ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ คนสำคัญคนหนึ่งของไทย เขาเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 เป็นลูกของ ศิริ ภูมิศักดิ์ เสมียนสรรพสามิต กับแสงเงิน ฉายาวงศ์ ซึ่งภายหลังทั้งคู่ได้แยกทางกัน โดยจิตรโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่
ทวีป วรดิลก ผู้เขียนหนังสือ “จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก” เล่าว่า จิตรเคยเล่าเรื่องตลกที่ตัวเองถูกหมายหัวจากอาจารย์จุฬาฯ ระดับปราชญ์ใหญ่ของไทยในอดีตว่า
“…ในการสอบภาษาไทยซึ่งพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เป็นอาจาย์สอนและก็เป็นผู้ตรวจคำตอบของนิสิตทั้งห้อง (ปีหนึ่ง) แล้วก็สั่งเจ้าหน้าที่ว่า ‘ช่วยไปดูซิคำตอบของนิสิตคนนี้ตามเลขที่…ชื่ออะไร คำตอบอย่างนี้ คะแนนเต็มร้อยน่าจะให้ร้อยเต็ม’ ครั้นเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับมารายงานพระยาอนุมานฯว่า ‘นิสิตผู้นี้ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์’ พระยาอนุมานฯก็อุทานว่า ‘ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์หรือ? ตั้งใจจะให้ร้อย ต้องตัดเสียสามคะแนน ขืนให้เต็มร้อยมันจะกำเริบใหญ่’”
จิตรมีงานเขียนจำนวนมากในหลายนามปากกา ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วรณณกรรม และการเมือง ทั้งยังเป็นกวีและนักแต่งเพลง ผลงานของเขายังคงถูกติดตามศึกษามาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปกว่า 50 ปีแล้ว อย่างที่ ดร.เกร็ก เรย์โนลด์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาค้นคว้าชีวิตและงานของจิตร เคยกล่าวถึงเขาว่า
“…จิตรนั้นเป็นผู้ ‘มีการก่อเกิดสองครั้ง’ ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นการกำเนิดแห่ง ‘ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์’ นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจนยุคสมัยปัจจุบัน วันเกิดครั้งที่สองนี้อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมได้ยากคือ 14 ตุลาคม 2516…”
จิตรก็เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดและเติบโตในทศวรรษ 2470-2480 ที่ได้รับอิทธิพลความคิดชาตินิยม ทั้งที่มาจากการปลูกฝังของรัฐชาติในสมัยนั้น ประกอบกับความประทับใจขบวนการกู้ชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่ได้อาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการโค่นล้มลัทธิล่าอาณานิคม
เมื่อต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่จังหวัดพระตะบอง ระหว่างปี 2488-2489 เขาบันทึกถึงความประทับใจทางการเมืองครั้งแรกของตนว่า
“ที่นั่นได้สัมพันธ์กับเพื่อนชาวเขมรจำนวนมาก เพื่อนเหล่านี้มีความรักชาติเขมรของเขาอย่างแรงกล้า แม้ทางการไทยจะสอนให้เขารักชาติไทย ฯลฯ แต่เขาก็คงยืนหยัดความเป็น ‘กัมปูเจีย’ (กัมพูชา) ของเขาเสมอ และมีการจัดตั้งหน่วยเขมรอิสระกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย…ประชาชนเขมรเคลื่อนไหว ‘เอ็ยสะระ’ (อิสระ) อย่างเต็มที่
…การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ข้าพเจ้าติดตามด้วยความสนใจและเห็นอกเห็นใจ เพราะเกลียดชังฝรั่งเศสนักล่าเมืองขึ้นเป็นทุนอยู่แล้ว…แต่ความรู้สึกนี้ก็ค้างอยู่เพียงนั้น มิได้สะท้อนมาถึงเรื่องของประเทศไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับอังกฤษ… ซ้ำเกิดความรู้สึกว่าอเมริกาเป็นประเทศนักบุญที่มาช่วยโปรดเมืองไทยให้พ้นการข่มขี่ของอังกฤษ”
จากพระตะบอง จิตรต้องมาเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และที่นี่เองที่ได้ปลุกความคิดชาตินิยมของเขาออกมาอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ภายในประเทศเกิดความไม่สงบขึ้นจากกรณี “รุมเลี้ยะพ่ะ” ที่เกิดจากชาวจีนสยามส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐไทยรังแกมาตลอด ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิของตนจนเกิดเป็นการก่อความไม่สงบขึ้น
ในช่วงเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ ในฐานะสาราณียากร ได้ปฏิวัติการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีขึ้นเสียใหม่ ทั้งในรูปแบบ และเนื้อหา ภายหลังจึงเกิดกรณี “โยนบก” อันลือลั่นขึ้นมานั่นเอง
- จิตร ภูมิศักดิ์ กับกรณีโยนบก “28 ตุลาคม 2496”
- ชีวิตในห้วงเผด็จการของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผลงาน และอิทธิพลทางความคิดสู่นักศึกษา
- จิตร ภูมิศักดิ์ นักชาตินิยม?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก: “จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก” โดย ทวีป วรดิลก
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 กันยายน พ.ศ.2559