จิตร ภูมิศักดิ์ กับกรณีโยนบก “28 ตุลาคม 2496”

ท่ามกลางความบ้าคลั่งของระบบ SOTUS (ธรรมนิยม-สามัคคี-น้ำใจ-ระเบียบ-อาวุโส/คำแปลในสมัยนั้น) ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในทศวรรษ 2490 โดยมี มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีที่ได้มีการจัดทำขึ้นทุกปี เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดความคิดดังกล่าว

จิตร ภูมิศักดิ์ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ ในฐานะสาราณียากร ได้ปฏิวัติการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีขึ้นเสียใหม่ ทั้งในรูปแบบ และเนื้อหา

รูปแบบ จากเดิมที่มีแต่พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหน้าปก จิตรได้เปลี่ยนรูปแบบเสียใหม่ โดยให้เหตุผลว่าหนังสือเล่มนี้ทำมา 20-30 ปีแล้ว ก็มีรูปซ้ำซากตลอดมา

เนื้อหา จากเดิมที่เป็นเวทีในการสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และปลูกฝังระบบ SOTUS จิตรได้ปรับเปลี่ยนให้มีบทความ “สรรเสริญ ร.5 เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น” และจิตรได้เขียนบทความ “พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติค แก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ตรงนี้” (หรือรู้จักกันอีกชื่อคือ “ผีตองเหลือง”) ซึ่งเป็นการเขียนวิจารณ์ความเสื่อมทรามของพระภิกษุสงฆ์ที่หากินภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ภายใต้กรอบลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งจิตรกำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น ในนามปากกาว่านาครทาส

และบทกวีที่ชื่อ “เธอคือหญิงรับจ้างแท้…ใช่แม่คน” ในนามปากกาศูลภูวดล ที่วิจารณ์ผู้หญิงที่รักสนุกแต่พอท้องขึ้นมาแล้วปัดความรับผิดชอบ พร้อมกับบทความอื่นอีก 4-5 เรื่องที่ถูกตีความว่า “ไม่ควรลงมาตีพิมพ์ในหนังสือที่มีเกียรติ”

แม้ มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ฉบับที่จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกร ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์แต่หนังสือดังกล่าวยังถูก “เข็น” ออกมา คณะผู้จัดทำชุดใหม่ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการ

เจาะกระดาษออกเป็นรูปวงกลมตรงมุมขวาบน พร้อมสอดภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เมื่อทาบปกลงมาก็จะปรากฏพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 โผล่ออกมาพอดี

รวมทั้งเปลี่ยนเนื้อหาในเล่มเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับจิตรแล้วมันไม่จบเพียงเท่านั้น

28 ตุลาคม 2496 ขณะที่จิตรกำลังชี้แจงกับนิสิตกว่า 3,000 คน ในหอประชุมอยู่นั้น ได้มีนิสิตที่โกรธแค้น นำโดยนายสีหเดช บุนนาค ขึ้นไปจับจิตรขณะที่อยู่บนเวทีที่สูงจากพื้น 5 ฟุต และโยนลงมาเบื้องล่างเพื่อเป็นการลงโทษตาม “ธรรมเนียม” หรือเรียกกันต่อมาว่ากรณีโยนบก

แม้จะเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนเพียงใด แต่ในบรรยากาศอำนาจนิยมในขณะนั้น ขจร สุขพานิช สาราณียกรหนังสือชุมนุมจุฬาฯ กลับมองว่า

เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่น่าสนใจอะไร เพราะโยนบกก็เท่ากับเป็นการเพิ่มโทษเท่านั้นเอง

เมื่อเทียบกับการโยนน้ำ!!!

แทนที่คนผิดจะถูกลงโทษ สภามหาวิทยาลัยได้สั่งให้พักการเรียนจิตรเป็นเวลา 12 เดือน ข้อหามีความโน้มเอียงไปทางซ้าย

มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ฉบับที่จิตรเป็นสาราณียกร จึงเป็นหนังสือนักศึกษาที่ “ดังที่สุด” เท่าที่เคยมีมา แต่ก็เป็นหนังสือที่ไม่เคยมีใครได้อ่านต้นฉบับจริง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ชีวิตและงาน จิตร ภูมิศักดิ์” เขียนโดย ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2561