จิตร ภูมิศักดิ์ นักชาตินิยม?

(ซ้าย) จิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเยาว์, (ขวา) จิตร (แถวยืนที่ ๔ จากซ้าย) เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

จิตรก็เช่นเดียวกับหลายคนที่เกิดและเติบโตในทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๔๘๐ ที่ได้รับอิทธิพลความคิดชาตินิยม ทั้งที่มาจากการปลูกฝังของรัฐชาติในสมัยนั้น ประกอบกับความประทับใจขบวนการกู้ชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่ได้อาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการโค่นล้มลัทธิล่าอาณานิคม

เมื่อจิตรต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่จังหวัดพระตะบอง ระหว่างปี ๒๔๘๘-๒๔๘๙ จิตรได้บันทึกถึงความประทับใจทางการเมืองครั้งแรกของตนว่า

ที่นั่นได้สัมพันธ์กับเพื่อนชาวเขมรจำนวนมาก เพื่อนเหล่านี้มีความรักชาติเขมรของเขาอย่างแรงกล้า แม้ทางการไทยจะสอนให้เขารักชาติไทย ฯลฯ แต่เขาก็คงยืนหยัดความเป็น “กัมปูเจีย” (กัมพูชา) ของเขาเสมอ และมีการจัดตั้งหน่วยเขมรอิสระกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผย…ประชาชนเขมรเคลื่อนไหว “เอ็ยสะระ” (อิสระ) อย่างเต็มที่

…การเคลื่อนไหวเหล่านี้ ข้าพเจ้าติดตามด้วยความสนใจและเห็นอกเห็นใจ เพราะเกลียดชังฝรั่งเศสนักล่าเมืองขึ้นเป็นทุนอยู่แล้ว…แต่ความรู้สึกนี้ก็ค้างอยู่เพียงนั้น มิได้สะท้อนมาถึงเรื่องของประเทศไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับอังกฤษ… ซ้ำเกิดความรู้สึกว่าอเมริกาเป็นประเทศนักบุญที่มาช่วยโปรดเมืองไทยให้พ้นการข่มขี่ของอังกฤษ

แต่เมื่อไทยต้องคืนดินแดนให้ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ จิตรได้แสดงออก ดังจะเห็นได้จากโคลงอาฆาตานุสรณ์ ที่สะท้อนความคิดของจิตรในขณะนั้นว่า

    หากสยามยังอยู่ยั้ง              ปางใด เพื่อนเอย

หากสยามยังคงไท                  คู่ฟ้า

หากสยามกลับเกรียงไกร          องอาจ นาท่าน

แปดเขตต์ไทยเดิมอ้า              โอบเข้า ถิ่นสยาม

จากพระตะบองจิตรต้องมาเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และที่นี่เองที่ได้ปลุกความคิดชาตินิยมของจิตรออกมาอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ภายในประเทศเกิดความไม่สงบขึ้นจากกรณี “รุมเลี้ยะพ่ะ” ที่เกิดจากชาวจีนสยามส่วนหนึ่งที่ถูกรัฐไทยรังแกมาตลอด ได้เริ่มเรียกร้องสิทธิของตนจนเกิดเป็นการก่อความไม่สงบขึ้น

และเมื่อจิตรได้อ่านบทความของครูจักรกฤษณ์ (สุภางค์) ชื่อ “เมื่อข้าพเจ้าเป็นซินแสโรงเรียนจีน” ได้กระตุ้นให้จิตรคิดไปว่าจีนมีนโยบายที่จะกลืนชาติไทย จิตรจึงหาทางตอบโต้ด้วยการชักชวนเพื่อนไม่ให้ซื้อสินค้าจีน จิตรได้บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นว่า

๑๒ กุมภาพันธ์ พูดปลุกใจนักเรียนแอนตี้พวกเจ๊กที่มาขายของ…

ครั้งแรกฉันคิดว่าจะเขียนหนังสือเวียน แต่มามานะทีหลังว่าประชุมนักเรียนพูดดีกว่า เลยปรึกษาสมศักดิ์ เขาสนับสนุน ฉันจึงเขียนหนังสือถึงหัวหน้าชั้นต่างๆ ให้ประชุมที่หน้าโรงเรียน ให้ประดิษฐ์และสมศักดิ์นำไปให้ ตกกลางวันพอฉันจะพูด มีนักเรียนมายืนเรียงมากเกือบหมดโรงเรียน แต่ไม่ยอมมารวมกัน ฉันต้องเที่ยวต้อน มีเด็กๆ ถามว่าคนไหนนะที่เซ็นชื่อ จ.ภูมิศักดิ์ (ลายเซ็น) ฉันบอกว่าฉันนี่แหละ ต้องเสียเวลาต้อนคนเกือบ ๕ นาที จึงได้พูดปลุกใจ ให้รักชาติ เกลียดเจ๊ก ไม่ซื้อของเจ๊ก ฉันจะถามอะไรเป็นตอบรักทุกคน เช่นถามว่า “จะนั่งนิ่งดูดายให้ชาติอื่นๆ เขากลืนชาติไทยได้ไหม” “ไม่ได้ๆ” พร้อมกันทุกคน ฯลฯ

แต่นั้นก็เป็นความคิดเมื่ออยู่ในวัยเยาว์ จิตรได้สะท้อนผ่านปัญหาคนจีนในเมืองไทยในงานเขียนชิ้นสำคัญ คือ โฉมหน้าของศักดินาไทยสมัยปัจจุบัน ว่าเขาจะไม่โจมตีคนจีน หรือคนชาติอื่นๆ ที่เป็นประชาชนสามัญ จะโจมตีก็เฉพาะแต่ศัตรูของประชาชนเท่านั้น จิตรก็เขียนไว้ว่า

พวกศักดินามอมเมาให้คนไทยเกลียด “เจ๊ก” มาแต่โบรมโบราณเต็มที พวกกวีก็พลอยเกลียดชังจีนไปด้วย


ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความ “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” โดย ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2547