ่มทำอาหารกันเอง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการปรุงอาหารร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ โดยมีสุธีร์รับหน้าที่เป็นสมุห์บัญชี นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ผู้ต้องหายังได้ฟังวิทยุร่วมกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ มีการตั้งผู้รับผิดชอบในการฟังข่าวและสรุปข่าวประจำวัน วันละ 2 เวลา คือ 08.00 น. และ 21.00 น.

สาม เวลาส่วนตัว เช่น การถูกสอบสวน การอ่าน เขียน และเรียนหนังสือ เลี้ยงลูก พักผ่อน นอนหลับ เป็นต้น เป็นเวลาส่วนใหญ่ของเวลาทั้งหมด เวลาส่วนตัวนี้ทำให้ผู้ต้องหาการเมืองหลายคนรู้ดีว่า เวลาของตนเองต่างจากเวลาของคนที่อยู่ภายนอก ต้องใช้เวลาอย่างมีค่า ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตให้เขียนหนังสือ ผู้ต้องหาลักลอบทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งการนำหนังสือเข้าไปอ่าน และนำสิ่งที่เขียนเสร็จแล้วส่งออกไปข้างนอกห้องขัง ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า จิตรเขียนเรื่องอะไรบ้างในช่วงเวลานี้

ตำรวจเองก็ผ่อนปรนให้กับผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า พลตำรวจตรี อารีย์ กะรีบุตร และพลตำรวจตรี เกษม แสงมิตร ให้เกียรติต่อผู้ต้องหา โดยไม่ได้ตามตรวจตราชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างเอาจริงเอาจัง ดังที่มีบันทึกว่า

“…การคุมขังตอนนั้นมีความเป็นกันเอง ไม่มีลักษณะเอาเป็นเอาตาย แต่ในทางสำนวนผมไม่รู้นะ ที่สโมสรกรมตำรวจ ทั้งผู้ต้องขัง ทั้งตำรวจก็ตีบิลเลียดแล้วสั่งเหล้ามากินด้วยกัน มั่วกันอยู่ตรงนั้น บางคนขอออกไปข้างนอก อย่างคุณอุทธรณ์ พลกุล คุณอิศรา อมันตกุล อยากไปหาซื้อรองเท้าผ้าใบซักคู่นึง ผม [(พล.ต.ต. อุทัย อัศววิไล (ยศในขณะนั้น)] บอกสามโมงครึ่งพี่ต้องมาที่นี่นะ…”

“…เขาก็รับผิดชอบ ผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์เป็นคนที่มีความคิดการเมือง มีเกียรติ มีความรับผิดชอบ เราก็ให้เป็นคน…”

ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2503 ทางการได้ย้ายผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์ไปคุมขังที่ลาดยาว เนื่องจากสถานที่มีความคับแคบ จำนวนผู้ถูกจับกุมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ต้องหาที่กองปราบปทุมวันนี้ทำการสวบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะได้ย้ายเอาผู้ต้องหาที่ยังทำการสวบสวนไม่แล้วเสร็จมาคุมขังแทน การย้ายผู้ต้องหามีหลายรอบ คาดว่า จิตรย้ายไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้

ในการย้ายผู้ต้องหานี้ พลตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ รองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล มีคำสั่งให้ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกในการขนข้าวของเครื่องใช้ของผู้ต้องหาขึ้นรถบรรทุก โดยที่ผู้ต้องหาไม่ต้องเหนื่อยแรงในการขนย้ายแต่อย่างใด บางคนยังเดินร้องเพลงและเล่นเครื่องดนตรีขณะไปยังรถกรมราชทัณฑ์อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

วิลลา วิลัยทอง. (2556). ทัณฑะกาล ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2563